การทดสอบภาษาไทยเพื่อทดสอบความรู้คนไทย


การทดสอบภาษาไทยเพื่อทดสอบความรู้คนไทยครู-น.ร.ผ่านเกณฑ์ภาษาไทยคาบเส้น ได้คะแนนเฉลี่ยกว่า50%จากเต็ม100 ราชบัณฑิตจัดนำร่องทดสอบความรู้

ครู-น.ร.ผ่านเกณฑ์ภาษาไทยคาบเส้น   ได้คะแนนเฉลี่ยกว่า50%จากเต็ม100 ราชบัณฑิตจัดนำร่องทดสอบความรู้
เมื่อวันที่ 30 กันยายน น.ส.ชลธิชา สุดมุข นักวรรณศิลป์ ราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยความคืบหน้ากรณีราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำโครงการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานความรู้ด้านภาษาไทย และได้จัดให้มีการทดสอบภาษาไทยเพื่อทดสอบความรู้คนไทย ซึ่งเบื้องต้นเริ่มที่กลุ่มครูและนักเรียน นักศึกษา ว่าจากที่ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ดำเนินการจัดทดสอบวัดความรู้ภาษาไทยกับกลุ่มครูที่สอนวิชาภาษาไทยและนักเรียน นักศึกษา รวมประมาณ 3,000 คน เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพื่อเป็นการทดสอบข้อสอบนั้น ทาง มศว ได้รายงานผลการตรวจข้อสอบเข้ามาแล้ว โดยในส่วนของนักเรียน นักศึกษาได้แบ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 56% ไม่ผ่าน 44% นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 51% ไม่ผ่าน 49% นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 54% ไม่ผ่าน 46% และนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา สอบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 51% ไม่ผ่าน 49%
"โดยภาพรวมแม้ว่ากลุ่มนักเรียน นักศึกษาจะสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานวัดความรู้ภาษาไทยจำนวนเกินครึ่ง แต่ก็ยังไม่น่าพอใจ เพราะช่วงผลคะแนนสอบสูงและต่ำห่างกันมาก ยิ่งกว่านั้นคะแนนสอบสูงสุดอยู่ที่ 75% เท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100% ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ว่าน่าจะได้ถึง 80% แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ประหลาดใจกับผลคะแนนสอบที่ออกมา เพราะไม่แตกต่างจากผลสัมฤทธิ์ทางด้านภาษาไทยที่หน่วยงานต่างๆ ได้ประเมินออกมา ซึ่งต่างพบว่าเด็กไทยมีผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาไทยยังไม่ค่อยดีนัก ทั้งนี้ ทางราชบัณฑิตยสถานจะนำผลสรุปการทดสอบดังกล่าวเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อใช้พิจารณาหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขต่อไป" น.ส.ชลธิชากล่าว และว่า ราชบัณฑิตยสถานค่อนข้างห่วงใยเรื่องเนื้อหาความรู้ของนักเรียนโดยเฉพาะระดับประถมศึกษา เพราะพบว่าทำคะแนนในเรื่องหลักภาษาศาสตร์หรือไวยากรณ์ได้ค่อนข้างต่ำ โดยพบว่าเด็กชั้น ป.6 ยังเรียงประโยคไม่ถูก นอกจากนี้ ในส่วนของทักษะการพูดก็น่าห่วงใยเช่นกัน เพราะพบเด็กมีปัญหาพูดควบกล้ำ ร ล ไม่ชัด แต่ทักษะด้านนี้ยังน่าห่วงใยน้อยกว่าด้านหลักภาษาศาสตร์ เพราะทักษะการพูดยังสามารถฝึกฝนกันได้
น.ส.ชลธิชากล่าวต่อว่า สำหรับการทดสอบวัดความรู้ภาษาไทยกับกลุ่มครูอนุบาล-ประถมศึกษา และครูมัธยมศึกษาที่สอนวิชาภาษาไทย และที่สอนวิชาอื่น ผลการทดสอบออกมาอยู่ที่ค่าเฉลี่ยคะแนน 52% โดยกลุ่มครูอนุบาล-ประถมศึกษา และครูมัธยมศึกษาที่สอนวิชาอื่นทำคะแนนสูงสุดได้ถึง 80% ขณะที่ครูมัธยมศึกษาที่สอนวิชาไทย คะแนนสูงสุดกลับอยู่ที่ 70% เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างผิดความคาดหมาย แต่อาจเป็นไปได้ว่าข้อสอบที่ใช้สำหรับครูมัธยมศึกษาที่สอนวิชาภาษาไทยอาจยากเกินไป เพราะใช้ข้อสอบคนละชุดกัน ฉะนั้น ทาง มศว คงต้องไปวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อหาค่าน่าเชื่อถือของข้อสอบต่อไปด้วย อีกปัจจัยไม่แน่ใจว่าการติวของครูใน กทม.จะมีผลทำให้มีค่าเบี่ยงเบนหรือไม่ จึงอาจต้องรอผลการทดสอบจริง ซึ่งจะดำเนินการทดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในปี 2552 น่าจะได้ผลที่เป็นความจริงมากขึ้น ทั้งนี้ ผลการทดสอบกลุ่มครูที่ออกมาก็ไม่ได้ประหลาดใจนัก เพราะเป็นไปตามเสียงสะท้อนของสังคมก่อนหน้านี้ที่มองว่าควรต้องหันมาส่งเสริมช่วยเหลือครูที่สอนภาษาไทยอย่างจริงจัง ถ้าปล่อยทิ้งเวลาไปนานปัญหาจะยิ่งหนักขึ้น ซึ่งผลทดสอบที่ออกมาก็มีแนวโน้มว่าสามารถจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เพราะโดยภาพรวมครูทุกกลุ่มผ่านเกณฑ์ 50% ดังนั้น ทางราชบัณฑิตยสถานจะจัดทำคู่มือพัฒนาครูโดยสามารถใช้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และจะสรุปผลเสนอคณะกรรมการอำนวยการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานภาษาไทย ที่มีนางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการ สทศ. เป็นประธาน ได้พิจารณาดำเนินการต่อไปในราวกลางเดือนตุลาคมนี้

แหล่งที่มา  หนังสือพิมพ์ มติชนวันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11162 รายวัน

หมายเลขบันทึก: 213355เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท