ไม่อยากทุนหายกำไรหด งดปลูกพืชเชิงเดี่ยว


พืชเชิงเดี่ยว


เกษตรกรในอดีตยุคคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายของเรามักไม่ค่อยจะเดือดร้อนในเรื่องของแก้วแหวน เงินทองหรือมีลักษณะการดำรงชีพที่รีบร้อน วุ่นวายสับสนมากสักเท่าไหร่ เพราะประกอบอาชีพเกษตรเพียงเพื่อไว้กินไว้ใช้กันเองภายในครอบครัว มีเหลือก็ขาย มิได้มุ่งเน้นว่าจะต้องปลูกไปเพื่อจำหน่ายให้ได้ปริมาณมาก ๆ แก่พ่อค้าคนกลางเหมือนในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ร่ำรวยเงินทองมากมายก่ายกอง แต่ก็มีเพียงพอยาไส้ไม่อดอยากปากแห้งเป็นหนี้สินเหมือนกับเกษตรกรหรือหนุ่มสาวในในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งแต่ดิ้นรนกระเสือกกระสนหาเลี้ยงชีพจนลืมลูก ลืมเมีย ลืมพ่อแม่ที่ตั้งตารอคอยดูพวกเขาเหล่านั้นและคงมีความคิดอยู่บ้างเหมือนกันว่า...... พวกลูกหลานเขาเหล่านั้นจะมีความสามารถทำให้ทรัพย์สินเงินทองรวมทั้งที่ดินมันเพิ่มพูนมากกว่าเดิม หรือจะต้องกลับมานำเอาผืนดินเดิมของปู่ย่าตายายไปจำนองจำนำจนไม่เหลืออะไรอีกเลยหรือไม่?


เป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยที่เกษตรกรไทยได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากการทำเกษตรที่หลากหลายเพื่อกินเพื่อใช้ภายในประเทศ มาเป็นการผลิตเชิงเดี่ยว ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายและผลิตวัตถุดิบเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่พยายามปลูกพืชชนิดเดียวกันในคราวละมาก ๆ หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมุ่งหวังรายได้และแสวงหาผลกำไรให้ได้มากที่สุด มิได้คิดว่าจะเกิดผลเสียต่อส่วนรวมและระบบนิเวศน์กันอย่างไรบ้าง


เกษตรกรควรผลิตสินค้าเกษตรให้มีความหลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงจากรายได้ที่เกิดจากพืชเพียงชนิดเดียว..... เพื่อกระจายความเสี่ยงต่อโรคแมลงที่มักจะเข้ามาระบาดในพืชชนิดเดียวกันทั้งแปลงในทันทีทันใด....... เพื่อกระจายความเสี่ยงต่อราคาของผลผลิตที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่แน่นอน วิธีการทั้งหลายเหล่านี้จะช่วยทำให้การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดี.. พออยู่.. พอกิน.. เหมือนดังที่พ่ออยู่หัวได้ให้พระบรมราโชวาทแก่พวกเราอยู่เสมอ


การดำเนินกิจกรรมในลักษณะนี้ ในช่วงทีผลผลิตมีราคาสูง ๆ ก็จะทำให้มีกำไรพอประมาณ หรือในช่วงที่ราคาของผลผลิตตกต่ำก็จะไม่เกิดเสียหายขาดทุนจนมากเกินไปเพราะเรามีผลผลิตที่หลากหลายคละเคล้ากันไป ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่จะราคาของผลผลิตทั้งหลายเหล่านี้จะตกต่ำลงภายในเวลาเดียวกันทันทีทันใด ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย  ๆ ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมีเท่าไรใช้เท่านั้นก็สามารถที่จะดำรงอาชีพเกษตรกรได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ


ความคิดที่ต้องการผลิตให้ได้มาก ๆ ความคิดต้องการจะกอบโกยผลประโยชน์ และความคิดที่ต้องการจะหาเงินทองจากผลผลิตทีมาก ๆ เหล่านั้นจากผืนดินหรือธรรมชาติเพียงอย่างเดียว โดยความหวังอันสูงสุดว่าจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม.....ปัจจุบันนี้ “เรา” เป็นเช่นไร!

 

มนตรี   บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 213320เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท