kaytay
นาย ชัยฤกษ์ ช้าง วุฒิธาดา

การปฏิบัติราชการแทนและการรักษาราชการแทน


ปฏิบัติราชการ

การปฏิบัติราชการแทนและการรักษาราชการแทน 
 
 มีปัญหาสงสัยคาใจกันมานานกับคำว่า "ปฏิบัติราชการแทน" และคำว่า "รักษาราชการแทน" ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 และหมวด 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ว่าในโอกาสใดจะใช้คำว่า "ปฏิบัติราชการแทน" และในโอกาสใดจะใช้คำว่า "รักษาราชการแทน" ซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติราชการอยู่มิใช่น้อย

คำว่า "ปฏิบัติราชการแทน" หมายถึง การที่ผู้บังคับบัญชามอบอำนาจในการบริหารราชการให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติราชการแทน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ หรือการดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย โดยที่ผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ทรงอำนาจที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนนั้นทุกประการ

การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน เป็นเรื่องของการกระจายความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้งานของราชการมีความคล่องตัว สามารถให้บริการสนองตอบต่อประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นผู้อำนวยการสถานศึกษาเห็นว่าตนมีภารกิจที่จะต้องทำอยู่เป็นอันมาก จึงต้องมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการสถานศึกษาปฏิบัติราชการแทนในเรื่องบางเรื่อง เช่น การอนุมัติการลา หรือการเบิกเงินสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น

ในการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนดังกล่าว จะต้องทำเป็นหนังสือแสดงการมอบอำนาจว่าให้ปฏิบัติราชการแทนในเรื่องใด และที่สำคัญแม้ว่าผู้มอบอำนาจจะได้มอบอำนาจของตนให้ผู้อื่นปฏิบัติราชการแทนแล้วก็ตาม แต่ผู้มอบอำนาจก็ยังคงต้องรับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบ ดูแล และแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจให้เป็นไปโดยถูกต้องอยู่เสมอ มิเช่นนั้นแล้วผู้มอบอำนาจก็ยังคงต้องรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนได้ก่อให้เกิดขึ้น

สำหรับคำว่า "การรักษาราชการแทน" นั้นหมายถึง กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจ ได้มีการแต่งตั้งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดเข้าไปรักษาราชการแทนในตำแหน่งนั้น เช่น กรณีในสถานศึกษาที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ กฎหมายกำหนดให้รองผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้รักษาราชการแทน แต่ถ้าไม่มีรองผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ก็ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้งข้าราชการในสถานศึกษาคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนได้

จะเห็นได้ว่าการเข้าไปรักษาราชการแทนดังกล่าว เป็นการเข้าไปกระทำการในตำแหน่งแทนผู้ทรงอำนาจในขณะที่ผู้ทรงอำนาจนั้นไม่อยู่ หรืออยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งการเข้าไปกระทำการแทนในลักษณะดังกล่าวนั้น ทำให้ผู้ที่เข้าไปกระทำการแทนมีอำนาจและหน้าที่ในตำแหน่งนั้นเสมือนกับผู้ทรงอำนาจซึ่งตนแทนทุกประการ

มีข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือว่า ในการรักษาราชการแทนดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจให้รักษาราชการแทน จึงจะทำให้ผู้นั้นมีอำนาจเช่นเดียวกันกับผู้ทรงอำนาจที่ตนเข้าไปแทน มิเช่นนั้นแล้วการเข้าไปรักษาราชการแทนดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการรักษาประโยชน์ของทางราชการก็ตาม การกระทำนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการ "ปฏิบัติราชการแทน" หรือการ "รักษาราชการแทน" ย่อมล้วนแล้วแต่เป็นการเข้าไปใช้อำนาจของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องกระทำการภายในกรอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ มิเช่นนั้นแล้ว ผู้ใช้อำนาจดังกล่าวย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการใช้อำนาจนั้น

คำสำคัญ (Tags): #รักษาราชการแทน
หมายเลขบันทึก: 213296เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2018 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท