สังคหวัตถุ


การที่ให้คนรักโดยไม่ลืมต้องยึดธรรมสังคหวัตถุ

                สังคหวัตถุ  4  พระพุทธเจ้าทรงอุปมาเหมือนพาหนะที่จะนำคนไปสู่ความสุขความเจริญในโลก  เพราะสังคมมนุษย์เราจำเป็นต้องอิงอาศัยธรรมะ 4  ประการนี้  ทรงชี้อีกมุมที่ตรงกันข้าม  ถ้าหากว่าสังคมปราศจากเสียซึ่งธรรม 4  ประการนี้แล้วแม้มารดาบิดาก็จะไม่ได้รับการนับถือบูชาจากบุตรธิดา  โลกจะอยู่ไม่ได้เลย  จึงเรียกว่าธรรมเป็นเครื่องสงเคราะห์  การสงเคราะห์ก็มีอยู่    ฝ่าย คือ

                อามิสสังคหะ  คือ  สงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของ

                ธรรมสังคหะ  สงเคราะห์โดยธรรม  ถ้าเรามองในแง่ของคนที่แสวงหาที่พึ่ง  สิ่งนี้ก็เป็นการสนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของคน  เช่น ต้องการความรักและได้รับความรัก  ความอบอุ่น  ความปลอดภัย  ต้องการที่พึ่งพำนักอาศัยต้องการพักผ่อนหย่อนใจหรือว่าต้องการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ  กัน เป็นต้น  ก็ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว  หลักที่จะให้เกิดเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจกันขึ้น  มาสรุปรวมอยู่ที่สังคหวัตถุ

                แม้แต่แนวความคิด  การแสวงหาเครื่องรางของขลังที่ชาวบ้านเขาแสวงหากันแนวของพระเครื่องนั้น  คือ  เมตตา  มหานิยาม  คงกระพันชาตรี  แคล้วคลาด  ธรรมะทั้ง 4  ประการ  มีลักษณะก่อให้เกิดเป็นเมตตามหานิยาม  คงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลายได้  องค์ธรรมทั้ง  4  ประการนี้  คือ

                1.  ทาน  การให้  เป็นลักษณะการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ให้ของของตนแก่คนอื่น  ที่ควรแก่การให้  การให้นั้นมีอยู่  2  แนวใหญ่ ๆ  คือ

                การให้ด้วยจิตคิดอนุเคราะห์  หมายถึงว่าการอนุเคราะห์การสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ด้วยอัธยาศัยไมตรีโอบอ้อมอารีต่อบุคคลเหล่านั้น  เขาประสบความเดือดร้อนความขาดแคลน  ก็สงเคราะห์เขาเท่าที่จะสงเคราะห์กันได้และบางคราวเป็นเรื่องของอัธยาศัยไมตรีในทำนองที่แบ่งกันกินแบ่งกันใช้  เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน  มีของอะไรก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้  เป็นการสร้างอัธยาศัยไมตรีอย่างที่คนไทยเราถือว่า  รั้วคนดีกว่ารั้วสังกะสีรั้วเหล็กกำแพง  อย่างบ้านในชนบาทเห็นได้ชัดมาก  ถ้าไม่มีหนอนบ่อนไส้ไม่มีใคร  สามารถขโมยได้  เพราะถึงขโมยก็ออกไปนอกหมู่บ้านไม่ได้ประเดี๋ยวก็จับได้  นี่คือลักษณะโครงสร้างสังคมไทยที่เรานิยมเอาธรรมะไปสั่งสอนกันมา  ก่อให้เกิดเป็นความปรารถนาดี  ความหวังดีต่อกันว่า  “เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี”  การอนุเคราะห์คือแสดงความมีน้ำใจการสงเคราะห์ให้ในกรณีที่เขาขาดแคลน  เราก็สงเคราะห์เขา

                ให้เพื่อบูชาคุณความดี  เช่น  การทำบุญตักบาตร  การให้อาหาร  ให้เสื้อผ้า  แก่พ่อแม่  ปู่ย่าตายายในวันตรุษสงกรานต์  การเสียภาษี  ให้แก่รัฐ  เหล่านี้เป็นการให้ด้วยสำนึกถึงคุณความดีดการให้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะเหมือนกันอย่าลืมว่าขอบข่ายของการให้พอถึงจุดหนึ่ง

                เมื่อเราเป็นพวกเดียวกันแล้ว  หนักนิดเบาหน่อยก็ทนกันได้  กลายเป็นอภัยทาน  คือการให้อภัย  เมื่ออภัยกันได้  ก็เข้าอกเข้าใจกัน  ต่อมากลายเป็นธรรมทาน  คือ  จะพัฒนาไปจากจุที่วัตถุทาน  แต่มาถึงจุดหนึ่ง  สามารถว่ากล่าวตักเตือนกันได้  อย่างคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นชนบท  ท่านสามารถจะดุด่าเด็กที่เหมือนกับลูกหลานของท่านได้เวลามีปัญหากรณีพิพาทอะไร  ท่านผู้นี้ไปพูดบางทีก็เลิกแล้วต่อกันได้  นี่เพราะอะไร  เพราะท่านผู้นี้ได้สร้างสมบารมีด้วยการสงเคราะห์ในเชิงวัตถุธรรมมาก่อน  มีการให้อภัยในความผิดพลาดบกพร่อง  อยู่ในฐานะที่ว่ากล่าวตักเตือนกันได้  คนเรากว่าจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ในจุดนี้ได้ก็ต้องใช้เวลา  สร้างบารมีพอสมควร  หลวงพ่อบางรูปในต่างจังหวัด  มีการมีงานภายในวัด  ตำรวจไม่ต้องมาตรวจการณ์  ไม่ต้องมาทำอะไร  หลวงพ่ออยู่รูปเดียวใครไม่กล้าทำอะไรหรอก  จะไปก่อเรื่องก่อราวขึ้นมาไม่ได้  อย่างนี้หลวงพ่อต้องมีบารมีอยู่มาจนเด็ก ๆ  เรียกหลวงปู่หมดแล้ว  ฉะนั้นสมภารในต่างจังหวัดจึงจำเป็นจะต้องเป็นพระแก่ ๆ  เพราะเป็นเรื่องของบารมี  ถ้าไม่มีบารมีเราก็ทำงานไม่ได้  อยู่เป็นหลวงปู่แล้วสบายแล้ว  สามารถที่จะควบคุมอะไรก็ได้

                2. ปิยวาจา  เจรจาที่อ่อนหวาน  ตรงกันข้ามกับคำหยาบแต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว  ปิยวาจา คือ  เจรจาถ้อยคำอันเป็นที่รัก  วาจาเป็นที่รัก  ผู้กล่าวกล่าวด้วยความรักความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น  ซึ่งบางครั้งอาจเป็นคำดุคำตักเตือนก็ได้  แต่ถ้าหากว่า  พูดด้วยความรักหวังดีปรารถนาดี  ถือว่ายังเป็นธรรมเครื่องสงเคราะห์กัน  ถ้าหากอัธยาศัยเริ่มมีความรักความปรารถนาดีต่อไปจะกระจายตัวไปเอง  คือจะพูดคำสัตย์คำจริงเอง  จะไม่ยุยงให้คนเหล่านั้นเขาแตกแยกกัน  เพราะรักหวังดีต่อเขา  จะพูดเฉพาะเรื่องที่มีประโยชน์มันก็จะกระจายตัวเอง  เป็นวจีสุจริตครบทั้ง 4  แต่เริ่มที่ปิยวาจา  คือวาจาอันเกิดจากใจที่มีความรักและหวังดี  ปิยวาจาบางครั้งถ้อยคำอาจจะไม่ไพเราะ  ไม่อ่อนหวาน  หากพูดด้วยความปรารถนาดี  ยังอยู่ในขอบงข่ายของปิยวาจา

                เรื่องของวาจานั้น  พึงสังเกตว่าในแง่ของธรรมชาติร่างกายกายก็น่าคิด  ในแง่ของธรรมก็น่าศึกษา  ในแง่ของชีวิตประจำวันยิ่งน่าสนใจ  เพราะแต่ละเหตุแต่ละกรณีนั้น  ท่านได้ให้ความสำคัญแก่วาจาไว้มาก  เช่น  ในกุศลกรรมบถ  10  ว่าด้วยการทำความดีทางกาย  วาจา ใจ  ท่านแสดงเรื่องของวาจาไว้ถึง 4 ข้อ  ในขณะที่ใจมีเพียง 3 ข้อเท่านั้น  คติไทยเราเองได้ให้ความสำคัญแก่วาจาไว้มาก  เช่น 

                - ปากเป็นเอก เลขเป็นโท  หนังสือเป็นตรี  ชั่วดี เป็นตรา

                -  เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก  จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา  หากพูดดีมีคนเขาเมตตา  จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ

                - ปากเป็นเอกเหมือนเสกมนต์ให้คนเชื่อ  ฉลาดเหลือวาจาปรีชาฉาน  จะกล่าวถ้อยร้อยคำไม่รำคาญ  เป็นรากฐานเทอดตนพ้นลำเค็ญ

                -  ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์  มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต  พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร  จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา

                -  อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก  แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย

                การพูดที่เป็นปิยวาจาจึงต้องออกมาจากจิตที่  ประกอบด้วยความรักความเมตตา  ต่อผู้ที่ตนพูดด้วย  วาจาเปล่งออกมาอย่างไร  ใจต้องคิดอย่างนั้นด้วย  คือวาจา ต้องเป็นเช่นเดียวกับใจ  ใจเช่นเดียวกับวาจา  หรือพูดอย่างที่ตนคิดอย่างที่พูดและตัวความคิดนั่นเองจะต้องมีเมตตาเป็นหลักจิต  เพื่อให้การพูดและแม้การกระทำกอปรด้วยเมตตาก่อนจะพูดจึงต้องคิดว่า  จะพูดอะไร?  พูดกับใคร ?  พูดไปทำไม ?   พูดไปแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?  ประเภทของถ้อยคำที่พูดด้วยความรักจึงประกอบด้วย

                1.  เป็นความจริง  ตามประสาทสัมผัสของตนคือพูดตามที่ตนได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ  ได้รู้มาเมื่อเห็นว่ามีประโยชน์แก่ผู้ฟังก็พูดเรื่องนั้นให้ฟัง

                2.  เป็นคำสร้างสามัคคี  เรื่องที่นำมาพูดจะต้องมีลักษณะประสานสามัคคี  ส่งเสริมสามัคคีและกระชับสามัคคี  ตามสมควรแก่ฐานะของบุคคล

                3.  เป็นถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน ฟังแล้วสบายหู  สบายใจ  สุขใจ  ปลื้มใจ  เพราะได้ฟังถ้อยคำที่สะท้อนจากใจอันกอปรด้วยรัก  ความเมตตาจากผู้พูด

                4.  เป็นคำที่มีสาระประโยชน์  อันเป็นคนพูดที่เกิดจากการตั้งถามดังกล่าว  ดังนั้นการพูดในลักษณะนี้จึงต้องดูว่า  เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงไหม ?  พูดไปแล้วเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ทรงสอนให้กาลที่จะพูดเรื่องนั้น      

                3.  อัตถจริยา  ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น  จะเห็นได้ว่ามีทั้งกายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรม  ทางกายกรรม  ก็ช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานอย่างในบ้านในเมืองของเขา  เราก็ช่วยเหลือกัน  ไถนาก็ช่วยเหลือกันไถนา  มีกิจการอะไรก็ตาม  เช่น ปลูกบ้าน  ต่างจังหวัดบ้านหลังหนึ่งขนาด 2 – 3 ห้อง  ปลูกไม่กี่วันก็เสร็จ  เพราะเขาช่วยเหลือกัน  นี้เรียกว่าประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยกันในทางกาย  ช่วยเหลือขวนขวายกันในกิจการงานที่ชอบ  ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์กันด้วยวาจา  คือพูดในทางที่เสริมสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  แนะนำชี้แจงแสดงเหตุผล  การกระทำบางอย่างต้องคิดใจเขาใจเรา  เช่น  อยู่ใกล้เคียง  เพื่อนคนหนึ่งต้องการจะอ่านหนังสือ  เราเขย่าวิทยุเสียลั่น  ไม่เป็นอัตถจริยา  เพราะทำลายประโยชน์อีกฝ่ายหนึ่ง  ที่เขาจะพึงได้  ข้อนี้ชั้นของวินัย  มีวินัยบางข้อเสริมอัตถจริยา  เช่น ภิกษุรูปหนึ่งกำลังท่องปาฏิโมกข์อยู่  เราไปชวนคุยเป็นการทำลายประโยชน์ท่านก็ปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์  นั่นคือ  สอนให้ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน  เกื้อกูลกันในบางครั้งบางคราว เราไม่สามารถจะทำได้  แต่อย่าถึงกับไปทำลายประโยชน์ของเขา  อย่างนี้พออยู่กันภายในสังคมได้ 

                ขอบข่ายของคำว่า อัตถจริยา  จึงเริ่มต้นจากการกระทำอะไรก็ตาม  ที่สามารถอำนวยประโยชน์ความสุขให้แก่ตนอื่นได้  โดยที่สุดแม้แต่การงดเว้นไม่กระทำในลักษณะหักราน ทำลายผลประโยชน์ที่คนอื่นควรจะได้  หรือได้แล้ว  ก็ได้ชื่อว่าเป็นการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์  เมื่อกล่าวสรุปตามสถานะของคนแต่ละคนแล้วขอบข่ายของการทำประโยชน์สามารถกระจายออกไป 3 ทางใหญ่ ๆ  ด้วยกัน คือ

                -  ในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว  ตระกูล  บ้านเมือง  พยายามไม่ทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อต้นสังกัดของตน  โดยพยายามทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว

                -  ในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม  ไม่ทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม  แต่พยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่ตนเป็นสมาชิก

                -  ในฐานะที่ตนเป็น  ซึ่งการเป็นของคนแต่ละคนนั้นไปสัมพันธ์กับ ชั้น  ยศ  ตำแหน่ง  กาล  สถานที่  กรณีเป็นต้น  ซึ่งต้องปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อการงาน  ภารกิจหน้าที่  กาล  สถานที่นั้น ๆ  ตามสมควรแก่จุดที่ตนเข้าไปสัมพันธ์ในขณะนั้น                

                4.  สมานัตตตา  ความมีตนสม่ำเสมอไม่ถือตัว  ได้แก่  การวางตนเหมาะสมแก่ฐานะที่ควรจะเป็นและที่ตนเป็น  ไม่แสดงอาการขึ้น ๆ  ลง ๆ  3  วันดี 4  วันร้าย  กำหนดทิศทางลมไม่ค่อยถูก  ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่  อีกอย่างหนึ่งคือไม่ลืมตน  เช่น  เคยเป็นเพื่อนฝูงกันมา  พอได้ดีหน่อยก็ลืมเพื่อน  ต้องแสดงอัธยาศัยไมตรีให้ปกติ  แม้คนไม่ชอบพูดชอบคุยอะไรก็ต้องทักทายปราศัยเรื่องที่ออกจะปฏิบัติยาก  ดูนิทานเปรียบเทียบออกจะฟังง่าย  บางเรื่องเป็นการยอมรับนับถือกันอย่าง สหาย 3  คนเป็นขอทาน  คนหนึ่งราชรถมาเกย  ได้เป็นพระราชา  อีกคนหนึ่งคิดว่าเพื่อนเราเป็นพระราชาก็เบ่ง  แต่งตัวขอทานเข้าไป อันนี้เป็นการไม่ให้เกียรติ  ไม่ยกย่องเพื่อนในฐานะที่ชอบที่ควร  เพื่อนก็ให้เงินหน่อยหนึ่งแล้วไล่ออกจากเมืองไปเลย  อีกคนหนึ่ง  แกถือว่า  เพื่อนก็คือเพื่อนแต่ในที่ต่อหน้าสาธารณชน  ก็ต้องวางตัวให้ความเคารพนับถือตามสมควรแก่ฐานะของเพื่อน  นี้คือเป็นหลักของสมานัตตตา  วางตนเหมาะสมแก่ฐานะที่ตนเป็น  ไม่ใช่พอมีสมานัตตาแล้วสมภารจะลงเล่นกับลูกวัด  คือต้องวางตนเหมาะสมกับฐานะ  อีกประการหนึ่งก็คือ  ไม่ถือตัวจนเกินไป  เวลาได้ดีไม่หลงตัว  ลืมตน  คางคกขึ้นวอ  มะพร้าวตื่นดก  ยาจกตื่นมี  ขี้ข้าได้ดี  ที่โบราณท่านพูดว่าคางคกขึ้นวอ  คือถ้าทำอะไร    กันเกิน ๆ ไป  ก็เสียหลักของสมานัตตา  เทนที่คนจะเกิดความนับถือกลับไม่พอใจชิงชังเอาได้  หลัก 4  ประการนี้  เป็นการปฏิบัติตัวของคนแต่ละคน  แต่ไม่ได้หมายความว่า  กะเกณฑ์ให้คนใดคนหนึ่ง เป็นทุกฝ่ายต้องแสดงออกซึ่งอัธยาศัยเหล่านั้น  เช่น เพื่อนกันก็ต้องเสมอต้นเสมอปลาย  แสดงความเป็นกัลยาณมิตร  แม้ในยามวิบัติก็ไม่ทอดทิ้งกัน  หลักของสมานัตตา  คือมีตนเสมอ  วางตนเสมอ  แต่ต้องไม่วางตัวต่ำเกินไป  เพื่อต้องการให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราไม่ถือเนื้อถือตัว  เล่นหัวจนไม่เป็นเวลา วางตัวสูงเกินไปก็เสีย

                คุณธรรมทั้ง 4  ประการนี้  มีในบุคคลใดก็ตาม  จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคนไว้ ได้ก่อให้เกิดความเคารพ  ความรัก  ความนับถือต่อกันและกัน  เป็นเหมือนพาหนะที่จะนำคนไปสู่ความสุขความเจริญที่ต้องการได้  เป็นจุดยึดเหนี่ยวทางใจ  ภายในจากครอบครัว  เป็นต้นไป  จนถึงสังคม  จนกลายเป็นพระเครื่อง 4 องค์  ที่ก่อให้เกิดผลทางเมตตามหานิยม  คงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดแท้ ๆ  ทั้งเป็นพุทธวิธีครองใจคนเป็นจุดที่ยึดเหนี่ยวน้ำใจคนไว้ได้ 

               

 อ้างอิง

โสภณคณาภรณ์ (ระแบบ  ฐิตญาโณ),พระ.  ธรรมปริทรรศน์.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2526.

ราชธรรมนิเทศ (ระแบบ  ฐิตญาโณ),พระ.  นิเทศธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :  ธีรพงษ์การพิมพ์, 2537.

สุทธิพงศ์  ตันตยาพิศาลสุทธิ์.  หลักพระพุทธศาสนา.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา,  2531. 

หมายเลขบันทึก: 213262เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่ง

นมัสการครับ หลักธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเป็นผู้รู้จักวางตัวในการปฏิสัมพันธ์กันนะครับ...สาธุ ครับ พระคุณเจ้า

กราบนมัสการ  ขออนุญาตนำบันนี้เผยแพร่ บอกต่อ นะครับ กราบขอบพระคุณ

สุชาวรรณ วันขวัญ นักเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ขออนุญาตินำบทความนี้ไปเป็นเนื่อหาในการบรรยายธรรมเพื่อเผยแพร่ในโรงเรียน กราบขอบพระคุณอย่างสูง ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท