จริยธรรมในการวิจัยของสังคมไทย



ในการอภิปรายเรื่อง จริยธรรมในการวิจัย ในงาน Thailand Research Expo 2008  เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ย. ๕๑   สนุกและได้ประโยชน์มากในช่วงการอภิปราย ตั้งคำถามจากผู้ฟัง

คำถาม

เป็นอาจารย์สอนวิชาระเบียบวิธีวิจัย    ได้แนะนำนักศึกษาให้ไปค้นหางานวิจัยในอดีตที่ดี เอามาเป็นต้นแบบวิธีการ    ถามว่าผิดจริยธรรมหรือไม่

คำตอบ (วิจารณ์)

วิธีการเรียนรู้จากรายงานผลการวิจัยที่ดี ที่มีการตีพิมพ์ไว้  ถือเป็นวิธีการเรียนรู้มาตรฐาน   เป็นสิ่งที่ถูกต้อง   แต่เมื่อนำไปใช้ ต้องอ้างอิง ต้องบอกว่าได้วิธีการหรือแนวคิดมาจากไหน    ถ้าไม่อ้างอิง ถือว่าผิดจริยธรรมฐานลอกเลียน หรือขโมยความคิด ที่เรียกว่า โจรกรรมวิชาการ (plagiarism)

คำถาม

เป็นอาจารย์คุมวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก   มีอาจารย์อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งได้อ่านวิทยานิพนธ์นั้น และเขียนจดหมายมาขอใช้ความรู้ส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์นั้นในวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ของตน    ได้ตอบอนุญาต    แต่เมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ของศิษย์ของอาจารย์ท่านนั้น   พบว่าได้เอาข้อความไปใช้ในวิทยานิพนธ์โดยไม่ได้อ้างอิง    ถามว่าผิดจริยธรรมหรือไม่

คำตอบ (วิจารณ์)

ถือว่าผิดจริยธรรมในการวิจัยว่าด้วยการลอกเลียน (plagiarism)   และน่าจะสะท้อนว่าอาจารย์ท่านนั้นไม่เข้าใจเรื่องการอ้างอิง   ไม่เข้าใจจริยธรรมการวิจัยว่าด้วยการอ้างอิง

 

คำพูด (วิชา มหาคุณ)

วิทยานิพนธ์จำนวนมากเป็นขยะ   ไม่มีความรู้ใหม่ใดๆ เลย

ความเห็น (วิจารณ์)

สภาพที่วิทยานิพนธ์เป็นขยะ เป็นการทำผิดจริยธรรมในการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยนั้น   เพราะเท่ากับเป็นการนำเอาทรัพยากรของสังคมมาใช้โดยไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

คำบอกเล่า

ไปบรรยาย ผู้ฟังมาขอดูด PowerPoint ไป   พบภายหลังว่าผู้ขอ PowerPoint เอาไปใช้สอนนักศึกษา   โดยทำเสมือนเป็นของตนเอง    ไม่อ้างอิงว่าได้มาจากใคร 

ตีความโดยวิจารณ์

นี่คือตัวอย่างของการทำผิดจริยธรรมว่าด้วยการลอกเลียน

 

คำบ่นกลุ้มใจ

อาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาดักพบ และปรารภว่ามีการลอกวิทยานิพนธ์เก่า เอาไปใช้ในวิทยานิพนธ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยอื่น โดยไม่อ้างอิงมากมาย ทำกันเป็นของธรรมดา   เมื่อจะมีการจับและจะลงโทษ ก็มีคนมาบอกว่าทำไมต้องเคร่งครัดกันนัก

ตีความโดยวิจารณ์

นี่คือตัวบ่งชี้ว่า ควรมีการวิจัยเรื่องการประยุกต์ใช้ข้อกำหนดจรรยาบรรณของนักวิจัย ฉบับของ วช. ในบริบทต่างๆ    เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องจริยธรรมในการวิจัยในสังคมไทย

 

เรื่องเล่าในวงอาหารเที่ยง

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง    มีมติว่าวิทยานิพนธ์ยังไม่ได้คุณภาพ    ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาขอร้องว่าขอให้ผ่าน   ถ้าเคร่งครัดเกินไปต่อไปจะไม่มีคนมาเรียน

ตีความโดยวิจารณ์

นี่คือตัวอย่างของการทำผิดจริยธรรมในการวิจัย โดยผู้บริหารสถาบัน

 

คุยกันในวงอาหารเที่ยง

มีการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ มีการติดป้ายโฆษณา    ราคาค่าบริการที่ครบวงจรตั้งแต่คิดชื่อวิทยานิพนธ์ และเขียนรายงานให้เสร็จเรียบร้อย ๕ หมื่นบาท

ตีความโดยวิจารณ์

นี่คืออาชญากรรมทางวิชาการที่รุนแรง เป็นโทษอุกฤษณ์    ถ้าจับได้ว่ามีอาจารย์เป็นผู้รับจ้าง โทษมีอย่างเดียวคือไล่ออก   นักศึกษาที่จ้างทำวิทยานิพนธ์ก็ป้องกันได้ไม่ยาก   เพราะเมื่อสอบก็จะมีวิธีตรวจจับได้ไม่ยาก ถ้ามหาวิทยาลัยเคร่งครัดจริงจัง

การพัฒนาจริยธรรมที่ง่ายและน่าสนใจที่สุด ทำโดยเอาเรื่องที่ทำกับแบบลับๆ ล่อๆ    เอาออกสู่ที่แจ้ง    และถามความเห็นกันว่าพฤติกรรมเช่นนั้นยอมรับได้ว่าเป็นสิ่งเหมาะสมหรือไม่ เมื่อยึดถือจรรยาบรรณที่มีการกำหนดไว้

การวิจัยเรื่องจริยธรรมในการวิจัย ต้องวิจัยเข้าสู่การปฏิบัติจริงที่เป็นชีวิตจริงในสังคม

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 212607เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2008 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ :)

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงาน Thailand Research Expo 2008  เช่นกันครับ ทราบว่า อาจารย์หมอเป็นวิทยากร แต่ผมจองไม่ทันจึงมิได้ฟังรายละเอียดครับ

หากแต่บันทึกนี้ สะท้อนมุมมองทางวิชาการหลายมุมมากครับ ถือเป็ฯสิ่งที่ผู้คนในวงวิชาการควรต้องคิดให้ดี ๆ ในการกระทำเรื่องราวต่าง ๆ นี้

จิตสำนึกที่ดี ที่ถูกต้อง สร้างไม่ยาก หากคนเหล่านั้นต้องการทำดี ทำถูก จริง ๆ ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ :)

อาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นิสิตในการกระทำสิ่งที่ถูกต้องครับ ชื่นชมในตัวอาจารย์มานานอ่านทุกบทความของอาจารย์ใน blog ถ้าเรียนจบอยากพบและแลกเปลี่ยนทัศนะคติกับอาจารย์ซักหน

ขอแสดงความนับถือครับ

การออกนอกระบบ และระบบการศึกษาแบบภาคพิเศษจำนวนมากในปัจจุบัน

เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดเหตุการดังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวมา

คิดว่าระบบการศึกษาของไทย น่าจะต้องมีการปฏิรูปกันขนานใหญ่เสียแล้วค่ะ

ขออนุญาตนำลิงก์ไปเผยแพร่ให้นิสิตปริญญาเอก

ขอบพระคุณค่ะ

กฤธยากาญจน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท