Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๔)_๒


          ประโยชน์ที่เกิดกับทีมคุณเอื้อคือได้เรียนรู้ในเชิงนโยบายกับการปฎิบัติภารกิจที่อาจต้องเปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่มีภารกิจใกล้เคียงและกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน และจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการทำงานกับชุมชนในอนาคต   เช่น คุณเอื้อจาก กศน. อ.จำนง หนูนิล  กล่าวว่า หลักการจัดการความรู้และหลักการจัดการเรียนรู้ที่ กศน.ทำอยู่ค่อนข้างใกล้เคียงกันและสามารถบูรณาการกันได้และน่าจะเกิดผลสำเร็จที่ดี นั่นคือการให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ริเริ่ม รวมกลุ่มกันคิด รวมกลุ่มกันทำ โดยครูจาก กศน.ทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำและประสานหาความรู้ในสิ่งที่เขาขาดมาเพิ่มเติมให้  และสำหรับโครงการนี้เชื่อว่าแม้โครงการจะจบไปแล้วก็เชื่อว่ากระบวนการเช่นนี้จะฝังแน่นอยู่ในกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ปฎิบัติหรือคุณ
         ประโยชน์กับคุณกิจ ซึ่งก็คือตัวแทนกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ  สามารถเตรียมข้อมูล เรื่องราวปัญหาและตามต้องการของชุมชนไปบอกกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรงโดยผ่านกระบวนการนี้ และทั้งเจ้าของปัญหากับผู้ที่รับผิดชอบก็จะด้านสื่อสารกันได้โดยตรง ไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากเหมือนเดิม  และการมีวาระของการประชุมหรือการมาพบปะกันก็เป็นเหมือนการติดตามผลที่ต่างฝ่ายต้องกลับมารายงานความคืบหน้า
         นายสมควร    อินทวงศ์  กรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ม. 10 ต.บางจาก  กล่าวว่า การมีเวทีแบบนี้นับเป็นผลดีที่ภาคราชการเสนอตัวมาพร้อม ๆ กันที่จะสนับสนุนการทำกิจกรรมของชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งในส่วนของกลุ่มตนก็ทำกันอยู่แล้วและกับกลุ่มอื่นๆ ในตำบลก็มีการคุยกันแต่ก็เป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยๆไปไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนอย่างนี้ ซึ่งมาประชุมแต่ละครั้งนอกจากจะได้มาเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการของกลุ่มอื่น ๆ ที่ทำสำเร็จ และการได้แสดงความคิดเห็น ซักถาม และตอบคำถามกันในกลุ่มซึ่งเป็นบรรยากาศของความสนุกอย่างเล่าเพราะในที่สุดก็จะได้เป็นคำตอบหรือแนวทางสำหรับการทำงานต่อไปได้
         ข้อสังเกตประการหนึ่งของการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายคือ แม้แต่ละหน่วยงานต่างยังคงยึดวัฒนธรรมการทำงานในแบบเดิม ๆ ของตัวเอง แต่การเกิดโครงการที่มีลักษณะบูรณาการที่จุดหมายและการนำกระบวนการจัดการความรู้เข้าไปร่วมในขบวนการเรียนรู้ของทีมในทุกระดับตั้งแต่ผู้ริเริ่มจนถึงผู้ปฎิบัติและรับประโยชน์ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดการทำงานที่มีลักษณะบูรณาการกันมากขึ้น

CEO ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
         นายวิชม  ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ CEO ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการนำร่องนี้เล็ก ๆ ที่กำลังให้ผลไม่เล็ก เพราะมีแนวโน้มของความสำเร็จอย่างสูงและเกิดการทำงานแนวใหม่ที่เรียกได้ว่า “บูรณาการ”อย่างแท้จริง โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง  ซึ่งการทำงานลักษณะนี้ ผู้ว่าฯวิชม กล่าวว่า โครงการนี้เกิดง่ายเพราะเริ่มจากงบซีอีโอ ที่ผู้ว่าสามารถตัดสินใจได้ แต่หากจะให้เกิดผลอย่างยิ่งยืนจริง ๆ นั้นจะต้องมีการวางแผนระยะยาว ตั้งแต่การตั้งงบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งในระดับพื้นที่ควรมีการมาบูรณาการงบประมาณร่วมกันในภารกิจที่จะทำในพื้นที่และมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการบูรณาการทั้งงบประมาณและการปฎิบัติ ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ เพราะจากจุดเล็ก ๆ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่กำลังเห็นผลของการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีนำร่องที่เริ่มด้วยเรื่อง “องค์กรการเงินชุมชน”  ซึ่งเมื่อจบโครงการแล้วก็จะขยายผลไปทั่วทั้งจังหวัดได้ ซึ่งก็ต้องมาวางแผนกันต่อว่าจะบูรณาการงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วมาปฎับัติร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งจุดนี้ต้องเข้าหลักการของบประมาณด้วยนั่นคือ หากของบปีนี้ก็เพื่อไปใช้อีก 1-2 ปีข้างหน้า
         “ ที่นี่น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นการจัดการความรู้แบบบูรณาการ  ถ้าตัวอย่างที่เป็น best pratice ที่ดีจริง ๆ  คือถ้างบของ fuction ลงมาแล้วสามารถบูรณาการงบได้   เพราะที่ทำอยู่นี้มันง่ายเป็นงบซีอีโอเอง แต่ถ้าเป็นงบของหน่วยงานต่าง ๆ  ที่จะเอาไปทำในพื้นที่เดียวกันหากเราบูรณาการ(เอามาลงขันกัน)ได้ก็จะดี โดยยึดพื้นที่เป็นเป้าหมายแล้วมาบูรณาการงบกันลงไปทำทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน  เป็นการบูรณาการงบ และบูรณาการปฎิบัติ โดยการฝึกคนเข้าไปสู่ระบบ”  
 ผู้ว่าฯวิชม กล่าวอีกว่า  อย่างไรก็ตามการทำต้องคำนึงถึงระบบที่มาของงบประมาณด้วย  คือการบริหารโครงการกับการบริหารงบประมาณต้องไปคู่กัน   ทีนี้คำว่าการบริหารงบประมาณมันต้องคิดตั้งแต่เริ่มของโครงการไม่ใช่คิดตอนเริ่มงบมา  ในระบบทีมตอนนี้มีตัวอย่างว่าในจังหวัดสามารถรวมทีมได้แล้ว ก็ให้เริ่มต้นตั้งแต่การคิดว่าความต้องการของประชาชนอยู่ตรงไหน แล้วหน่วยงานภาครัฐจะช่วยอย่างไร  แล้วก็แยกย้ายกันเสนอในงบหน่วยงานของตน  การคิดเช่นนี้จะทำให้การพัฒนาพื้นที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ใช่มารุมทำกันในช่วงปลายปีงบประมาณ  
         นายภีม ภคเมธาวี ผู้ประสานงานหลักของโครงการ จาก ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า การทำงานร่วมกันของ หน่วยงานในจังหวัด ภายใต้โครงการนำร่อง แรก ๆ ที่เข้ามาร่วมอาจเพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่มีสถาบันการศึกษาเป็นเจ้าของงานหลัก ส่วนหน่วยราชการก็มองแค่ว่าเป็นผู้เข้ามาสนับสนุนเพราะมีภารกิจเกี่ยวข้องอยู่แล้ว จึงเป็นการเสริมภารกิจของหน่วยงาน แต่การนำกระบวนการจัดการความรู้มาใช้อย่างเข้มข้น และซึ่งทุกฝ่ายมีบทบาท มีความสำคัญเท่าเทียมกัน นั่นคือ ในการทำงานที่พยายามจัดเป็น 3 วง คือ วงคุณกิจเป็นวงปฎิบัติของชุมชนเลยทำกิจกรรมระดับชาวบ้าน วงที่สองคือคุณอำนวย มาจากหน่วยงานที่มาร่วมมือ วงที่สามเรียกว่าคุณเอื้อก็คือหัวหน้าหน่วยงานที่จะเอื้ออำนวยการมองวิสัยทัศน์การจัดสรรทรัพยากร การมองบูรณาการซึ่งเป็นระดับหัวหน้า  การเรียนรู้ไม่ใช่แค่ภายในกลุ่มวงเดียวกันแต่ในการจัดเวทีแต่ละครั้งทุกฝ่ายก็จะได้เรียนรู้ซึ่งกัน  โดยในวงคุณเอื้อระดับจังหวัดนั้นผู้ว่าฯวิชมเสนอตัวเป็นประธานและแนะนำให้ใช้วิธีการประชุมแบบประบบผู้แทนกระทรวงที่ให้คุณเอื้อจากหน่วยงานต่าง ๆ เวียนกันเป็นประธาน ซึ่งนี่ก็คือกระบวนการจัดการความรู้แบบหนึ่งในวงคุณเอื้อ
         กรณี โครงการนำร่องฯ และด้วยการทำงานลักษณะนี้จึงเป็นตัวอย่างของการจัดการความรู้ในวงราชการ ที่ทำให้ว่า “บูรณาการ”เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  แม้ยังไม่เกิดผลสำเร็จ 100% ก็ตาม.
 
นายภีม  ภคเมธาวี
หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน
ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
222 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 80160
โทรศัพท์ (075) 673-529 โทรสาร  (075) 673-525

คำสำคัญ (Tags): #km#ท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 21255เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท