การทดสอบมาตรฐานความรู้ความสามารถของครู (Competent testability)


การทดสอบมาตรฐานความรู้ความสามารถของครู (Competent testability)

เรารู้ได้อย่างไรว่าครูที่สอนนักเรียนอยู่ทุกวันนี้มีความรู้ความสามารถเพียงพอหรือไม่  แนวการสอนสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของชาติหรือไม่  นโยบายของสถานศึกษาในเรื่องการเรียนการสอนนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นมรรคผลเพียงใด  เนื้อหาที่ครูสอนถูกต้องจริงหรือ  ครูแยกออกหรือไม่ระหว่างข้อมูลพื้น ๆกับสิ่งที่เรียกว่าความรู้  ครูเข้าใจแนวการสอนแบบยึดเด็กเป็นสำคัญแค่ไหน ครูมีคุณธรรมและจริยธรรมเพียงพอหรือไม่  คำถามและข้อสงสัยประเภทนี้มีมากมาย      ในยุคที่ปัญหาทุกอย่างของบ้านเมืองล้วนแต่ย้อนมาถึงการแก้ไขที่รากเหง้าคือการศึกษาของประชาชนและครูคือคนสำคัญที่สุดที่แบกรับภาระนี้ไว้    เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีการที่จะตอบปัญหาจำพวกที่กล่าวมาข้างบนนั้นให้ได้
          จริงอยู่ว่าเรามีระบบที่ตรวจสอบศักยภาพของครูอยู่แล้วเช่นคนที่จะมาเป็นครูจะต้องถูกคัดเลือกมาอย่างดี
ประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิและระบบการคัดเลือกเข้ามาทำงานในองค์กรก็เป็นมาตรฐานบ่งชี้ในระดับหนึ่งแต่เมื่อสังคมเรียกร้องในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นทุกขณะ  เราคงต้องตอบได้มากกว่านั้นเพราะในข้อเท็จจริงเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้และสิ่งที่ครูเรียนมาจากมหาวิทยาลัยล้าสมัยในเกือบจะทันทีที่ครูเรียนจบออกมาด้วยซ้ำ   
          เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในอดีตเราเคยมีการสอบความรู้ข้าราชการเพื่อเลื่อนตำแหน่งเป็นระยะ ๆ ในบางสาขาวิชาเช่นนิติศาสตร์แม้ว่าจะจบปริญญามาแล้วยังต้องสอบเนติบัณฑิตให้ผ่านก่อนที่จะไปสอบเป็นผู้พิพากษาและอัยการ  
          ปัจจุบันในสาขาวิชาชีพบางอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ วุฒิบัตรเฉพาะทางต่าง ๆขององค์กรที่ไม่ใช่สถาบันการศึกษาโดยตรงได้รับการยอมรับเชื่อถือมากกว่าปริญญาจากมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไปเช่น  วุฒิบัตรของไมโครซอฟต์ , ซิสโก้  ,  ออราเคิล  หรือ บอร์แลนด์ เป็นต้น  แนวโน้มของทุกวิชาชีพปัจจุบันจะเป็นเรื่องของ   มาตรฐานต่าง ๆมากมายและมาตรฐานเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ครูที่สอนในรายวิชาต่าง ๆจะถูกทดสอบความรู้ความสามารถว่าสอดคล้องกับแนวทางที่หลักสูตรตลอดจนนโยบายของสถานศึกษาหรือแม้กระทั่งผู้มีส่วนได้เสียเช่นนักเรียนหรือผู้ปกครองต้องการหรือไม่
          แน่นอนว่าผู้ถูกทดสอบจะต้องมีข้อสงสัยในตัวเครื่องมือว่าวัดได้ถูกต้องแม่นยำเพียงใด นี่ก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างดีที่สุด  แต่ถ้าจะบอกว่าไม่สามารถวัดได้นั่นไม่จริงแน่นอน  ในทางวิทยาศาสตร์เรารู้กันว่าไม่มีเครื่องวัดใด ๆที่จะวัดอะไรได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์แต่การวัดให้ใกล้เคียงพอแปลผลได้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้
          คุณครูทุกคนที่ทำหน้าที่สอนย่อมคุ้นเคยกับการวัดผลหรือการสอบนักเรียนดีอยู่แล้วเมื่อนักเรียนยังถูกวัดและประเมินได้ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะวัดและประเมินครูไม่ได้  ผลบวกมีมากมายเช่นเมื่อรู้ว่าตนเองขาดจะได้เพิ่มเติมขวานขวาย  การทดสอบจะเป็นการกระตุ้นให้ครูไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  ข้อโต้แย้งในทำนองที่ว่าครูจะมัวแต่อ่านหนังสือไม่เป็นอันทำงานนั้นไม่จริงเพราะครูทุกคนย่อมมีตารางงานที่ต้องรับผิดชอบตายตัวเป็นเรื่องปกติและต้องถูกประเมินในส่วนของการปฏิบัติงานหากละเลยจุดนี้ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการทันทีอยู่แล้ว    ที่ผ่านมานั้นเราขาดกระบวนการวัดประเมินความรู้ความสามารถที่เป็นปัจจุบันในวิชาชีพที่ครูสอนอยู่จริง ๆ และข้อเท็จจริงที่ว่าความรู้ที่ครูมีอยู่ขณะจบการศึกษาเมื่อ 5 หรือ 10 ปีที่แล้วปัจจุบันนั้นอาจแทบจะล้าสมัยอย่างสิ้นเชิงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน
          ถ้าถามว่าจะออกแบบเครื่องมืออย่างไรก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าเกณฑ์ขั้นต่ำในแต่ละสาขาวิชานั้นต้องการความสามารถของครูระดับใด  หากเราถือเอาว่าครูที่สอนในวิชาใด ๆควรมีความรู้ในระดับปริญญาตรีของสาขานั้น ๆ ก็อาจดูหลักสูตรในระดับปริญญาตรีของสาขาวิชานั้นและทำข้อสอบประมวลความรอบรู้โดยใช้เกณฑ์ผ่านที่ภาคหรือสาขาวิชานั้นในมหาวิทยาลัยยอมรับซึ่งจะเห็นได้ว่าทำได้ไม่ยากนัก  สามารถไปจ้างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่ไหนก็ได้ทำให้ได้เลยและเนื่องจากวิชามันเปลี่ยนแปลงตลอดแบบทดสอบก็ควรจะปรับเปลี่ยนทุกครั้งที่วัดเช่นกันการวัดก็ไม่ควรจะนานเกิน 2 ปีต่อครั้ง
          ในส่วนของเทคนิควิธีการสอน(Teaching methodology)ก็ควรแยกออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากที่จะต้องวัดด้วย สาระที่เกี่ยวข้องจะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสอนเช่น จิตวิทยา หลักการและแนวคิดต่าง ๆทางการศึกษา หรือการสอนโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางเป็นต้น   เครื่องมือในส่วนนี้ก็สร้างได้ไม่ยากนักเช่นเราย่อมอนุมานได้ว่าถ้าหากครูเข้าใจจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กดี ครูก็น่าจะสามารถนำหลักจิตวิทยาดังกล่าวมาใช้ในการสอนได้  หรือในลักษณะของการสอนโดยยึดเด็กเป็นสำคัญเมื่อเราแยกองค์ประกอบต่าง ๆของแนวทางนี้ออกเป็นประเด็นย่อย ๆมาวัดความรู้ความเข้าใจและทัศนคติของครู   เช่นให้ออกแบบกระบวนการสอนโดยเขียนเป็นแผนการสอนอย่างละเอียดก็ย่อมสามารถประเมินได้ไม่ยากนักว่าครูสามารถออกแบบการสอนโดยยึดเด็กเป็นสำคัญได้หรือไม่    ภาควิชาศึกษาศาสตร์หรือคุรุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสามารถออกแบบเครื่องมืออย่างนี้ให้ได้
          ไม่มีเหตุผลที่ครูจะกลัวการประเมินและตรวจสอบเพราะในยุคสมัยนี้ทุกองค์กรทุกวงการต้องสามารถตรวจสอบได้เมื่อเราสร้างเครื่องมือเราต้องสร้างจากเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเมื่อเราทราบมาตรฐานเราก็จะรู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร  งานพัฒนาบุคลากรก็จะง่ายขึ้นเพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องพัฒนาครูให้มีความสามารถอย่างน้อยเท่ากับเกณฑ์ที่ต้องถูกประเมิน  ข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือคนที่มีความสามารถสูงกว่ามาตรฐานก็ไม่ต้องถูกเขม่น    คนที่ความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์ก็ไม่ต้องคอยวิ่งหาพรรคพวกสร้างกลุ่มสร้างอิทธิพลนอกระบบเพราะสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้  สิ่งหนึ่งที่จะช่วยครูได้คือการฝึกอบรม    ครูทุกคนก็จะให้ความสำคัญไม่หลบเลี่ยงการฝึกอบรมอีกต่อไป     ผลดีในระยะยาวคือครูจะมีมาตรฐานที่สูงขึ้นถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถน้อยลงเพราะมีคำตอบชัดเจนว่าครูทุกคนถูกประเมินทุก 2 ปีอยู่แล้วเป็นต้น
          ธรรมชาติของอาชีพครูนั้นไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งโดยไม่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาได้อยู่แล้ว   คนที่ไม่ชอบวิถีชีวิตแบบนี้ก็จะถูกกีดกันออกไปโดยธรรมชาติของงาน  ถ้าเราชอบวิถีชีวิตแบบที่กล่าวนี้เราก็จะมีความสุข    หลักการทำงานให้มีความสุขอย่างง่าย ๆอันดับแรกคือปรับความต้องการของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของงานพูดอีกแบบหนึ่งก็คือปรับเป้าหมายชีวิตของตนเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรเท่านั้นก็จบเรื่อง   ส่วนผลตอบแทนในลักษณะของรายได้หรือตัวเงินนั้นอาจอธิบายได้ว่าทรัพย์สินเงินทองนั้นเราใช้เพื่อแลกหรือซื้อความสุขเมื่อเรามีความสุขอยู่แล้วจากการพึงพอใจในงานที่ทำ   ความสุขนี้ก็เป็นรายได้ส่วนหนึ่งเช่นกันเพราะไม่ต้องเอาทรัพย์สินเงินทองไปซื้อมา    วิธีการคิดเชิงบวกอย่างนี้น่าจะดีสำหรับเพื่อนครูทุกคน
          สรุปสุดท้ายก็คือการถูกวัดและประเมินความสามารถในการทำงานเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีอะไรน่าวิตกกังวลผลดีที่เกิดขึ้นนี้ไม่เฉพาะกับผู้ที่มีส่วนได้เสียเช่นเด็ก ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมเท่านั้นยังมีผลดีต่อตัวผู้ถูกวัดและประเมินด้วยในแง่ของการพัฒนาตนเองเพื่อคงสภาพหรือเพิ่มคุณค่าอยู่ตลอดเวลา

หมายเลขบันทึก: 212202เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเห็นด้วยนะครับ  ว่าครูจำต้องแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่อย่างไม่รู้จบ เพื่อพัฒนาตัวเองและลูกศิษย์  แต่นั่นก็คงต้องหมายถึงกับทุกคนด้วย  เพราะความเป็นมนุษย์ก็จำต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

การประเมินศักยภาพของครู  ย่อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของครูและเชื่อมโยงไปสู่ผู้เรียน และผู้ปกครองไปในตัวด้วยเช่นกัน

ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท