นาฎศิลป์...ไทย


ละครร้อง

    ละครร้องเป็นศิลปการแสดงแบบใหม่ที่กำเนิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเล้าเจ้าอยู่หัว ละครร้องได้ปรับปรุงขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากละครต่างประเทศ ละครร้องนั้นต้นกำเนิดมาจากการแสดงของชาวมลายู เรียกว่า "บังสาวัน" (Malay Opera) ได้เคยเล่นถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตรครั้งแรกที่เมืองไทรบุรี และต่อมาละครบังสาวันได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ โรงที่เล่นอยู่ข้างวังบูรพา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแก้ไขปรับปรุงเป็นละครร้องเล่นที่โรงละครปรีดาลัย (เดิมสร้างอยู่ในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถนนตะนาว) คณะละครของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์นี่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเรียกชื่อว่า "ละครหลวงนฤมิตร" บางครั้งคนยังนิยมเรียกว่า "ละครปรีดาลัย" อยู่ ต่อมาเกิดคณะละครร้องแบบปรีดาลัยขึ้นมากมายเช่น คณะปราโมทัย ปราโมทย์เมือง ประเทืองไทย วิไลกรุง ไฉวเวียง เสรีสำเริง บันเทิงไทย และนาครบันเทิง เป็นต้น ละครนี้ได้นิยมกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ โรงละครที่เกิดครั้งหลังสุด คือ โรงละครนาคบันเทิงของแม่บุนนาค กับโรงละครเทพบันเทิงของแม่ช้อย

          นอกจากนี้ได้เกิดละครร้องขึ้นอีกแบบหนึ่ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดัดแปลงละครของชาวตะวันตก จากละครอุปรากรที่เรียกว่า "โอเปอเรติก ลิเบรตโต" (Operatic Libretto) มาเป็นละครในภาษาไทย และได้รับความนิยมอีกแบบหนึ่ง ละครร้องจึงแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. ละครร้องสลับพูด ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ละครร้องสลับพูด ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ยกเว้นตัวตลกหรือจำอวดที่เรียกว่า "ตลกตามพระ" ซึ่งใช้ผู้ชายแสดง มีบทเป็นผู้ช่วยพระเอกแสดงบทตลกขบขันจริงๆ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน
๒. ละครร้องล้วนๆ ใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ ๖ ) ละครร้องล้วนๆ ใช้ผู้ชาย และผู้หญิงแสดงจริงตามเนื้อเรื่อง

เรื่องที่แสดง
          ละครร้องสลับพูด บทละครส่วนใหญ่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้พระนิพนธ์บท และกำกับการแสดง เรื่องที่แสดงได้แก่ ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้วเจียระไน เครือณรงค์ กากี ภารตะ สีป๊อมินทร์ (กษัตริย์ธีบอของพม่า) พระยาสีหราชเดโช โคตรบอง สาวเครือฟ้า ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องมาดามบัตเตอร์พลาย (Madame Butterfly) อันเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม และมีผู้นำมาจัดแสดงเสมอ
          ละครร้องล้วนๆ เรื่องที่แสดง คือ เรื่องสาวิตรี

การแสดง
          ละครร้องสลับพูด มีทั้งบทร้อง และบทพูด ยึดถือการร้องเป็นส่วนสำคัญ บทพูดเจรจาสอดแทรกเข้ามาเพื่อทวนบทที่ตัวละครร้องออกมานั่นเอง แม้ตัดบทพูดออกทั้งหมดเหลือแต่บทร้องก็ยังได้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ มีลูกคู่คอยร้องรับอยู่ในฉาก ยกเว้นแต่ตอนที่เป็นการเกริ่นเรื่องหรือดำเนินเรื่อง ลูกคู่จะเป็นผู้ร้องทั้งหมด ตัวละครจะทำท่าประกอบตามธรรมชาติมากที่สุด ซึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเรียกว่า "ละครกำแบ"
          ละครร้องล้วนๆ ตัวละครขับร้องโต้ตอบกัน และเล่าเรื่องเป็นทำนองแทนการพูด ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงล้วนๆ ไม่มีบทพูดแทรก มีเพลงหน้าพาทย์ประกอบอิริยาบถของตัวละคร จัดฉากตามท้องเรื่อง ใช้เทคนิคอุปกรณ์แสงสีเสียงเพื่อสร้างบรรยากาศให้สมจริง

ดนตรี
          ละครร้องสลับพูด บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวมหรืออาจใช้วงมโหรีประกอบ ในกรณีที่ใช้แสดงเรื่องเกี่ยวกับชนชาติอื่นๆ
          ละครร้องล้วนๆ บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม

เพลงร้อง
          ละครร้องสลับพูด ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง ๒ ชั้น ในขณะที่ตัวละครร้องใช้ซออู้คลอตามเบาๆ เรียกว่า "ร้องคลอ"
          ละครร้องล้วนๆ ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง ๒ ชั้น ที่มีลำนำทำนองไพเราะ

สถานที่แสดง มักแสดงตามโรงละครทั่วไป

คำสำคัญ (Tags): #ป.บริหาร รุ่น 3
หมายเลขบันทึก: 212023เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท