เทคนิคการสร้าง...จิตสำนึก


การ...ทักทาย

เทคนิคการสร้างจิตสำนึกในงานบริการ (Service Mind) ตอน
สร้างความประทับใจด้วย “การทักทาย”

 

 

 

   

           คำทักทายที่ได้ยินและนิยมใช้กันมากสำหรับคนไทยนั่นก็คือ สวัสดีค่ะ สวัสดีครับ พบว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มีลักษณะของการไปมา ลาไหว้ เจอหน้ากันก็ทักทายปราศรัยซึ่งกันและกัน จะจากกันทีก็ต้องล่ำลากันที หากจากกันไปนาน บางครั้งอาจจะต้องมีการจัดงานเลี้ยงกัน สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นงานใหญ่หรืองานเล็ก

           การทักทายจึงเป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่เป็นเสมือนห่วงโซ่ร้อยใจระหว่างบุคคล ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในทางบวก ( Positive Relations) การทักทายจัดได้ว่าเป็นพรแสวงที่ทุกคนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นมาได้ บุคคลที่รู้จักวิธีการทักทายผู้อื่นอย่างเหมาะสมด้วยกาลเทศะ เทคนิค และระดับของผู้ที่ถูกทักทายแล้วล่ะก็ บุคคลผู้นั้นย่อมมีเสน่ห์ชวนคบหาสมาคมด้วย

           การทักทายที่ไม่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนจากมิตรให้กลายมาเป็นศัตรูได้ พบว่าคนบางคนเจอหน้ากันเพียงครั้งเดียวหรือเจอกันไม่กี่ครั้ง แต่คน ๆ นั้นกลับไม่เป็นที่ถูกชะตากับบุคคลอื่น ๆ สักเท่าไหร่ นั่นเป็นเพราะได้สร้างศัตรูไว้แล้วจากการทักทายด้วยคำพูดที่ฟังแล้วไม่รื่นหูมากนัก เช่น “ คุณเองเหรอคุณสมชาย ได้แต่คุยกันทางโทรศัพท์ ไม่น่าเชื่อเลย ทำไมเสียงหล่อกว่าตัวจริงอีก”

           ดังนั้นการทักทายจึงเป็นเสมือนต้นน้ำของการสร้างสรรเสน่ห์ให้กับตนเองที่มีต่อบุคคลต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าของตน ทั้งนี้รูปแบบและเทคนิคของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีด้วยการทักทายมีได้หลากหลายวิธีการ ซึ่งดิฉันขอเสนอลักษณะของการทักทายที่สร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นด้วยวิธีการง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

ทักทายด้วยการคำพูด “ สวัสดี”
    คุณสามารถกล่าวคำ “ สวัสดีค่ะ ” หรือ “ สวัสดีครับ ” ได้กับทุก ๆ คน หากไม่รู้ว่าจะหาคำพูดอะไรเพื่อทักทายผู้อื่น คำว่า “ สวัสดี ” เป็นคำพูดง่าย ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ไม่รู้จักมาก่อน หรือเป็นลูกค้าที่สนิทสนมด้วยแล้วก็ตาม เพราะการทักทายด้วยคำพูดเวลาเจอหน้ากันนั้นย่อมดีกว่าที่เราไม่ได้พูดคุยอะไรกันเลย เพียงแค่คำพูดไม่กี่คำที่ออกจากปากของคุณ จะเป็นเสมือนเชือกร้อยใจให้เกิดการสานต่อ อาจจะเป็นการสานต่อของเรื่องที่จะพูดต่อ หรือการสานต่อทางใจต่อไปก็เป็นได้ ดังนั้นหากทุกครั้งที่คุณพบเจอลูกค้าจะสนิทหรือไม่สนิทด้วยก็ตาม คุณควรเริ่มต้นทักทายพวกเขาก่อนด้วยคำพูดว่า “ สวัสดี ”

ทักทายด้วยการใช้ “ สองมือพนม” 
    การฝึกฝนตนเองให้มือไม้อ่อนไว้ก่อนจะดีกว่าค่ะ ยิ่งถ้าคุณจะต้องไปพบเจอกับลูกค้าที่อาวุโสกว่า หรือมีคุณวุฒิมากกว่า หรือเป็นลูกค้าใหม่ที่คุณจะต้องไปทำความรู้จักพวกเขา คุณควรแสดงการทักทายด้วยการไหว้ แบบสองมือพนม การไหว้เป็นกิริยามารยาทที่สุภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของคนไทย การไหว้ที่ดีมิใช่สักแต่ว่าจะไหว้ การไหว้ที่ดีนั้นคุณเองควรจะยกมือทั้งสองข้างขึ้นพนม แล้วค่อย ๆ ก้มศีรษะเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนอบน้อมบุคคลที่คุณไหว้ด้วย ซึ่งคุณเองจะยิ่งมีเสน่ห์มาก หากคุณไหว้ด้วยพร้อมกับเอ่ยคำทักทายด้วยคำว่า “ สวัสดี ”

ทักทายด้วยการสร้าง “ รอยยิ้ม” 
    ยิ้มเท่านั้นที่สามารถชนะใจลูกค้าได้ คนที่มีรอยยิ้มหรือเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ บ่งบอกได้ว่าเป็นคนที่อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี เป็นบุคคลที่น่าคบหาสมาคมด้วย ตรงกันข้ามกับคนที่ทำหน้าหงิกอยู่ตลอดเวลา เพราะดูแล้วไม่น่าใกล้ชิด เป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย ส่งผลให้ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้หรือคบหาสมาคมด้วย ดังนั้นการผูกมิตรที่ง่ายและสามารถทำได้อีกวิธีการหนึ่งก็คือ การสร้างรอยยิ้มให้เกิดขึ้น การยิ้มไม่ใช่การแสยะยิ้มหรือฝืนยิ้ม ควรจะเป็นการแสดงออกจากใจจริง คนบางคนอาจไม่ชอบพูด ไม่กล่าวคำสวัสดี แต่สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าของตนจากรอยยิ้ม พบว่าคนที่ยิ้มยากอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่มีเสน่ห์ ไม่ชวนให้ลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือหรือขอความร่วมมือ และหากมองอีกแง่มุมหนึ่งนั้นคนที่ยิ้มยาก ก็อาจจะเป็นบุคคลที่ไม่มีใครอยากจะให้ความร่วมมือหรือความช่วยเหลือใด ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

ทักทายด้วยการ “ ผงกศีรษะ” 
    การแสดงความต้องการที่จะทักทายผู้อื่น ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว คุณสามารถแสดงกิริยาท่าทางด้วยการผงกศีรษะกับลูกค้าของคุณซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าที่ไม่สนิทสนมด้วย รู้จักกันแบบผิวเผิน หรือเคยเห็นหน้า เห็นตากันมาบ้าง นอกจากนี้คุณสามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ที่กำลังรีบเร่ง แต่บังเอิญพบเจอกับลูกค้า ซึ่งตัวคุณเองยังไม่มีเวลาแม้แต่จะกล่าวคำว่าสวัสดี คุณสามารถเลือกใช้การทักทายกับลูกค้าด้วยวิธีการนี้ได้ โดยส่วนใหญ่การทักทายด้วยวิธีนี้จะกระทำควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างรอยยิ้ม เพราะอย่างน้อย ๆ การทักทายด้วยรูปแบบดังกล่าวนี้ก็ยังดีกว่ามองหน้ากันเฉย ๆ และเดินจากกันไป

ทักทายด้วยการ “ ถามถึงเรื่องทั่วๆ ไป” 
    หากคุณรู้จักลูกค้าของตนเองดี รู้ว่าเขาชอบ ไม่ชอบอะไร คุณสามารถนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นที่จะทักทายเพื่อเริ่มต้นการพูดคุยกับลูกค้าของคุณต่อไปได้ หรือคุณนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดมาชี้นำหรือตั้งเป็นประเด็นคำถามเพื่อทักทายลูกค้าที่รู้จักก็ย่อมได้ เช่น “ อ้าว คุณสมใจเห็นว่าไม่สบาย เป็นไงบ้างหายดีแล้วหรือ ” หรือ “ วันปีใหม่ปีนี้ คุณหญิงจะไปเที่ยวที่ไหนค่ะ ” ข้อควรระวังในการถามถึงเรื่องทั่ว ๆ ไปก็คือ จงอย่าถามเรื่องส่วนตัวของลูกค้า เช่น เรื่องเงินเดือน เรื่องครอบครัว เพราะว่าลูกค้าบางคนอาจถือสา และดีไม่ดีพวกเขาเหล่านั้นจะไม่อยากพูดคุยหรือทักทายคุณอีกต่อไปเลย

ทักทายด้วยการ “ ให้ของฝาก” 
    คุณไม่จำเป็นต้องทักทายลูกค้าแบบเผชิญหน้าก็ได้ค่ะ ซึ่งคุณเองสามารถซื้อของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ ฝากใครก็ได้ส่งให้กับลูกค้าของคุณเอง เป็นการผูกใจลูกค้าค่ะ พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ใส่ใจหรือสนใจกับมูลค่าของของฝากที่คุณมอบให้มากนัก แต่สิ่งที่พวกเขาสนใจก็คือ ความเอาใจใส่ที่คุณได้มอบให้มากกว่า เป็นการซื้อใจลูกค้า เพราะอย่างน้อย ๆ ผู้รับจะรู้สึกดีและประทับใจกับของฝากที่คุณมอบให้ ทั้งนี้การซื้อของฝากควรจะพิจารณาให้เหมาะสมกับวาระ โอกาส เหตุการณ์ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ลูกค้าด้วย เช่น รู้ว่าลูกค้าไม่สบาย คุณควรจะหาซื้อนมหรือผลไม้ฝากให้ลูกค้า ซึ่งอาจจะเขียนโน๊ตเล็ก ๆ แสดงความห่วงไยฝากไปให้พร้อมกับนมหรือผลไม้ด้วยก็ได้

           ในทางกลับกัน หากคุณเป็นฝ่ายที่ถูกทักทายด้วยแล้ว คุณเองควรจะสนองตอบการทักทายนั้นด้วยเช่นกัน จงอย่าปล่อยให้ผู้ทักทายรู้สึกเสียหน้า หรืออับอาย เนื่องจากคุณไม่ยิ้มให้ หรือไม่พูดด้วยเลย เพราะเมื่อเกิดความรู้สึกเช่นที่ว่านี้แล้ว แน่นอนว่าต่อไปบุคคลนั้นอาจจะไม่เข้ามาทักทายคุณอีกต่อไปก็เป็นได้ และเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้จะส่งผลต่อสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นในทางลบ

หมายเลขบันทึก: 212021เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท