5 วิธีใส่ใจสุขภาพตับ (ไม่ให้ไขมันในตับสูง)


...

สัปดาห์ก่อนคุณหมอท่านหนึ่งดูไม่อ้วนอะไรเลย ไปตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ช่องท้อง และตรวจพบไขมันในตับสูง (fatty liver) เป็นไปได้หรือที่คนผอมจะมีไขมันในตับสูงได้

วันนี้มีคำแนะนำจากเมโยคลินิกมาฝากครับ

...

ภาวะไขมันในตับสูงโดยไม่ได้ดื่มเหล้าหรือดื่มน้อยมาก (nonalcoholic fatty liver disease) ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดอาการหรือโรคอะไร (steatosis) ส่วนน้อยอาจทำให้เกิดตับอักเสบ (nonalcoholic steatohepatitis / NASH) ซึ่งอาจทำให้เกิดตับแข็ง หรือเป็นมะเร็งตับได้

โรคนี้พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ทว่า... พบมากที่สุดในคนวัยกลางคนที่มีน้ำหนักเกิน อ้วน เป็นเบาหวาน มีค่าโคเลสเตอรอล (ไขมันในเลือด) หรือไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์สูง

...

คนในซีกโลกตะวันตก (ฝรั่ง) อ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ประชากรสหรัฐฯ 1 ใน 3 มีไขมันในตับสูง

คนที่มีไขมันในตับสูงส่วนใหญ่อยู่แบบสบายๆ ไม่มีอาการอะไร ส่วนน้อยมีอาการที่ไม่ชัดเจน เช่น อ่อนเพลีย เพลียง่าย ไม่สบายหรือแน่นท้องด้านขวาตอนบน ฯลฯ

...

ภาพจากเมโยคลินิก > [ picture from Mayoclinic ]

โปรดสังเกตว่า ตับมีไขมันแทรกจนเหลืองอร่าม ไม่เหมือนตับทั่วไปที่มีสีแดงคล้ำ

...

ภาวะไขมันในตับสูงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการเมทาโบลิค (metabolic syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เพิ่มความเสี่ยง (โอกาสเป็น) โรคเบาหวาน หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต

กลุ่มอาการเมทาโบลิคได้แก่

  • อ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง
  • ความดันเลือดสูง
  • ไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) สูง
  • ไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล) ชนิดดี (HDL) ต่ำ
  • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (ว่าที่เบาหวาน หรือใกล้เป็นเบาหวานขึ้นไป) ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

...

ทำไมไขมันในตับที่ดูเหมือนนิ่ง สงบเสงี่ยมมาเป็นเวลานาน และไม่ค่อยมีอาการ ถึงได้ "ดุ" หรือ "โหด" ขึ้นมาในคนบางคน

เรื่องนี้นักวิจัยหลายท่านกล่าวว่า การมีไขมันในตับสูงอาจเปรียบได้กับ "การโจมตีครั้งที่ 1 (first hit)" คล้ายๆ การแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย

...

ส่วนการอักเสบในตับไปจนถึงตับแข็ง หรือมะเร็งน่าจะเป็นผลจากการ "โจมตีครั้งที่ 2 (second hit)" ซึ่งอาจเปรียบได้กับการก่อการร้ายแบบเต็มตัว

สาเหตุที่อาจกระตุ้นให้เกิดการโจมตีครั้งที่ 2 มีหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อ (เช่น เหงือกอักเสบเรื้อรัง ฯลฯ) ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง (เช่น อายุมากขึ้น ฯลฯ) การได้รับธาตุเหล็กมากเกิน (เช่น กินเนื้อ เลือด หรือยาบำรุงเลือดมากเกิน ฯลฯ) ลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งแต่ละคนจะต่างกันไป ฯลฯ

...

ปัจจัยเสี่ยงของโรคตับมีไขมันมากมี 2 กลุ่มได้แก่

(1). ปัจจัยที่สำคัญมากได้แก่ น้ำหนักเกินหรืออ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลสูง

...

คนที่มีโรคตับอักเสบจากไขมันในตับสูง (NASH)

  • มากกว่า 70% เป็นคนอ้วน
  • 3 ใน 4 เป็นโรคเบาหวาน
  • มีไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลสูง (อาจถึง 80%)

...

(2). ปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงไปได้แก่ การผ่าตัดช่องท้อง (เช่น การผ่าตัดลำไส้เพื่อลดความอ้วน ฯลฯ) ยาบางชนิด (เช่น ฮอร์โมนเพศทดแทนหลังหมดประจำเดือน ฯลฯ) โรคพันธุกรรมบางอย่าง

...

ข่าวดีคือ โรคนี้ป้องกัน หรือชะลอไม่ให้โรคแย่ลงได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน)
  • ออกแรง-ออกกำลัง
  • ควบคุมเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือด) ให้ดี
  • ลดระดับไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอล (ถ้าสูง)

...

(1). ลดน้ำหนัก

  • สูตรอาหารที่ช่วยลดความอ้วน หรือลดน้ำหนักได้ดีประกอบด้วยอาหารที่มีเส้นใย (ไฟเบอร์) สูง เช่น ผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้) ธัญพืชไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีทหรือขนมปังเติมรำ ฯลฯ) ให้กำลังงานต่ำ (เช่น ไม่ผ่านการผัด ทอด หรือเติมน้ำตาล ฯลฯ) และมีไขมันไม่เกิน 30% ของกำลังงานทั้งหมด (ประมาณ 15% ของปริมาณทั้งหมด)

...

  • ลดน้ำหนักช้าๆ สัปดาห์ละไม่เกิน 0.5 (ครึ่ง) กิโลกรัมกำลังพอดี
  • การลดน้ำหนักเร็วๆ มากๆ อาจทำให้ไขมันจับตับมากขึ้นได้

...

(2). การออกแรง-ออกกำลัง

  • อาหารสุขภาพ (ตามข้อ 1) และการออกแรง-ออกกำลังพอประมาณมีส่วนช่วยลดการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดการอักเสบของตับ

...

(3). ควบคุมเบาหวานให้ดี

  • การรักษาเบาหวานไม่ได้ขึ้นกับยาเพียงฝ่ายเดียว ทว่า... ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างการควบคุมอาหาร การออกแรง-ออกกำลัง และยา

(4). ลดระดับไขมันในเลือด

  • ควรลดระดับไขมันหรือโคเลสเตอรอลในเลือดด้วยการควบคุมอาหาร ออกแรง-ออกกำลัง หรือใช้ยา (ถ้ามีข้อบ่งชี้) มีส่วนช่วยให้โรคนี้ทุเลาลงได้

...

(5). หลีกเลี่ยงสารพิษ

  • ควรลด-ละ-เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) และสารเคมีหรือยาที่มีพิษต่อตับ เช่น ไม่กินยาแก้ปวดพาราเซตามอลเกินขนาด หรือกินติดต่อกันนานเกิน (7 วัน) ฯลฯ

...

การป้องกันโรคนี้เสียตั้งแต่ต้นเป็นดีที่สุด สรุปการป้องกันโรคที่สำคัญได้แก่

  • (1). ระวังอย่าให้อ้วน

...

  • (2). ป้องกันโคเลสเตอรอล หรือไขมันในเลือดสูง โดยการควบคุมอาหาร ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ
  • (3). ระวังอย่าให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยการกินธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ พอประมาณ กินผักให้มากหน่อย กินผลไม้ที่ไม่หวานจัดพอประมาณ กินถั่ว กินช้าๆ และถ้าเป็นเบาหวาน... ควรรักษาให้ต่อเนื่อง

...

  • (4). ลด-ละ-เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ)

เมื่อคนบนโลกอ้วนกันมากขึ้น... เราก็จะมีโอกาสพบโรคไขมันในตับสูงเพิ่มขึ้น หรือแม้คนที่ไม่อ้วน... ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลสูง ฯลฯ ก็มีโรคไขมันในตับสูงได้

...

เรียนเสนอให้พวกเราหันมาใส่ใจสุขภาพตับ เพื่อสุขภาพจะได้ดีไปนานๆ ครับ

...

 

 

ที่มา                                                             

...

  • Thank Mayoclinic > Nonalcoholic fatty liver disease > [ Click ] > February 19, 2007.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 22 กันยายน 2551.

...

 

 

หมายเลขบันทึก: 211036เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2008 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณ คุณหมอวัลลพ ค่ะ

ที่ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ จะปฏิบัติตามและแนะนำลูกศิษย์และคนรอบข้างต่อเป็นบทความที่มีประโยชน์กับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขค่ะ อยากเรียนถามคุณหมอว่า ผู้ป่วยโรคไทรอย์ ที่รับประทานยาไทรอย์เป็นเวลานาน ถึง 10 ปี มีผลกระทบต่อตับหรือไม่ และควรดูแลสุขภาพอย่างไร

ขอขอบคุณ... คุณ krutoiting

  • ยาธัยรอยด์มีหลายชนิด

ที่ใช้บ่อยมากๆ และใช้นานน่าจะมี 2 กลุ่มได้แก่ ฮอร์โมนธัยรอยด์ และยากดการทำงานของต่อมธัยรอยด์

  • ฮอร์โมนธัยรอยด์ใช้นานได้ปลอดภัย > ถ้าใจสั่น มือสั่นอาจต้องลดยา
  • ยากดการทำงานของต่อมธัยรอยด์ > อาจต้องตรวจนับเม็ดเลือดเป็นระยะๆ

เรื่องนี้ควรปรึกษาหมอใกล้บ้านครับ...

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท