อ้วนมากๆ กับความต้องการทางเพศ


...

ความอ้วนมักจะตามมาด้วยเรื่องร้ายๆ แบบ "เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด" ดังคำกล่าวของอาจารย์ท่านหนึ่งว่า "หลังพายุลูกที่ 1 จะมีพายุลูกที่ 2 (3,4,5,...) ตามมา

วันนี้ก็มีพายุมาฝากพวกเราที่อ้วนมากๆ ครับ (วันนี้โหด... ไม่ให้กำลังใจกันเลย)

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์อีริค เอ็ม. พอลิ และคณะ แห่งวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียสเตท เฮอร์ชี สหรัฐฯ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 19-48 ปี จำนวน 87 คน

ผลการศึกษาพบว่า คนอ้วนมีโอกาส "ทำลูก" สำเร็จน้อยลง แถมยังมีระดับฮอร์โมนหลายชนิดที่เสริมความเป็นชายลดต่ำลง ตรงกันข้ามระดับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโทรเจน / estrogen) กลับเพิ่มขึ้น

...

สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อไขมัน (ที่มากเกิน) เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเทอโรน / testosterone) ให้กลายเป็นฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโทรเจน / estrogen) เพิ่มขึ้น

ฮอร์โมนเพศหญิงที่เพิ่มขึ้นไปกดต่อมใต้สมอง (hypothalamus) ทำให้ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนเพศชาย และสร้างอสุจิ (สเปิร์ม / sperm) ได้แก่ FSH, LH ลดต่ำลง ทำให้อัณฑะสร้างฮอร์โมนเพศชายน้อยลง

...

ท่านผู้อ่านที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน... อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป เพราะการศึกษานี้ใช้นิยามคำว่า "อ้วน" แบบฝรั่ง

นิยามอ้วนแบบฝรั่งในการศึกษานี้นับดัชนีมวลกาย (body mass index / BMI) สูงเกือบ 32 จึงจะเรียกว่า อ้วน

...

วิธีคิดดัชนีมวลกายหรือ BMI ง่ายๆ คือ

  • นำเครื่องคิดเลขมา
  • กดน้ำหนักเป็นกิโลกรัมลงไป (กดเบาๆ ก็ได้ ไม่ต้องใช้ความรุนแรง)
  • หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร 2 ครั้ง

...

วิธีคิดดัชนีมวลกายหรือ BMI ที่ยากหน่อยก็มีคือ

  • ห้ามนำเครื่องคิดเลขมา
  • ให้ใช้กระดาษกับปากกาหรือดินสอ
  • นำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมมาตั้ง
  • หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง
  • คิดแบบนี้ในใจ หรือจะใช้กระดาษแบบ 1 สมอง 2 มือก็ได้

...

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า คนอ้วนมีความต้องการทางเพศ (libido) ลดต่ำลง โอกาสเป็นโรคนกเขาไม่ขัน (erectile dysfunction / ED) เพิ่มขึ้น

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 

...

 

 

ที่มา                                                             

...

  • Thank Reuters > Obesity may diminish a man's fertility > [ Click ] > September 20, 2008. // Source > J Fertility and Sterility. August 2008.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 21 กันยายน 2551.

...

หมายเลขบันทึก: 211030เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2008 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท