การส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ


ดึงความสามารถของเด็กมาเพื่อพัฒนาประเทศ

การส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ

เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและดึงนำความสามารถของเด็กมาเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต"

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ ที่ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และข้อกำหนดข้อ ๒ และข้อ ๔ ของกฎกระทรวงกำหนด จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ จำนวน ๒๑ คน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน มีคณะกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน ๙ คน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๗ คน คณะกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ และองค์กรเอกชน แห่งละ ๑ คน รวม ๓ คน โดยมีผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกรรมการและเลขานุการ

รมว.ศธ.ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ศธ.จะดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อให้สามารถดูแลเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือเด็กเก่งให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แม้ว่าเด็กเหล่านี้อาจจะมีความสลับซับซ้อนมากเพียงใด แต่การพัฒนาเด็กในบางด้านก็สามารถดำเนินการได้โดยที่ใช้งบประมาณไม่มากนัก เช่น การพัฒนาเด็กด้านศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์  สำหรับปัญหาด้านการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของเด็ก อาจจะทำได้สำหรับเด็กที่อยู่ในโรงเรียนประจำจังหวัดหรืออำเภอ ซึ่งเป็นโรงเรียนใหญ่ มีระบบและเครื่องมือ รวมทั้งครูอาจารย์รองรับได้ส่วนหนึ่ง แต่เด็กที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือในท้องถิ่นห่างไกล โรงเรียนจะดำเนินการเพียงลำพังไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้การดูแลและช่วยเหลือควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ ขอให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการให้เกิดประโยชน์โดยเร็ว เพราะคณะกรรมการทุกคนมีความรู้ และข้อมูลเพียงพอสำหรับดำเนินการแล้ว ศธ.จะเร่งประกาศนโยบายเพื่อส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด และเอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการ และจะเร่งผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และดึงนำความสามารถของเด็กมาเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในความเป็นจริง ถ้าโรงเรียนให้ความใส่ใจเกี่ยวกับเด็กมีความสามารถพิเศษ ก็จะมีระบบไว้รองรับ แต่โรงเรียนปกติซึ่งเป็นโรงเรียนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้มีระบบไว้รองรับเด็กเหล่านี้ จึงปล่อยให้เด็กเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป อีกทั้งยังไม่มีความเข้าใจในตัวเด็กมากนัก จึงทำให้เด็กแสดงออกมาซึ่งความก้าวร้าว เพราะไม่ได้รับความเข้าใจ และไม่สามารถตอบสนองศักยภาพของเด็กที่มีอยู่ได้ ทำให้เด็กเบื่อหน่ายต่อการเล่าเรียนในระบบปกติ  สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการในการจัดหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ กลยุทธ์กระตุ้นให้เด็กได้แสดงออก เพื่อให้สามารถคัดแยกเด็กเหล่านี้ออกมาได้ สามารถดำเนินการในมหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนสาธิตซึ่งเปิดห้องเรียนพิเศษอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ

ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า หลักสูตรของเรา ยังไม่สามารถรองรับเด็กมีความสามารถพิเศษได้ทุกประเภทและทุกระดับ และเด็กเหล่านี้ จะมีลักษณะที่พิเศษ คือ จะมีความเก่งเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เช่น เด็กที่มีความเก่งด้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระดับปริญญาตรี แต่อาจจะมีความสามารถด้านศิลปะแค่ชั้นอนุบาลเท่านั้น  ขณะนี้กลไกของการศึกษาหรือหลักสูตร ได้ทำลายเด็กที่มีความสามารถพิเศษเป็นจำนวนมาก เพราะเด็กไม่ได้รับการพัฒนาที่ถูกวิธี จึงต้องการให้ ศธ. ประกาศนโยบายเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ เพราะยังมีบางด้านที่ทุกคนยังไม่ได้สัมผัส เช่น ความต้องการของเด็ก ความเครียดจากการอยู่ภายใต้กลไกของการเรียนเป็นระดับชั้น รวมถึงปัญหาและความทุกข์ของเด็กด้วย  โดยในลำดับแรกจะต้องมีการแก้ไขกลไก และมีการช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนในหลายๆ ด้าน เช่น การเสาะแสวงหาเด็ก ต้องสร้างเครื่องมือ สภาพแวดล้อม กระบวนการ ให้เด็กได้แสดงออกมาซึ่งสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก จึงจะทำให้เราสามารถคัดแยกเด็กที่มีความสามารถพิเศษออกจากเด็กทั่วไปได้ ซึ่งระบบการศึกษาที่ดี ก็จะช่วยเป็นสื่อที่ใช้แสวงหาและพัฒนาเด็กเหล่านี้ได้

ดร.อรพินท์ สพโชคชัย ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) กล่าวว่า  สถาบันเป็นสื่อกลางเพื่อให้เห็นความต้องการของเด็ก และจะต้องมองเห็นปัญหาของเด็กด้วย  โดยได้จัดตั้งศูนย์ต้นแบบวิจัยเชิงปฏิบัติการ ภายหลังจากการคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถพิเศษแล้ว ก็จะนำเด็กมาเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์นี้ ซึ่งจะใช้เวลา ช่วงหนึ่ง โดยครูที่ร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก จะต้องรู้และบอกได้ว่า เด็กมีความถนัดหรือเก่งด้านใด ซึ่งจะมีฐานต่างๆ ไว้รองรับ เช่น ฐานความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ฐานคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพื่อวัดและประเมินความสามารถของเด็กอีกครั้ง

รศ.เฉลียวศรี พิบูลชล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้นำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ : บทเรียนจากต่างประเทศ  ใจความตอนหนึ่งว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดตั้งชั้นเรียนพิเศษในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ  โดยเปิดให้เด็กนักเรียนอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี เข้าเรียน ใช้ระยะเวลาเรียน ๕ ปี ซึ่งในเวลา ๒ ปีแรก จะเป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน ๒ ปีหลัง  เป็นการเรียนวิชาเอกตามความต้องการของเด็ก โดยเด็กสามารถเรียนระดับปริญญาตรี-ปริญญาโทได้ และสามารถเรียนภาษาได้ถึง ๔ ภาษา ซึ่งกลไกการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษของไทย มีความครบถ้วนดีแล้ว ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และองค์กรต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นการริเริ่มการจัดการ จึงทำให้ยังไม่มีความสมบูรณ์ ครบถ้วนในทุกด้าน แต่เราสามารถนำรูปแบบหรือแนวทางการจัดตั้งชั้นเรียนพิเศษ มาปรับใช้กับระบบการศึกษาของเรา โดยใช้คู่ขนานไปกับการเรียนการศึกษาปกติด้วย.

ที่มา : สนง.รมต.ศธ.

หมายเลขบันทึก: 209558เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาติดตามอ่านค่ะ

มาเยี่ยมและเป็นกำลังใจรองขวัญค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท