ความสำคัญของความคิด


ความคิด

ความสำคัญของความคิด

ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูด ทุกอย่างสำเร็จมาจากความคิด  การคิดก่อนพูดและคิดก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์และเป็นความเจริญ

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานเกี่ยวกับคุณค่าและประโยชน์ของความคิดว่า สิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้นั้น ล้วนมาจากความคิด หากคิดดี การกระทำก็จะดีตามที่คิด การคิดจึงเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ควรใส่ใจให้มาก ทั้งก่อนที่จะพูดหรือทำการใด ๆ

ทรัพยากรมนุษย์ เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาประเทศ การที่จะสร้างและพัฒนามนุษย์ให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ในความรับผิดชอบของตนเอง เป็นเรื่องที่แต่ละองค์กรต้องบริหารจัดการให้เกิดความเรียบร้อย

เนื่องจากสภาพสังคมไทยและวัฒนธรรมไทย เป็นสังคมแบบเอื้ออาทร ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ยึดติดการปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา ตั้งแต่สมัยโบราณ จนกลายเป็นสิ่งคุ้นชินจนเกิดการพัฒนาขึ้นเป็นวัฒนธรรม (Culture) หรือเป็นกิจวัตรประจำวันต้องทำอยู่เป็นประจำ (Routine)

จึงถือเป็นเรื่องยากในการปรับปรุงเปลี่ยนกระบวนการทางแนวความคิด (Thinking Process) ในการยอมรับสิ่งใหม่ ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เพื่อให้พัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)  

หากมีบุคคลใด กระทำการนอกกรอบหรือแปลกแยกแตกต่างออกไปจากเดิม (Creative) ไม่ว่าแนวทางนั้นจะดีหรือไม่ก็ตาม สิ่งแรกที่จะพบนั่นคือ การไม่ยอมรับ หรือการปฏิเสธแนวคิดนั้นๆ ก่อน โดยมิได้มีการพินิจพิจารณาว่า เหมาะสมหรือถูกต้องกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนในชั้นเรียน ครูหรืออาจารย์ให้แบบฝึกหัดนักเรียนทำ หากนักเรียนผู้นั้นแสดงวิธีทำแตกต่างจากที่ครูสอน ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้ จะถูกต้องก็ตาม นักเรียนผู้นั้นจะถูกตำหนิว่า ไม่ทำตามที่สอน แสดงวิธีทำนอกเหนือคำสั่ง และอาจจะถูกลงโทษได้ในที่สุด

ทำให้นักเรียนผู้นั้นไม่กล้าที่จะคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หรือคิดแตกต่างเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์นั้นๆ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นความคิดดี ๆ หรือความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

นั่นเป็นเพียงปัญหาหนึ่งในระบบการเรียนการสอนของบางสถานศึกษา ซึ่งหากการเรียนการสอนเช่นนี้เกิดขึ้นกับเยาวชนของชาติเป็นจำนวนมาก อนาคตของการพัฒนาประเทศชาติจะพัฒนาได้เท่าทันต่างชาติได้อย่างไร

การที่ผู้สอนได้แสดงให้ผู้เรียนเห็นว่า สิ่งที่เขาคิด หรือตอบคำถามไม่เหมือนกับที่สอน ไม่ใช่สิ่งผิด แต่เป็นสิ่งที่ดี ในการคิดวิธีใหม่ ๆ เพื่อไปถึงผลลัพธ์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนควรจะยกย่องชมเชยให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจกับวิธีการหรือสิ่งใหม่ ๆ ที่คิดขึ้นมาได้ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเปิดกว้างทางความคิด มิใช่กลัวว่าผู้เรียนจะเก่งกว่าตนเอง กลัวว่าตนเองจะสู้เด็ก ๆ ไม่ได้ ตนเองจะไม่ได้รับการเคารพนับถือ นับว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่า... ทำไมประเทศในซีกโลกตะวันตกจึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ก็เพราะบุคลากรของประเทศ ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ ผลงานใหม่ ๆ เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแสดงออกอย่างเต็มที่ แตกต่างจากประเทศไทย ที่มิได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ประเทศจึงไม่พัฒนาเท่าที่ควร สอดคล้องกับคำกล่าวของ ร๊อบ บีแวน (2551.) ที่ได้กล่าวไว้ว่า คนทั่วไปมักจะคิดว่า ไม่มีอะไรที่ต้องเรียนรู้จากคนที่อายุน้อยกว่า (เรามักจะเชื่อว่าเด็กต้องเรียนรู้จากผู้ใหญ่) ไม่คิดบ้างหรือว่าแท้จริงแล้วหากเราเลือกที่จะเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากทุกคนที่เราพบ ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไร สีผิวใด ศาสนาอะไร หรือเชื้อชาติใด เราจะสามารถสร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างไม่มีวันหมด

ดังนั้น การปล่อยให้ได้ใช้แนวคิดวิธีการของตนเองในการค้นหาเหตุผลเพื่อให้บรรลุถึงผลลัพธ์ถือเป็นความสำเร็จที่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการเคารพและให้เกียรติทางความคิดแก่บุคคลผู้นั้นอย่างแท้จริง 

 

หมายเลขบันทึก: 209480เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วเกิดไอเดียใหม่ๆ กล้าคิดดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท