วิถีการเรียนรู้แบบเพลินพัฒนา (๕)


ทำการงานให้เป็นความรู้ ทำความรู้ให้เป็นการงาน

นายก้องภพ พิทักษ์สินสุข (อะตอม) นักเรียนชั้น ม.๕ โรงเรียนเพลินพัฒนา ได้ส่งโครงงาน “การดูดซับสิ่งปนเปื้อนในน้ำมันที่ใช้แล้วด้วยถ่านกัมมันต์เพื่อผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูง” เข้าประกวดเนื่องในสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โครงงานดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ใน ๖๐ โครงงานที่น่าสนใจ จากโรงเรียนที่ส่งโครงงานเข้าร่วมแข่งขันกว่า ๕๐๐ โรงเรียน

แรงบันดาลใจ

โครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่คุณครูที่ปรึกษา คือคุณครูภู - ภูริทัต ชัยวัฒนกุล กระตุ้นให้นักเรียนวิเคราะห์โครงงานไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้วที่โรงเรียนดำเนินการอยู่ ว่าจะทำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้อย่างไร

วิธีการง่ายๆ ในการปรับปรุงคุณภาพของนำมันพืชใช้แล้ว คือ การลดความหนืด และลดตะกอนสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนที่มีอยู่มากให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งหากสามารถลดความหนืด และสิ่งปนเปื้อนขนาดเล็กๆนี้ได้ก็จะทำให้ได้ไบโอดีเซลที่มีคุณภาพดีขึ้นได้

ในตอนแรกคุณครูได้แนะนำให้ลองใช้วิธีการกรอง แต่สุดท้ายได้ค้นพบว่า ในการบำบัดน้ำเสียเขาจะใช้ถ่านชนิดหนึ่งในการดูดซับตะกอน กลิ่น สี ฯลฯ ซึ่งผลที่ได้คือน้ำที่ผ่านการดูดซับด้วยถ่านกัมมันต์แล้วจะใสสะอาดขึ้นมาก

สมมติฐานที่สำคัญที่เกิดขึ้นจากการมีความคิดเชื่อมโยง

เมื่อลองนำถ่านชนิดนี้ไปลองกับน้ำมันพืชใช้แล้ว และพบว่าตะกอน สี กลิ่น ถูกดูดซับไปมาก ที่สำคัญคือถ่านชนิดนี้ได้ทำการแยกชั้นน้ำ น้ำมัน และตะกอนออกจากกัน ทำให้ความชื้นน้อยลง ช่วยลดการใช้พลังงานในขั้นต่อไปได้มาก และน้ำมันก็สะอาดขึ้น ใสขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

บันทึกของคุณครูที่ปรึกษา

ก้องภพ เป็นนักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์เชิงวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ มีความตั้งใจและพยายามคิด วิเคราะห์ ถึงปัญหาเชิงลึกในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ เป็นที่มาให้ก้องภพสนใจที่จะคิดทำโครงงานนี้ขึ้นมา

ในวันที่ไปนำเสนอโครงงาน (๑๕ ส.ค. ๕๑) ก้องภพสามารถอธิบายให้คณะกรรมการ คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ที่สนใจในโครงงานจำนวนมากให้เข้าใจได้ด้วยคำพูดที่เข้าใจง่าย แม้จะมีความตื่นเต้นอยู่บ้าง จนอาจาย์ท่านหนึ่งจากภาควิชาสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “โครงงานนี้ดูง่ายดี น่าสนใจเพราะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนได้ดี น่าจะมาเรียนและทำวิจัยทางด้านนี้ที่ลาดกระบังนะ อาจารย์จะรับเป็นที่ปรึกษา” ส่วนตัวผมคิดว่าสามารถมาเสนอในรอบนี้ได้ก็เก่งแล้ว

บันทึกของนักเรียน

วันนั้นผมได้นั่งรถไฟชั้น ๓ ฟรี รถไฟจะเริ่มออกจากหัวลำโพงเวลาประมาณ ๕.๕๕ น. ทำให้ผมต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อไปให้ทันเวลา หลังจากนั้นประมาณ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ผมก็ไปถึง มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตอนเวลา ๗.๑๕ น. ซึ่งไปถึงก่อนเวลาที่นัดกับครูไว้ ๑๕ นาที แต่กว่าจะได้เริ่มนำเสนอก็ประมาณ ๙.๓๐ น.ไปแล้ว

ในวันนั้นรู้สึกตื่นเต้นมากจนทานข้าวเช้าไม่ลง ยิ่งรู้ว่าเป็นคนเดียวที่ไปนำเสนอโครงงานคนเดียวแล้ว ก็ยิ่งตื่นเต้นเข้าไปอีก ในช่วงแรกๆไม่กล้านำเสนอให้ใครฟัง แต่ต่อมาครูภูก็บอกให้ลองอธิบายให้คนที่สนใจในโครงงานของเราฟังบ้าง จึงได้เริ่มแบบตื่นเต้นๆ จนไปๆมาได้นำเสนอให้คนฟังไปประมาณ ๑๐ – ๒๐ คน ก็รู้สึกกลับมาเป็นปกติ ไม่ตื่นเต้นอะไรมากมายนัก ซึ่งคำถามส่วนมากจะเป็นคำถามที่ว่า “มาคนเดียวเหรอ?” อาจเป็นเพราะโครงงานอื่นๆเขามากัน ๓ คนขึ้นไป แต่โรงเรียนเรามีผมที่เป็นนักเรียนมาเพียงคนเดียว และมีอีกคำถามหนึ่งที่คนภายนอกมักถามบ่อยๆ อีกเช่นกัน คือ “โรงเรียนอะไร อยู่ที่ไหน แล้ว...มีโรงเรียนนี้ด้วยเหรอ?” ฟังแล้วรู้สึกเลยว่าไม่มีใครรู้จักโรงเรียนเราเลย

จนกระทั่งคณะกรรมการซึ่งมีหลายท่าน ซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ทยอยกันเข้ามาถามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงงาน โครงงานนี้ได้รับคำชมเชยจากคณาจารย์เนื่องจากเป็นโครงงานที่ทำง่ายแต่ได้ผลที่ชัดเจน และที่สำคัญสามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดี สามารถนำเอาของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่อย่างน้อยก็น่าภูมิใจที่ติด ๑ ใน ๖๐ โครงการที่น่าสนใจจากที่ส่งเข้ามาหลายร้อยโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่มาก็มักจะเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ท้อแท้ที่จะทำโครงงานเพื่อแข่งขันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 208096เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2008 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอเป็นกำลังใจให้ก้องภพค่ะ

น้องเก่งค่ะ

เก่งมากพี่อะตอม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท