5 วิธีถนอมปอดคู่นี้ให้อยู่กับเราไปนานๆ หน่อย


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า สุขภาพปอดเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่า คนเราจะมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ หรือจะมีอายุยืนอย่างยอบแยบ หอบและ(เสียง)แหบ

ต้นปี 2551 นี้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญโรคปอดเรื่องถุงลมโป่งพอง (COPD) ในกรุงเทพฯ ศาสตราจารย์จินเป็ง เซง ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด แห่งสถาบันโรคทางเดินหายใจ วิทยาลัยแพทย์กวางซัว สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเสนอว่า เอเชียกำลังพบกับวิกฤตของโรคปอดสูงมากจนน่าตกใจ

...

ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังพร้อมทั้งแนวทางในการถนอมปอดของเราให้ดีไปนานๆ หน่อยมาฝากครับ

ภาพที่ 1: แสดงให้เห็นว่า จีนกำลังจะเป็นมหาอำนาจทางด้านถุงลมโป่งพองของโลก (ที่มาอ้างอิงไว้ด้านล่าง)

  • ผู้ชายจีน (เส้นสีส้ม) มีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าผู้หญิง (เส้นสีเหลือง) เส้นสีม่วงเป็นค่าเฉลี่ย(รวมผู้หญิงและผู้ชาย)
  • อุบัติการณ์โรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นตามอายุ นั่นคือ ถ้าสัดส่วนคนสูงอายุมากขึ้นจะพบคนป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองมากขึ้น

...

ผลการสำรวจเมืองใหญ่ๆ ในจีน 7 เมืองพบว่า คนจีนเป็นโรคถุงลมโป่งพองประมาณ 8.6% ผู้ชายเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง (12.4% และ 5.1% ตามลำดับ)

ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา... อัตราตายจากโรคหัวใจ (หลอดเลือดหัวใจอุดตัน) หลอดเลือดสมองแตก-ตีบตันลดลงเรื่อยๆ ขณะที่อัตราตายจากโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นเกือบ 165%

...

องค์การอนามัยโลก (WHO) พยากรณ์ว่า ปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 โรคถุงลมโป่งพองจะเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของโลก

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพองในซีกโลกตะวันตก (ฝรั่ง) เป็นผลจากการสูบบุหรี่ ส่วนในเอเชียเป็นผลจากบุหรี่ร่วมกับมลภาวะในบ้าน

...

ภาพที่ 2: แสดงให้เห็นว่า โอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองขึ้นกับ

  1. อายุ (แถบสีเหลือง) > อายุยิ่งมากยิ่งเสี่ยง
  2. บุหรี่ (แถบสีม่วง) > ขึ้นกับการสูบบุหรี่ คนที่สูบเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่สูบ ถ้าสูบแล้วเลิกจะลดอัตราเสี่ยงให้น้อยลง
  3. เพศ (แถบสีส้ม-แดง) > ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง

...

จากภาพที่ 2 > แถบสีเขียวแสดงให้เห็นว่า อาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตที่มีโรคถุงลมโป่งพองมากที่สุดดังตาราง

ภูมิภาค อุบัติการณ์ถุงลมโป่งพอง (ร้อยละ)
แปซิฟิคตะวันตก 10.6%
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12.5%
ยุโรป 8.5%
อเมริกา 4.5%

...

จากภาพที่ 2 > แถบสีส้ม-แดงแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายเป็นโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าผู้หญิงดังตาราง

เพศ อุบัติการณ์ถุงลมโป่งพอง (ร้อยละ)
หญิง 5%
ชาย 11%

...

จากภาพที่ 2 > แถบสีม่วงแสดงให้เห็นว่า คนที่สูบบุหรี่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทีนี้ถ้าสูบบุหรี่แล้วเลิก (ex-smoker) โอกาสเป็นโรคจะลดลง แต่ยังมากกว่าคนที่ไม่สูบเลยดังตาราง

บุหรี่ อุบัติการณ์ถุงลมโป่งพอง (ร้อยละ)
สูบบุหรี่ 15%
สูบบุหรี่แล้วเลิกสำเร็จ 9.7%
ไม่สูบบุหรี่ 2.7%

...

ศาสตราจารย์เซงกล่าวว่า ถ้าสูบบุหรี่ 20 แพ็ค-ปี (pack years = จำนวนซองคูณด้วยจำนวนปีที่สูบ) หรือสูบวันละ 1 ซองนาน 20 ปีขึ้นไปจะพบว่า มีความเสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

นอกจากนั้นการใช้เชื้อเพลิงแข็ง โดยเฉพาะการหุงหาอาหาร เช่น ฟืน ถ่านหิน ฯลฯ มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพอง

...

ประเทศที่ใช้ถ่านหินในการหุงหาอาหารมากได้แก่ เอเชียใต้ (อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ เนปาล ฯลฯ) และจีน

ศาสตาจารย์เซงกล่าวว่า คนจีนในประเทศจีนยังคงใช้ถ่านหินหุงหาอาหาร ส่วนใหญ่จะอยู่นอกเมืองใหญ่ หรืออยู่ตามชนบท ควันไฟจากการหุงหาอาหารนี่เองที่เพิ่มความเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพองมากเป็นพิเศษในผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากคนกลุ่มนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน

...

ถ่านหินที่ใช้ในบ้านกับถ่านหินที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตไฟฟ้า ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นถ่านหินคนละเกรดกัน

ถ่านหินที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตไฟฟ้า ฯลฯ มักจะเป็นถ่านหินคุณภาพสูง มีระบบการเผาไหม้ที่ออกแบบมาอย่างดี และอาจมีระบบการกักเก็บสารพิษ เช่น ระบบดักจับแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ ทำให้มีความปลอดภัยสูงกว่าการใช้ถ่านหินในบ้านอย่างมากมาย

...

การศึกษาในจีนพบว่า ทั้งบุหรี่และการใช้เชื้อเพลิงแข็ง เช่น ถ่านหิน ฟืน ฯลฯ หุงหาอาหารมีส่วนเสริมแรงกันทำลายปอดดังตาราง

ปัจจัยเสี่ยง โอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพอง (ร้อยละ)
บุหรี่ + เชื้อเพลิงแข็ง 19.3%
บุหรี่อย่างเดียว 12.3%
เชื้อเพลิงแข็งอย่างเดียว 7.7%
ไม่มีปัจจัยทั้ง 2 อย่าง 5.1%

...

โปรดสังเกตว่า คนที่อยู่ในจีน... แม้จะไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง เช่น ถ่านหิน ฟืน ฯลฯ หุงข้าวในบ้านก็ยังเสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพอง

สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นจากมลภาวะในอากาศ เช่น การใช้รถยนต์ การใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางในจีนทำให้อากาศเสียค่อนข้างมาก ฯลฯ

...

ถ้าเป็นโรคถุงลมโป่งพองจะต้องใช้เงินในการรักษาปีละเท่าไร ปรากฏดังตาราง

ค่ารักษาในประเทศ ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี บาทต่อคนต่อปี
สหรัฐอเมริกา 4,316 146,744
จีน 2,081 70,754

...

วิธีถนอมปอดคู่นี้ให้ดีไปนานๆ หน่อยได้แก่

  1. ไม่สูบบุหรี่ > ถ้าสูบแล้ว ควรหาทางเลิกให้ได้
  2. ไม่หายใจเอาควันที่คนอื่นสูบเข้าไป เช่น ไม่เข้าไปในห้องแอร์ (ปรับอากาศ) ที่มีคนอื่นสูบบุหรี่ ฯลฯ
  3. ไม่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง เช่น ฟืน ฯลฯ ในการปรุงอาหารในบ้าน > ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ควรจุดไฟนอกบ้าน และพยายามทำให้ควันไฟมีน้อยที่สุด
  4. ไม่เผาเชื้อเพลิงแข็งในบ้านหรือรอบๆ บ้าน เช่น ไม่เผาขยะ ไม่เผาใบไม้-กิ่งไม้ ไม่จุดธูปหรือเทียน (ใช้ของหอมหรือแสงสว่างบูชาพระได้ เช่น ใช้น้ำหอม ดอกไม้ หลอดไฟประหยัดพลังงาน ฯลฯ) ฯลฯ
  5. ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะปอดให้แข็งแรง

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                             

...

  • Thank Medical Progress > Professor Jinping Zheng > Growing burden of COPD in Asia: A cause of concern > Who's carrying the burden of COPD? > Medical Progress CME (www.medicalprogress-cme.com). September 2008. Vol.7 No.9. pp.61-62.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร > 9 กันยายน 2551.

...

หมายเลขบันทึก: 207336เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับคุณหมอ

           ผมเจอหมดทุกข้อครับที่ผ่านมา ยกเว้นข้อที่ ๑ ครับ ทำให้สุขภาพปอดไม่ค่อยดี คงต้องออกกำลังกายช่วยเยอะ ๆ ครับ

                                                       ขอบคุณครับ

ขอขอบคุณ... คุณนายช่างใหญ่

  • พยายามดูครับ... เชียร์

สวัสดีค่ะ อจ.หมอ

ผลจากสุขภาพปอดไม่ดีนี้ จะทำให้พออายุมากๆ จะทำให้เส้นเสียงแหบ จะมีผลด้วยหรือเปล่าค่ะ

ขอบคุณคะ่

ขอขอบคุณ... คุณ 'Dhamma'

  • คนที่อายุมากขึ้นมีแนวโน้มที่จะมีเสียงต่ำลง หรือห้าวขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม... สมรรถภาพปอดที่แย่ลงส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้เสียงแหบ

สาเหตุของเสียงแหบที่พบบ่อยได้แก่

  • ไอ
  • พูดมากเกิน
  • กล่องเสียงอักเสบ เป็นเนื้องอก วัณโรค ฯลฯ
  • ทางเดินหายใจติดเชื้อ เช่น เป็นหวัด ฯลฯ
  • โรคกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นบน
  • เส้นเสียงระคายเคือง เช่น จากมลภาวะ จากบุหรี่ ฯลฯ
  • มะเร็งปอด

ทีนี้ถ้าคิดอีกทีหนึ่ง...

  • สุขภาพปอดที่ไม่ดีเพิ่มโอกาสติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ตรงนี้อาจทำให้เสียงแหบได้ครับ...

ที่มา > [ Click ]

สวัสดีครับ อาจารย์หมอ ขอบคุณสำหรับเรื่องเพื่อสุขภาพครับ

ขอขอบคุณ... คุณคนพลัดถิ่นเช่นกันครับ...

สวัสดีค่ะคุณหมอ

คุณพ่อของหนููเพิ่งเลิกสูบบุหรี่ ตอนนี้อายุ 70 ปีค่ะ

มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพอง

มีอาการหลงลืม จำอะไรไม่ค่อยได้ด้วยค่ะ

รักษาด้วยประกันสังคมอยู่ที่พญาไท ศรีราชา

มีการพ่นยา และทานยา

อยากขอคำปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรักษาอย่างจริงจัง

อาหารเสริมที่ผู้ป่วยโรคนี้ควรรับประทาน

อยากให้คุณหมอแนะนำสถานที่ หรือแพทย์แผนจีนดีมั้ยคะ

หนูอยากให้คุณพ่อกลับมาใช้ชีวิตได้สะดวกกว่าตอนนี้ไวๆน่ะค่ะ

ขอขอบคุณ... คุณลูกสาวปะป๊า

  • ก่อนอื่นขอแสดงความชื่นชมในความกตัญญูกตเวทีของคุณ... สาธุ สาธุ สาธุ
  • อาหารเสริมไม่มีส่วนช่วยให้โรคถุงลมโป่งพองดีขึ้นได้

ที่สำคัญมากคือ

  • ต้องเลิกบุหรี่ เลิกเผาขยะ เผาใบไม้ ลดการจุดธูปเทียนในบ้านหรือที่ระบายอากาศไม่สะดวก
  • การพ่นยา กินยาให้ถูกวิธียังเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีที่สุด
  • น่าจะลองหา VCD ไทชิมาฝึกครับ จะทำให้ระบบการหายใจดีขึ้นได้มาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท