ธรรมสัญญา


เห็นท่านผู้รู้สนทนาธรรมกันที่ http://larndham.net/index.php?showtopic=32755 จึงนำมาบันทึกเอาไว้เตือนตน ดังนี้ครับ ...
สติ กับ ปัญญา นั้น คนไทยมาพูดถึงจนเหมือนเป็นคำเดียวกัน คือ พูดว่า "สติปัญญา" พ่วงกันไป คนฟังก็นึกว่าเป็นการพูดถึงสิ่งๆหนึ่งเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ใ่ช่สิ่งเดียวกัน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป

ปัญญา คือ ปัญญาในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายถึงปัญญาทางโลก ที่หมายถึง "จำได้มาก" หรือ "คิดได้เก่ง" แต่หมายถึง การได้รู้ตามความเป็นจริงว่า "สิ่งใดมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา" หรือ "กายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ" หรือ "จิตนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ" ซึ่งเป็นปัญญาของพระโสดาบัน พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามลำดับ

สังเกตมั้ยครับว่า ที่ได้กล่าวออกมานั้น ไม่มีอะไรใหม่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรารู้กันแล้วทั้งนั้น แต่ทำไมเรายังไม่เป็นพระโสดาบัน ทำไมเรายังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เพราะว่าเราเองยังไม่มีปัญญาอย่างท่านเหล่านั้น หากแต่เรามี "ความจำ" อันเนื่องมาจาก "การแสดงธรรม" จาก "ปัญญา" ของท่านเหล่านั้น

ความจำในเรื่องเหล่านี้ ท่านเรียกว่า "ธรรมสัญญา"

ผมเองเป็นคนที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก เล็กๆก็สนใจในระดับ กลัวการตกนรก ต่อมาพอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นปีแรก ก็สนใจเจริญอานาปานสติแบบงูๆปลาๆ เพราะได้ยินพระข้างบ้านย่าสอนพระ ก็เลยแอบหัดเอาเอง

พอโตมา แม้ว่าจะยังทำสมาธิอยู่บ้าง แต่ก็เพลินไปกับโลกตามประสาวัยรุ่น เพียงแต่ขีดวงตนเองอยูที่การกินเหล้า ไม่ไปไกลกว่านั้น

เรียนจบมาทำงาน ก็รู้สึกว่า ชีวิตไม่ใช่ มองหาอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่ามองหาอะไร มีอยู่วันหนึ่ง ไปเห็นหนังสือชื่อ "คู่มือมนุษย์" ที่เป็นขนาดประมาณกระดาษ A4 ปกแข็ง เล่มเบ้อเริ่ม พิมพ์โดยธรรมสภา เป็นหนังสือที่ถอดคำพระเทศนาของหลวงพ่อพุทธทาส ภิกฺขุ ที่แสดงธรรมให้กับผู้ที่จะไปเป็นผู้พิพากษา

พลิกเปิดดูข้างใน เจอหัวข้อเรื่อง ตัณหา 3 อุปาทาน 4 ก็รู้สึกว่าคุ้นๆกับคำเหล่านี้ชอบกล ก็เลยคว้าเล่มนั้นมาอ่าน

จากนั้นก็ติดตามหนังสือของท่านมาตลอด ทั้งเล่มน้อยเล่มใหญ่ รวมทั้งไปยืมเทปการแสดงธรรมของหลวงพ่อพุทธทาสจากวัดอุโมงค์มาฟังด้วย จนกระทั่งในวันที่ต้องย้ายจากเชียงใหม่ มาทำงานที่กรุงเทพฯ ยกหนังสือให้ห้องสมุดวัดอุโมงค์ได้ขนาดลังใส่ผงซักฟอกขนาดใหญ่ ยกเองไม่ได้ ต้องใส่ล้อเลื่อนเข็นไป

ก่อนที่จะย้ายเข้ากรุงเทพได้สัก 2 ปี ก็เกิดความวิปลาสกับตัวเองจนสงสัยว่าเกิดได้อย่างไร กล่าวคือ เกิดความรู้สึกว่า เราเก่ง เรารู้ มากกว่าพระภิกษุทั่วไป จนไม่ยอมจะกราบพระ เกิดความงงกับตัวเองมาก ว่าเกิดปัญหานี้ได้อย่างไร รู้ว่าผิด แล้วต้องพยายามข่มตนเองให้กราบพระ ทั้งพระพุทธรูป และพระภิกษุ โดยบอกกับตนเองว่า พระพุทธรูป เรากราบเพราะเราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่กราบเพราะเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพระสงฆ์นั้นเรากราบก็เพราะเป็นพุทธบัญญัติ ที่ทรงบัญญัติไว้ให้ฆราวาสก็ต้องกราบพระภิกษุ แม้ว่าฆราวาสนั้นจะมีภูมิธรรมเป็นอริยะ และพระภิกษุเป็นเพียงสมมุติสงฆ์ที่เพิ่งบวชในวันนั้น

และเข้าใจว่านั่นคือ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมชาวพุทธ เพราะหากไม่ทรงบัญญัติเอาไว้อย่างนี้แล้ว สังคมชาวพุทธก็คงจะโกลาหล พระภิกษุต้องมากราบฆราวาสที่ทรงธรรม คงจะวุ่นวายพิลึก องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเอาไว้ให้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ถูกศาสนาอื่น ลัทธิอื่น มาติฉินนินทา เกิดภาพลบ จนทำลายศรัทธา จะทำให้คนใหม่ๆที่ยังไม่รู้จักพระศาสนา ดูถูก ดูหมิ่น ดูแคลน จนที่สุด อายุพระศาสนาก็จะสั้นลงไป

มาต่อเรื่องความวิปลาสของตนเองต่อนะครับ

ให้โชคดีอยู่เหมือนกัน เพราะได้ข่าวจากคนรู้จัก ว่ามีพระธุดงค์มาจากอีสาน ฟันกรามท่านเป็นแก้ว เพราะท่านเจริญสติโดยการพิจารณาฟันกราม (เป็นกายานุปัสสนา) ผมก็ไปกราบท่าน คนอื่นๆนั้นจะไปขอดูฟันกรามของท่าน แต่ผมเปล่า จำได้ว่าช่วงนั้นกำลังจะเข้าพรรษา ก็เลยไปหาเทียนไปถวายท่านด้วย เมื่อได้ไปกราบท่าน ถวายเทียนพรรษา ท่านก็ให้พรแล้ว ก็เลยถามท่าน ผมจำคำถามที่ได้ถามท่านไม่ได้ แต่จำคำตอบของท่านได้ ท่านพูดมาแค่สั้นๆ "ธรรมสัญญา" ผมได้ถึงบางอ้อเลย ว่า นี่ไม่ใช่ปัญญาอะไรเลย แค่การจดจำได้ในข้อธรรมะทั้งสิ้น ความวิปลาสอันเกิดจากความถือดีของตนเองก็ค่อยๆมลายหายไป

หากวันนั้นไม่ได้พบกับท่าน ผมคงมีหวังเพี้ยน ตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก แล้วก็อาจถึงกับชักชวนคนอื่นๆไม่ให้กราบพระพุทธรูป ไม่ให้กราบพระภิกษุสงฆ์ที่ไม่ใช่พระอริยะเป็นแน่ ก็เข้าข่ายทำให้อายุพระศาสนาหดสั้นลง

ในสมัยโบราณ ก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป เพราะประเพณีของคนอินเดียก่อนหน้านั้นจะไม่สร้างรูปปั้น เขาก็สร้างรูปกวางหมอบบนข้างพระแทน เพื่อแทนพระพุทธเจ้า (แบบเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปเพื่อแทนพระพุทธเจ้า) โดยเป้าหมายแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย มองหาสัญลักษณ์บางอย่าง เพื่อแทนพระพุทธเจ้า ตามประสาโลกๆนั่นแหละ

เรื่องนี้ พระพุทธเจ้ามิได้ห้าม เพียงแต่ในยุคสมัยของพระองค์ คนอินเดียไม่มีประเพณีสร้างพระพุทธรูป แต่มีประเพณีสร้างเจดีย์ ท่านจึงได้อนุญาตให้สร้างสังเวชนียสถาน และให้สร้างเจดีย์ให้กับพระอรหันต์ไว้ด้วย เพื่อให้ชาวพุทธได้ระลึกถึง และเป็นเครื่องยืนยันว่า ศาสนาพุทธไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย พูดกันปากต่อปาก แต่พระพุทธเจ้ามีจริง พระอรหันต์มีจริง มีหลักฐานของแต่ละท่าน ที่นั่น ที่นี่

ที่พูดมายืดยาว ก็เพื่อให้เห็นว่า องค์พระบรมศาสดาของเรา ไม่ได้ปฏิเสธสมมุติ แต่ทรงใช้สมมุติโดยอนุโลมเพื่อเกื้อกูลต่อพระศาสนา

พระธรรมแท้ๆนั้นไม่มีคำพูด สภาวธรรมแท้ๆไม่มีชื่อเรียก แต่เมื่อพระพุทธองค์ต้องถ่ายทอดธรรมะออกจากพระหทัยของพระองค์ ท่านก็ต้องหยิบยืมสมมุติมาใช้ หยิบยืมคำพูดมาใช้เพื่อสื่อสารกับผู้อื่น ท่านต้องบัญญัติชื่อของสภาวธรรมเพื่อให้ผู้ฟังได้รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงหมายถึงสิ่งใด และพระพุทธองค์ก็ทรงรู้ด้วยว่า ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำอยู่นั้น อยู่ในบทบาทใด พระองค์จึงทรงแสดงเอาไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นเพียง "ผู้ชี้ทาง" มิใช่ "ผู้แสดงธรรม"

ทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ มีชื่อเฉพาะที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นว่า "สติปัฏฐาน ๔" หน้าที่ของเราจึงต้องเดินไปตามทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเอาไว้ การเดินไปตามทางของพระพุทธองค์ก็เลยมีชื่อเฉพาะอีกอย่างหนึ่งว่า "เจริญสติปัฏฐาน ๔" หรือ "ภาวนาสติปัฏฐาน ๔" ซึ่งคำว่า "ภาวนา" ก็แปลว่า "เจริญ" นั่นเอง

ก็เหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ แต่ก็เพื่อให้ลื่นไหลในการอ่าน ก็ขอเอามะพร้าวห้าวมาปนขายกับเจ้าของสวนไปด้วย  

เริ่มต้นด้วยเรื่องของปัญญา แล้วก็เพิ่งจะมาเข้าคำว่า สติ นี่ล่ะครับ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงในเรื่องของ ฐาน ที่ใช้ฝึกสติ ไว้มากมาย แบ่งได้ 4 หมวดใหญ่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อาศัย กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ฝึกฝนให้มีสติเป็นเบื้องแรก เมื่อมีสติเกิดขึ้นได้บ่อยๆแล้ว ก็อาศัยการเจริญสตินี้แหละให้เกิดปัญญา

มีคำพูดของครูบาอาจารย์ของผม กล่าวในเรื่องนี้ไว้อย่างจับจิตจับใจผมเลยว่า

"หัดตามรู้กายตามรู้ใจเรื่อยๆ จนจิตจดจำสภาวะธรรมได้ นี่เป็นการทำสติปัฏฐานทำให้เกิดสติ, มีสติรู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ทำให้เกิดปัญญา, มีปัญญาแก่รอบ ก็เกิดวิมุติ จิตก็จะปล่อยวางความถือมั่น"

สติคืออะไร อธิบายด้วยสติปัฏฐาน ๔ ดีที่สุด ทีนี้ก็มาเหลือเรื่องของปัญญา

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "ปัญญา" ในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้หมายถึงสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากเรื่องของ "ไตรลักษณ์" หรือนอกเหนือจาก "อริยสัจจ์" เพราะนอกจากเรื่องนี้แล้ว ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้ มีแต่การเห็นไตรลักษณ์ มีแต่การเห็นอริยสัจจ์นี้เท่านั้นเองที่จะไปถึงความหลุดพ้นได้

ความจริงแล้ว ไตรลักษณ์นั้นแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา อริยสัจจ์ก็แสดงตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เราเองต่างหากที่ไม่ได้ "ลืมตาตื่น" เพื่อที่จะเรียนรู้ไตรลักษณ์ หรืออริยสัจจ์เลย ต่อให้เราท่องจำไตรลักษณ์ได้ หรือท่องจำอริยสัจจ์ได้ หรือแม้แต่ท่องจำปฏิจจสมุปบาทได้ หรือแม้แต่ท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้งเล่ม ก็หาได้ "ลืมตาตื่น" เพื่อที่จะเรียนรู้ไตรลักษณ์ หรืออริยสัจจ์เลย

แต่หากเราต้องการ "ลืมตาตื่น" ที่จะศึกษาไตรลักษณ์ หรืออริยสัจจ์ เราก็ต้องใช้วิธีที่พระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของเราได้สั่งสอนเอไว้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก

ซึ่งเรื่องนี้ก็คงเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนอีกหนเหมือนกัน  

แต่จะยกมา ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า จะมีปัญญาได้ ไม่ใช่ว่าจดจำได้ว่าข้อธรรมข้อนี้กล่าวไว้ว่าอย่างไร หากแต่ต้องศึกษาตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ เพราะพุทธองค์ทรงแสดงเอาไว้ใน มคฺคสูตรว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเอก เป็นทางเดียวที่จะไปให้ถึงความหลุดพ้น ไม่มีทางสายอื่นเป็นทางที่สอง และไม่ว่าจะในอดีต หรืออนาคต ก็ต้องเดินทางสายนี้ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงเดินทางสายนี้เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อจะศึกษาปัญญา ก็ต้องทำตามที่สติปัฏฐาน ๔ และต้องระวังเอาไว้ด้วยว่า ท่านขมวดปลายท้ายเอาไว้อย่างไร

"มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกเสียได้"

ดังนั้น เมื่อเราเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็ต้องฝึกให้มี "สัมปชัญญะ-ความรู้สึกตัว" "สติ-ความระลึกได้" เป็นสำคัญ

เมื่อเราตามรู้ตามดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บ่อยๆ จิตใจของเราจะมีความจำได้อย่างแม่นยำต่อสภาวธรรมนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า "ถิรสัญญา" ถิรสัญญานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นเหตุใกล้ให้เกิด "ความรู้สึกตัว"

ความรู้สึกตัวนี้สำคัญ เพราะเมื่อใดที่รู้สึกตัว เมื่อนั้นเราจะไม่หลง ทำให้ หากเรามีสติ (ระลึกรู้อารมณ์) ตามแนวทางของพุทธศาสนา คือ มีสติรู้ลงที่กาย (ระลึกกาย) รู้ลงที่ใจ (ระลึกใจ) ตามความเป็นจริง (ไม่แทรกแซง) จนจิตจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ (ถิรสัญญา) จะเกิดสัมปชัญญะ(ความรู้สึกตัวขึ้น) จะได้สติที่มีชื่อว่า "สัมมาสติ" หรือบางท่านชอบเรียกว่า "สติในพระพุทธศาสนา"

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องทุ่มเทกันมากที่สุด และต้องทำจนกระทั่ง "สติเกิดขึ้นเอง" ไม่ใช่ "น้อมนำให้เกิด" จึงจะเป็น "สติตัวจริง" ที่พอจะพึ่งพาอาศัยกันต่อไปได้

ดังนั้น ต้องหมั่นคอยตามรู้ตามดู ตามสังเกต กายใจไปกันทั้งวัน ซึ่งบางทีก็ทำให้จิตหมดแรงได้ ก็ต้องทำสมาธิ ทำสมถะกันบ้าง (วิธีการทำสมาธิ ทำสมถะ ขอเว้นไว้ไม่เขียนก่อนนะครับ)

เมื่อสติเกิดขึ้นเองได้บ่อยๆในชีวิตประจำวันได้แล้ว ก็เป็นอันพอจะหวังได้ว่า มรรค ผล นิพพาน คงจะได้สัมผัสในชาตินี้ หรือช้าที่สุดก็ไม่เกิน 7 ชาติ นับจากนี้

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า นี่เป็นเพียง บันได ขั้นแรก หรือเป็นการนับหนึ่ง เท่านั้น ยังประมาทไม่ได้ แต่ที่เหลือก็ง่ายแล้ว อาศัยเพียงการฟังธรรมในเรื่องของไตรลักษณ์ อาศัยการฟังธรรมในเรื่องของอริยสัจจ์เนืองๆ จิตจะพิจารณาธรรมในมุมของไตรลักษณ์ได้เอง บางคนก็ถนัดดูกายเป็นตัวทุกข์ เป็นก้อนธาตุ บางคนถนัดดูกายว่าไม่ใช่ตัวเรา บางคนถนัดดูจิตที่เปลี่ยนแปลงไป บางคนถนัดดูจิตว่าไม่ใช่เรา อะไรก็ได้ เพียงแต่เราไม่สามารถไปเลือกได้ว่า "ฉันจะดูแบบนั้นแบบนี้" แต่จิตเขาจะเลือกของเขาเอง เพราะเวลาที่จิตจะเดินปัญญา จะเกิดไปเป็นลำดับก็คือ เกิดสติ-ระลึกรู้อารมณ์ แล้วก็เกิดปัญญา-เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ตามกันมา เหมือนสติเป็นหัวจักรรถไฟ แล้วก็มีตู้พ่วงมาอีก 1 ตู้ เป็นปัญญา จิตจะเดินปัญญาในลักษณะนี้เสมอๆ มีสติเกิดขึ้น แล้วขณะจิตถัดมา จิตจะเห็นสภาวธรรมหรืออารมณ์เหล่านั้นในแง่มุมของไตรลักษณ์หรืออริยสัจจ์ ไม่มีช่องห่างที่นานพอที่จะสามารถคิดเพื่อเลือกว่าจะดูในมุมไหน และในความเป็นจริงแล้ว หากมีความคิดแทรกเข้ามา ก็หลุดออกจากกระบวนการของ "สติ-ปัญญา" ทันที

ความจริงแล้วมีช่องว่างเล็กๆคั่นระหว่างที่สติเกิด แล้วปัญญาเกิด เป็นเหมือนรอยต่อที่ไม่สนิทของกระเบื้อง 2 แผ่น สั้นมากจนไม่อาจทำอะไรได้เลย ดังนั้นจึงสามารถพูดได้เลยว่า จิตเขาพิจารณาไตรลักษณ์ได้เอง (ความจริงมีกระบวนการอยู่ แต่อย่าไปพูดถึงในตอนนี้เลยครับ วุ่นวายไปเปล่าๆ)

ที่เขียนมายืดยาว ก็เพื่อให้เข้าใจว่า ปัญญา คือ การเห็นกายใจเป็นไตรลักษณ์ ส่วนสติก็คือ การระลึกรู้กายใจ (การไปรู้อย่างอื่นนอกเหนือกายใจ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ แต่อาจเป็นการเจริญสติอะไรบางอย่างที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะถึงทางพ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่) ดังนั้น การไประลึกถึงความว่าง เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เพราะนอกเหนือคำสอนของพระพุทธองค์ และน่าจะเชื่อได้ว่า พระพุทธองค์ผู้มีความสามารถเข้าฌานได้ทุกรูปแบบ คงเห็นแล้วว่า ไประลึกถึงความว่าง ก็ได้แค่อรูปฌานเท่านั้น เพราะในที่สุดพระพุทธองค์ก็หันกลับมาเจริญอานาปานสติ ซึ่งก็คือ สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง แล้วก็ทรงถึงซึ่งความหลุดพ้น ตรัสรู้เป็น สัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอสรุปดังนี้ (เขียนมายืดยาว ก็เพื่อจะสรุปตรงนี้ครับว่า) การเจริญปัญญาก็คือ การเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจพร้อมๆกับที่มีสติสัมปชัญญะไปด้วย ซึ่งการเจริญปัญญานี้ ผู้ที่มิใช่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า จำเป็นอยู่เองที่จะต้องฟังธรรมเรื่องไตรลักษณ์ ฟังธรรมเรื่องอริยสัจจ์ เนืองๆ จิตจึงจะพลิกไปพิจารณาไตรลักษณ์ได้อย่างอัตโนมัติ และจะบอกว่า เราสามารถเจริญสติ เจริญปัญญาได้ในขณะที่ดำเนินชีวิตประจำวันด้วยซ้ำไปครับ

เป้าหมายของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เบื้องต้น เพื่อให้เกิดสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ธรรมสำคัญอันหนึ่งในมรรคอันมีองค์ประกอบ ๘ ประการ เป้าหมายในท้ายที่สุด ก็คือ การพ้นทุกข์ การถึงพระนิพพาน

 

ขอให้เจริญในธรรมครับ  


____________________________________

รู้กาย
รู้ใจ
รู้ซื่อๆ...
รู้สบายๆ...
เพียรรู้ไปเรื่อยๆ...

http://www.wimutti.net/
ดูจิต... ด้วยความรู้สึกตัว

รายการวิทยุ ธรรมะ บ้านอารีย์
AM 1251 KHz
วันเสาร์ 08:00 - 10:00 น.

http://vacharaphol.hi5.com
http://vacharaphol.exteen.com/
.
.
.
.
สติน้อมนำให้เกิด ก็คือ สติที่ไปกำหนด ว่าจะไปรู้อยู่ที่ตรงไหนตรงใดที่ใดที่หนึ่ง หรือการที่เราไปพยายามจะรู้สึกตัว

อย่างแรกเป็นการทำสมถะ ทำสมาธิชนิดที่เรียกกันว่า "สมาธินอกพระพุทธศาสนา" เป็นการทำสมาธิตามอย่างพวกฤๅษีชีไพร การฝึกสมาธิแบบนี้ จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องกลับมาหัดเจริญวิปัสสนา เพราะสวนทางกัน

อย่างหลัง เป็นการกระทำของคนที่พอเริ่มจะรู้สึกตัวได้บ้างแล้ว แต่จิตยังคงคุ้นเคยอยู่กับสักกายทิฎฐิ (ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของปุถุชนคนทั่วไปอย่างเราๆ) เมื่อยังมีความเห็นอย่างแน่นแฟ้นว่ากายเป็นเราจิตใจเป็นเรา ก็เลยไปพยามยามรักษาให้จิตดี ให้จิตมีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นคอยไปประคองจิต

สติตัวจริง เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ เหตุที่ทำให้สติตัวจริงเกิดก็คือ ถิรสัญญา ถิรสัญญาแปลว่าจำได้อย่างแม่นยำ ในที่นี้หมายถึง จิตจดจำสภาวะบางอย่างของกายของใจได้แม่นยำ เมื่อสภาวะนั้นเกิดขึ้น แล้วจิตไปรู้เข้า จะเกิดสติขึ้นมาโดยไม่ต้องจงใจ ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องน้อมนำให้เกิด และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็รักษาไม่ได้

สิ่งที่เราฝึกฝนในขั้นต้น ก็ต้องฝึกตามรู้ตามดูกายใจบ่อยๆ เนืองๆ ก็เพื่อให้จิตจดจำสภาวะใดสภาวะหนึ่งของกายของใจใ้ห้ได้ก่อน

ความยากอยู่ตรงนี้ล่ะครับ เพราะหากว่าจะฝึกให้ได้ผลเร็ว จะต้องฝึกตามรู้ตามดูกายใจที่เข้ากับจริตของแต่ละคน เพราะเมื่อฝึกตามจริตแล้ว จิตจะจดจำสภาวะนั้นได้เร็ว การเจริญสติก็จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

แต่ถึงแม้ว่าจะต้องค้นหา ว่าจริตของตนเองนั้นเหมาะกับการฝึกอะไรก็ตาม โดยสถิติของคนในยุคปัจจุบันที่ชอบเล่นอินเตอร์เน็ต มักหนีไม่พ้น 3 อย่าง ก็คือ

1. ฝึกตามรู้ตามดูความเผลอ เผลอไปคิด
2. ฝึกตามรู้ตามดูความโกรธ
3. ฝึกตามรู้ตามดูการเคลื่อนไหวของกาย เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ

ในชีวิตนี้ เคยพบกับคนที่ไ่ม่สามารถฝึกทั้ง 3 อย่างนี้ มีแค่ คนเดียว ที่ต้องฝึกด้วยการ รู้ ว่าตารู้รูป

การฝึกตามรู้ตามดูความเผลอ
คอยสังเกตตนเองเป็นระยะ ว่ากำลังคิด เมื่อใดที่สังเกตเห็นทันตนเองที่กำลังรู้ความคิด หรือสังเกตเห็นว่าตนเองกำลังรู้เรื่องที่คิด นั่นก็คือ ได้ทันเห็นจิตที่กำลังคิด หากเห็นบ่อยเข้า ก็จะเห็นว่า ในขณะที่คิด จิตไม่ได้รู้เรื่องอื่น รู้แต่เรื่องที่กำลังคิด กายใจเป็นอย่างไรตอนนั้นก็ไม่รู้ อาจารย์สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ชอบยกตัวอย่างตอนคุยโทรศัพท์ ในขณะที่คุยโทรศัพท์เราก็จะคิดๆ ในขณะนั้นเรายังไม่รู้เลยว่า เราถือโทรศัพท์ในมือไหน เรายืนหรือเรานั่ง เราก้มหน้าหรือเงยหน้า เราหันหน้าไปทางไหน เราไม่รู้เลย เพราะตอนนั้นเราจดจ่ออยู่กับการโทรศัพท์ เราจึงลืมกายลืมใจ

ความเผลอ ก็คือ การลืมกายลืมใจ การไม่รู้ถึงการมีอยู่ของกาย การไม่รู้ถึงการมีอยู่ของใจ ในขณะนั้นๆ เรียกว่าในขณะนั้น ลืมกายลืมใจ ส่วนใหญ่เราอาศัยการสังเกตเห็นว่า ในขณะนั้นกำัลังรู้เรื่องที่คิด มาเป็นเครื่องมือสังเกตโดยอ้อม ว่าลืมกายลืมใจ หรือเผลอ สังเกตบ่อยๆ จะสังเกตเห็นความเผลอได้โดยอัตโนมัติ เมื่อมาถึงตอนนั้ สติตัวจริงก็เกิดขึ้นครับ

ฝึกตามรู้ตามดูความโกรธ
อันนี้ไม่มีอะไรนะครับ ก็แค่สังเกตเห็นว่า มีความโกรธเกิดขึ้น ก็รู้ว่าโกรธ โกรธก็รู้ว่าโกรธ หรือไม่มีความโกรธก็รู้ว่าไม่มีความโกรธ ฝึกตามรู้ตามดูบ่อยๆจะสังเกตเห็นได้เองว่า ในขณะที่โกรธ จิตกำลังไปรู้ที่ความโกรธ ในขณะที่รู้ความโกรธ ในขณะนั้นลืมกายลืมใจ มีแต่ความโกรธล้วนๆ ในขณะที่โกรธจิตไม่ได้รู้ถึงความมีอยู่ของกาย ไม่รู้ถึงความมีอยู่ของใจ รู้แต่ความโกรธอย่างเดียว (อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าตรรกะดีๆ ก็จะสังเกตได้ว่า ที่แท้ เวลาที่โกรธ ก็เผลอไปโกรธนั้นเอง เพราะความเผลอเป็นกิเลสพื้นฐานที่ก่อให้เกิดกิเลสตัวอื่นๆนั่นเอง)

ฝึกตามรู้ตามดูการเคลื่อนไหวของกาย เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ
ตรงนี้ก็ง่ายๆ ในระหว่างที่ทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ก็คอยสังเกตกายที่เคลื่อนไหว แต่ไม่ต้องไปกำหนดว่าจะสังเกตตรงไหน แต่ใจของเราไปรู้ที่ตรงไหน ตรงส่วนไหนของกาย ก็รู้ตรงนั้น หรือจะรู้ว่าจิตไปรู้ที่ร่างกายตรงนั้นก็ได้ คอยฝึกไปเรื่อยๆ จะสังเกตเห็นเองว่า ในขณะที่จิตไปรู้ที่ตรงไหน จิตจะไปอยู่ที่ตรงนั้น หรือไปแปะอยู่ที่ตรงนั้นเลย โดยการสังเกตเห็นว่า ในขณะที่จิตไปรู้ที่ตรงนั้น จิตจะไม่ได้รับรู้อะไรที่อื่นเลย มีแต่ที่ตรงนั้นเพียงอย่างเดียว อย่างนี้ก็ใ้ช้ได้นะครับ

ไม่ทราบว่าจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆหรือเปล่า แต่ก็อยากจะแนะนำว่า หากไม่รีบร้อน ก็ขอแนะนำให้ฟังพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช สวนสันติธรรม ศรีราชา ชลบุรี นะครับ ไม่ต้องกลัวว่าศึกษาจากครูบาอาจารย์หลายองค์แล้วจะสับสน เพราะหลวงพ่อปราโมทย์ ในสมัยที่เป็นฆราวาส ท่านก็เคยอ่านงานของหลวงพ่อพุทธทาสมาเหมือนกัน และได้เคยสนทนากับหลวงพ่อพุทธทาสด้วย อีกทั้งคำสอนของท่านก็ไม่ได้ขัดกับคำสอนของหลวงพ่อพุทธทาสด้วย ลองฟังดูนะครับ ไปที่

http://www.wimutti.net/pramote/
ให้เลือกฟังที่ท่านแสดงที่ศาลาลุงชิน (ศาลากาญจนาภิเษก) เรียงลำดับมาตั้งแต่ครั้งที่ 1 มาตามลำดับนะครับ

หากชอบอ่านหนังสือ ลองอ่านหนังสือที่มีการถอดพระธรรมเทศนาของท่าน เรื่อง กุญแจสู่ความรู้แจ้ง

หรือจะอ่านหนังสือที่ท่านเขียนขึ้นก็ได้ ลองอ่านหนังสือ "แด่เธอผู้มาใหม่", วิถีแห่งความรู้แจ้ง, ประทีปส่องธรรม, ทางเอก ซึ่งมีไฟล์ pdf อยู่ อ่านแล้วสนใจ อยากที่จะได้ไว้อ่านอีกเป็นหนังสือ ก็ลองส่งเมล์มาที่ [email protected] จะลองถามๆกับหมู่เพื่อน ว่ามีท่านใดมีหนังสือที่คุณตะเกียงแก้วสนใจ หากมีจะจัดส่งไปให้ หรืออาจติดต่อที่ห้องสมุดธรรมะบ้านอารีย์ ที่ http://www.baanaree.net/ ก็ได้นะครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ  

____________________________________
รู้กาย
รู้ใจ
รู้ซื่อๆ...
รู้สบายๆ...
เพียรรู้ไปเรื่อยๆ...

http://www.wimutti.net/
ดูจิต... ด้วยความรู้สึกตัว

รายการวิทยุ ธรรมะ บ้านอารีย์
AM 1251 KHz
วันเสาร์ 08:00 - 10:00 น.

http://vacharaphol.hi5.com
http://vacharaphol.exteen.com/
คำสำคัญ (Tags): #ธรรมสัญญา
หมายเลขบันทึก: 207006เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดียามเช้าที่สดใสของวันทำงานอีกวันครับ

เมื่อพระอาทิตย์ฉายแสง เป็นสัญญาณให้มนุษย์ทำงานส่วนใหญ่ ทยอยออกจากรังนอน ไปทำภารกิจหน้าที่ ซึ่งผมเองก็เฉกเช่นนั้นครับ

จะเห็นว่า เราเองก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆเลย วิถีปฏิบัติก็เหมือน คล้ายคลึงกับคนส่วนใหญ่...เราต่างเหมือนกัน

 

ผมพยายามจะโยงไปถึง เราล้วนแต่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ผมเคยสนทนาแลกเปลี่ยนกับกัลยาณมิตร(ธรรม) ท่านหนึ่ง ว่าผมศึกษาตำรา ว่าด้วยปริยัติธรรม และผมคิดว่าการเรียนรู้เต็มที่นั้น ทำให้เราฉลาด มีปัญญา พัฒนาจิตพัฒนาตนเองได้....นั่นคือ ความเชื่อเบื้องแรก

เวลาต่อมาผมได้มาถอดบทเรียนกับตัวเองว่า ตรงนั้นไม่ใช่แก่นของการเรียนรู้ธรรมเลย การเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิต พัฒนาชีวิต ไม่น่าจะใช่ การอ่านเรียนรู้แบบเดียว ที่เขียนศัพท์ในบันทึกนี้ ว่า "ธรรมสัญญา"

จริงๆ ทุกอย่างมีคำตอบอยู่ที่ "การปฏิบัติ" การปฏิบัติพากเพียรต่างหากที่ทำให้เราได้เรียนรู้ และเราถอดบทเรียนชีวิตผ่านเรื่องราวที่เราเข้าไปเรียนรู้

ปฏิบัติช่วยให้แจ้ง...

ไม่กี่วันก่อน เดินทางไปพร้อมกับอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง ท่านกล่าวขึ้นมาลอยๆว่า "คนที่สูงได้ ก็เป็นคนที่ผ่านการปฏิบัติ"  ท่านกล่าวสั้นๆ โดยไม่มีที่มาที่ไปของบริบทคำพูดนี้ แต่ผมก็เข้าใจในทันที

ผมโชคดีครับที่ได้รู้จักกัลยาณมิตร (ธรรม) ทุกท่าน และอาจารย์เด็กข้างบ้าน (ธรรมดา)  ด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ 

อรุณสวัสดิ์ครับ คุณเอก

 

  • จริงบันทึกนี้ผมคิดอยู่หลายนาทีว่าจะตั้งชื่อบันทึกว่าอะไรดี ได้แก่ ธรรมสัญญา หรือ วิปลาส เป็นต้น
  • ที่สนใจการสนทนาธรรมของผู้รู้ท่านนี้เพราะว่า ผมเองก็ยังเป็นแค่ ธรรมสัญญา และยังวิปลาส (ทางธรรม) อยู่ไม่น้อย จึงได้นำมาบันทึกเอาไว้เตือนตนและกัลยาณมิตรทั้งหลาย
  • ผมเองก็เคยมีผู้รู้แนะนำว่า ให้เน้นปฏิบัติ ไม่ต้องอ่านมากศึกษามาก ยิ่งจะทำให้เราหลงและยึดติดมากเข้าไปอีก แต่ผมเองก็ยิ่งไม่เข้าใจเข้าไปใหญ่
  • ยิ่งเมื่อคืนนี้ เข้าไปศึกษาธรรมะอย่างจริงจังอีกครั้งทั้งคืน ยิ่งทำให้เราเห็นตัวตนเราชัดว่า เราเองยังเพียงแค่ปริยัติเท่านั้นเอง ประมาณนั้นครับ
  • ขอบคุณที่มาทักทายแต่เช้าเลยครับ

สวัสดีอีกรอบครับ

อาจารย์ เด็กข้างบ้าน (ธรรมดา)   ส่งที่อยู่มาทาง e mail อีเมลติดต่อ ผมด้วยครับ

  • ส่งไปให้ทาง อีเมลติดต่อ แล้วนะครับ
  • และขอขอบคุณอีกครั้งกับน้ำใจไมตรีแห่งมิตรภาพที่มอบให้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท