นวัตกรรมไอซีที ตอนที่ 1


เนื่องจากว่าคนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวงการของการไอซีทีชนิดหายใจเข้าออกเป็น Digital Code (แต่หายใจเข้าออกแบบ Analog) เทคโนโลยีที่เขาเอามาจัดแสดงมันจึงเป็นสิ่งที่ช่างเข้าใจยากเสียจริงๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า นี่มันขั้น advance นี่นา...

วันแห่งการติดตามนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

5 กันยายน 2551 เป็นวันที่ผู้เขียนและเพื่อนอี๋ได้มีโอกาสเข้าร่วมชมงาน ITU Telecom Asia 2008 หรือ งานแสดงนวัตกรรมและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2-5 กันยายน 2551 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี งานนี้ได้บัตรเข้าชมงานจากการเชิญของบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จากคุณเพชรสิริ ต้องขอขอบคุณมาไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ

     วันที่เข้าร่วมงาน ITU นี้เป็นวันที่ทางผู้จัดงานเขาเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชมงานได้โดยเสียค่าเข้าชมคนละ 200 บาท ภายในงานจัดแสดงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศฯแบบจริงๆ จังๆ เพียงแค่ว่า ย่างเท้าก้าวแรกที่เราเดินเข้างาน ผู้เขียนและเพื่อนอี๋ก็รู้สึกแปลกแยกอย่างเห็นได้ชัด ไม่อยากบอกว่า เห็นของที่เขานำมาโชว์แล้ว... มันช่าง....นึกคำถามอะไรไม่ออกจริงๆ กับความรู้ด้านไอซีทีแบบเบ-เบ (เบสิคๆ 555)

     เนื่องจากว่าคนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวงการของการไอซีทีชนิดหายใจเข้าออกเป็น Digital Code (แต่หายใจเข้าออกแบบ Analog) เทคโนโลยีที่เขาเอามาจัดแสดงมันจึงเป็นสิ่งที่ช่างเข้าใจยากเสียจริงๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า นี่มันขั้น advance นี่นา... แต่เดี๋ยวก่อน ...ใช่ว่าจะมีสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าใจงานเหล่านี้ไปเสียทั้งงาน อย่างน้อยก็มีนวัตกรรมสองอย่างล่ะ ที่ผู้เขียนพอจะทำความเข้าใจกับมันได้ (แหม๋น่าดีใจ-ดีใจ)

นวัตกรรมอย่างแรกที่ได้เห็นพัฒนาการก็คือ การประชุมทางไกลผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ (Teleconference) เท่าที่จำได้ระบบนี้ใช้เงินลงทุนค่อนข้างแพง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่จะทำให้สามารถประชุมทางไกลได้ แต่นวัตกรรมในวันนี้คือค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (แต่ก็ยังแพงสำหรับคนทั่วไป ราคายังคงเหมาะกับภาคธุรกิจเท่านั้น) แต่ใช้งานได้สะดวกสบายและง่ายขึ้น ไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องเป็นสถานที่เฉพาะอีกต่อไป กล่าวคือ เทคโนโลยี MCU (Multipoint Conferencing Units) นี้เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับระบบ Multi Conference และรองรับการใช้งานที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่อยากจะให้เห็นภาพ (Video) หรือได้ยินแต่เสียง (Audio) หรือการส่งผ่านข้อมูล (Data Collaboration) ที่เป็นเอกสารประกอบการประชุมหรือประกอบการนำเสนองานก็สามารถทำได้ในเวลาเดียวกันทั้งหมด (คือ เห็นภาพ เห็นเสียง แชร์ไฟล์ข้อมูล...โอ้ว มันช่าง...)

ระบบการใช้งานที่ผู้เขียนได้ให้ความสนใจและซักถาม (แบบรู้เรื่องกะเขาบ้าง) คือระบบ Scopia Desktop ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมมากสุดในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ว่า การใช้งานจะเป็นการเข้าระบบผ่าน Web หรือเรียกระบบนี้ว่า Web Conference Server ซึ่งผู้ใช้งานสามารถที่จะอยู่ ณ ที่แห่งหนใดก็ได้เพียงแค่เชื่อมต่อเข้ามาผ่านเว็บ บราวเซอร์ ก็จะสามารถเปิดประชุมได้ทันที (เพียงแค่ลงซอฟท์แวร์ที่ใช้กับฮาร์ดแวร์ Scopia Desktop เท่านั้น) ยิ่งถ้าใช้โน้ตบุ๊คชนิดที่มีเว็บแคม (Web Cam) ติดอยู่ด้วยก็ยิ่งสะดวกใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะบันทึกการประชุมเอาไว้ด้วยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะภาพหรือเสียง หรือทั้งภาพทั้งเสียง และยังแปลงไฟล์ให้สามารถนำไปเผยแพร่ต่อบนเว็บไซต์ได้อีกด้วย หรือว่าหากเป็นการประชุมแบบเปิด เพียงแต่อยู่คนละประเทศหรือต่างจังหวัด ไม่สะดวกในการเดินทาง ก็สามารถที่จะเข้าร่วมฟังการประชุมเฉยๆ ก็ยังได้ (คล้ายๆ เราเดินไปประชุมตามห้องต่างๆ ที่มีการจัดสัมมนาที่โรงแรม) เพียงแค่เรารู้ห้อง รู้เวลา และมีรหัสเข้าห้อง ก็สามารถเข้าไปร่วมรับฟังกับเขาผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน สนนราคาสำหรับคุณสมบัติเช่นนี้ก็จุดละประมาณ 100,000 บาท (ผู้เขียนลองคำนวณเล่นๆ กับการลงทุนซื้อเทคโนโลยีตัวนี้ก็ตกประมาณ 1,000,000 บาท ราคาลดลงแล้วนะเนี่ยยย)

นวัตกรรมอย่างที่สอง ออกจะเป็นแนวของเล่นสำหรับวัยรุ่นเสียมากกว่า แต่หากเอามาประยุกต์ใช้ในการทำงานก็น่าจะมีประโยชน์ไม่ใช่น้อย นั่นคือ การถ่ายภาพผ่านมือถือแล้วส่งขึ้นเว็บภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที (โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรผ่านคอมพิวเตอร์ เพียงลงโปรแกรมบางอย่างลงในมือถือเท่านั้น) นอกจากนี้ตัวภาพยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับภาพที่เราถ่ายขึ้นเว็บนั้น ด้วยว่าเราถ่ายที่ไหน วันที่เท่าไหร่ ตอนกี่โมง และภายในเว็บ pg.in.th จะแสดงแผนที่พร้อมป๊อปอัพรูปถ่ายของเราให้ดูได้ว่า ตอนที่เราถ่ายรูปนี้เราอยู่บริเวณไหนของเมือง เพื่อนๆ สามารถเห็นรูปเราได้ทันที (แบบเกือบ Real Time : ดังภาพประกอบด้านล่าง) สนนราคาไม่แพงเท่าไหร่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับราคาการให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของแต่ละค่าย เพียงแต่ว่าตอนนี้ทางเว็บไซต์ pg.in.th เขาจับมือร่วมกับค่ายใบพัดสีฟ้าเท่านั้น (เห็นคนสาธิตบอกว่า ถ้าจ่ายเป็นรายเดือนตกรูปละแค่ 60-70 สตางค์เท่านั้นเอง) ที่สำคัญอยู่เพียงแค่ว่า โทรศัพท์มือถือของเรานั้นเป็นรุ่นที่สามารถใช้เทคโนโลยีแบบนี้ได้รึเปล่า (โธ่ รุ่น Analog แบบเราๆ)

        สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีที่สุดที่ได้มาร่วมงานนี้ก็คือ การได้อ่านหนังสือเสียงให้ผู้พิการทางสายตาเก็บไว้ฟัง ถึงแม้จะเป็นเพียง 1 หน้าสั้นๆ แต่เป็นความตั้งใจมานานแสนนานที่ผู้เขียนอยากทำ พอวันนี้ได้มาเดินงานและมีโอกาสจึงรีบทำอย่างไม่รอช้า ส่วนที่ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านหนังสือเสียงนี้เป็นการจัดแสดงห้องจำลอง Daisy ซึ่งเป็นห้องทำหนังสือเสียงมัลติมีเดีย จัดเป็นโซนที่ 2 เรื่องความสนพระราชหฤทัย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Princess Pavillion ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภกกิตติมศักดิ์ในโครงการ Connect the World ของ ITU

        จบกิจกรรมครึ่งเช้ากับการเดินท่องโลกนวัตกรรมไอซีทีที่เมืองทองธานีไว้ ณ ตรงนี้ เดี๋ยวครึ่งบ่ายจะไปท่องโลกนวัตกรรมอินเทลต่อที่เซ็นทรัลลาดพร้าวกับเพื่อนอี๋ ไว้จะกลับมาเล่าให้ฟังต่อค่ะ มีเรื่องน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 206497เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

  • น่าสนใจมากค่ะ  เสมือนครูอ้อยได้ไปเที่ยวด้วยน่ะค่ะ
  • ครูอ้อยจะแวะมาอ่าน  ตอนไปเซ็นทรัลลาดพร้าว  ใกล้ๆบ้านครูอ้อยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะครูอ้อย

ตอนไปเที่ยวงานไอซีทีที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว แนทก็เริ่มหน้ามึนบ้างแล้ว

(หลังจากเจอเทคโนโลยีแบบ advance) แต่งานไปคนละรูปแบบกัน

ก็เลยสนุกกันไปคนละอย่าง เดินดูงานแบบนี้ก็สนุกดีนะคะ

ได้รับรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย (แบบไม่ต้องซื้อมาใช้เอง แฮ่-แฮ่)

ลองอ่านต่องานตอนบ่ายนะคะ เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้เขาทำอะไรได้เยอะดีจริงๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะน้องแนท

  • ครูอ้อย  ตามมาอ่านว่า  จะมีอะไรดีดี เก๋เก๋  น่าลองลิ้มบ้าง
  • จะติดตามอ่านนะคะ  หากครูอ้อยลืม  ก็ไปตามมาอ่านนะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท