ทฤษฎีนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรม


ทฤษฎีนิเวศวิทยา คือ การปรับตัวเข้าหากันระหว่างสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์

ทฤษฎีนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรม  (Cultural Ecology Theory)

นักมานุษยวิทยากลุ่มนี้ที่สำคัญได้แก่จูเลียน เอช สจ็วต (Julian H. Steward), แดรี่ ฟอร์ด(Daryl! Forde), คลิฟฟอร์ด กีทซ์ (Clifford Geetz) และมาร์วิน แฮร์รีส (Marvin Harris)

สจ็วต ให้ความหมายนิเวศน์วิทยาว่า คือการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม นิเวศน์วิทยาทางวัฒนธรรม จึงหมายถึงวิธีการศึกษาหาข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อม (ของมนุษย์แต่ละสังคม) นิเวศน์วิทยาวัฒนธรรมจึงแตกต่างไปจากนิเวศน์วิทยาสังคม (Social Ecology) เพราะนิเวศน์วิทยาวัฒนธรรมมุ่งแสวงหากฎเกณฑ์เพื่ออธิบายที่มาของลักษณะและแบบแผนวัฒนธรรมบางประการที่มีอยู่ในแต่ละสภาวะแวดล้อม มากกว่ามุ่งแสวงหาหลักการทั่วไปที่ใช้ได้กับทุกวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมสิ่งที่สำคัญที่สุดในแนวคิดนี้คือแก่นวัฒนธรรม” (Cultural Core) ซึ่งหมายถึงกลุ่มของลักษณะหรือแบบแผนวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากที่สุดกับกิจกรรมเพื่อการดำรงชีพและการจัดการทางเศรษฐกิจทั้งนี้จะมุ่งสนใจการนำวัฒนธรรมทางวัตถุ (ระบบเทคนิควิทยาที่ใช้หรือเครื่องมือเทคโนโลยี) มาใช้แตกต่างกันอย่างไรและก่อให้เกิดการจัดการทางด้านสังคมที่แตกต่างกันอย่างไรในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน เพราะสภาวะแวดล้อมแต่ละแห่งอาจเป็นตัวช่วยหรือข้อจำกัดใช้เทคนิควิทยาเหล่านี้ก็ได้

ในขณะที่แฮร์รีส ศึกษาการทำสงครามของชนบรรพกาล (Primitive Warfare) โดยอธิบายว่าสงครามเป็นกลไกอันหนึ่งในการปรับจำนวนประชากรให้เหลือพอที่จะสามารถอาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์หนึ่งได้อย่างเหมาะสม

ส่วนกรีทซ์ ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแบบแผนการเกษตรในอินโดนีเซีย ได้เขียนหนังสือ “Agricultural Involution” (1963) ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของระบบนิเวศน์ที่มีต่อโครงสร้างสังคม หัวใจที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คือการรวมเอาระบบสังคม วัฒนธรรมและสภาวะทางชีววิทยาเข้าด้วยกันในการศึกษาการพัฒนาของสังคม

ทฤษฎีนิเวศน์วิทยาทางวัฒนธรรมเน้นว่า ความเชื่อและการปฏิบัติต่างๆตามระบบวัฒนธรรมที่ดูเหมือนไร้สาระ ไม่มีเหตุผล แต่อาจมีผลในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลก็ได้ โดยคำนึงถึงระดับของเทคโนโลยีที่ใช้เฉพาะสถานที่ด้วยเช่น การกินเนื้อวัวเป็นของต้องห้ามของชาวฮินดูทั้งที่ความอดอยากยากจนมีไปทั่วอินเดียนั้น แฮร์รีสอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่าการห้ามกินเนื้อวัวมีความหมายว่าวัวมีไว้ใช้ลากคันไถ หากไม่มีวัวก็จะไม่อาจทำการเกษตรได้ ดังนั้นข้อห้ามทางศาสนาจึงเป็นการเพิ่มความสามารถของสังคมเกษตรกรรมในระยะยาว

โดยสรุปแล้ว ทฤษฎีนิเวศวิทยาวัฒนธรรมนี้ จะช่วยให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชากร สิ่งแวดล้อมทางสังคมและลักษณะทางกายภาพในสังคมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น 

                ปัจจุบันนักมานุษยวิทยาได้ให้ความสนใจกับ  ทฤษฎีนิเวศวิทยาวัฒนธรรม  และกลายมาเป็น  มานุษยวิทยานิเวศน์  (Ecological  anthropology)  และได้เจริญเติบโตก่อให้เกิดแนวทฤษฎีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง  ภายในแขนงย่อยออกไปเป็น  แนววิเคราะห์ระบบนิเวศฯ  แนววิเคราะห์ชาติพันธุ์นิเวศ (Ethnoecology)  แนววิเคราะห์กลวิธี  และแนววิเคราะห์การเมืองนิเวศ  เป็นต้น

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

นิยพรรณ  วรรณศิริ.    มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม.    กรุงเทพฯ  :  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,  2540.

อมรา  พงศาพิชญ์.    ความหลากหลายทางวัฒนธรรม.    พิมพ์ครั้งที่ 5.    กรุงเทพฯ  :  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 

                2549.

 

หมายเลขบันทึก: 206330เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจครับ เอาอีก

เป็นความรู้ใหม่สำหรับหนูค่ะ ครูกุ้ง ...ชอบๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท