นิเทศครูสหกิจ


นิเทศครูสหกิจสาขาวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรวิชาชีพครู

การนิเทศเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และวันที่ 2 กันยายน 2551 ได้ไปเยี่ยมนิเทศนักศึกษาฝึกสอนตามโครงการครูสหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ข้าพเจ้ามีนักศึกษานิเทศจำนวน 8 คน ในสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การกีฬา สอนโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอต่างๆ อยู่ทั่วจังหวัดศรีสะเกษ ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปได้ภายในวันเดียว จึงแบ่งเป็นโซนคือ โซนเหนือ และโซนใต้ โซนละ 1 วัน โดยวันนี้ไปโซนเหนือ มี 3โรงเรียนดังนี้
1. โรงเรียนยางชุมน้อยพิทยาคม มี 3 คน คือ นายสงวนศักดิ์ ศรีสุธรรม น.ส.นิภาดา จำลอง และน.ส.สุนิษา สีหะวงษ์
2. โรงเรียนจตุรภูมพิทยาคาร คือ นายราวุธ สืบสิงห์
3. โรงเรียนห้วยทับทันวิทยาคม คือ นายจีระศักดิ์ จันทบุตร
ส่วนโซนใต้ นั้นจะเดินทางอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2 กันยายน 2551 มี 3 โรงเรียน คือ
1. โรงเรียนบ้านตาอุด อ.ขุขันธ์ คือนายสิทธิชัย วรรณวงษ์
2. โรงเรียนบ้านเขวา(ราษฎร์พัฒนา) อ.กันทรลักษณ์ คือ นายสุระชัย วันศรี
3. โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา อ.ขุนหาญ คือ นายศราวุธ จรเดช

ข้อสังเกตในการนิเทศ
1. โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังมีมาตรฐานที่แตกต่างกันมากผลผลิตที่จบการศึกษาจึงมีคุณภาพแตกต่างกันด้วย
2. การใช้สื่อการสอนยังมีน้อย อาจเนื่องมาจากความพร้อมของครูผู้สอนรวมถึงภาระงานที่ได้รับมีมากเกินไป และงบประมาณสำหรับการดำเนินงานอาจไม่เพียงพอ
3. ความกระตือรือร้นของนักเรียนในการอยากรู้อยากเรียนยังมีค่อนข้างน้อย เป็นผลให้ผู้สอนขาดแรงจูงใจในการจัดทำสื่อ
4. สื่อสมัยใหม่ยังมีการใช้น้อยมาก เช่น อินเทอร์เน็ต VCD หรือ โทรทัศน์ช่วยสอน โรงเรียนยังไม่มีความพร้อมในการจัดบริการสื่อเหล่านี้
จากประสบการณ์ของตนเองในการปฏิบัติหน้าที่ครูมาหลายระดับการศึกษา มีข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ดังนี้
1. ครูที่แท้จริงนั้นต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนานั้นทำได้หลากหลายวิธีแต่ทุกวิธีจะต้องทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ไม่มุ่งลาภยศสรรเสริญสุขสิ่งตอบแทนที่เป็นวัตถุเงินทอง เนื้อแท้ของอาชีพครูนั้นต้องเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่เป็นเรื่องยากมาก เพราะโครงสร้างทางสังคมและค่านิยมต่างๆ ในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปมาก ด้วยคำว่า โลกาภิวัตน์ นี่เองที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง
2. กระบวนการพัฒนาคน(ผู้เรียน) นั้นต้องทำอย่างต่อเนื่องยาวนานมาก ครูจึงต้องมีความอดทนสูงเป็นพิเศษ กว่าจะสอนให้คนเชื่อและทำตามสิ่งที่สอนนั้นยากมาก ผลผลิตของผมที่ทำมานั้นผมไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะเป็นตามที่ผมมุ่งหวังได้สักเพียงไหน เพราะเท่าที่สอนมาแล้วมีศิษย์สักกี่คนที่ยึดแนวคำสอนที่เราถ่ายทอดให้แล้วนำไปปฏิบัติในชีวิตตนเอง ยังไม่มีใครมายอมรับด้วยตนเองแม้เพียงคนเดียว ผมจึงอาจพูดได้ว่ายังไม่มีผลสำเร็จในการทำหน้าที่ครูในระยะที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างไรก็จะยึดและปฏิบัติตามแนวคิดของตนนี้ต่อไปจนชีวิตนี้จะสิ้นไปจากโลกนี้
3. วิธีทางการเมืองนั้นไม่อาจพัฒนาคนได้อย่างยั่งยืน จะมีรัฐบาลที่เปลี่ยนมาเปลี่ยนไปรัฐมนตรีก็เปลี่ยนตามไปด้วย หากใช้การเมืองเพื่อการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนตามตลอดเช่นกัน หากไม่มีกระทรวงศึกษาธิการอาจทำให้การศึกษาพัฒนาไปโดยไม่ต้องมีการเมือง ให้หน่วยงานการศึกษาเป็นองค์การมหาชนทั้งหมดเลย เอาอย่างนั้นเลยน่าจะดีนะ หรือไม่ก็เป็นหน่วยงานในกำกับแบบมหาวิทยาลัย(ในกำกับ) ความเป็นอิสระทางการเมืองอาจมากขึ้น หรือจะเป็นการเมืองภายในหน่วยงานมากขึ้นอีกก็ได้นะ แต่ถ้าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นมีส่วนร่วมมากขึ้นมีการตรวจสอบภาคประชาชนก็คงช่วยได้ ต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการมีส่วนร่วมต่างๆ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ ขณะนี้ประชาชนกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ

 

หมายเลขบันทึก: 205564เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ.ประถม ครับ

ทั้งข้อสังเกต ข้อคิดและภาพประกอบจากการไปนิเทศของอาจารย์ มีประโยชน์อย่างยิ่งครับ ถือเป็นบทสรุปเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของนักการศึกษาที่มาจากประสบการณ์อันยาวนานของอาจารย์เอง นอกจากลูกศิษย์ของอาจารย์แล้วผมอยากให้นักการศึกษาท่านอื่น ๆ ได้ช่วยอ่านและพิจารณานำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปครับ

  • เห็นด้วยค่ะอาจารย์
  • คนที่เป็นครูต้องทุ่มเทและเสียสละมากๆจึงจะสั่งสอนศิษย์ได้ผล
  • และผลที่ได้เป็นผลที่ต้องดูระยะยาวมากๆ
  • ตัวชี้วัดอะไรทั้งหลายที่ทำมาเพื่อประเมินครูนั้นไม่ถูกต้อง เป็นการเพิ่มภาระ ทำให้ครูเครียด แถมยังเอาเวลาที่ควรจะสอนเด็กมาทำปั้นงานเอกสารแบบจัดฉากกันอีก

เป็นข้อสังเกตทางการศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เรื่องการศึกษาต้องช่วยกันคิดดัง ๆ ร่วมกันทำเพื่อลูกเพื่อหลานเรา

  • เห็นด้วยกับทุกข้อโดยเฉพาะข้อสามครับ
  • การไปนิเทศนักศึกษา
  • ได้ประเด็นดีๆๆ
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาเล่าให้อ่าน
  • อาจารย์สบายดีไหมครับ

ดิฉันเป็นนักศึกษาของ มรภ.ศรีสะเกษ ชั้นปีที่สี่ สาขาคณิตศาสตร์

เคยออกไปทดลองสอนแต่ไม่เคยทราบผลการนิเทศของตัวเอง ดิฉันก็อยากทราบว่าสิ่งที่ดิฉันสอน

และปฏิบัติขณะอยู่ที่โรงเรียนนั้นถูกต้องหรือไม่ มีข้อบกพร่องด้านใดบ้าง

เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงต่อไป เพราะดิฉันมักเข้าข้างตัวเองว่าเราปฏิบัติได้พอใช้แล้ว

ถ้าอาจารย์จะกรุณาช่วยแนะนำการปฏิบัติตน รวมถึงการรับมือกับนักเรียนวัยรุ่นด้วยนะค่ะ

เพราะว่าถ้าเป็นช่วงชั้น1-3 ไม่เป็นไรค่ะ แต่ช่วงชั้น 4 นี่ดิฉันคิดว่าตัวเองยังมีข้อบกพร่องอยู่มากค่ะ

เพราะนักเรียนกับเราอายุก็ไม่ต่างกันบางทีเขาจะเล่นอะไรที่เกินไปหน่อยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เห็นด้วยค่ะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท