ผมไปเป็นกรรมการการประกวดสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ..


  ผมได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการให้คะแนนการประกวดการสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะของโรงเรียนแห่งหนึงในจังหวัดปทุมธานี การประกวดการสวดมนต์ฯ แบ่งออกเป็น ๒ ช่วงชั้น ผมกับอาจารย์ภาษาไทยอีก ๑ ท่าน (ผมตั้งฉายาท่านในใจว่า "บัณฑิตแท้ผู้เก็บตัว") รับผิดชอบช่วงชั้นที่ ๑ ล้วนเป็นเด็กเล็กทั้งสิ้น กว่าจะเสร็จเรื่องก็เกือบสี่โมงเย็น

  ระหว่างนักเรียนแต่ละกลุ่ม (กลุ่มละ ๕ คน/โรงเรียน) ทยอยกันเข้ามาแสดงความสามารถ มีความคิดหลายอย่างเกิดขึ้น และความคิดที่ทำให้ "อยาก" จะไปฝึกหัดเด็กน้อยตาใสไร้ใฝฝ้าในดวงตาก็เกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยการตั้งข้อสังเกตที่อยากจะบันทึกไว้ดังนี้

  ๑) สวดมนต์ กับ ท่องมนต์ / ท่องหนังสือ แตกต่างกันอย่างไร สวดมนต์ธรรมดากับสวดมนต์สรภัญญะ แตกต่างกันอย่างไร (ข้อนี้ได้ตั้งข้อสังเกตให้เด็กกลุ่มสุดท้ายไปหาคำตอบ) และ สวดมนต์หมู่กับสวดมนต์เดียวแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะนี่คือการประกวด ดังนั้น ต้องแสดงความสามารถให้เต็มที่

  ๒) คาถา หรือที่เราทราบกันว่า โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ล้วนมีกฎกติกา ยกเว้นแหวกแนวไม่ยอมทำตามกฎกติกาที่ซ่อนไว้เพื่อฝึกความมีวินัย" โดยเฉพาะ ฉันทลักษณ์ (ผมไม่ได้เรียนเอกภาษาไทย แต่ก็เคยอ่านเล่นและเรียนเองอยู่บ้างเล็กน้อย) ที่เขากำหนดด้วยครุ ลหุ ดังนั้น ในคราวที่เราสวดมนต์ก็ต้องให้ความสำคัญเหมือนกับการแต่งฉันท์ที่ให้ความสำคัญกับข้อกำหนด นั้นหมายความว่า อักขระ ชัดถ้อยชัดคำ

 ๒) ความเป็นผู้มีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิดย่อมมีภาษีในระดับหนึ่ง คนที่ใช้เสียง "แก้วเสียง" เป็นสิ่งสำคัญ ตามคัมภีร์เขาบอกว่า เสียงของคน สามารถบอกลักษณะหรือทายอนาคตของคนได้ เราจะพบว่า เสียงของบางคนเมื่อเปล่งออกไปแล้ว ลุ่มลึกไปถึงห้วงฤทัย ขณะมี่เปี่ยมด้วยพลังให้ฮึกเหิม ดื่มด่ำ ซึมเศร้า ฯลฯ การเลือกผู้มีแก้วเสียงน่าจะดีไม่น้อย แต่ผู้ไม่มีแก้วเสียง ในวัยเยาว์เราฝึกฝนกันได้

"""""""""""""""""""""""""""""""""""
  เรื่องราวส่งท้ายวันนี้ เปิดหนังสือ บาลีไวยากรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระรัตนเวที (บุญชัย ช. มหาวีโร) วัดด่านประชากร อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร หน้า ๙ ท่านได้กล่าวถึง ฐานของอักขระ

  ฐาน คือ ที่ตั้ง ที่เกิดของอักขระ มีอยู่ ๖ อย่าง คือ กณฺโฐ คอ, ตาลุ เพดาน, มุทฺธา ศีรษะ หรือ ปุ่มเหงือก, ทนฺโต ฟัน, โอฏฺโฐ ริมฝีปาก, นาสิกา จมูก โดยที่

  ก ข ค ฆ (ง) ห อ อา เกิดที่ คอ

  จ ฉ ช ฌ (ญ) ย อิ อี เกิดที่ เพดาน

  ฏ ฐ ฑ ฒ  (ณ) ร ฬ เกิดที่ ปุ่มเหงือก

  ต ถ ธ ท  (น) ล ส เกิดที่ ฟัน

  ป ผ ภ พ (ม) ว อุ อู เกิดที่ ริมฝีปาก

  ง ญ ณ น ม เกิดใน ๒ ฐาน คือ ฐานเดิมและจมูก

  เอ เกิด ๒ ฐาน คือ คอและเพดาน

  โอ เกิด ๒ ฐาน คือ คอและริมฝีปาก

  ว  เกิด ๒ ฐาน คือ ฟันและริมฝีปาก

  ห ที่ประกอบด้วยพยัญชนะ ๘ ตัว คือ ญ ณ น ม ย ล ว ฬ เกิดที่อก

 

  ส่วน กรณ์ คือ ที่ทำอักขระ มีอยู่ ๔ อย่างคือ

 ๑) ท่ามกลางลิ้น (ชิวฺหามชฺฌํ)

 ๒) ถัดปลายลิ้นเข้ามา (ชิวฺโหปคฺคํ)

 ๓) ชิวฺหคฺคํ (ปลายลิ้น)

 ๔) สกฏฺฐานํ (ฐานของตน)

  ท่ามกลางลิ้น เป็นกรณ์ของอักขระคือ อิ อี จ ฉ ช ฌ ญ ย

  ถัดปลายลิ้นเข้ามา เป็นกรณ์ของอักขระคือ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ร ฬ

  ปลายลิ้น เป็นกรณ์ของอักขระคือ ต ถ ท ธ น ล ส

  ฐานของตน เป็นกรณ์ของอักขระที่เหลือ

.....................................................

 

 

หมายเลขบันทึก: 204677เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2008 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ.เอก เหมาะสมกับหน้าที่ กรรมการครั้งนี้มากครับ

สวัสดีครับ อ.เอก

  • จะดีหรือครับ
  • งั้นเดี๋ยวผมไปหาสอนนักเรียน ระดับปฐมวัยดีกว่าครับ น่าจะสนุกนะครับ :-)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท