มุมมองนักวิชาการต่อ...วิกฤตการเมือง


วิกฤตการเมือง

มุมมอง2นักวิชาการ ต่อวิกฤตการเมืองไทย



หมายเหตุ : ความเห็นของผู้เข้าร่วมเสวนา เรื่อง "การเมืองท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง" จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์พัฒนาสังคม และโครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน จุฬาฯ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม



นายประจักษ์ ก้องกีรติ


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1.ชนวนความรุนแรงเกิดจาก 2 ฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายรัฐเท่านั้น ทั้งสื่อและนักวิชาการไปกดดันรัฐบาล หากย้อนกลับไป ทางตันของการเมืองเกิดจากพันธมิตรเลือกวิธีแตกหักและเผชิญหน้า เมื่อมีหมายศาลก็ไม่ยอมไปมอบตัว เพราะฉะนั้นการกระทำของแกนนำพันธมิตรคือการไม่มอบตัวและขัดขืนการจับกุม เป็นเงื่อนไขความตึงเครียดที่อาจนำสู่ความรุนแรง

2.พันธมิตรไม่เท่ากับภาคประชาชนทั้งหมด และภาคประชาชนไม่เท่ากับประชาธิปไตย หมายถึงพันธมิตรเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน เพราะฉะนั้น อย่ามองแบบเหมารวม ภาคประชาสังคมอาจทำร้ายหรือทำลายประชาธิปไตยก็ได้ ปัจจุบันนักเคลื่อนไหวหันมาเน้นคุณภาพของภาคประชาสังคม ต้องเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพ วิธีการและเป้าหมายของพันธมิตรทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งก็จริง แต่ผิดที่ผิดทาง เพราะฉะนั้น ต้องมีการตรวจสอบและตั้งคำถามกับพันธมิตร ควรให้เป็นภาคประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และควรเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ข้อเสนอการเมืองใหม่ของพันธมิตรปฏิเสธประชาธิปไตยและทำให้เป็นประชาธิปไตยน้อยลง ดังนั้น ต้องรักภาคประชาชนให้ถูกทาง

3.สิ่งที่พันธมิตรทำหลังจากวันที่ 26 สิงหาคม ไม่ใช่อารยะขัดขืนอีกต่อไป อารยะขัดขืนเป็นสันติวิธีชนิดหนึ่ง ไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องละเมิดกฎหมาย อารยะขัดขืนไม่ต้องการทำลายการเมืองระบอบตัวแทน การบุก NBT ถือเป็นการละเมิดสันติวิธี

4.ผู้นำการเมืองภาคประชาชนต้องมีความรับผิดชอบสูง และต้องไม่เอาชีวิตมวลชนมาเสี่ยง

5.สื่อและนักวิชาการใจดำกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีความขัดแย้งครั้งนี้มากเกินไป และไม่เปิดพื้นที่ให้รัฐได้รักษากฎหมายตามหน้าที่ที่ควรทำ การสลายความชุมนุมอาจรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการ คิดว่าตอนนี้นักวิชาการหลายคนบอกว่าเป็นกลางไม่เลือกข้าง แต่ท่าทีและข้อเสนอต่างๆ ที่ออกมา ขอพูดแรงๆ ว่าเหมือนกับการฉวยโอกาสใช้สถานการณ์นี้ในการขับไล่รัฐบาลโดยเกาะกระแสการเคลื่อนไหวของพันธมิตร อาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพันธมิตร แต่อาศัยจังหวะนี้ให้ท้ายเพื่อจะสร้างกระแสขับไล่กดดันรัฐบาลที่ตัวเองไม่ชอบลาออกไป ถือเป็นการสร้างความเสียหายระยะยาวต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง และอย่าสร้าง 2 มาตรฐานในเรื่องต่างๆ



นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.วิกฤตที่เกิดขึ้นเกิดจากฝ่ายพันธมิตร โดยฝ่ายพันธมิตรใช้ยุทธศาสตร์ชุมนุมยืดเยื้อถึง 3 เดือน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ฆ่าตัวตายหากไม่มีหมัดเด็ดหรือไม่มีคนจำนวนมาก ในการชุมนุมต้องหาไฮไลท์ อย่างโจมตีว่ามีผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือปลุกกระแสเขาพระวิหาร มีข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีการเป่านกหวีดชุมนุม บุกยึดทำเนียบ ควรมีการตรวจสอบรัฐบาลสมัคร แต่ไม่ได้หมายถึงการชุมนุมยืดเยื้อ อาจชุมนุมแล้วเว้นระยะ แล้วกลับมาชุมนุมใหม่ หาข้อมูลมาเปิดเผย นักวิชาการแตะต้องความผิดพลาดของพันธมิตรน้อยมาก และคนที่โดนโจมตีบนเวทีพันธมิตรก็ไม่มีเวทีตอบโต้

2.ฝ่ายพันธมิตรบอกว่าเป็นภาคประชาชน ซึ่งทำให้ตั้งคำถามกับความเป็นภาคประชาชนของพันธมิตร เพราะมีการปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล ใส่ร้ายป้ายสีคนนั้นคนนี้รายวัน ยุค 6 ตุลา เวลาพูดถึงภาคประชาชน จะหมายถึงนักศึกษา แต่สถานะของพันธมิตรตอนนี้ คือ ลูกเสือชาวบ้านยุคใหม่ ไม่ถือเป็นภาคประชาชน

3.ต้องชมรัฐบาลว่ามีขันติมากเกินควร ผิดธรรมชาติของนายสมัคร

4.เมื่อฝ่ายพันธมิตรตัดสินใจเคลื่อนไปยึด NBT กระทรวงการคลัง ทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้คาดหมายหรือว่าจะเกิดความรุนแรง เพราะฉะนั้น จะประณามรัฐบาลฝ่ายเดียวไม่ได้

5.ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญมาจากการรัฐประหาร ถ้าไม่ถูกต้องทำไมจะแก้ไม่ได้ ควรจะแก้ตั้งแต่ต้น

6.กระบวนการทั้งหมด สังคมไทยกำลังจะบอกว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเป็นเรื่องเลวร้ายไม่ถูกต้อง ที่น่าตกใจคือคนที่เรายกย่องว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะจำนวนมากนั้นเข้าร่วมขบวนการนี้อย่างเข้มแข็งเข้มข้น คนอย่าง นพ.ประเวศ วะสี นายธีรยุทธ บุญมี นั้นกลายเป็นผู้โฆษณาความชั่วร้ายของระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และยกย่องเทิดทูนประชาธิปไตยแบบอมาตยา นายธีรยุทธบอกว่า เวลาที่ตุลาการมีคำตัดสินใดๆ ในทางการเมือง แปลว่ามีพื้นที่ยุติธรรมเพิ่มขึ้น คิดว่าไปกันใหญ่ การให้อำนาจตุลาการมากไปจนเสียความสมดุล ไม่ได้ถือเป็นตุลาการภิวัตน์

.............

อ่านมุมมองนักวิชาการแล้ว  มองเห็นอะไรในมุมที่แตกต่าง

ซึ่งเป็นความหลากหลายในสังคมประชาธิปไตย

.............ขอให้สังคมไทยคืนสู่สันติในเร็ววัน........

คำสำคัญ (Tags): #วิกฤตการเมือง
หมายเลขบันทึก: 204599เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2008 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลทางด้านวิชาการครับอาจารย์

ต่างคนต่างมุมมอง หากแต่รู้จักรับฟังแล้วนำมาคิด ปราศจากอคติ จึงดีที่สุด

และจะไม่มีปัญหาการจำกัดบันทึกเกี่ยวกับการเมืองใน BLOG

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีครับอาจารย์นิรันดร์,

อ่านแล้ว มีจุดที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยครับ ต่างคนต่างความคิดครับ

  • ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญนั้นควรแก้ก็จริง แต่ควรโปร่งใสกว่านี้ ตอนแรกดูเหมือนกับเป็นการแก้เพื่อให้รอดจากการถูกยุบพรรคครับ
    ซึ่งช่วงแรกนั้นผมเองเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรนะครับ
  • แต่เห็นด้วยกับที่ว่า นพ.ประเวศ ไม่สมควรปลุกระดมให้คนเกลียดประชาธิปไตยครับ  ตัวคนเองที่ผิดที่เข้าใจประชาธิปไตยผิด ไม่ควรพาลไปโทษระบบครับ

เป็นข้อมูลที่ดีครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

จะเข่นฆ่าราวีกันไปเพื่ออะไร? ก็ในเมื่อสังคมไม่ได้ต้องการให้เผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

กรุงศรีอยุธยามิเคยสิ้นคนดี ........และที่บุรีรัมย์ก็เช่นกัน....

ความหลากหลายคือความมั่นคงและมีชีวิตต่อไปเพื่อทำหน้าที่ของตน

เป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาผู้คนต่อไป......... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท