รื้อฟื้นประวัติศาสตร์กันอย่างไรดี


ประวัติศาสตร์ฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

รื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์กันอย่างไรดี

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

               

จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเกี่ยวกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย  ทำให้กระทรวงศึกษาธิการสนองพระราชเสาวนีย์ด้วยแนวคิดที่จะรื้อฟื้น  ปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม  

เดิมก่อนปฏิรูปการศึกษาเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษานั้น   วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ถูกบรรจุให้เด็กทุกคนต้องเรียน  เป็นวิชาหนึ่งต่างหากจากวิชาสังคมศึกษา  แต่ปฏิรูปแล้ว  วิชาประวัติศาสตร์ถูกบรรจุไว้เป็น 1 ใน 5 สาระ  รวมเป็นวิชาสังคมศึกษาที่ครูสังคมทุกคนต้องสอน   ไม่ว่าจะเชี่ยวชาญการสอนประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ตาม  หรือครูที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แทนที่จะได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเองให้เป็นประโยชน์   กลับต้องสอนทั้งพระพุทธศาสนา  หน้าที่พลเมือง  เศรษฐศาสตร์  ภูมิศาสตร์  ขณะที่ครูที่ไม่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ก็ต้องสอนประวัติศาสตร์

การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเหมือนการใช้คนไม่เหมาะกับงาน  อีกทั้งการนำวิชาประวัติศาสตร์ไปเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคมศึกษา ทำให้มีเวลาเรียนในเรื่องเหล่านี้น้อย   หากโรงเรียนใดจะเปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์ต่างหากอีก 1 วิชา  ต้องเป็นโรงเรียนที่มีครูกลุ่มสาระฯสังคมศึกษาฯอย่างเพียงพอ  เนื่องจากเฉพาะวิชาบังคับที่เรียนถึง 5 สาระ  ต้องสอนกันไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ  3 – 4  ชั่วโมงอยู่แล้ว  แม้แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีครูวิชานี้  10  กว่าคน  ยังมีครูไม่เพียงพอที่จะเปิดสอนวิชาเพิ่มเติมประวัติศาสตร์เท่าใดนัก

หากกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญ  จำเป็นต้องเรียนอย่างเข้มข้นด้วยความเอาใจใส่แล้ว   คงต้องแยกเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เด็กควรจะเรียนทั้งหมดออกจากการเป็นสาระหนึ่งของวิชาสังคมศึกษา   เพราะหากเรียนประวัติศาสตร์ทั้งในวิชาเพิ่มเติม  และวิชาพื้นฐาน  อาจทำให้เนื้อหาซ้ำซ้อนกัน

อีกทั้งแทนที่จะได้ครูที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มาสอนโดยตรง   ครูส่วนนี้คงต้องไปสอนในสิ่งที่ตนไม่เชี่ยวชาญในสาระอื่น ๆ   ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาเท่าใดนัก

เมื่อกำหนดให้เด็กทุกคนต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์   และดึงวิชาประวัติศาสตร์ออกมาสอนโดยเฉพาะแล้ว  แต่ละโรงเรียนคงมีครูประวัติศาสตร์ไม่เพียงพอ   สิ่งที่จำเป็นคือ  การจัดอบรมครูประวัติศาสตร์   ซึ่งควรนำผู้มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  อบรมครูเพื่อให้เข้าใจวิธีการทางประวัติศาสตร์  และสามารถนำวิธีการเหล่านี้มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี   เพื่อไม่ให้เกิดสภาพการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แบบท่องจำ  หรือสอนในเรื่องราวที่ไม่ทันสมัย  ไม่ทันความเปลี่ยนไปในปัจจุบัน   เนื่องจากหลายเรื่องราวในประวัติศาสตร์  มีความน่าเชื่อถือ ยอมรับเปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลหลักฐานที่ค้นพบมากขึ้น   หากครูไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงประวัติศาสตร์  ย่อมไม่อาจเข้าถึงการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการจัดการเรียนการสอนได้

อีกทั้งการเรียนประวัติศาสตร์ด้วยการท่องจำย่อมทำให้นักเรียนเบื่อ   และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชานี้  ทำให้พลอยไม่อยากเรียน   ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ววิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่น่าเบื่อ   แต่เป็นวิชาที่สามารถเรียนให้สนุกสนาน   ฝึกการคิดวิเคราะห์  สามารถคิดและมองเรื่องเดียวกันในมุมมองที่แตกต่าง  ภายใต้การใช้หลักฐานการค้นคว้าและเหตุผลประกอบได้  

วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่จะบอกว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างเท่านั้น  แต่เป็นวิชาที่พยายามอธิบายว่าเพราะเหตุใดเหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้น  และทำอย่างไรเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จะไม่เกิดขึ้น   วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้ทบทวนอดีต   เพื่อเข้าใจปัจจุบัน  และวางรากฐานอนาคตให้มีความมั่นคง   เมื่อเป็นดังนี้วิชาประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย

ดังนั้นนอกจากกระทรวงศึกษาธิการจะวางแผนจัดการสอนประวัติศาสตร์   ให้มีความเข้มข้นกว่าเดิม   เตรียมกำลังคนให้พร้อมที่จะสอนประวัติศาสตร์  เพื่อให้รู้ให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์   และเพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้น   กระทรวงศึกษาธิการก็น่าจะทำการสังคายนาตำราเรียนประวัติศาสตร์กันขนานใหญ่เสียที  ทั้งเรื่องที่ล้าหลังไม่ทันสมัย  ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับคำอธิบาย   เป็นเพียงเรื่องที่เคยเล่าเรียนกันสืบต่อมาเท่านั้น   หรือบางเรื่องหมดยุคสมัยที่จะอธิบายแล้วก็ตาม   เช่น  เรื่องคนไทยมาจากไหน   เพราะทำให้เกิดข้อสงสัยว่า  ทำไมคนไทยต้องมาจากที่อื่น  ทั้งที่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมนุษย์มาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วก็ตาม   ซึ่งมีหลักฐานรองรับมาอย่างยาวนาน   รวมทั้งทำไมสุโขทัยต้องเป็นอาณาจักรแห่งแรกของคนไทย

นอกจากนี้ในส่วนของเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน   เนื้อหาประวัติศาสตร์ส่วนใดที่ก่อให้เกิดการพิพาทบาดหมาง  หรือเข้าข่าย ยกตนข่มท่าน    ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนแล้วก็ไม่สร้างสรรค์เท่าใดนัก   น่าจะมีการสังคายนาเนื้อหาในส่วนนี้  หากต้องการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

การรื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน  ไม่ใช่แค่มีการสอนวิชานี้ในโรงเรียนเท่านั้น   คงต้องรื้อกันตั้งแต่โครงสร้างหลักสูตรที่ควรดึงสาระประวัติศาสตร์ออกมาเป็นวิชาหนึ่งต่างหาก   เพื่อจะได้จัดครูที่มีความพร้อมที่จะสอนประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ   และไม่ให้มีปัญหาข้อจำกัดด้านเวลาที่ใช้ในการสอน  หากไปรวมกับสาระอื่น ๆ  อาจทำให้เวลาที่ใช้สอนถูกยืดหยุ่นตามความถนัดของครูผู้สอนในแต่ละสาระ

นอกจากนี้เมื่อแยกวิชาออกมาต่างหากเหมือนในอดีตแล้ว   ก็ควรจัดชำระสะสางเนื้อหาที่ล้าหลังออกไป  และนำเนื้อหาที่คิดว่าควรจะเรียน  แต่ยังไม่ได้เรียน   ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ที่จะให้นักเรียนคิดวิเคราะห์เป็น มองเห็นข้อบกพร่องของอดีต  ที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างให้หาวิธีการแก้ไขระมัดระวังป้องกันไม่ให้บรรยากาศ  หรือสถานการณ์พาไป   อันจะนำไปสู่ข้อผิดพลาดในปัจจุบันได้   เพราะวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มุ่งเรียนเพื่อทบทวนอดีต  ให้เข้าใจปัจจุบัน  เพื่อความมั่นคงของอนาคต

การเตรียมความพร้อมให้กับครูที่สอนประวัติศาสตร์  ด้วยการฝึกอบรมสัมมนาให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์   จนสามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี  และให้ครูมีโอกาสเข้าร่วมเสวนาทางประวัติศาสตร์   โดยการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ที่ทันสมัยมาให้ความรู้   และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น   ให้ครูผู้สอนได้เห็นความเคลื่อนไหวในแวดวงประวัติศาสตร์   และสามารถนำความรู้  ประสบการณ์ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้

ในส่วนทัศนคติของเด็กที่มีต่อวิชาประวัติศาสตร์  ที่เห็นว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ   เป็นอุปสรรคต่อการเรียนประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย   การที่จะให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อวิชานี้   คงต้องแก้ไขที่ระบบการเรียนการสอน  ที่ไม่ควรเน้นให้เด็กท่องจำจนกลายเป็นความยุ่งยากในการเรียน   ครูควรแสดงความสามารถให้เห็นว่า  เด็กสามารถนำวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้   และสร้างบรรยากาศการเรียนประวัติศาสตร์ด้วยความสนุกสนาน   ให้นักเรียนกล้าคิด  กล้าแสดงความคิดเห็น  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกันได้    เด็กน่าจะมีทัศนคติต่อวิชานี้ดีขึ้น   ทำให้มีความพร้อมที่จะเรียน  ย่อมส่งผลให้เรียนได้ดี

แนวคิดที่จะรื้อฟื้นการสอนประวัติศาสตร์ให้เข้มขึ้น  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม   ตั้งแต่หลักสูตรการเรียนที่เหมาะสมคล่องตัว   เนื้อหาทันสมัย  น่าสนใจ  ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน  และท้าทายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก   ครูมีเทคนิคการสอนประวัติศาสตร์ที่ดี  สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้การรื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษา   มากกว่าที่จะเห็นอยู่บ่อย ๆ  ว่ากระทรวงศึกษาฯคิดจะรื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่มีกระแสสังคมเรียกร้องเท่านั้น   แล้วสุดท้ายไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม

หมายเลขบันทึก: 204283เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ในความคิดหนูก็เห็นด้วยว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่เรียนแล้วสนุก(สำหรับหนู )

เพราะวิชานี้เป็นวิชาที่ทำให้รู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆๆที่เราควรได้รู้..แต่มีเพื่อนบางคนไม่ชอบเพราะมันเป็นอะไรที่น่าเบื่อ...

ก็เห็นด้วยว่าถ้าปรับปรุงวิชานี้ในหลักสูตรเสียใหม่..ให้เหมาะสม..หัดให้คิดถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์นั้นๆๆ..ทำเนื้อหาให้น่าสนใจ.น่าอ่าน..ไม่ใช่แค่ให้เรียนวิชานี้เฉพาะเรื่องที่ชาติของเราชนะ..หรือเป็นเรื่องราวที่น่าภูมิใจเท่านั้น..แต่ควรเป็นการให้เรียนหลายๆๆด้าน..ไม่ใช่แค่ด้านเดียวแล้วสอนให้เชื่อ..ไม่อย่างงั้นเมื่อไหร่การเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถึงจะมีการพัฒนาเสียที..ยิ่งไม่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณก็ยิ่งคิดอะไรเองไม่เป็น..ถูกคนอื่นมาล้างสมองอยู่เรื่อย...

ไว้จะมาอ่านอีกนะคะ...*0*

ใช่แล้วใบเฟิร์น ความคิดอย่างมีวิจารณญาณจำเป็นมาก และต้องใช้อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน วิชาประวัติศาสตร์เรียนให้สนุกก็น่าจะได้ ถ้าใจชอบ แล้วก็สามารถฝึกคิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้มองอะไรหลากหลาย แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ

สวัสดีค่ะ น้องเล็ก

พี่เห็นด้วยค่ะกับทรรศนะในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ต้องขึ้นกับการเตรียมความพร้อมในการสร้างพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องระเบียบวิธีประวัติศาสตร์ ตอนนี้พี่สอนนักศึกษาในหลักสูตรประวัติศาสตร์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็กำลังประสบปัญหาการสอนประวัติศาสตร์เหมือนกันค่ะ ว่าประวัติศาสตร์เป็นวิชาน่าเบื่อหน่าย เรียนแล้วไม่มีอนาคต

แล้วค่อยคุยกันค่ะ

พี่ยุ่น(สมศรี)

ขอบคุณพี่ยุ่นนะคะ ที่เข้ามาทักทายกัน เล็กว่าที่คนมักจะคิดว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อ เพราะอาจจะคิดไปเองว่าต้องท่องจำเรื่องราวมากมาย แต่ถ้าเด็กกระตือรือร้นที่จะเรียน การเรียนก็จะสนุก เด็กที่เล็กสอนมีอยู่หนึ่งเขาก็อยากเรียนประวัติศาสตร์มาก เพราะจะได้ถกเถียงกับครู หรือกับเพื่อนได้ค่ะ แล้วค่อยกันนะคะพี่ยุ่น

จะเข้ารับการเยียวยาสาระสังคมศึกษาฯ (วิชาประวัติศาสตร์)

อยากได้แนวข้อสอบมากๆค่ะ

ขอบคุณมากๆค่ะช่วยส่งมาให้หน่อยน่ะค่ะ

เล็ก

พี่ว่าขึ้นอยู่กับผู้สอนมากกว่าว่าจะทำให้วิชาประวัติศาสตร์

มีคุณค่าหรือเปล่า

ขรรค์ชย

หวัดดีค่ะพี่หน่อย เป็นอย่างไรบ้างคะ มีข่าวดีหรือยัง

ใช่แล้วค่ะ ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ต้องมีความรู้ความเข้าใจและใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นก่อนแล้วถึงจะสอนได้ดี หรืออย่างน้อยก็สอนให้เด็กมีความคิดอย่างรอบด้านและหลากหลายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท