Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ : รัฐไทยปฏิบัติต่อคนชายขอบอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICCPR หรือไม่ ? : ข้อห่วงใยของ HRC ต่อคนชายขอบ


ใน Concluding Observations  เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งจัดทำในการประชุมครั้งที่ ๒๓๐๗ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘[1]  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Right Commission  หรือที่มักเรียกกันย่อๆ ว่า HRC) ได้แสดงความห่วงใยอย่างชัดเจนต่อปัญหาคนชายขอบในประเทศไทยในหลายกลุ่ม ซึ่งอาจจำแนกเพื่อให้เห็นกันอย่างชัดเจน ๗ กลุ่ม กล่าวคือ

(๑) “ผู้ลี้ภัยชาวพม่า (Burmese Refugees)[2] 

(๒) "ชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์"[3]

(๓) “คนต่างด้าวซึ่งเขาหรือเธอมีความเสี่ยงจะถูกกระทำทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่เป็นอันตรายหากกลับประเทศของตน”[4] 

(๔) “เด็กข้างถนน เด็กกำพร้า บุคคลไร้รัฐ ผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อย และ ผู้ลี้ภัยที่ตกเป็นเหยื่อแห่งการค้ามนุษย์”[5]

(๕)  “ชนกลุ่มน้อย รวมทั้งชนบนพื้นที่สูงที่ประสบความไร้รัฐ”[6] 

(๖)  “คนงานอพยพทั้งที่จดทะเบียนแรงงานและไม่ได้จดทะเบียนแรงงานในประเทศไทย”[7]  

และ (๗)  “เหยื่อคลื่นยักษ์สึนามิ”[8]

ดังนั้น คณะที่ปรึกษาและกระทรวงยุติธรรมจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการติดตามความคืบหน้าของเรื่องราวในการแก้ไขปัญหาของคนขอบชอบเหล่านี้ เพื่อนำมาจัดเขียนเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่ง[9]ของรายงานประเทศเสนอสหประชาชาติ นอกเหนือจากกรณีอื่นๆ



[1] คณะกรรมการได้พิจารณารายงานฉบับแรกของประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ ๒๒๙๓, ๒๒๙๔  และ ๒๒๙๕ ในวันที่ ๑๙ – ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘

[2] ดังจะเห็นว่า HRC ระบุในข้อ ๑๗ แห่ง Concluding Observations  ว่า  ในขณะที่คณะกรรมการ (ก็คือ HRC) รับทราบการให้ความมั่นใจของคณะผู้แทนไทยว่า ขณะนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจังหวัดด้านการรับผู้ลี้ภัย คณะกรรมการมีความกังวลต่อการขาดกระบวนการยุติธรรมในค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการมีความกังวลต่อแผนการเคลื่อนย้ายผู้อพยพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าทั้งหมดในรัฐภาคีต้องย้ายไปอยู่ที่ค่ายต่างๆ ใกล้ชายแดนพม่า และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนั้นจะถือว่า เป็นผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมาย และจะถูกผลักดันกลับประเทศพม่า

[3] ดังจะเห็นว่า HRC ระบุในข้อ ๑๗ แห่ง Concluding Observations ว่า  “นอกจากนี้ คณะกรรมการมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่น่าสลดหดหู่ของชาวม้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ที่ไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยโดยรัฐภาคี ซึ่งกำลังจะเผชิญกับการถูกผลักดัน ที่เกรงว่าหากผลักดันไปอาจถูกฆ่าได้ ท้ายนี้ คณะกรรมการมีความกังวลต่อกระบวนการกลั่นกรองและการผลักดันในปัจจุบันที่ไม่มีมาตรการรับรองว่ามีการเคารพสิทธิต่างๆ ที่กติกาฯ ให้การคุ้มครอง (ข้อบทที่ 7 และ 13)

[4] ดังจะเห็นว่า HRC ระบุในข้อ ๑๗ แห่ง Concluding Observations ว่า  “รัฐภาคีควรสร้างความมั่นใจว่าจะมีการจัดทำกลไกที่ห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การผลักดัน หรือการบังคับให้คนต่างด้าวกลับประเทศที่ซึ่งเขาหรือเธอมีความเสี่ยงจะถูกกระทำทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่เป็นอันตราย รวมทั้งสิทธิในการได้รับการพิจารณาทางศาลใหม่  รัฐภาคีควรปฏิบัติตามพันธกรณีในการเคารพหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นคือ หลักการไม่ส่งกลับหากบุคคลนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำทรมาน (Non-refoulement principle)”

[5] ดังจะเห็นว่า HRC ระบุในข้อ ๒๐ และ ๒๑ แห่ง Concluding Observations ว่า

ถึงแม้ว่ารัฐภาคีได้พยายามอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘  ซึ่งคณะกรรมการมีความชื่นชมต่อแผนที่จะประกาศใช้กฎหมายด้านการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการมีความกังวลต่อสถานะของประเทศไทยที่เป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์โดยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีความกังวลต่อปัญหาโสเภณีเด็กที่ยังมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกขาย ถูกค้า และถูกเอาเปรียบ ซึ่งประกอบด้วยเด็กข้างถนน เด็กกำพร้า บุคคลไร้รัฐ ผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อย และ ผู้ลี้ภัย (ข้อบทที่  ๘ และ ๒๔)

รัฐภาคีควรดำเนินการต่อไปและสร้างความเข้มแข็งต่อมาตรการในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ และให้มีมาตรการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนที่เพียงพอต่อผู้ที่มาเป็นพยานและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความปลอดภัยแก่ที่พักของพยานและผู้เสียหายเพื่อให้มีโอกาสในการให้พยานหลักฐาน รัฐภาคีควรจัดทำร่างกฎหมายการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เป็นกฎหมายโดยไม่ชักช้า

คณะกรรมการมีความกังวลเกี่ยวกับสัดส่วนจำนวนมากของเด็ก ซึ่งมักจะเป็นเด็กไร้รัฐ หรือเด็กต่างชาติในรัฐภาคี ที่อยู่ในส่วนของการใช้แรงงาน และตามที่ได้อธิบายโดยผู้แทนของรัฐภาคี ที่มักตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ (ข้อบทที่  ๘ และ ๒๔)

รัฐภาคีควรสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ในการต่อต้านแรงงานเด็ก เหยื่อของการค้ามนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ รัฐภาคีควรพยายามทุกวิถีทาง รวมทั้งการป้องกัน เพื่อสร้างหลักประกันว่าเด็กที่ใช้แรงงาน ไม่ได้ทำงานอยู่ในสภาพที่เป็นอันตราย และเด็กๆ ยังคงได้รับการศึกษาอยู่ด้วยในขณะที่ต้องทำงาน รัฐภาคีต้องดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามนโยบายทั้งหลายและกฎหมายเพื่อขจัดแรงงานเด็ก โดยที่หนึ่งในนั้น ต้องมีการสร้างความตระหนักต่อสาธารณชนโดยการรณรงค์ต่างๆ และการให้การศึกษาเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก”

[6] ดังจะเห็นว่า HRC ระบุในข้อ ๒๒ แห่ง Concluding Observations ว่า “การดำเนินมาตรการโดยรัฐภาคี ส่วนมากโดยผ่านระเบียบการจดทะเบียนส่วนกลาง ปี ๒๕๓๕ และปี ๒๕๓๙ ในการดำเนินการกับปัญหาการไร้รัฐของชนกลุ่มน้อย รวมทั้งชนบนพื้นที่สูง คณะกรรมการยังคงมีความกังวลว่าบุคคลภายใต้อาณาเขตประเทศไทยยังเป็นบุคคลไร้รัฐอีกจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อการใช้สิทธิภายใต้กติกาฯ อย่างเต็มที่ รวมทั้งสิทธิในการทำงานและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน สิทธิทางสุขภาพและทางการศึกษา คณะกรรมการมีความกังวลว่าความเป็นผู้ไร้รัฐจะสร้างความเสี่ยงในการถูกกระทำการทารุณและถูกแสวงหาประโยชน์ และยังมีความกังวลต่อการจดทะเบียนเกิดที่ยังมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็กบนพื้นที่สูง (ข้อ ๒ และ ๒๔)

รัฐภาคีควรดำเนินการตามมาตรการให้สัญชาติแก่ผู้ไร้รัฐที่เกิดและอยู่ภายในประเทศไทยต่อไป รัฐภาคีควรทบทวนนโยบายที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนเกิดแก่เด็กชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้ง ผู้อยู่บนพื้นที่สูงและเด็กลี้ภัย รวมทั้งการสร้างความมั่นใจว่าเด็กทั้งหลายที่เกิดในรัฐภาคีจะต้องได้รับการจดทะเบียนเกิด”

            “คณะกรรมการของแสดงความกังวลต่อการเลือกปฏิบัติที่เป็นระบบของรัฐภาคีต่อชุมชนของชนกลุ่มน้อย รวมทั้งผู้ที่อยู่บนพื้นที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นพลเมือง สิทธิในที่ดินเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย และการให้ความคุ้มครองต่อวิถีชีวิต คณะกรรมการมีความกังวลต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต่อชนผู้อยู่บนพื้นที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบังคับย้ายถิ่นฐาน ตามแผนแม่บทด้านการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม การควบคุมการปลูกพืชเสพติด บนพื้นที่สูง พ.. ๒๕๓๕ ซึ่งมีผลกระทบร้ายแรงต่อการทำมาหากินและวิถีชีวิต…………

รัฐภาคีควรให้การรับประกันให้ชนกลุ่มน้อยได้รับสิทธิที่ระบุอยู่ในกติกาฯอย่างเต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปรึกษาหารือกับชุมชนในพื้นที่ต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐภาคีควรเคารพสิทธิของบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยให้สามารถดำรงวัฒนธรรม อาชีพ และปฏิบัติศาสนกิจของตน รวมทั้งการใช้ภาษาของตนในชุมชนและกับสมาชิกอื่นในกลุ่มชนของตน”

[7] ดังจะเห็นว่า HRC ระบุในข้อ ๒๓ และ ๒๔ แห่ง Concluding Observations ว่า “คณะกรรมการมีความกังวลต่อการให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ ต่อสิทธิของคนงานอพยพทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย การเข้าถึงบริการทางสังคม การศึกษา และการมีหลักฐานส่วนบุคคล สภาพในที่ทำงานและที่อยู่อาศัยที่เลวร้ายของคนงานอพยพแสดงให้เห็นถึงการละเมิดอย่างรุนแรงต่อกติกาฯ ข้อ ๘ และ ๒๖คณะกรรมการขอระบุว่าชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพจากพม่ามีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายจ้าง รวมทั้งความเสี่ยงต่อการถูกผลักดันโดยทางการไทย และคณะกรรมการยังมีความกังวลต่อผู้อพยพส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพม่าจำนวนมาก ที่ยังคงสูญหายภายหลังเหตุการณ์จากภัยสุนามิในเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่จำเป็น เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้อง (ข้อ ๒, ๘ และ ๒๖)

รัฐภาคีต้องมีมาตรการในทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้สิทธิต่างๆแก่คนงานอพยพ คนงานอพยพควรได้ใช้บริการทางสังคม สถานที่และอุปกรณ์ทางการศึกษาและได้มีหลักฐานส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ รัฐภาคีควรพิจารณาการจัดตั้งกลไกของรัฐที่คนงานอพยพสามารถรายงานการถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้าง รวมทั้งการถูกยึดหลักฐานแสดงความเป็นบุคคลของคนงานอพยพโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

[8] ดังจะเห็นว่า HRC ระบุในข้อ ๒๓ แห่ง Concluding Observations ว่า “คณะกรรมการขอเสนอให้มีการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมที่มีประสิทธิภาพแก่เหยื่อคลื่นยักษ์สึนามิทั้งหมดโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย

[9] คณะที่ปรึกษาได้จำแนกเนื้อหาของเรื่องราวภายใต้รายงานประเทศออกเป็น ๓ กลุ่ม กล่าวคือ (๑) เรื่องของกระบวนยุติธรรมและสถานการณ์ด้านความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สุดของประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงโดยคุณอังคณา นีลไพจิตร  (๒) เรื่องของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมไทย ซึ่งรับผิดชอบการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงโดย อาจารย์ศรีประภา เพชรมีศรี และ (๓) เรื่องของคนชายขอบในประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

 

คำสำคัญ (Tags): #iccpr#คนชายขอบ
หมายเลขบันทึก: 204262เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 02:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท