38. ประท้วงแบบอินเดีย


Bandh ไม่ใช่ 'ble

อะไรคือ เบินดฮ์ (bandh) ที่อินเดีย

 

            ผู้เขียนได้ยินคำว่า เบินดฮ์” (Bandh) ซึ่งเป็นภาษาฮินดีแปลว่า ปิด เมื่อไปอินเดียสองครั้งหลังคือที่ตำบล Moran อำเภอ Dibrugarh รัฐAssamได้สัมผัสเหตุการณ์ที่เรียกว่า เบินดฮ์ คือพวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลประกาศล่วงหน้าว่าพรุ่งนี้จะมี เบินดฮ์ ดังนั้นร้านค้าทั้งหลายตลอดจนประชาชนจะหยุดกิจการ ราชการหยุดงาน โรงเรียนหยุดเรียน พาหนะสาธารณะทุกประเภทหยุดหมด เมืองทั้งเมืองเงียบสนิทแทบไม่เชื่อสายตา ผู้เขียนถามเพื่อนชาวอัสสัมว่าถ้าร้านค้าฝ่าฝืนเปิดกิจการจะเกิดอะไรขึ้น ได้รับคำตอบว่าอาจจะถูกฝ่ายตรงข้ามมาทำร้ายจนถึงชีวิต ฟังดูสยองมาก และคงมีตัวอย่างเชือดไก่ให้ลิงดูมาแล้วจึงทำให้ เบินดฮ์ ที่เมืองนี้ได้ผลตามที่ผู้ไม่หวังดีต้องการเรียกว่าเข้าทางเขาเลย ในวันนั้น เพื่อนนักวิชาการชาวไตอาหมพร้อมครอบครัวพาผู้เขียนขับรถฝ่าความเงียบของเมืองออกไปสัมผัสหมู่บ้านชาวไตอาหม ผู้เขียนเกิดอาการสยองอยู่ในใจ แต่คนที่นี่เขาจะรู้ว่าใครเป็นใคร และคงชินกับบรรยากาศแบบนี้ปีละหลายหน พวกเราไปกลับด้วยความปลอดภัย ผู้เขียนเห็นว่าร้านค้าเล็กๆ ในหมู่บ้านยังเปิดขายของได้ ยังมีรถวิ่งบนถนนหลวงบ้าง แต่บรรยากาศดูเงียบเหงามาก ตอนบ่ายมีข่าวว่ามีการวางระเบิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านที่ผู้เขียนพักนัก จำไม่ได้ว่ามีผู้เสียชีวิตหรือเปล่า นั่นเป็นประสบการณ์แรก วันรุ่งขึ้น ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพปกติ ผู้คนเดินทางไปมาอย่างคึกคัก ร้านค้าเปิดขายตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

            เมื่อไม่กี่วัน ผู้เขียนไปประชุมที่ศานตินิเกตัน รัฐเบงกอลตะวันตกซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครอง วันที่เดินทางกลับมีการประกาศล่วงหน้าจากพรรคคอมมิวนิสต์ว่าจะมี เบินดฮ์ เกิดขึ้น โชคดีที่ผู้เขียนออกเดินทางกลับเมืองไทยแต่เช้ามืด จึงไม่ทันได้เห็นว่าเหตุการณ์ที่ถูกปิดในวันนั้นจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือยานพาหนะ (สาธารณะ) จะไม่วิ่งเพราะอาจถูกทำร้ายได้ และทราบข่าวจากโทรทัศน์ว่ามีผู้คนไปประท้วงหน้าโรงงาน Tata Motor ที่ตั้งอยู่ที่รัฐนี้เพื่อเรียกร้องค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมทำให้บริษัทกำลังคิดทบทวนว่าจะตั้งอยู่ต่อไป หรือจะย้ายไปที่อื่น

            ผู้เขียนเกิดความสนใจว่าที่มาที่ไปของการถูกปิดที่ว่านี้เป็นมาอย่างไร จึงได้ค้นหาข้อมูลมาฝากท่านผู้อ่านว่าอินเดียนี่มีความแปลกแบบคาดไม่ถึง จะว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ไหมเพราะเขาประกาศกันให้ทราบล่วงหน้า และเลิกเมื่อหมดกำหนด ไม่ยืดเยื้อ หรือรัฐบาลก็รู้เห็นเป็นใจเพราะมีผลประโยชน์บางอย่างที่เอื้อกัน (แล้วแต่จะคิดหรือตีความ) แต่การปิดหรือ เบินดฮ์ ปีละหลายวันก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ประชาชนจะเดือดร้อนหากต้องอยู่ในระหว่างการเดินทางไปในสถานที่เหล่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้ใช้ความรุนแรงเพื่อห้ามปราม หรือปราบปราม แต่ก็ใจกว้างพอที่จะให้ฝ่ายตรงข้ามที่ประกาศว่าจะ เบินดฮ์ ทำได้ ประชาชนก็รู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อทราบล่วงหน้าก็เตรียมอาหารการกินไว้ และอยู่แต่บ้าน ไม่ต้องไปทำงาน (สบายดีเหมือนกัน)

            เบินดฮ์ เป็นการประท้วงที่นักการเมืองหัวรุนแรงในบางประเทศในเอเชียใต้ได้แก่อินเดีย และเนปาลใช้ พรรคการเมืองหลักหรือกลุ่มผลประโยชน์จะประกาศล่วงหน้าว่าทุกอย่างต้องหยุดราวหนึ่งวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความสงบของประชาชน ในปี 1998 ศาลสูงได้สั่งห้ามเรื่องการ เบินดฮ์ แต่พวกพรรคการเมืองก็ยังใช้เป็นเครื่องมือ เช่น ในปี 2004 ศาลสูงได้ปรับพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือ บีเจพี และชีฟ เซนา (Shiv Sena) ที่ทำ เบินดฮ์เพื่อเป็นการ

ประท้วงการระเบิดที่เมืองบอมเบย์ รัฐที่มีการทำ เบินดฮ์ มากที่สุดคือเบงกอลตะวันตกคือประมาณ 40-50 ครั้งต่อปี

เบินดฮ์จะต่างจากการประท้วงธรรมดา (Hartal) ตรงที่ธุรกิจหรือการคมนาคมได้รับผลกระทบเพราะถูกผู้ประท้วงบังคับให้

ทำตาม เมืองที่ต่อต้านการทำเบินดฮ์ จะใช้วิธีการประท้วง (Hartal) ซึ่งก็เหมือนๆ กับ เบินดฮ์ นั่นเอง (Bandh -

Wikipedia, the free encyclopedia.mht)

            เรื่องการประท้วงเป็นหนทางหนึ่งของการแสดงออกแบบประชาธิปไตย ซึ่งอินเดียถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่การกระทำต้องมีขอบเขตภายใต้กฎหมายและไม่ควรทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รัฐบาลก็ควรมีมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การประท้วงแบบสันติวิธีหรือสัตยาเคราะห์ของ

ท่านมหาตมา คานธีน่าจะได้นำมาใช้ให้มากขึ้น แต่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในอินเดีย (บางกลุ่ม) อาจรักประชาชนน้อยกว่ารักตัวเอง เขาจึงกล้าทำร้ายประชาชนและทรัพย์สินของทางราชการ และสุดท้ายส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เจริญก้าวหน้าของประเทศด้วย ที่นำเรื่องนี้มาเสนอให้ทราบเพื่อให้ท่านผู้อ่านรู้จักอินเดียแบบที่เขาเป็น ที่มีทั้งดีและไม่ดีซึ่งอาจเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นตัวเราชัดมากขึ้นก็ได้ เมื่ออ่านแล้วท่านก็ไม่ต้องกลัวการไปอินเดียหรอกนะคะ เพราะไม่ได้เกิด "เบินดฮ์" ทุกวันและทุกที่

------------------

ขณะนี้ ใกล้จะถึงกำหนดการรับสมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรวัฒนธรรมและการพัฒนา วิชาเอกอินเดียศึกษา ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ท่านที่สนใจจะศึกษา "อินเดีย" ในมิติต่างๆ เพื่อการเตรียมตัวสำหรับเป็นผู้เชี่ยวชาญในทศวรรษที่อินเดียจะมีบทบาทสำคัญต่อภูมิภาคและต่อโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ท่านสามารถสมัครได้ที่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป หรือเข้าไปชมใน www.lc.mahidol.ac.th หรือโทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3101 หรือ 02-8002323

(เรียนเหมือนหลักสูตรพิเศษ คือ เสาร์ อาทิตย์ แต่เสียค่าเรียนแบบหลักสูตรปกติ- ถูกมาก)

ท่านเป็นผู้หนึ่งที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยไปในเวทีโลกอย่างเข้าใจ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

 

           

 

หมายเลขบันทึก: 203615เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ

ดูอินเดียแล้วย้อนมาดูเมืองไทย

ยังน่าวิตกอยู่ครับ

ได้แต่เอาใจช่วยให้ประเทศชาติผ่านจุดนี้ไปด้วยความเรียบร้อย

ต้องใช้เมตตาธรรมให้มากครับ

เจริญพร โยมโสภนา

ได้ความรู้ในแบบอินเดีย ที่ไม่เหมือนใคร อินเดียได้ชื่อว่า เป็นที่สุดหลายอย่าง  ขอให้โยมเขียนเรื่องเกี่ยวอินเดีย จะได้ติดตาม

เจริญพร

เรียน ท่านพลเดช

ใช่ค่ะ อินเดียมีวิถีแบบอินเดีย วิถีไทยน่าจะละมุนละม่อมและหาทางออกได้อย่างสันติในที่สุด

นมัสการท่านพระปลัด

ดิฉันจะพยายามหาเวลานำมุมมองด้านอินเดียศึกษาจากประสบการณ์ หรือจากการค้นคว้าบ้างมานำเสนอตามแต่เวลาและโอกาสจะเอื้ออำนวยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากยังมีผู้สนใจจะอ่านอยู่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท