งานวิจัยท้องถิ่นที่น่าสนใจ


ส้มบางมด

บทคัดย่อ

 

                เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เคยเป็นแหล่งของพันธุ์ไม้ผลที่มีชื่อเสียง เช่น ลิ้นจี่ และส้มเขียวหวาน  ที่รู้จักกันดี คือ ส้มเขียวหวานบางมด (Citrus reticulate Blanco)   เป็นต้น  ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2526 ทำให้สวนไม้ผลบริเวณนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัญหาสภาพอากาศไม่เหมาะสมเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินไปเป็นที่อยู่อาศัย โรงงาน รวมถึงปัญหาการระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำเน่าเสียและไม้ผลตายลงในที่สุด 

                โครงการวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น : ความหลากหลายและการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ผลท้องถิ่น เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร  มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนากระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR.) ระหว่างอาจารย์ ครู นิสิต นักเรียน และชุมชนชาวสวนเขตจอมทอง   นำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาสร้างชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งในระดับประถมศึกษา (.5) และระดับอุดมศึกษา

                ผลการวิจัย พบว่า ในด้านองค์ความรู้ทั่วไปของท้องถิ่น ผลการสำรวจความหลากหลาย พบว่า มีพันธุ์ไม้ผลทั้งสิ้น 21 วงศ์ (Family) 34 ชนิด (Species) และ108 สายพันธุ์ (Varity) ธาตุอาหารหลักในดิน พบว่า อยู่ในระดับสูง โดยมีปริมาณไนโตรเจน เฉลี่ย 0.18 mg/l  ฟอสฟอรัส เฉลี่ย 0.19 mg/l  และ โพแทสเซียม เฉลี่ย 0.023  ด้านคุณภาพน้ำในร่องสวน  พบว่า ค่า pH  การนำไฟฟ้า ความเค็ม อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดินเพื่อการเกษตร   แต่ปริมาณออกซิเจนละลายส่วนใหญ่ต่ำกว่ามาตรฐาน 

ด้านการมีส่วนร่วมจากกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า สามารถพัฒนากรอบประเด็นและเนื้อหาบทเรียนวิทยาศาสตร์  ตามสถานภาพของพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่น และสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ระดับ  ดังนี้

                ระดับประถมศึกษา สามารถพัฒนาบทเรียนวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ชั้น ป. 5 โรงเรียนวัดยายร่ม จำนวน 5 หน่วยการเรียน ได้แก่ หลากหลายพันธุ์ไม้ผล  สิ่งแวดล้อมในสวน  ขยายพันธุ์ทำอย่างไร?  ชาวสวนแสนฉลาด  และ ช่วยกันรักษาพันธุ์ไม้ผล โดยเน้นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น

                ระดับอุดมศึกษา สามารถพัฒนาบทปฏิบัติการ เรื่อง การศึกษาแบคทีเรียในดิน การแยกและจำแนกเชื้อราจากดิน และการสำรวจและจำแนกสาหร่าย ในรายวิชาจุลชีววิทยา  ลักษณะโครโมโซมของต้นส้ม การจำแนกสายพันธุ์ส้มและลิ้นจี่ ในรายวิชาพันธุศาสตร์ และการขยายพันธุ์ไม้ผลในรายวิชาหลักการไม้ผล พัฒนาปัญหาพิเศษ เรื่อง ชนิดพันธุ์และการจัดการสวนไม้ผล และพัฒนารายงานการวิจัย ในรายวิชาวิธีวิจัยวิทยาศาสตร์ เรื่อง ปริมาณธาตุอาหารหลักของดินในสวนไม้ผล  และคุณภาพน้ำบางประการในสวนไม้ผล  โดยการสำรวจ วิเคราะห์ และพิสูจน์องค์ความรู้ท้องถิ่น

                ด้านการเผยแพร่และขยายผลสู่ชุมชน ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ไม้ผลท้องร่วมกับสำนักงานเขตจอมทอง บทความเรื่องวิทยาศาสตร์ในสวน และขยายเครือข่ายวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นไปยังครูโรงเรียนอื่น ๆ

                ข้อเสนอแนะจากการทำวิจัยในครั้งนี้  ควรขยายผลและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร (agro-tourism) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่ชุมชนมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไปได้ เพราะสวนไม้ผลนั้นนอกจากจะเกิดรายได้แล้ว  การบริโภคผลไม้ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ  ต้นไม้ยังก่อให้เกิดความสวยงามตามธรรมชาติของบ้านเมือง  รวมไปถึงเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตซึ่งยังคงผูกพันกับธรรมชาติที่มีความหลากหลาย  

 

หมายเลขบันทึก: 203322เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยที่มีการอนุรักษ์ทุกประการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท