เทคนิคการล้างเครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลอง


การทำความสะอาดหลอดทดลอง

เครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลองจำเป็นต้องล้างให้สะอาดเสมอ

เทคนิคการล้างเครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลอง

เครื่องแก้ว ที่ใช้ในการทดลองจำเป็นจะต้องล้างให้สะอาดเสมอ มิฉะนั้นจะทำให้ผลการทดลองผิดพลาสหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้ หลักทั่ว ๆ ไปของการล้างเครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลองมีดังนี้

1. ต้องทำความสะอาดเครื่องแก้วนั้นทันทีหลังจากนำไปใช้งานแล้ว เพื่อให้เครื่องแก้ว แห้งก่อนที่จะนำไปใช้งานในครั้งต่อไป หากเครื่องแก้วสกปรกจำเป็นจะต้องล้างก่อนการทดลอง ทำให้เสียเวลา เพราะไม่สามารถจะล้างได้อย่างทันทีทันใดได้

2. การทำความสะอาดเครื่องแก้ว ต้องทำด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่อง แก้วที่มีลักษณะเป็นก้านยาว เช่น ขวดวัดปริมาตร ปิเปตต์ บิวเรตต์ ฯลฯ

3. ตามปกติการล้างเครื่องแก้วมักจะใช้สบู่หรือสารซักฟอกหรือสารละลายทำความ สะอาด ดังนั้นจึงต้องล้างสบู่ สารซักฟอกหรือสารละลายทำความสะอาดออกให้หมดเพราะหากมีเหลือตกค้างอยู่ อาจไปรบกวนปฏิกิริยาเคมีได้

4. การล้างเครื่องแก้วที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทั่ว ๆ ไป ปกติจะล้างด้วยแปรงโดยใช้สบู่ สาร ซักฟอกหรือสารละลายทำความสะอาดดังได้กล่าวแล้ว แล้วแต่กรณี ต่อจากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาด และในขั้นสุดท้ายต้องล้างด้วยน้ำกลั่นอีก 1-2 ครั้ง ถ้าเครื่องแก้วนั้นสะอาดจะสังเกตเห็นน้ำที่พื้นผิวเครื่องแก้วเปียกสม่ำเสมอเป็นแบบเดียวกัน แต่ถ้าเครื่องแก้วยังไม่สะอาด จะสังเกตเห็นเป็นหยดน้ำมาเกาะข้างเครื่องแก้วนั้น

5. การใช้แปลงล้างเครื่องแก้วต้องระมัดระวังให้มาก เพราะก้านแปรงเป็นโลหะอาจทำให้ เครื่องแก้วนั้นแตกได้ แปรงล้างเครื่องแก้วมีหลายชนิด หลายขนาด จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของเครื่องแก้วนั้น ๆ ด้วย

ข้อควรระวัง

การล้างเครื่องแก้วโดยใช้แปรงถู อย่าถูแรงเกินไป เนื่องจากก้านแปรงเป็นโลหะเมื่อไปกระทบกับแก้วอาจทำให้แตกและเกิดอันตรายได้

หมายเลขบันทึก: 203315เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เทคนิคการล้างเครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลอง

เครื่องแก้ว ที่ใช้ในการทดลองจำเป็นจะต้องล้างให้สะอาดเสมอ มิฉะนั้นจะทำให้ผลการทดลองผิดพลาสหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้ หลักทั่ว ๆ ไปของการล้างเครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลองมีดังนี้

1. ต้องทำความสะอาดเครื่องแก้วนั้นทันทีหลังจากนำไปใช้งานแล้ว เพื่อให้เครื่องแก้ว แห้งก่อนที่จะนำไปใช้งานในครั้งต่อไป หากเครื่องแก้วสกปรกจำเป็นจะต้องล้างก่อนการทดลอง ทำให้เสียเวลา เพราะไม่สามารถจะล้างได้อย่างทันทีทันใดได้

2. การทำความสะอาดเครื่องแก้ว ต้องทำด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่อง แก้วที่มีลักษณะเป็นก้านยาว เช่น ขวดวัดปริมาตร ปิเปตต์ บิวเรตต์ ฯลฯ

3. ตามปกติการล้างเครื่องแก้วมักจะใช้สบู่หรือสารซักฟอกหรือสารละลายทำความ สะอาด ดังนั้นจึงต้องล้างสบู่ สารซักฟอกหรือสารละลายทำความสะอาดออกให้หมดเพราะหากมีเหลือตกค้างอยู่ อาจไปรบกวนปฏิกิริยาเคมีได้

4. การล้างเครื่องแก้วที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทั่ว ๆ ไป ปกติจะล้างด้วยแปรงโดยใช้สบู่ สาร ซักฟอกหรือสารละลายทำความสะอาดดังได้กล่าวแล้ว แล้วแต่กรณี ต่อจากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาด และในขั้นสุดท้ายต้องล้างด้วยน้ำกลั่นอีก 1-2 ครั้ง ถ้าเครื่องแก้วนั้นสะอาดจะสังเกตเห็นน้ำที่พื้นผิวเครื่องแก้วเปียกสม่ำเสมอเป็นแบบเดียวกัน แต่ถ้าเครื่องแก้วยังไม่สะอาด จะสังเกตเห็นเป็นหยดน้ำมาเกาะข้างเครื่องแก้วนั้น

5. การใช้แปลงล้างเครื่องแก้วต้องระมัดระวังให้มาก เพราะก้านแปรงเป็นโลหะอาจทำให้ เครื่องแก้วนั้นแตกได้ แปรงล้างเครื่องแก้วมีหลายชนิด หลายขนาด จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของเครื่องแก้วนั้น ๆ ด้วย

ข้อควรระวัง

การล้างเครื่องแก้วโดยใช้แปรงถู อย่าถูแรงเกินไป เนื่องจากก้านแปรงเป็นโลหะเมื่อไปกระทบกับแก้วอาจทำให้แตกและเกิดอันตรายได้

การใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์

ในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ จะประกอบด้วยส่วนของเนื้อหาสาระเชิงทฤษฎีและการทำปฏิบัติการควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระและกระบวนการต่าง ๆ ไปพร้อมกัน การทำปฏิบัติการจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และช่วยฝึกนิสัยการทำงานด้วยความรอบคอบ รู้จักคิด รู้จักตัดสินปัญหาด้วยตนเอง รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ต้องการจะเรียนรู้และรู้จักทำงานด้วยความปลอดภัย การทำปฏิบัติการจึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างสูง เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ฝึกฝนตนเองและแสดงความสามารถพิเศษ ในขณะทำปฏิบัติการอาจมีสภาวะที่เสี่ยงต่ออันตรายเกิดขึ้นได้ จึงควรตระหนักถึงการรักษาความปลอดภัยของทั้งบุคลากรและทรัพย์สินในห้องปฏิบัติการ มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอย่างเพียงพอแก่การใช้งาน และมีข้อแนะนำแก่ผู้ทำปฏิบัติการให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ มีความพร้อมที่จะป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ในการทำปฏิบัติการอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากความประมาทหรือความมักง่ายของผู้ทำปฏิบัติการเอง จึงเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ข้อเสนอแนะและข้อควรปฏิบัติในการใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เป็นดังนี้

1. ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ห้องปฏิบัติการ

การกำหนดข้อควรปฏิบัติในการใช้ห้องปฏิบัติการ จัดเป็นแนวทางการบริหารจัดการอย่างหนึ่งที่ผู้ทำปฏิบัติการทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ใช้ห้องปฏิบัติการ เป็นดังนี้

(1) ระมัดระวังในการทำปฏิบัติการ และทำปฏิบัติการอย่างตั้งใจ ไม่เล่นหยอกล้อกัน

(2) เรียนรู้ตำแหน่งที่เก็บและศึกษาการใช้งานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ตู้ยา ที่ล้างตาหรือก๊อกน้ำ เครื่องดับเพลิง ที่กดสัญญาณไฟไหม้ (ถ้ามี)และทางออกฉุกเฉิน

(3) อ่านคู่มือปฏิบัติการให้เข้าใจก่อนลงมือปฏิบัติ แต่ถ้าไม่เข้าใจขั้นตอนใดหรือยังไม่เข้าใจการใช้งานของอุปกรณ์ทดลองใด ๆ ก็จะต้องปรึกษาครูจนเข้าใจก่อนลงมือทำปฏิบัติการ

(4) ปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ต้องการทำปฏิบัติการนอกเหนือจากที่กำหนด จะต้องได้รับอนุญาตจากครูก่อนทุกครั้ง

(5) ไม่ควรทำปฏิบัติการอยู่ในห้องปฏิบัติการเพียงคนเดียว เพราะถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็จะไม่มีผู้ให้ความช่วยเหลือ

(6) ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มในห้องปฏิบัติการ และไม่ใช้เครื่องแก้วหรืออุปกรณ์ทำปฏิบัติการเป็นภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่ม

(7) ดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบบนโต๊ะทำปฏิบัติการตลอดเวลาให้มีเฉพาะคู่มือปฏิบัติการและอุปกรณ์จดบันทึกเท่านั้นอยู่บนโต๊ะทำปฏิบัติการ ส่วนกระเป๋าหนังสือและเครื่องใช้อื่น ๆ ต้องเก็บไว้ในบริเวณที่จัดไว้ให้

(8) อ่านคู่มือการใช้อุปกรณ์ทดลองทุกชนิดก่อนใช้งาน ถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าจะต้องให้มือแห้งสนิทก่อนใช้ การถอดหรือเสียบเต้าเสียบต้องจับที่เต้าเสียบเท่านั้นอย่าจับที่สายไฟ

9) การทดลองที่ใช้ความร้อนจากตะเกียงและแก๊ส ต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่รินของเหลวที่ติดไฟง่ายใกล้เปลวไฟ ไม่มองลงในภาชนะขณะที่ตั้งไฟ ขณะเผาสารในหลอดทดลองต้องหันปากหลอดไปในบริเวณที่ไม่มีผู้อื่นอยู่ และดับตะเกียงหรือปิดแก๊สทันทีเมื่อเลิกใช้งาน

(10) สารเคมีทุกชนิดในห้องปฏิบัติการเป็นอันตราย ไม่สัมผัส ชิม หรือสูดดมสารเคมีใด ๆ นอกจากจะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องแล้ว และไม่นำสารเคมีใด ๆ ออกจากห้องปฏิบัติการ

(11) ตรวจสอบสลากที่ปิดขวดสารเคมีทุกครั้งก่อนนำมาใช้ รินหรือตักสารออกมาในปริมาณที่พอใช้เท่านั้น ไม่เทสารเคมีที่เหลือกลับขวดเดิม และไม่เทน้ำลงในกรด

(12) การทำปฏิบัติการชีววิทยา จะต้องทำตามเทคนิคปลอดเชื้อตลอดเวลาด้วยการล้างมือด้วยสบู่ก่อนและหลังทำปฏิบัติการ ทำความสะอาดโต๊ะทำปฏิบัติการให้ปลอดเชื้อก่อนและหลังปฏิบัติการ และใช้เทคนิคเฉพาะในการหยิบจับจุลินทรีย์ ถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ต้องแจ้งให้ครูทราบก่อนทำปฏิบัติการ

(13) เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นให้รายงานครูทันทีและดำเนินการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีด้วย

(14) เมื่อทำการทดลองเสร็จแล้ว ต้องทำความสะอาดเครื่องมือและเก็บเข้าที่เดิมทุกครั้ง ทำความสะอาดโต๊ะทำปฏิบัติการและสอดเก้าอี้เข้าใต้โต๊ะ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ

2. การทำความสะอาดบริเวณที่ปนเปื้อนสารเคมี

อุบัติเหตุจากสารเคมีหกในห้องปฏิบัติการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าทำปฏิบัติการโดยขาดความระมัดระวัง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องรีบกำจัดสารเคมีที่ปนเปื้อนและทำความสะอาดอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันอันตรายจากสารเหล่านั้น สารเคมีแต่ละชนิดมีสมบัติและความเป็นอันตรายแตกต่างกัน จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำความสะอาดบริเวณที่ปนเปื้อนสารเคมีเหล่านั้น ซึ่งมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

(1) สารที่เป็นของแข็ง ควรใช้แปรงกวาดสารมารวมกัน ตักสารใส่ในกระดาษแข็งแล้วนำไปทำลาย

(2) สารละลายกรด ควรใช้น้ำล้างบริเวณที่มีสารละลายกรดหกเพื่อทำให้กรดเจือจางลง และใช้สารละลายโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตเจือจางล้างเพื่อทำลายสภาพกรด แล้วล้างด้วยน้ำอีกครั้ง

(3) สารละลายเบส ควรใช้น้ำล้างบริเวณที่มีสารละลายเบสหกและซับน้ำให้แห้ง เนื่องจากสารละลายเบสที่หกบนพื้นจะทำให้พื้นบริเวณนั้นลื่น ต้องทำความสะอาดลักษณะดังกล่าวหลาย ๆ ครั้ง และถ้ายังไม่หายลื่นอาจต้องใช้ทรายโรยแล้วเก็บกวาดทรายออกไป

(4) สารที่เป็นน้ำมัน ควรใช้ผงซักฟอกล้างสารที่เป็นน้ำมันและไขมันจนหมดคราบน้ำมันและพื้นไม่ลื่น หรือทำความสะอาดโดยใช้ทรายโรยเพื่อซับน้ำมันให้หมดไป

(5) สารที่ระเหยง่าย ควรใช้ผ้าเช็ดบริเวณที่สารหยดหลายครั้งจนแห้ง และในขณะเช็ดถูจะต้องมีการป้องกันไม่ให้สัมผัสผิวหนังหรือสูดไอของสารเข้าร่างกาย

(6) สารปรอท กวาดสารปรอทกองรวมกันแล้วใช้เครื่องดูดเก็บรวบรวมไว้ในกรณีที่พื้นที่สารปรอทหกมีรอยแตกหรือรอยร้าวจะมีสารปรอทแทรกเข้าไปอยู่ข้างในต้องปิดรอยแตกหรือรอยร้าวนั้นด้วยการทาขี้ผึ้งทับรอยดังกล่าว เพื่อกันการระเหยของปรอท หรืออาจใช้ผงกำมะถันโรยบนปรอทเพื่อให้เกิดเป็นสารประกอบซัลไฟด์ แล้วเก็บกวาดอีกครั้งหนึ่ง

3. การบำรุงรักษาและการซ่อมแซม

การบำรุงรักษาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการทำปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการแล้วยังช่วยยืดอายุการใช้งานของวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ อีกด้วย เมื่อตรวจสอบพบสิ่งใดชำรุดเสียหายจะต้องรีบดำเนินการซ่อมแซมทันที ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จึงควรมีเครื่องมือพื้นฐานและอะไหล่ที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบและซ่อมแซมขั้นต้นไว้ด้วย เช่น หัวแร้งบัดกรี ไขควง ตลับเมตร ฉาก คีมตัดสายไฟ สวิตซ์ มัลติมิเตอร์ฟิวส์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้า

ส่วนต่าง ๆในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอประกอบด้วย

3.1 ระบบแสงสว่าง การระบายอากาศ และระบบไฟฟ้า

โดยทั่วไปช่องลมในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นิยมทำด้วยกระจก ถ้าทิศทางของตัวอาคารไม่เหมาะสมก็จะมีแสงผ่านเข้ามามาก โดยเฉพาะในช่วงตอนบ่ายที่ทำให้อากาศในห้องร้อนจัด จึงจำเป็นต้องใช้ม่านกั้นทางเดินของแสงด้วย ส่วนประตูหน้าต่างที่เปิดได้ไม่สะดวกก็อาจมีผลต่อการระบายอากาศและแสงสว่างในห้องได้ เมื่อพบข้อบกพร่องเช่นนี้ก็จะต้องซ่อมแซมแก้ไขทันที บางครั้งอาจพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการบางชนิดไม่สามารถใช้งานได้ หรือพัดลมดูดอากาศไม่ทำงาน จะต้องตรวจสอบว่ามีสาเหตุมาจากอะไรแล้วดำเนินการเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมทันที ควรทำความสะอาดฝุ่นหรือหยากไย่ที่ติดอยู่บนหลอดไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุให้แสงสว่างที่ได้จากหลอดไฟฟ้าลดลง

3.2 ระบบน้ำ ก๊อกน้ำ อ่างน้ำ และท่อน้ำทิ้ง

ท่อน้ำประปาและท่อน้ำทิ้งในห้องปฏิบัติการที่ทำด้วยเหล็กอาจผุกร่อนเป็นสนิมจากสารเคมีหกรดหรือถูกไอของสารเคมีได้ จึงต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำถ้าพบว่ามีรอยรั่วต้องรีบซ่อมแซมหรือเปลี่ยนทันที สำหรับท่อน้ำประปาที่ทำด้วยพลาสติก อาจหลอมละลายด้วยตัวทำละลายอินทรีย์บางชนิด เช่น คาร์บอนไดซัลไฟด์จึงต้องควบคุมดูแลและป้องกันไม่ให้ตัวทำละลายเหล่านี้หกรดได้ สำหรับท่อน้ำทิ้งก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน จึงต้องทำให้เจือจางก่อนทิ้งสารทุกชนิดลงในท่อน้ำทิ้ง โดยไม่ควรเทสารละลายเข้มข้นลงในท่อน้ำทิ้งอ่างน้ำและก๊อกน้ำในห้องปฏิบัติการจะเกิดการรั่วไหลได้เสมอ จึงควรซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา ปัญหาที่พบเสมอคือก๊อกน้ำปิดไม่สนิทเนื่องจากแผ่นยางในก๊อกน้ำเสื่อมสภาพ เพราะใช้งานมานานหรือเกิดจากการปิดก๊อกน้ำแน่นเกินไปจนทำให้โลหะอัดแผ่นยางเป็นรอยและน้ำรั่วซึมได้ จึงไม่ควรปิดก๊อกน้ำแน่นเกินไปบริเวณใต้อ่างน้ำจะมีท่อน้ำทิ้งต่ออยู่ ซึ่งอาจเกิดการรั่วจากแผ่นยางเสื่อมทำนองเดียวกับก๊อกน้ำ ปัญหาที่พบอยู่เสมออีกประการหนึ่งคือท่อตัน ซึ่งมีสาเหตุจากตะไคร่หรือเศษของแข็งอุดตันในท่อใต้อ่างน้ำ ซึ่งแก้ไขได้โดยถอดออกมาล้างทำความสะอาด และควรเปิดน้ำล้างสิ่งสกปรกและสารตกค้างอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

3.3 ครุภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์

ครุภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย โต๊ะสาธิต เก้าอี้และโต๊ะทำปฏิบัติการ ตู้และชั้นเก็บวัสดุอุปกรณ์และสารเคมี ป้ายนิเทศและตู้ควัน สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบดูแลอยู่เสมอ ควรซ่อมแซมทันทีเมื่อพบสิ่งใดชำรุดเสียหาย ควรขัดและเคลือบพื้นผิวโต๊ะทำปฏิบัติการที่ทำด้วยไม้ใหม่ทุกปี ถ้าเป็นพื้นโต๊ะทำปฏิบัติการเคมีควรทาด้วยอีพอกซีซึ่งเป็นสารทนน้ำและกรด เก้าอี้หรือโต๊ะที่ขาทำด้วยเหล็กและยึดกับไม้ด้วยสกรูหรือนอต ควรมีการตรวจสอบและขันสกรูหรือนอตให้แน่นอยู่เสมอ ควรทำความสะอาดตู้ ชั้นเก็บวัสดุอุปกรณ์และสารเคมี รวมทั้งช่องลมอย่างน้อยภาคเรียนละ1 ครั้ง ควรทำความสะอาดพื้น ประตู หน้าต่างของห้องปฏิบัติการอยู่เป็นประจำ และตรวจสอบเครื่องดับเพลิงในห้องปฏิบัติการให้อยู่ในสภาพใช้งานได้เสมอ

4. การจัดการและการจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์

วัสดุอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญต่อการทำปฏิบัติการเป็นอย่างยิ่ง วัสดุอุปกรณ์แต่ละชนิดจะมีวิธีการจัดเก็บที่แตกต่างกัน สถานศึกษาจึงควรมีการจัดการและการจัดเก็บที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ข้อเสนอแนะวิธีการจัดการและการจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ เป็นดังนี้

4.1) วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติการ

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำปฏิบัติการเป็นปัจจัยสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และเป็นแหล่งความรู้ของผู้เรียน ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ จัดการและดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

4.1.1) กำหนดแผนงบประมาณการจัดซื้อ การจัดเก็บและจัดทำระเบียนวัสดุอุปกรณ์ ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำปฏิบัติการที่ชำรุดเสียหายให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

4.2.2) เลือกวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีคุณภาพ คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่คุ้มค่าและความทันสมัยด้วย

4.1.3) จัดทำคู่มือประกอบการใช้วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการใช้ การบำรุงรักษาและข้อควรระวัง

4.1.4) จัดทำป้ายที่อ่านง่ายและชัดเจน บอกชื่อของวัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้และถ้าเป็นไปได้ควรแสดงภาพประกอบการอธิบายต่าง ๆ ไว้ด้วย

4.1.5) จัดจำแนกอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ชำรุด แตกหัก และควรดำเนินการซ่อมแซมทันที

4.1.6) จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในที่ปลอดภัยและหยิบใช้สะดวกชั้นและตู้เก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต้องไม่สูงเกินกว่าระดับสายตา และติดป้ายชี้แจงที่มองเห็นได้ชัดเจน

4.1.7) มีระเบียนควบคุมที่ตรวจสอบได้ มีระบบการจัดเก็บที่เป็นระเบียบและมีระบบการให้ยืมเพื่อป้องกันการสูญหาย

4.2 เครื่องวัดทางไฟฟ้า

เครื่องวัดทางไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้ในห้องปฏิบัติการของทุกสถานศึกษา โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการฟิสิกส์จะมีเครื่องวัดทางไฟฟ้ามากกว่าห้องปฏิบัติการอื่น ครูหรือเจ้าหน้าที่เทคนิคของห้องปฏิบัติการต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการซ่อมบำรุง ข้อแนะนำบางประการในการจัดเก็บและการใช้เครื่องวัดทางไฟฟ้า เป็นดังนี้

1) จัดเก็บในตู้เพื่อป้องกันไม่ให้มีแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กเข้าไปใน

เครื่อง ซึ่งอาจทำให้วงจรไฟฟ้าขัดข้องและใช้งานไม่ได้

2) ทำความสะอาดไม่ให้มีฝุ่นละอองเกาะสะสมมาก จนทำให้เกิดปัญหากับวงจรไฟฟ้า

3) เช็ดละอองน้ำจากความชื้นหรือไอน้ำในอากาศที่เกาะอยู่กับอุปกรณ์ละอองน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสนิมและทำให้อุปกรณ์มีอายุการใช้งานสั้นลงได้

4) จัดเก็บในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงการจัดเก็บในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงหรือมีแสงแดดส่องตลอดเวลา เพราะจะทำให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ หรือทำให้เกิดความขัดข้องและทำงานผิดพลาดได้

5) ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องวัดทางไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการกระทบกระแทก ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ขั้วต่อหรือรอยเชื่อมต่อในวงจรไฟฟ้าหลวมหรือหลุดออกจากกันได้

5. ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เป็นสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้นักเรียนได้ทำปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำปฏิบัติการ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องแก้ว สารเคมีแก๊สชนิดต่าง ๆ รวมทั้งแก๊สเชื้อเพลิง อาหารเลี้ยงเชื้อ เชื้อจุลินทรีย์ และสัตว์ทดลองสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อบุคลากร หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินของห้องปฏิบัติการเสียหายได้ ถ้าผู้ปฏิบัติการขาดความระมัดระวังหรือขาดความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำปฏิบัติการ สถานศึกษาจึงควรมีการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนการดำเนินงานที่มีแบบแผน เพื่อให้การทำปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง แนวปฏิบัติบางประการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

5.1 ความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า

การเกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าอาจมีสาเหตุมาจากการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ถูกต้อง การดูแลตรวจสอบไม่ทั่วถึงและเกิดจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในการทำปฏิบัติการ ข้อควรระวังด้านความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นดังนี้

5.1.1) การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการ

1. ควรติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ในบริเวณที่อยู่ห่างจากน้ำหรือสารไวไฟ

2. ใช้ฟิวส์ที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้กระแสไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการ ไม่ควรใช้ฟิวส์ที่มีขนาดสูงกว่ากระแสไฟฟ้าที่อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องการมากเกินไป

3. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด ที่ออกแบบให้มีเต้าเสียบ 3 ขา จะต้องใช้เต้าเสียบนี้ต่อกับเต้ารับที่มี 3 ช่องเท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและความเสียหายกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น

5.1.2 การดูแลตรวจสอบ

1. ตรวจสอบการรั่วของกระแสไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ โดยทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ตัดวงจรไฟฟ้าจากการมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจร

2. ตรวจสอบสายไฟและเต้าเสียบให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ถ้าพบว่าฉนวนหุ้มสายไฟฉีกขาดหรือเต้าเสียบชำรุดแตกหักจะต้องเปลี่ยนทันที

5.1.3 การปฏิบัติขณะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า

1. ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยความระมัดระวัง เช็ดมือและเท้าให้แห้งทุกครั้งที่จับต้องอุปกรณ์ไฟฟ้า

2. ถ้าต้องใช้สายไฟต่อจากเต้ารับเดียวกันหลายสายหรือจำเป็นต้องใช้ต่อพ่วงกัน ควรเลือกเต้ารับชนิดที่มีสวิตช์เปิด – ปิด และไม่ต่อพ่วงเกิน 2 สาย

3. ถอดเต้าเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าออกจากเต้ารับ ทุกครั้งที่เลิกใช้งาน

4. อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดควรมีสัญญาณไฟ ที่แสดงว่าเครื่องกำลังทำงานอยู่ และถ้าเกิดความผิดปกติในระหว่างการใช้งาน ต้องหยุดการทำงานของอุปกรณ์นั้นทันที

5. เตาไฟฟ้า ต้องมีขดลวดของเตาไฟฟ้าอยู่ในเบ้าและไม่ชำรุดเสียหาย

6. ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ สวิตช์ และเครื่องควบคุมอุณหภูมิที่ชำรุดทันที

5.2 ความปลอดภัยในการใช้แก๊สและสารไวไฟ

การใช้แก๊สและสารไวไฟจะต้องมีวิธีการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษมีการซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ใช้อย่างชัดเจน และต้องปฏิบัติตามวิธีการใช้โดยเคร่งครัดการป้องกันอันตรายจากการใช้แก๊สและสารไวไฟ มีข้อปฏิบัติดังนี้

1) ไม่นำถังแก๊สที่บุบเป็นสนิมหรือรั่วซึม มาใช้ในห้องปฏิบัติการ

2) สถานที่วางถังแก๊สต้องมั่นคงเป็นบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้ดี และจะต้องตรวจสอบการรั่วของแก๊สเสมอ

3) ต้องจัดทำสัญลักษณ์เตือนอันตรายของสารไวไฟ และข้อปฏิบัติติดไว้ในสถานที่วางถังแก๊ส

4) ให้ความรู้ในการใช้แก๊ส เช่น ก่อนเปิดวาล์วควรตรวจสอบสภาพของสายแก๊สและหัวแก๊ส เมื่อเลิกใช้แล้วต้องปิดวาล์วก่อนปิดเครื่องควบคุมความดันของแก๊สที่ใช้ทุกครั้ง

5) ต้องแน่ใจว่าแก๊สที่นำมาใช้เป็นประเภทเดียวกับที่ระบุไว้ที่ถังแก๊สนั้นและต้องใช้อุปกรณ์ควบคุมความดันแก๊สตามมาตรฐานของแก๊สชนิดนั้นด้วย

6) ต้องทำการปฏิบัติการที่ต้องใช้เปลวไฟด้วยความระมัดระวัง และต้องหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับสิ่งที่ก่อให้เกิดความร้อนหรือเชื้อเพลิงซึ่งอาจทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้น

7) กรณีเกิดไฟไหม้ต้องรีบปิดตะเกียงแอลกอฮอล์ หรือท่อแก๊สทุกท่อทันที ปิดถังแก๊ส แล้วนำสารไวไฟทุกชนิดออกจากบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด

8) ต้องมีเครื่องดับเพลิงอยู่ในบริเวณที่ใช้ได้ง่าย และมีทางออกฉุกเฉินที่เปิดได้ตลอดเวลา

9) เมื่อมีสารติดไฟต้องแก้ไขสถานการณ์อย่างเหมาะสม ถ้าลุกไหม้เล็กน้อยให้ใช้ผ้าเปียกคลุมสิ่งนั้นไว้ ถ้าเสื้อผ้าลุกติดไฟให้นอนลงกลิ้งตัวกับพื้นหรือใช้ผ้าหนาห่มคลุมทับ และรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที

5.3 ความปลอดภัยจากรังสีและไอสารพิษ

อันตรายจากสารเคมีเป็นสมบัติเฉพาะตัวของสารแต่ละชนิด สารบางชนิดมีพิษร้ายแรง ไอของสารอาจทำให้ระคายเคืองต่อดวงตาและระบบหายใจ บางชนิดเป็นสารกัมมันตรังสีที่ทำลายเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต อาจทำให้เนื้อเยื่อตายหรือเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ ผู้ที่ทำปฏิบัติการจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับรังสีและไอสารพิษเป็นอย่างดี รู้จักวิธีใช้อย่างปลอดภัยและมีวิธีป้องกันอันตรายจากสารเหล่านั้นด้วยการป้องกันอันตรายจากรังสีและไอสารพิษ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

1) การทดลองที่มีควันพิษเกิดขึ้น จะต้องใช้ผ้ากรองควันพิษปิดจมูกและปาก ทำในตู้ควันที่อยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

2) การทดลองที่ใช้หลอดเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง ต้องไม่มองที่ลำแสงโดยตรง และควรมีข้อความเตือนอันตรายติดไว้ที่หลอดเลเซอร์ พร้อมทั้งต้องชี้แจงถึงวิธีใช้ที่ถูกต้องก่อนการใช้งาน ถ้าเป็นไปได้ควรใช้แว่นกันเลเซอร์

3) การใช้สารกัมมันตรังสีในการทำปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ควรเก็บสารกัมมันตรังสีไว้ในปริมาณที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น และจะต้องขออนุญาตจากหน่วยราชการที่ควบคุมการใช้สารกัมมันตรังสีด้วย พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ต้องเก็บสารกัมมันตรังสีไว้ในกล่องตะกั่วที่มีความหนาโดยรอบไม่น้อยกว่า6 นิ้ว และการหยิบสารกัมมันตรังสีจะต้องใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบเฉพาะเท่านั้น

4) ขณะทดลองเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี ผู้ทดลองจะต้องอยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดกัมมันตภาพรังสีมากที่สุดและใช้เวลาทดลองน้อยที่สุด ผู้ที่ทำการทดลองและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีเครื่องวัดกัมมันตภาพรังสีติดตัวไว้ตรวจสอบปริมาณรังสีที่ได้รับตลอดเวลา เพื่อป้องกันการรับรังสีเกินมาตรฐานความปลอดภัย

5) การบัดกรีเพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจะมีไอตะกั่วเกิดขึ้น จึงต้องทำในบริเวณที่ระบายอากาศได้ดี ผู้บัดกรีจะต้องอยู่เหนือลมเพื่อป้องกันการสูดควันตะกั่ว และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากบัดกรีแล้ว

5.4 ความปลอดภัยจากเชื้อโรค

การทำปฏิบัติการทางชีววิทยาที่ต้องใช้พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ในการทดลอง สัตว์บางชนิดอาจนำเชื้อโรคคือแพร่ปรสิตบางชนิดสู่คนได้ ดังนั้นจึงต้องไม่นำสัตว์ที่จะเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้ามาในห้องปฏิบัติการ จุลินทรีย์บางชนิดอาจเป็นอันตรายหรือทำให้เกิดโรคได้ การทดลองที่ต้องใช้สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง การป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

1) ตู้เย็นที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ มีความจำเป็นสำหรับการทำปฏิบัติการทางชีววิทยาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อใช้เก็บสิ่งที่นำมาทดลองเพื่อการถนอมรักษาให้คงคุณภาพโดยใช้อุณหภูมิต่ำ ต้องไม่เก็บอาหารหรือเครื่องดื่มที่ใช้รับประทานไว้กับสารเหล่านี้

2) ใช้วัสดุอุปกรณ์บางประเภทเพียงครั้งเดียวเพื่อป้องกันการติดเชื้อจึงต้องทำลายอุปกรณ์เหล่านั้นทุกครั้งที่ใช้แล้ว

3) เครื่องแก้วที่ใช้ทดลองเกี่ยวกับเชื้อโรค ต้องฆ่าเชื้อด้วยวิธีการที่เหมาะสมก่อนนำไปล้างทำความสะอาดจนไม่มีคราบติดค้างอยู่

4) อุปกรณ์ทำความสะอาดในห้องปฏิบัติการ ต้องไม่เป็นแหล่งสะสมหรือแพร่กระจายเชื้อโรค

5) เมื่อทำปฏิบัติการเสร็จแล้ว ต้องทำความสะอาดโต๊ะทำปฏิบัติการและอุปกรณ์ทุกอย่างด้วยสารฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม

6) ก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ ต้องล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง

7) ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ที่อาจมีการเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากเชื้อโรคบางชนิด (กรณีที่ได้รับคำแนะนำหรือปรึกษาแพทย์)

5.5 ความปลอดภัยจากไฟไหม้

การเกิดไฟไหม้ในห้องปฏิบัติการมีสาเหตุได้หลายประการ เมื่อเกิด ไฟไหม้ขึ้นในห้องปฏิบัติการ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิ่งแรก ครูต้องให้นักเรียนออกจากห้องปฏิบัติการทันที ดึงสัญญาณแจ้งเหตุไฟไหม้ พร้อมกับเรียกให้คนช่วยเหลือ โดยกำหนดหน้าที่ให้คนหนึ่งทำหน้าที่ตัดวงจรไฟฟ้า ปิดท่อแก๊ส ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้น้อยที่สุดและป้องกันการลุกลามไปยังห้องข้างเคียงและให้อีกคนหนึ่งรีบใช้เครื่องดับเพลิงดับไฟที่ลุกไหม้ทันที โดยต้องคำนึงด้วยว่าการใช้เครื่องดับเพลิงชนิดไม่เหมาะสมหรือผิดประเภท จะทำให้การดับไฟไม่ได้ผลและอาจเกิดอันตรายกับผู้ใช้ด้วยต้องมีสารเคมีที่ใช้ดับไฟอยู่ประจำห้องปฏิบัติการ และมีสภาพการใช้งานได้ดี ผู้ใช้ห้องปฏิบัติการทุกคนต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีใช้ กลไกการทำงานของการดับไฟเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพ สารที่นำมาใช้ดับไฟมีดังนี้

1) น้ำ น้ำเป็นสารที่ใช้ดับไฟได้อย่างแพร่หลาย ช่วยทำให้เชื้อเพลิงที่กำลังลุกไหม้ลดอุณหภูมิลงได้และไม่มีการลุกไหม้เพิ่มขึ้นใหม่ น้ำใช้ดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงประเภทของแข็งได้ดี ไม่ควรใช้น้ำดับไฟที่เกิดจากสารประเภทของเหลวที่ไวไฟเนื่องจากจะทำให้ของเหลวกระจายออกเป็นบริเวณกว้าง และของเหลวส่วนที่อยู่บนผิวน้ำยังคงลุกไหม้และทำให้ไฟลุกลามต่อไปได้

2) โฟมของคาร์บอนไดออกไซด์ โฟมของคาร์บอนไดออกไซด์มีลักษณะเป็นฟองที่มีสมบัติกั้นอากาศไม่ให้เข้าไปถึงบริเวณที่เกิดไฟไหม้ และป้องกันไม่ให้เชื้อเพลิงที่ระเหยเพิ่มเติมออกมาอีกจึงทำให้เปลวไฟลดลงและดับไปในที่สุด โฟมของคาร์บอนไดออกไซด์ ได้จากปฏิกิริยาเคมีของสารแล้วได้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ และถูกอัดด้วยความดันสูง

บรรจุอยู่ในถัง เมื่อปล่อยสารออกมาด้วยความดันที่พอเหมาะก็จะมีลักษณะเป็นฟอง

3) แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารที่ใช้ในอุปกรณ์ดับเพลิงทั่วไป แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์นี้หนักกว่าอากาศ เมื่อเข้าไปผสมอยู่กับอากาศในบริเวณไฟไหม้เป็นปริมาณมาก ๆ จะทำให้ปริมาณของแก๊สออกซิเจนในอากาศบริเวณนั้นเจือจางลงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอุปกรณ์ดับเพลิงถูกบรรจุอยู่ในถังที่มีความดันประมาณ 750 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว จึงมีสถานะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เหลว เมื่อเปิดวาล์วอุปกรณ์ดับเพลิงซึ่งเป็นการลดความดัน แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จึงกระจายเป็นฝอยออกทางท่อที่ออกแบบไว้ให้พุ่งไปสู่บริเวณที่ต้องการดับไฟได้

4) ไอของสารอินทรีย์บางชนิด สารอินทรีย์บางชนิดที่เป็นของเหลวระเหยเป็นไอได้ง่ายและหนักกว่าอากาศ เมื่อไอของสารนี้ลอยอยู่เหนือบริเวณไฟไหม้ ก็จะเข้าไปแทนที่อากาศบริเวณนั้นจึงทำให้ไฟไม่ลุกลามต่อไป สารอินทรีย์ที่ใช้โดยทั่วไป คือ คาร์บอนเตตระคลอไรด์ อย่างไรก็ตามสารอินทรีย์มีอันตรายต่อร่างกายมาก จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยใช้ดับไฟกรณีที่ไฟไหม้ในบริเวณนอกอาคาร เป็นที่โล่งอากาศถ่ายเทได้ดี และต้องไม่ใช้ ดับไฟที่เกิดจากการลุกไหม้ของโลหะโซเดียมหรือโพแทสเซียมผสมอยู่ด้วย เพราะอาจระเบิดขึ้นได้

6. การปฐมพยาบาล

การทำปฏิบัติการอาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีความระมัดระวังหรือมีการป้องกันที่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็จะต้องแก้ไขสถานการณ์ และปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจการปฐมพยาบาลเบื้องต้นบางประการ ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

1. แก้วบาด ถ้าแก้วบาดเล็กน้อย ให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าที่สะอาดพับหนา ๆ กดลงบนบาดแผล กรณีที่มีเลือดไหลออกมากควรใช้ผ้ารัดเหนือบริเวณบาดแผล และส่งแพทย์ทันที

2. ไฟลวกหรือโดนของร้อน ใช้น้ำล้างมาก ๆ และห้ามล้างด้วยสารละลายโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต ปิดด้วยผ้าพันแผลที่แห้งและสะอาด ถ้าไฟลวกมากให้รีบส่งแพทย์

3. สารเคมีถูกผิวหนัง ล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก ๆ ในทันที เพื่อป้องกันสารซึมเข้าผิวหนังหรือทำลายเซลล์ผิวหนัง และกรณีมีสารถูกผิวหนังเป็นปริมาณมากต้องรีบนำส่งแพทย์ พร้อมกับแจ้งชนิดของสารให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อจะได้แก้ไขอย่างถูกต้องทันที

4. สารเข้าตา ล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก ในทันทีเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า15 นาที เพื่อให้สารเจือจางหรือหมดไปและรีบนำส่งแพทย์ทันที

5. สูดไอหรือแก๊ส ต้องรีบนำออกจากบริเวณนั้นไปอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก พยายามสูดอากาศบริสุทธ์ให้เต็มที่ กรณีได้รับสารเข้าร่างกายปริมาณมากและหมดสติ ต้องใช้วิธีการผายปอดหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ และนำไปส่งแพทย์ทันที

6. การกลืนกินสารเคมี ต้องรีบนำส่งแพทย์ทันที พร้อมทั้งนำตัวอย่างสารหรือฉลากไปด้วยเพื่อแจ้งให้แพทย์ได้ช่วยเหลือและให้การรักษาได้ถูกต้องทันที

7. ถูกกระแสไฟฟ้าดูด รีบตัดกระแสไฟฟ้าทันที โดยการถอดเต้าเสียบหรือยกสะพานไฟหรือใช้ฉนวนผลักหรือฉุดให้ผู้ที่ได้รับอันตรายออกจากแหล่งกระแสไฟฟ้า หรือเขี่ยสายไฟให้หลุดออกไปจากตัวผู้บาดเจ็บ ห้ามใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่กำลังได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าเมื่อนำผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูดออกจากแหล่งกระแสไฟฟ้าแล้วต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการผายปอดหรือเป่าปากให้ปอดทำงาน นวดหัวใจ แล้วรีบนำส่งแพทย์ทันที

7. อันตรายของสารเคมีและเครื่องหมายเตือน

สารเคมีมีสมบัติเฉพาะตัวและมีอันตรายต่อสุขภาพได้ ถ้าเข้าสู่ร่างกายอาจมีผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย ทำลายอวัยวะได้ทั้งผิวหนัง ปอด หัวใจ ตับ สมอง ไตเลือด นอกจากนี้อันตรายจากสารเคมีอาจเกิดจากการกัดกร่อน การเป็นพิษ รวมทั้งการเกิดอุบัติภัยจากการไวไฟหรือการระเบิดที่รุนแรงของสารที่ทำปฏิกิริยากันได้ดังนี้

7.1 สารเคมีที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ กรด เบส หรือแอลกอฮอล์

สารเคมีบางชนิดไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีกับน้ำ กรด เบส หรือแอลกอฮอล์ถ้ามีสารเหล่านี้ปนอยู่เพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำให้เกิดแก๊สไวไฟที่ลุกไหม้หรือปะทุเป็นเปลวไฟได้ จึงต้องมีระบบการเก็บสารเคมีที่ปลอดภัยและหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ

ตารางที่ 1 ตัวอย่างโลหะที่เกิดปฏิกิริยากับน้ำ กรด เบส หรือแอลกอฮอล

การใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์

1. บีกเกอร์ (Beaker)

รูปที่ 1. บีกเกอร์ (Beaker) ขนาด100 mL ราคา 100 บาท

มีหลายขนาดและมีความจุต่างกัน โดยที่ข้างบีกเกอร์จะมีตัวเลขระบุความจุของบีกเกอร์ ทำให้ผู้ใช้สามารถทราบปริมาตรของของเหลวที่บรรจุอยู่ได้อย่างคร่าวๆ และบีกเกอร์มีความจุตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรจนถึงหลายๆลิตร อีกทั้งเป็นแบบสูง แบบเตี้ย และแบบรูปทรงกรวย (conical beaker) บีกเกอร์จะมีปากงอเหมือนปากนกซึ่งเรียกว่า spout ทำให้การเทของเหลวออกได้โดยสะดวก spout ทำให้สะดวกในการวางไม้แก้วซึ่งยื่นออกมาจากฝาที่ปิดบีกเกอร์ และ spout ยังเป็นทางออกของไอน้ำหรือแก๊สเมื่อทำการระเหยของเหลวในบีกเกอร์ที่ปิดด้วยกระจกนาฬิกา (watch grass) การเลือกขนาดของบีกเกอร์เพื่อใส่ของเหลวนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเหลวที่จะใส่ โดยปกติให้ระดับของเหลวอยู่ต่ำกว่าปากบีกเกอร์ประมาณ 1 - 1 1/2 นิ้ว

ประโยชน์ของบีกเกอร์

1. ใช้สำหรับต้มสารละลายที่มีปริมาณมากๆ

2. ใช้สำหรับเตรียมสารละลายต่างๆ

3. ใช้สำหรับตกตะกอนและใช้ระเหยของเหลวที่มีฤทธิ์กรดน้อย

หมายเหตุ : ห้ามใช้บีกเกอร์ทุกขนาดทดลองปฏิกิริยาระหว่างสารโดยเด็ดขาด

2. ไพเพท (Pipette)

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียง มีอยู่หลายชนิด แต่โดยทั่วไปที่มีใช้อยู่ในห้องปฏิบัติการมีอยู่ 2 แบบ คือ Volumetric pipette หรือ Transfer pipette และ Measuring pipette Transfer pipette ซึ่งใช้ในการวัดปริมาตรได้เพียงค่าเดียว คือถ้าหาก Transfer pipette จุ 25 มล. ก็จะวัดปริมาตรของของเหลวได้เฉพาะ 25 มล. เท่านั้น Transfer pipette มีหลายขนาดตั้งแต่ 1 มล. ถึง 100 มล. ถึงแม้ไพเพทชนิดนี้จะใช้วัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียงความจริงก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของไพเพท เช่น

Transfer pipette ขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.2%

Transfer pipette ขนาด 30 มล. มีความผิดพลาด 0.1%

Transfer pipette ขนาด 50 มล. มีความผิดพลาด 0.1%

Transfer pipette ใช้สำหรับส่งผ่านของสารละลาย ที่มีปริมาตรตามขนาดของไพเพท เมื่อปล่อยสารละลายออกจากไพเพทแล้ว ห้ามเป่าสารละลายที่ตกค้างอยู่ที่ปลายของไพเพท แต่ควรแตะปลายไพเพทกับข้างภาชนะเหนือระดับสารละลายภายในภาชนะนั้นประมาณ 30 วินาที เพื่อให้สารละลายที่อยู่ข้างในไพเพทไหลออกมาอีก ไพเพทชนิดนี้ใช้ได้ง่ายและเร็วกว่าบิวเรท

รูปที่ 2. ไพเพท (Pipette)

Measuring pipette หรือ Graduated pipette (บางทีเรียกว่า Mohr pipette) จะมีขีดบอกปริมาตรต่าง ๆ ไว้ ทำให้สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง คือสามารถใช้แทน Transfer pipette ได้ แต่ใช้วัดปริมาตรได้แน่นอนน้อยกว่า Transfer pipette และมีความผิดพลาดมากกว่า เช่น

Measuring pipette ขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.3%

Measuring pipette ขนาด 30 มล. มีความผิดพลาด 0.3%

3. บิวเรท (Burette)

เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรที่มีขีดบอกปริมาตรต่างๆ และมีก็อกสำหรับเปิด-ปิด เพื่อบังคับการไหลของของเหลว บิวเรทเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ มีขนาดตั้งแต่ 10 มล. จนถึง 100 มล. บิวเรทสามารถวัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียงความจริงมากที่สุด แต่ก็ยังมีความผิดพลาดอยู่เล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของบิวเรท เช่น

บิวเรทขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.4%

บิวเรทขนาด 25 มล. มีความผิดพลาด 0.24%

บิวเรทขนาด 50 มล. มีความผิดพลาด 0.2%

บิวเรทขนาด 100 มล. มีความผิดพลาด 0.2%

รูปที่ 3. บิวเรท (Burette)

4. หลอดทดสอบ (Test tube)

มีหลายชนิดและหลายขนาด ชนิดที่มีปากและไม่มีปาก ชนิดธรรมดาและชนิดทนไฟ ขนาดของหลอดทดสอบระบุได้ 2 แบบคือ ความยาวกับเส้นผ่าศูนย์กลางริมนอกหรือขนาดความจุเป็นปริมาตร ดังแสดงในตารางต่อไปนี้

ความยาว * เส้นผ่าศุนย์กลางริมนอก

(มิลิเมตร) ความจุ

(มิลิเมตร)

75 * 11

100 * 12

120 * 15

120 * 18

150 * 16

150 * 18 4

8

14

18

20

27

รูปที่ 4. หลอดทดสอบ (Test tube)

หลอดทดสอบส่วนมากใช้สำหรับทดลองปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารต่างๆ ที่เป็นสารละลาย ใช้ต้มของเหลวที่มีปริมาตรน้อยๆ โดยมี test tube holder จับกันร้อนมือ

หลอดทดสอบแบบทนไฟจะมีขนาดใหญ่ และหนากว่าหลอดธรรมดา ใช้สำหรับเผาสารต่างๆ ด้วยเปลวไฟโดยตรงในอุณหภูมิที่สูง หลอดชนิดนี้ไม่ควรนำไปใช้สำหรับทดลองปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเหมือนหลอดธรรมดา

5. กระบอกตวง (Cylinder)

มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ 5 มิลลิลิตรจนถึงหลายๆ ลิตร ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดปริมาตรของของเหลวที่มีอุณภูมิไม่สูงกว่าอุณภูมิของห้องปฏิบัติการ กระบอกตวงไม่สามารถใช้วัดของเหลวที่มีอุณภูมิสูงได้เนื่องจากอาจจะทำให้กระบอกตวงแตกได้ กระบอกตวงจะบอกปริมาตรของของเหลวอย่างคร่าว ๆ ถ้าต้องการวัดปริมาตรที่แน่นอนต้องใช้อุปกรณ์วัดปริมาตรอื่นๆ เช่น ไพเพทหรือบิวเรท โดยปกติความผิดพลาดของกระบอกตวงเมื่อมีปริมาตรสูงสุดจะมีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ กระบอกตวงขนาดเล็กใช้วัดปริมาตรได้ใกล้เคียงความจริงมากกว่ากระบอกตวงขนาดเล็ก

วิธีอ่านปริมาตรของของเหลวในกระบอกตวงนั้นสามารถทำได้โดยการยกกระบอกตวงให้ตั้งตรงและให้ท้องน้ำอยู่ในระดับสายตา และอ่านค่าปริมาตร ณ จุดต่ำสุดของท้องน้ำ

รูปที่ 5. กระบอกตวง (Cylinder)

6. เครื่องชั่งแบบ Tripl-beam balance

เป็นเครื่องชั่งชนิด Mechanical balance อีกชนิดหนึ่งที่มีราคาถูกและใช้ง่าย แต่มีความไวน้อย เครื่องชั่งชนิดนี้มีแขนข้างขวาอยู่ 3 แขนและในแต่ละแขนจะมีขีดบอกน้ำหนักไว้เช่น 0-1.0 กรัม 0-10 กรัม 0-100 กรัม และยังมีตุ้มน้ำหนักสำหรับเลื่อนไปมาได้อีกด้วย แขนทั้ง 3 นี้ติดกับเข็มชี้อันเดียวกัน

วิธีการใช้เครื่องชั่งแบบ (Triple-beam balance)

1. ตั้งเครื่องชั่งให้อยู่ในแนวระนาบ แล้วปรับให้แขนของเครื่องชั่งอยู่ในแนบระนาบโดยหมุนสกรูให้เข็มชี้ตรงขีด 0

2. วางขวดบรรจุสารบนจานเครื่องชั่ง แล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักบนแขนทั้งสามเพื่อปรับให้เข็มชี้ตรงขีด 0 อ่านน้ำหนักบนแขนเครื่องชั่งจะเป็นน้ำหนักของขวดบรรจุสาร

3. ถ้าต้องการชั่งสารตามน้ำหนักที่ต้องการก็บวกน้ำหนักของสารกับน้ำหนักของขวดบรรจุสารที่ได้ในข้อ 2 แล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักบนแขนทั้ง 3 ให้ตรงกับน้ำหนักที่ต้องการ

4. เติมสารที่ต้องการชั่งลงในขวดบรรจุสารจนเข็มชี้ตรงขีด 0 พอดี จะได้น้ำหนักของสารตามต้องการ

5. นำขวดบรรจุสารออกจากจานของเครื่องชั่งแล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักทุกอันให้อยู่ที่ 0 ทำความสะอาดเครื่องชั่งหากมีสารเคมีหกบนจานหรือรอบๆ เครื่องชั่ง

หมายเหตุ การหาน้ำหนักของสารอาจหาน้ำหนักทั้งขวดบรรจุสารและสารรวมกันก่อนก็ได้ แล้วชั่งขวดบรรจุสารอย่างเดียวทีหลัง ต่อจากนั้นก็เอาน้ำหนักทั้ง 2 ครั้งลบกัน ผลที่ได้จะเป็นน้ำหนักของสารที่ต้องการ

รูปที่ 6. เครื่องชั่งแบบ Tripl-beam balance

7. เครื่องชั่งแบบ Equal-arm balance

เป็นเครื่องชั่งที่มีแขน 2 ข้างยาวเท่ากันเมื่อวัดระยะจากจุดหมุนซึ่งเป็นสันมีด ขณะที่แขนของเครื่องชั่งอยู่ในสมดุล เมื่อต้องการหาน้ำหนักของสารหรือวัตถุ ให้วางสารนั้นบนจานด้านหนึ่งของเครื่องชั่ง ตอนนี้แขนของเครื่องชั่งจะไม่อยู่ในภาวะที่สมดุลจึงต้องใส่ตุ้มน้ำหนักเพื่อปรับให้แขนเครื่องชั่งอยู่ในสมดุล

รูปที่ 7. เครื่องชั่งแบบ Equal-arm balance

วิธีการใช้เครื่องชั่งแบบ (Equal-arm balance)

1.จัดให้เครื่องชั่งอยู่ในแนวระดับก่อนโดยการปรับสกรูที่ขาตั้งแล้วหาสเกลศูนย์ของเครื่องชั่ง เมื่อไม่มีวัตถุอยู่บนจาน ปล่อยที่รองจาน แล้วปรับให้เข็มชี้ที่เลข 0 บนสเกลศูนย์

2. วางขวดบรรจุสารบนจานทางด้านซ้ายมือและวางตุ้มน้ำหนักบนจานทางขวามือของเครื่องชั่งโดยใช้คีบคีม

3. ถ้าเข็มชี้มาทางซ้ายของสเกลศูนย์แสดงว่าขวดชั่งสารเบากว่าตุ้มน้ำหนัก ต้องยกปุ่มควบคุมคานขึ้นเพื่อตรึงแขนเครื่องชั่งแล้วเติมตุ้มน้ำหนักอีก

ถ้าเข็มชี้มาทางขวาของสเกลศูนย์แสดงว่าขวดชั่งสารเบากว่าตุ้มน้ำหนัก ต้องยกปุ่มควบคุมคานขึ้นเพื่อตรึงแขนเครื่องชั่งแล้วเอาตุ้มน้ำหนักออก

4. ในกรณีที่ตุ้มน้ำหนักไม่สามารถทำให้แขนทั้ง 2 ข้างอยู่ในระนาบได้ ให้เลื่อนไรเดอร์ไปมาเพื่อปรับให้น้ำหนักทั้งสองข้างให้เท่ากัน

5. บันทึกน้ำหนักทั้งหมดที่ชั่งได้

6. นำสารออกจากขวดใส่สาร แล้วทำการชั่งน้ำหนักของขวดใส่สาร

7. น้ำหนักของสารสามารถหาได้โดยนำน้ำหนักที่ชั่งได้ครั้งแรกลบน้ำหนักที่ชั่งได้ครั้งหลัง

8. หลังจากใช้เครื่องชั่งเสร็จแล้วให้ทำความสะอาดจาน แล้วเอาตุ้มน้ำหนักออกและเลื่อนไรเดอร์ให้อยู่ที่ตำแหน่งศูนย์

8. หลอดหยด (Dropper)

มีลักษณะเป็นหลอดแก้วที่ปลายข้างหนึ่งยาวเรียวเล็ก และปลายอีกข้างหนึ่งมีกระเปาะยางสวมอยู่ หลอดหยดใช้สำหรับดูดรีเอเจนต์จากขวดไปหยดลงในหลอดทดสอบที่มีสารอื่นบรรจุอยู่ เพื่อใช้ในการดูปฏิกิริยาเคมีของรีเอเจนต์นั้นๆ

รูปที่ 8. หลอดหยด (Dropper)

ข้อควรระวังในการใช้หลอดหยด : อย่าให้ปลายของหลอดหยดกระทบหรือแตะกับปากหลอดทดสอบ

9. Clamp

ทำด้วยเหล็กและมีไม้คอร์กหุ้มด้านในที่แตะกับแก้ว มักจะใช้ร่วมกับ Stand โดยมี Clamp holder เป็นตัวเชื่อม Clamp ใช้สำหรับจับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ขวดปริมาตร Clamp ที่ใช้จับบิวเรทเรียกว่า Buret Clamp

รูปที่ 9. Clamp

10. ไม้แก้ว (glass rod)

ใช้สำหรับคนสารละลายให้ผสมกันเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เมื่อจะเทสารละลายจากภาชนะหนึ่งลงในภาชนะอีกชนิดหนึ่ง โดยจะเทสารละลายให้ไหลไปตามไม้แก้ว ไม้แก้วที่มียางสวมอยู่ปลายข้างหนึ่งเรียกว่า Policeman จะใช้สำหรับปัดตะกอนที่เกาะอยู่ข้างๆ ภาชนะและถูภาชนะให้ปราศจากสารต่างๆ ที่เกาะอยู่ข้างๆ ยางสวมนั้นต้องแน่น

รูปที่ 10. ไม้แก้ว (glass rod)

11. Triangle

มีทั้งที่ทำจากหลอดดินเหนียวสวมคลุมลวดเหล็ก ที่เรียกว่า pipestem clay triangle และที่ทำจากลวด nichrome หรือ chromel สวมคลุมด้วย silliminite หรือ fused silica Triangle ที่ใช้กันมากและมีราคาถูกก็คือ Triangle ที่ทำจากหลอดดินเหนียว แต่ Triangle ที่ทำจากลวดจะมีความทนทานกว่าและมีราคาที่แพงกว่า ส่วนมาก Triangle ใช้สำหรับตังเบ้าเคลือบเมื่อเผาด้วยเปลวไฟจากตะเกียงบุนเซ็น

รูปที่ 11. Triangle

12.ตะแกรงลวด (wire gauze)

มีทั้งที่ทำจากลวดเหล็กและที่ทำด้วยลวด nichrome หรือ chromel ซึ่งไม่เกิดสนิมและใช้ได้ระยะเวลานานกว่า ตะแกรงลวดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสและมีใยหิน (asbestos) คลุมเป็นวงกลมที่ตากึ่งกลางตะแกรง ตะแกรงลวดใช้สำหรับตั้งบีกเกอร์ ขวดปริมาตร และอื่นๆ ที่นำมาต้มสารละลายด้วยเปลวไฟ

รูปที่ 12. ตะแกรงลวด (wire gauze)

13. ขวดชั่ง (weighing bottle)

มีลักษณะเป็นขวดเล็กๆ ก้นแบนและข้างตรงที่ปากและขอบของจุกเป็นแก้วฝ้า ขวดชั่งมีหลายแบบทั้งแบบทรงสูง แบบทรงเตี้ย และแบบทรงกรวย และยังมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับปริมาตรหรือความสูงกับเส้นผ่าศูนย์กลางของปาก ขวดชั่งใช้สำหรับใส่สารที่จะนำไปชั่งด้วยเครื่องชั่งแบบวิเคราะห์

รูปที่ 13. ขวดชั่ง (weighing bottle)

14.กระจกนาฬิกา (Watch glass)

มีรูปทรงคล้ายกระจกนาฬิกาเรือนกลม มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง กระจกนาฬิกาใช้สำหรับปิดบีกเกอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อป้องกันสารอื่นๆ หรือฝุ่นระอองตกลงในสารละลายที่บรรจุอยู่ในบีกเกอร์และใช้ป้องกันสารละลายกระเด็นออกจากบีกเกอร์เมื่อทำการต้มหรือระเหยสารละลาย

รูปที่ 14. กระจกนาฬิกา (Watch glass)

15.กรวยกรอง (Funnel)

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้คู่กับกระดาษกรอง ( Filter Paper) ในการแยกของแข็งออกจากของเหลวและมักจะใช้สำหรับสวมบิวเรทเมื่อจะเทสารละลายลงในบิวเรท กรวยกรองมีมุมเกือบๆ 60 องศา และมีทั้งแบบก้านสั้นและก้านยาว กรวยก้านยาวจะกรองได้เร็วกว่ากรวยก้านสั้น ขนาดของกรวยกรองจะใหญ่หรือว่าเล็กขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง (วัดขอบนอก)

รูปที่ 15. กรวยกรอง (Funnel)

16.ตะเกียงบุนเซน (Bunsen burner)

เป็นตะเกียงก๊าซที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทั่วไปเมื่อต้องการอุณหภูมิที่สูงพอประมาณ ตะเกียงบุนเซนสามารถปรับปริมาณของอากาศได้แต่ไม่มีที่ปรับปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิง ตะเกียงบุนเซนมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้

รูปที่ 16. ตะเกียงบุนเซน (Bunsen burner)

1. ฐานของตะเกียง

2. ท่อตัวตะเกียง

3. ช่องทางเข้าของก๊าซซึ่งเป็นท่อที่ยื่นจากฐานของตะเกียง

4. ช่องปรับปริมาณของอากาศที่โดนท่อตัวตะเกียง

ข้อปฏิบัติในการใช้ตะเกียงบุนเซนมีดังต่อไปนี้

1. สวมปลายสายยางข้างหนึ่งกับท่อโลหะที่ยื่นออกมาจากฐานตะเกียง ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งของสายยางต่อกับท่อก๊าซเชื้อเพลิง

2. ปิดช่องทางเข้าของอากาศที่ฐานของตะเกียงให้สนิท

3. จุดไม้ขีดไฟหรือที่จุดไฟ (lighter) รอไว้ที่หัวตะเกียง แล้วเปิดก๊าซเชื้อเพลิงเข้ามาในตะเกียงจะได้เปลวไฟใหญ่สีเหลือง (luminous flame) หลังจากนั้นค่อยๆ เปิดช่องทางเข้าของอากาศที่ฐานของตะเกียงแล้วปรับให้ได้เปลวไฟไม่มีสี (non-luminous flame) ซึ่งเป็นเปลวไฟที่ให้ความร้อนสูงที่สุด

หมายเหตุ ถ้าเปลวไฟดับหรือมีเหตุการณ์อย่างอื่นเกิดขึ้น ต้องปิดก๊อกก๊าซเชื้อเพลิงทันทีแล้วเริ่มจุดตะเกียงตามขั้นตอน 1 , 2 และ 3 การใช้ตะเกียงบุนเซนไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องใช้เปลวไฟที่ไม่มีสีเสมอ ยกเว้นการทดลองที่ระบุให้ใช้เปลวไฟสีเหลืองเท่านั้น

4. หลังจากใช้ตะเกียงบุนเซนเสร็จแล้วให้ทำการดับตะเกียงโดยการลดปริมาณของก๊าซที่เข้ามาในตะเกียงให้น้อยลงและโดยการปรับก๊อกก๊าซจนกระทั่งเปลวไฟที่หัวตะเกียงเลื่อนมาเกิดที่ฐานตะเกียง แล้วทำการปิดก๊อกก๊าซทันที

ข้อควรระวัง

1. การสวมสายยางกับท่อก๊าซของตะเกียงหรือท่อก๊าซเชื้องเพลิงที่โต๊ะปฏิบัติการต้องสวมให้แน่น หากสายยางหลุดขณะใช้ตะเกียงไฟอาจจะลุกไหม้ได้

2. การจุดไม้ขีดไฟไปรอไว้ที่หัวตะเกียงก่อนที่จะเปิดก๊าซ อย่าใช้วิธีหย่อนไม้ขีดไฟจากระยะสูงเหนือตะเกียง เพราะจะทำให้ก๊าซที่ออกจากตะเกียงติดไฟในระดับสูงซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

3. สีและขนาดของเปลวไฟขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของอากาศกับก๊าซเชื้อเพลิงที่เข้าทางฐานของตะเกียงมีดังต่อไปนี้

3.1 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมากกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟที่ได้จะเต้นและดับ หรือเปลวไฟที่ได้จะไม่สม่ำเสมอหรือมีช่องว่างระหว่างเปลวไฟกับหัวตะเกียง

3.2 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงน้อยกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟจะเกิดขึ้นที่ช่องทางที่ก๊าซจะเข้ามาในตัวตะเกียงในส่วนของฐานภายในของตะเกียง การที่เปลวไฟเกิดขึ้นภายในตะเกียงนี้เรียกว่าเปลวไฟสะท้อนกลับ (Stock back) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นนานๆ จะทำให้ตะเกียงร้อนจัดเป็นเหตุให้โลหะตรงช่องทางเข้าของก๊าซเชื้อเพลิงในตะเกียงหลอมเหลวและทำให้เชื่อมปิดทางเข้าไปในตัวตะเกียงของก๊าซเชื้อเพลิง สายยางอาจละลายและลุกเป็นไฟ และทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)ที่เป็นก๊าซพิษอีกด้วย เมื่อเกิดเปลวไฟสะท้อนกลับ จะต้องทำการปิดก๊อกก๊าซให้เปลวไฟดับทันที

3.3 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมากกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียงโดยไม่ได้เปิดช่องทางให้อากาศเข้ามาในตะเกียงหรือเปิดเพียงเล็กน้อย จะได้เปลวไฟสีเหลืองซึ่งเป็นเปลวไฟที่ไม่เหมาะที่จะใช้ในการทดลองเพราะอุณหภูมิของเปลวไฟไม่สูงพอทำให้มีเขม่าจับอุกรณ์ที่ใช้ทดลอง และทำให้ตะแกรงลวดผุเร็วกว่าปกติ เนื่องจากคาร์บอนในเปลวไฟทำปฏิกิริยากับเหล็กทำให้เกิดสารประกอบพวกคาร์ไบด์

3.4 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมีอัตราส่วนเหมาะสมกับปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟที่ได้จะไม่มีสีและมีอุณหภูมิที่สูง

17. Stand & Iron Ring

เป็นอุปกรณ์สำหรับติดตั้ง Clamp โดยมี Clamp Holder เป็นตัวเชื่อมและติดตั้ง Buret Clamp ส่วน Iron Ring ซึ่งติดกับ stand ใช้สำหรับวางหรือตั้งขวดปริมาตรโดยมีตะแกรงลวดรองรับ

รูปที่ 17. Stand & Iron Ring

18. Test Tube Rack

ใช้สำหรับตั้งหลอดทดสอบ มีทั้งทำด้วยไม้และโลหะ Funnel Support ใช้สำหรับตั้งกรวยกรองเมื่อทำการกรองสารละลาย

รูปที่ 18. Test Tube Rack

19. คีม (Tong)

มีอยู่หลายชนิด คีมที่ใช้กับขวดปริมาตรเรียกว่า flask tong คีมที่ใช้กับบีกเกอร์เรียกว่า beaker tong และคีมที่ใช้กับเบ้าเคลือบเรียกว่า crucible tong ซึ่งทำด้วยนิเกิ้ลหรือโลหะเจือเหล็กที่ไม่เป็นสนิม แต่อย่านำ crucible tong ไปใช้จับบีกเกอร์หรือขวดปริมาตรเพราะจะทำให้ลื่นตกแตกได้

รูปที่ 19. คีม (Tong)

20.เบ้าเคลือบ (Porcelein Crusible and Lid)

มีอยู่ 2 ขนาด คือแบบทรงเตี้ยและแบบทรงสูง และมีขนาดต่างๆ กันขึ้นอยู่กับความจุ เบ้ามักจะเคลือบทั้งข้างนอกและข้างใน ยกเว้นที่ก้นด้านนอก โดยทั่วไปใช้ในการเผาสารต่างๆ ที่อุณภูมิสูงและมักจะใช้ในการเผาตะกอน เนื่องจากเบ้าเคลือบสามารถถูกเผาในอุณภูมิสูงได้ (ประมาณ 1,200 องศาเซลเซียส) ถึงแม้เบ้าเคลือบจะถูกเผาในอุณภูมิที่สูง แต่น้ำหนักของเบ้าเคลือบก็ไม่เปลี่ยนแปลง

รูปที่ 20.เบ้าเคลือบ (Porcelein Crusible and Lid)

21.ชามระเหย (Evaporatinh Dish)

มีขนาดต่างๆ กับขึ้นอยู่กับความจุหรือความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง ชามระเหยส่วนมากเคลือบทั้งด้านในและด้านนอก แต่บางทีเคลือบเฉพาะด้านในด้านเดียวเพื่อทำให้ราคาถูกลง ชามระเหยส่วนมากใช้สำหรับระเหยของเหลวจนแห้ง และเผา ณ อุณภูมิที่สูงกว่า 100 องศาเซลเซียส

รูปที่ 21. ชามระเหย (Evaporatinh Dish)

22.สามขา (Tripod)

ทำด้วยเหล็ก และความสูงของสามขาที่ใช้ขึ้นอยู่กับความสูงของตะเกียงบุนเซ็น สามขาใช้สำหรับตั้งบีกเกอร์หรือขวดปริมาตรเมื่อต้มสารละลายที่บรรจุอยู่โดยมีตะแกรงรองรับ หรือตั้งเบ้าเคลือบเมื่อเผาด้วยเปลวไฟโดยวางบน Triangle

รุปที่ 22.สามขา (Tripod)

23.แปรง (Brush)

ใช้สำหรับทำความสะอาดอุปกรณ์ชนิดต่างๆ แปรงล้างเครื่องแก้วมีหลายขนาดและมีหลายชนิด ควรจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของเครื่องแก้วนั้นๆ เช่น Test Tube Brush ใช้สำหรับทำความสะอาดหลอดทดสอบ Flask Brush ใช้สำหรับทำความสะอาดขวดปริมาตร และ Buret Brush ที่มีลักษณะเป็นแปรงก้านยาวใช้สำหรับทำความสะอาดบิวเรท การใช้แปรงล้างเครื่องแก้วต้องระมัดระวังให้มาก อย่าถูแรงเกินไป เนื่องจากก้านแปรงเป็นโลหะเมื่อไปกระทบกับแก้วอาจทำให้แตกและเกิดอันตรายได้

รูปที่ 23. แปรง (Brush)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท