@_@.แนวทางการปฏิบัติธรรม ตอนที่.๔.@_@


                            

                                            "ลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ"

      ต้องน้อมเอามโนเป็นบทแม่ น-แม่ โม-พ่อ น้อมเอาสัมมาอาริยมรรคมีองค์๘ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย น้อมเอาสติปัฏฐาน ๔องค์ต้นมาบรรจบรอบคอบ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท๔ อินทรีย์ ๕พละ ๕แล้วเอาโพชฌงค์ ๗ มาเป็นจักรแก้วที่คมกริบมาตัด ทำลาย ล้าง ชำระ บำรุง รักษาให้สะอาดบริสุทธิ์

.............๑.สติ  ความระลึกได้  เปรียบเหมือนจักรแก้ว อาวุธอันคมกริบ ตัด ดับ ขาดสะบั้นหั่นแหลก...

.............๒.ธัมมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม เปรียบเหมือนช้างแก้ว(ขุนพลใหญ่)สำหรับ ลาก ดึง ทุบ ถู ไถ เจาะ เลือก เฟ้น แยกรู้ชัดเจน....

.............๓.วิริยะ ความเพียร เปรียบเหมือนม้าแก้ว(ขุนพลเสริมหนุนขุนพลใหญ่)เพ่ง เผา เร็ว รู้รอบ สะอาดบริสุทธิ์...

.............๔.ปิติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจที่ได้ดี เปรียบเหมือนแก้วมณี สอดคล้องแจ่มแจ้ง ชัดเจน เต็มใจ   อิ่มใจ...

.............๕.ปัสสัทธิ ความสงบจากกิเลส เปรียบเหมือนนางแก้ว รู้เห็นความจริง ธาตุขันธ์ไม่เที่ยง สงบ ชอบใจ เย็นใจ..

............๖.สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น เปรียบเหมือนคหบดีแก้ว เหมือนเขาสุเมรุ ท้าทาย ต้านลมมรสุมทุกระดับ

มั่นคง ถาวร บริสุทธิ์ยิ่ง....

............๗.อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะวางใจได้ เห็นความจริง ตามความเป็นจริง เปรียบเหมือนปริณายกแก้ว เหมือนผู้ทรงคุณอันอุดมสูงสุด ไม่คล้อยตามสิ่งใดทั้งสิ้น รู้รอบลึก ซาบซึ้ง สุดยอดสะอาด....

......องค์ธรรม โพชฌงค์ ๗ นี้มีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง ครอบจักรวาล สามารถทำให้รู้ความจริง เข้าถึงได้จริง จนหมดจนไม่มีอะไรเหลือ ที่เรียกว่า ตรัสรู้(รู้ตามพระพุทธองค์ตรัสสอน) คือตัดรอบ ยกได้


       ก่อนอื่นก็ต้องทำความสืบเนื่องในธรรมตามฐานะ เริ่มจากศรัทธาให้กลมกลืนเพิ่มกำลังให้แข็งแกร่ง ตั้งแต่ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หรือตั้งศรัทธา วิปากศรัทธา กัมมัสสกตาศรัทธา ตถาคตโพธิศรัทธา น้อมเอาไว้ในใจ หลักโพธิปักขิยธรรมนี้เป็นลูกโซ่ เพื่อชำระกิเลสทั้งหลาย โดยเอามรรคมีองค์ ๘เป็นทาง องค์โพชฌงค์เป็นองค์ตรัสรู้ (รู้ตามพระพุทธองค์ตรัสสอน)สุดท้ายได้ยกมาเป็นหลักเพื่อให้รู้ไว้ก่อน แล้วจึงมาต่อเนื่องจากพื้นฐานอีก

........โพธิปักขิยธรรม๓๗ เปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง รอยเท้าสัตว์ในปฐพีทั้งหมดมารวมลงรอยเท้าช้างฉันใด โพธิปักขิยธรรมก็เป็นที่รวมลงแห่งธรรมทั้งหลายฉันนั้น รอยเท้าช้างก็ได้แก่ใจหรือความไม่ประมาท หรือศีล คือเจตนา คือปฏิบัติธรรมโดยมีศีลเป็นพื้นฐาน เป็นทางเดิน ..สีลังปมุขัง สัพพธัมมานัง ศีลเป็นประธานของธรรมทั้งปวง..   ระวังรักษาเจตนาของใจตนไว้ให้ได้  มโน ปุพพังคมาธัมมาฯ ใจเป็นตัวแทนหรือผู้แทนทุกอย่างในโลกนี้..    โดยเฉพาะแทนตา หู จมูก ลิ้น กาย และอาการ ๓๒ ทุกอย่าง ครอบจักรวาล ตามีหน้าที่ดู...ฟังคิดไม่ได้..หูมีหน้าทีฟัง พูด-คิดไม่ได้.. กายมีหน้าที่รับสัมผัสเย็นร้อนออ่นแข็ง  พูด-คิด-รัก-ชัง ไม่ได้ ใจเป็นตัวแทนตัวรู้สำคัญ เป็นใหญ่ในทุกสิ่งในโลกฯลฯ ใจเป็นใหญ่ใจเป็นหัวหน้า จิตวิญญาณเป็นประธานของธรรมทั้งปวง จึงเรียกว่า  มโนปุพพังคมา ดังกล่าวแล้ว    


.........ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุ๖ เพิ่มอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ รูป คือกาย นามคือใจ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อายตนะภายในมี ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อายตนภายนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ กามคุณ๕ ก็เรียก อาการ๓๒ มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น นี้คือตัวปฏิบัติหรืออุปกรณ์ในการปฏิบัติ ทางเดินก็อยู่นี่ ซึ่งมีใจเป็นใหญ่ ที่เรียกว่า โลกกว้างศอก ยาววาหนาคืบ ก็คือคนๆนี้เอง



         เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ เจตนาเป็นตัวศีลเป็นความงดเว้นบาปทั้งปวง  การปฏิบัติธรรมของพุทธที่ถูกตรง จึงต้องเอาเจตนาคือศีลเป็นขั้นต้น เมื่อรู้ข้อมูลต่างๆถูกต้องแล้ว น้อมเอามรรคมีองค์ ๘คือการทำงานต่างๆโดยชอบ ๘อย่างคือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ตั้งสติชอบ ตั้งใจชอบ

.....๑.สัมมาทิฏฐิ  ได้แก่ ความรู้ทุกข์ต่างๆรู้เหตุแห่งทุกขื รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์

..... ๒.สัมมาสังกัปป  คือความดำริ(คิดนึก-ใฝ่ฝัน)จะออกจาก กามต่างๆ หรือกามคุณ ๕ดำริออกจากพยาบาท เบียดเบียน

.....๓.สัมมาวาจา    คือการงดเว้น ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ

......๔.สัมมากัมมันตะ คือการปฏิบัติ ศีล๕นี้เอง

......๕.สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพชอบธรรมไม่โกหก หลอกลวง โกงกิน เป็นต้น

......๖.สัมมาวายามะ คือ เพียรพยายามละบาป อกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไป เพียรรักษากุศลหรือความดีทั้งหลายให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ไม่ให้เสื่อม

......๗.สัมมาสติ  คือมีสติเต็ม เรียกสติปัฏฐาน๔ เพื่อกำจัดอภิชฌา คือความเพ่งเล็งในทางผิด โทมนัส คือความขัดเคือง เกิดทุกข์เกิดโทษภัยต่างๆเป็นต้น

......๘.สัมมาสมาธิ คือความสงัด สงบ จากกามคุณทั้งหลายเข้าถึงปฐมฌานและสูงขึ้นไป

     ส่วนสัมมาญาณ(ความรู้ชอบ) สัมมาวิมุติ(ความหลุดพ้นโดยชอบ) ขอยกไว้ เพราะเป็นส่วนสุดยอดต้องเรียนรู้ให้แจ่มแจ้ง เบื้องต้นจากศีล จนถึงสมาธิ ปัญญา เข้าใจสัมมาอาริยมรรคมีองค์ ๘แล้วดำเนินวิถีชีวิตจากต้นไปถึงยอดสุดได้ เริ่มจาก..สัมมากัมมันตะ คือการทำงาน ตั้งแต่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด เป็นต้นไป ตามฐานะของตน ปฏิบัติได้ทุกระดับชั้นแม้แต่คนตาบอด หูหนวก ขอให้ใจไม่บอดไม่ขาดก็ปฏิบัติธรรมได้หมด แต่ต้องมี วิเจยย ทานัง สุคตัปปสัตถัง  แปลว่า การเลือกสงเคราะห์ อันพระตถาคตเจ้าทรงสรรเสริญ เลือกเฟ้นก่อนทุกอย่าง..โยนิโส วิจิเน ธัมมัง  พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย  บางคนที่สมบูรณ์ที่สุดพร้อมทุกอย่างแต่ไม่มีศรัทธา ใจบอดก็หมดโอกาส แต่บางคนต่ำต้อย ทางสังคมโลกอ่อนด้อยน้อยศักดิ์แต่ศรัทธาดีใจประเสริฐ เขาก็มีโอกาสงามที่สุดที่จะได้ปฏิบัติธรรม

             

     คนส่วนมากยังเข้าใจว่าเรายังไม่มีโอกาส ไม่มีหน้าที่จะมาปฏิบัติธรรม กับคำพูดที่บอกว่าเรายังไม่พร้อม ไม่ถึงเวลา  ยังติดลูกติดภรรยา-สามี ติดการงาน เราเป็นฆราวาส ไม่ใช่พระ ยังไม่แก่ไม่เฒ่า ยังไม่มีเวลายังหนุ่มยังสาวอยู่ จะไปปฏิบัติอย่างไร ไปแต่วัดจะได้กินอะไรเป็นต้น

    จะขอแยกการปฏิบัติธรรมออกเป็น ๒ ประเด็น คดีโลกกับคันถธุระ คดีธรรมกับวิปัสสนาธุระ     แบบปฏิบัติธรรมอยู่กับที่ กับบ้านตั้งแต่ครอบครัว ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน  อบต.ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน ชาวบ้าน ชาวเมืองทุกระดับ ชาติ ชั้น วรรณะ คือ ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆอยู่กับบ้าน กับที่ แต่ต้องเข้าไปคบบัณฑิต(ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิทรงธรรม)ศึกษาให้รู้ก่อน

  แบบที่สอง คือต้องออกบวช หรือออกจากบ้านก่อน  ถือศีล ๕ ศีล ๘  ขึ้นไป   

   สรุป.. ผู้ปฏิบัติธรรมทุกชั้นวรรณะ ทุกชาติ ทุกภาษา ทั่วโลก ปฏบัติแบบ สัมมากัมมันตะ มีอาริยมรรคมีองค์ ๘ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ได้เสมอกัน แต่ผลอาจต่างกันได้ตามฐานานุฐานะ แล้วแต่อินทรีย์(ความเป็นใหญ่) พล(กำลัง)ปฏิบัติทั่วกันได้ทั้งนั้น  กรุณาหายข้องใจได้แล้วเพราะไม่ใช่สมาธินั่งหลับตาอย่างเดียว แต่ต้องลืมตาทำงานต่างๆด้วยความเพียร..ส่วนการนั่งสมาธิก็ทำบ้างเพื่อตรวจจิตทบทวนใจตามเหมาะตามควรไม่ใช่หลักใหญ่หลักเอกของศาสนาพุทธ  

                        

   โลกเรากำลังเดือดพล่าน ร้อนเร่าแผดเผาไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยการแข่งดี เอารัดเอาเปรียบ เอาชนะคะคานกันทั่วโลกเพราะปากท้องเป็นเหตุเป็นเหวใหญ่ทิ้งอะไรๆ ลงไปก็ไม่เต็มไม่พอ ปากท้องเป็นเหตุเศรษฐกิจพล่าน การเมืองเผา สังคมเน่าเฟะ ก็เพราะคนไม่เข้าใจการปฏิบัติธรรมของพุทธแท้ๆ คนปฏิบัติธรรมถือศีล๕ ละอบายมุขมีน้อย คนติดอบายมุข โรงบุหรี่ โรงเหล้า บาร์คลับ แหล่งเริงรมย์มีมากฯลฯ นับวันจะบาปมากขึ้นตรงกับคำว่า"กระเบื้องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยถอยจม"  ทุกวันนี้ กระเบื้องคือบาปต่างๆกำลังฟู โผล่ขึ้น ฆ่ากัน ยิงกัน กินยาเบื่อ ผูกคอตาย เป็นต้น น้ำเต้าจมคือ คนบุญหรือบัณฑิตจะเข้าป่า จะนำจะพาอะไรไม่ได้ ถูกทำลาย ถูกกลั่นแกล้ง ถูกฆ่า ต้องหนีเข้าป่า คือพูดไม่ได้ สอนไม่ได้ ต้องหยุด!

....เอาไว้แค่นี้ก่อนค่อยมาว่ากันใหม่ในโอกาสต่อไป..ขอให้มีความสุขความเจริญทุกท่านเทอญ  ..

                                                    ...............................

                 

                                                                                                                                                       

 

หมายเลขบันทึก: 202278เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2008 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

P

เจริญพรนะโยมเอกราช

อนุโมทนาสาธุ

บุญรักษา

นมัสการมาด้วยความเคารพค่ะ

P

อนุโมทนาสาธุกับคุณครูสายธาร

บุญรักษา..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท