บทบาทการจัดการศึกษากับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (2545 : 5) มีความมุ่งหมายในหลักการโดย การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข รวมทั้งมาตรฐานการศึกษาของชาติ(2547 : 4) ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้กำหนดเป็นมาตรฐานที่ 1 ด้านคุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ ทั้งในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลก ในข้อหนึ่งด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลเมืองโลก ดังนี้
1) คนไทยดำเนินชีวิตโดยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
2) คนไทยมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมและสังคม มีจิตสำนึกในเกียรติภูมิของความเป็นคนไทย มีความภูมิใจในชนชาติไทยรักแผ่นดินไทยและปฏิบัติตนตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสมาชิกที่ดี เป็นอาสาสมัครเพื่อชุมชนและสังคม ในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
ลักษณะดังกล่าวข้างต้นเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษาแต่ยังมีคำถามที่เป็นข้อสงสัย คือ การศึกษาที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันสามารถสร้างสรรค์เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีคุณลักษณะเช่นนี้ได้เพียงใด
เนื่องจากข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมถอยด้านคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชนอย่างน่าตกใจ เช่น ข่าวที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การใช้ความรุนแรงทะเลาะวิวาทถึงขั้นเสียชีวิต การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยไร้แก่นสาร จนอาจนำไปสู่การประกอบคดีอาชญากรรม เป็นต้น
และจากข้อมูลของโครงการเฝ้าระวังสถานการณ์เด็กไทยของสถาบันรามจิตติ พบว่า ปัจจุบันยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงหลายด้าน เนื่องจากเด็กไทยต้องผจญอยู่กับความอ่อนแอของครอบครัว การเที่ยวกลางคืน ดื่มสุรา สูบบุหรี่ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ถูกทำร้ายทางเพศ และถูกล่อลวงไปในทางผิด
แม้ว่าสาเหตุของการประพฤติผิดจะมาจากหลายสาเหตุ แต่หากระบบการศึกษามีพลังที่เข้มแข็งเพียงพอก็อาจจะสร้างเกราะป้องกันจิตใจของเยาวชนไม่ให้กระทำผิดคิดร้ายและมีจิตใจที่มุ่งกระทำความดีได้ ในสภาพความเป็นจริงย่อมมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า หากผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาได้รับรู้ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไรเกิดขึ้นในระบบการจัดการศึกษาและระบบการเรียนการสอนแล้วดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเติมเต็มสิ่งเหล่านั้นในทันที ย่อมจะเป็นทางช่วยพัฒนาเยาวชนรุ่นต่อไปให้เป็นคนที่มีลักษณะที่พึงประสงค์ได้ทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม วิธีการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมสามารถทำได้หลายวิธีที่อยู่พ้นจาก การอบรมด้วยการบรรยายหรือการว่ากล่าวตักเตือนตามรูปแบบเดิมที่ผู้มักคุ้นชินเมื่อพบเห็นพฤติกรรมที่ตนเองเห็นว่าไม่เหมาะสม เช่น การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ บทบาท สมมติ การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง การเรียนรู้ด้วยการรับใช้สังคม เป็นต้น
สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้
เพื่อเสนอแนะแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และความเป็นพลเมืองดีของผู้เรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแก่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรมและยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
1) เพื่อประเมินสถานภาพของผู้เรียนด้านคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
2) เพื่อประเมินสถานภาพการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาตามวัยและ/หรือการพัฒนาสมองเป็นฐานสำหรับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
3) เพื่อประเมินปัญหาอุปสรรคของการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
4) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และมาตรการการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (2537) เห็นว่าเยาวชนไทยควรมีลักษณะ 3 ประการ คือ
1) เยาวชนไทยต้องเป็นบุคคลที่ “มองกว้าง” รอบรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ใช้ปัญญาในการมองและวิเคราะห์สิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบในเชิงเชื่อมโยงปัจจัยสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการ
พัฒนาในเชิงจิตสำนึกทางสังคม
2) เยาวชนจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักคิดไกล มีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้จักใช้อดีตเป็นตัวกำหนดเป้าหมายในอนาคต โดยให้ตั้งอยู่บนฐานแห่งชีวิตในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาตนก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา
3) เยาวชนจะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่สูง ในที่นี้หมายถึง เป็นบุคคลที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม ยึดความถูกต้องดีงามเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตของตนสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ตัวบ่งชี้คุณลักษณะที่ต้องการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัด และยืนยันสิ่งที่พึงปรารถนาว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยในเรื่องนี้ กองวิจัยการศึกษา กรมวิชาการ(2548) ได้ศึกษาดัชนีชี้วัดความสมานฉันท์และความเอื้ออาทรต่อสังคมไทย พบว่า
1) ตัวบ่งชี้ความสมานฉันท์ ได้แก่ มีความสามัคคี มีความโอบอ้อมอารี รู้จักเสียสละให้ความร่วมมือกับผู้อื่น รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น
2) ตัวบ่งชี้คุณลักษณะของเด็กที่มีความเอื้ออาทร ได้แก่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจ ชอบแบ่งปัน มีความเมตตากรุณา มีจิตใจอ่อนโยน รับฟังผู้อื่น มีความรักความเห็นใจผู้อื่น
3) พฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมีความสมานฉันท์ได้แก่ ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น รู้และเข้าใจสิทธิและหน้าที่ รับฟังความเห็นของผู้อื่น มีความสามัคคี ไม่เห็นแก่ตัว มีวินัยในตนเอง
4) พฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมีความเอื้ออาทร ได้แก่ความมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำ กิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว สามัคคี เห็นอกเห็นใจ
5) ปัจจัยที่เป็นตัวส่งเสริม คือ ครูมีวิธีสอนที่ดี มีบรรยากาศที่เอื้อให้ผู้เรียนแสดงความสมานฉันท์และเอื้ออาทร ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวขัดแย้งคือ การแข่งขันชิงดีชิงเด่น การถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ากลุ่ม ผู้เรียนคิดแต่
ประโยชน์ส่วนตน เด็กดื้อรั้นไม่ร่วมมือกัน และมีความเกลียดชังกัน
ปี 2545 กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมวิชาการในขณะนั้น ได้กำหนดคุณลักษณะของเยาวชนไทยเพื่อเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ตามการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ไว้ 9 ประการคือ
1) เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์
2) มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียนและรักการค้นคว้า
3) มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะและศักยภาพในการจัดการการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี ปรับวิธีคิด วิธีทำงานได้เหมาะกับสถานการณ์
4) มีทักษะและกระบวนการ โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิด การสร้างปัญญา และทักษะในการดำเนินชีวิต
5) รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี
6) มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค มีค่านิยมเป็นผู้ผลิตมากกว่าผู้บริโภค
7) เข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทยเป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในวิถีชีวิต และ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
8) มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีกีฬา ภูมิปัญญาไทยทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
9) รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีให้สังคมจากมาตรฐานการเรียนรู้ทั้ง 9 ประการจะเห็นได้ว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ยกเว้นข้อ 3 - 4 ซึ่งแม้จะไม่ใช่ข้อกำหนดทางจริยธรรมโดยตรงแต่ก็สามารถจัดได้ว่าเป็นฐานที่ก่อให้เกิดการกระทำดี
ในปี 2548 กลุ่มพัฒนามาตรฐานและการประกันคุณภาพภายในสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ศึกษาคุณลักษณะเด็กไทยที่พึงประสงค์ โดยสอบถามจากนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ของสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 175 เขต โดยแบ่งคุณลักษณะออกเป็น 7 ด้านคือ ด้านลักษณะนิสัย สุขภาพ ความรู้อาชีพความสามารถ ทักษะการประกอบอาชีพ เทคโนโลยี ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นไทย และพบว่า คุณลักษณะเด็กไทยที่พึงประสงค์ในทัศนะของนักเรียนครู และผู้ปกครอง 20 อันดับแรก คือ
1) มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
2) ไม่ติดยาเสพติด
3) ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
4) เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่
5) มีจิตสำนึกในความเป็นไทย
6) ใช้คำว่าสวัสดีในการทักทาย ระบอบประชาธิปไตย
7) มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่
8) มีน้ำหนักและส่วนสูงตาม เกณฑ์มาตรฐาน
9) มีทัศนคติที่ดีต่ออาหารไทย
10) มีความรู้และใช้ภาษาไทย
11) ร่าเริง มีชีวิตชีวา
12) มีบุคลิกภาพดี
13) เชื่อฟังคำอบรมสั่งสอน ของครูอาจารย์
14) มีสติปัญญาสมบูรณ์
15) มีจิตใจแจ่มใส
16) ใช้สิทธิอันพึงมีตามระบอบประชาธิปไตย
17) รู้จักใช้ หวงแหน ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย
18) สามารถสืบสานและ ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทย
19) สามารถเล่นกีฬาได้อย่างน้อย 1 อย่าง
20) อนุรักษ์การแต่งกายได้อย่างถูกต้อง แบบไทย
การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม
จำเป็นยิ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืน
คุณธรรม นำความรู้