ทิศทางของหลักสูตรฐานสมรรถนะ


ทิศทางหลักสูตร

ทิศทางของหลักสูตรฐานสมรรถนะ
ข้อดี :
    ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ
   สมรรถนะเป็นความสามารถในการประยุกต์ใช้ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะปฏิบัติ และทักษะด้านความคิด ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิผลตามมาตรฐานที่ต้องการของอาชีพ (ชนะ  กสิภาร์, 2550, หน้า 28) เมื่อผู้เรียนเข้าใจก็มีความต้องการจะเรียนสิ่งที่ตนชอบและก็ตรงกับความต้องการของอาชีพนั้น ๆ เป็นการให้ประสบการณ์ตรงในการทำงานจากสถานการณ์จริง มุ่งเน้นจัดตามความต้องการของสถานประกอบการเป็นส่วนใหญ่ (นวลจันทร์ ปุยะกุล, 2548 หน้า 710)
    สอดคล้องกับงาน/อาชีพที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน  สมรรถนะของงานบางอาชีพ อาจจะล้าสมัยในปัจจุบัน ที่สถานศึกษาไม่ต้องจัดการเรียนการสอนอีก  แต่เป็นเรื่องที่อาจจะเสริมเพิ่มเติมได้ ตัวอย่างเช่น  อุปกรณ์เครื่องใช้บางอย่าง ซึ่งไม่เป็นที่นิยมและมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันแล้ว ก็ใช้เครื่องใหม่แทน หรือบางงานเป็นงานใหม่ ก็สามารถปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับงานใหม่ได้
    สามารถพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาได้ง่าย สำหรับสาขาวิชา สาขางาน รายวิชา ที่เกิดใหม่ตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยไม่ต้องยึดติดกับหลักสูตรเดิม ปรับและเปลี่ยนให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ๆ
    สอดคล้องกับการประกันคุณภาพ  ภายในและการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาอาชีวศึกษา โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)

ข้อด้อย :
    ขาดมาตรฐานอาชีพที่ต้องกำหนดโดยแต่ละเจ้าของอาชีพ
   ซึ่งไม่มีเจ้าภาพหรือสมาคมวิชาชีพจัดทำฐานสมรรถนะอาชีพไว้เหมือนกับต่างประเทศ (ชนะ  กสิภาร์, 2549)

    ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำ หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ยังไม่มีมาตรฐานวิชาชีพเกิดขึ้นการอ้างอิงหลักสูตรเพื่อใช้เป็นแนวทางของการพัฒนามาตรฐานก็น่าจะนับว่าดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย เพราะมาตรฐานวิชาชีพดังกล่าวที่ร่างขึ้นนั้นยังต้องมีการทวนสอบกับสถานประกอบการหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่ออาชีพนั้น อีกประการหนึ่ง หากหลักสูตรที่มีนั้นเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการแล้วก็น่าจะนำมาใช้เป็นแนวทางในการร่างมาตรฐานวิชาชีพได้ (จะเด็ด  เปาโสภา, 2550, หน้า 1)
    ความเชื่อมโยงของมาตรฐานอาชีพ/มาตรฐานสมรรถนะกับมาตรฐานการศึกษา ณ วันนี้ยังไม่ชัดเจน
    การประสานงานกับสถานประกอบการในเชิงรุก ที่คงจะต้องปรับแผนใหม่ โดยนำข้อมูลจากการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การจัดฝึกงาน 1 ภาคเรียน การฝึกงานปกติ มาทบทวนอีกครั้ง ถึงปัญหาและอุปสรรค จุดเด่น จุดด้อย เพราะเท่าที่ผ่านมา การมองจุดนี้ของสถานศึกษายังมีข้อจำกัด ความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อจัดทำหลักสูตรร่วมมือหรือนำนักศึกษาเข้าไปฝึกงาน อาจจะเป็นการเข้าไปฝังตัวในงานนั้น ๆ เพื่อที่จะได้ข้อมูลและเนื้องานที่แท้จริง (พิมพร  ศะริจันทร์, 2545)    
    เครื่องมืออุปกรณ์ที่จะต้องพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอน กรณีที่การฝึกทักษะเบื้องต้นบางรายวิชา เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีสมรรถนะตรงกับงานอาชีพที่ต้องการ ตลอดจนทักษะในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่สถานศึกษาได้เตรียมบุคลากรไว้ได้พร้อมเพียงใด

    ฐานการคิดเรื่องจัดทำหลักสูตร และสมรรถนะที่ได้ตอนนี้มาจากต่างประเทศ ซึ่งต้องนำมาปรับใช้กับอาชีพที่เหมาะสมกับบ้านเรา เพราะของไทยยังไม่มีอาชีพสมาคมรับผิดชอบโดยตรง และไม่ได้จัดทำไว้ กรณีตัวอย่างมาตรฐานอาชีพโรงแรมส่วนมากเป็นแบบสากล เหมือนกันทั่วโลก แต่หลังจากทำวิจัยพบว่า การวิเคราะห์หน้าที่งานฝ่ายต้อนรับส่วนหน้าของโรงแรมไทย มีจุดเด่นอยู่ที่การต้อนรับลูกค้าด้วยไมตรีจิตตามแบบวัฒนธรรม (รุ่งโรจน์ สีเหลืองสวัสดิ์, 2547 หน้า 732)  
    หลักสูตรฐานสมรรถนะของ สอศ. ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ บางส่วนยังเป็นฐานความคิดของครูเจ้าของสาขาวิชานั้น ๆ ไม่ได้มาจากเจ้าของอาชีพจริง ๆ หรือบางครั้งจำนวนตัวแทนจากอาชีพที่มาทำหลักสูตรก็จำกัดเฉพาะพื้นที่ส่วนกลาง ไม่หลากหลาย
     สถานศึกษา : ที่จะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้กับสถานศึกษาที่จัดการอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จะมีข้อสังเกตคือ
     บุคลากรในสถานศึกษา ขาดความรู้ความเข้าใจและหรือยังเข้าใจยังไม่ตรงกัน ในเรื่อง หลักสูตรฐานสมรรถนะ
     หน่วยงานที่เจ้าภาพ
ในเรื่องนี้ในระดับสำนัก ในระยะแรกก็ยังไม่ชัดเจนเพราะฐานความคิดนี้ ก็เป็นความหวังดีของหลายสำนักที่จะช่วยกันจัดทำ  ทำให้สถานศึกษาก็ยังสับสน เมื่อส่งบุคลากรให้มารับความรู้เพื่อจะนำไปเผยแพร่
     แหล่งค้นคว้าข้อมูล
ทั้งข่าวสารและข้อมูลทางวิชาการ มีข้อจำกัดและไม่หลายหลาย ซึ่งต้องใช้เอกสารหรือยึดตำราของต่างประเทศเป็นแหล่งเสาะหาข้อมูลมาประกอบ  อย่างไรก็ตามตอนนี้หลายหน่วยงานของภาครัฐบาลก็เร่งระดมจัดทำสมรรถนะในการทำงานของหน่วยงานขึ้น
     ระยะเวลาในการจัดทำค่อนข้างจำกัด
ในขณะที่นโยบายจากส่วนกลางให้เร่งดำเนินการปฏิบัติ  ไม่ว่าจะเป็นการประกันคุณภาพภายใน  มาตรฐานที่ 2 ข้อกำหนดที่ 2.1 ระบุว่า  ร่วมมือกับสถานประกอบการในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, 2550, หน้า 27)  และการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาอาชีวศึกษา โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาตรฐานที่ 3 ตัวบ่งที่ 3.1 ระบุไว้ชัดเจนว่า การพัฒนาหลักสูตรแบบฐานสมรรถนะซึ่งต้องเน้นการปฏิบัติงานจริงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในระดับสากล รวมถึงทวิภาคี (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2550, หน้า 2)
       การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  มักจะมองการพัฒนาหลักสูตรทั้งโครงสร้างเป็นประเภทวิชา สาขาวิชา แต่ไม่ได้มองจากส่วนเล็ก ๆ ก่อน เช่น รายวิชา สาขางาน หรือรายวิชาของหลักสูตรระยะสั้น ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นหรือความต้องการของตลาดแรงงาน ณ ท้องถิ่นนั้น ๆ

 

อ้างอิง

นางสาวพิมพร  ศะริจันทร์.  ทิศทางของหลักสูตรฐานสมรรถนะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้
                          จาก
:http://www.nsdv.go.th/pr/text2007/standardbase.htm 

คำสำคัญ (Tags): #ทิศทางหลักสูตร
หมายเลขบันทึก: 200736เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2008 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ขอบคุณค่ะ ที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลทางด้านอาชีวศึกษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท