ครูเมี้ยว
นางจินตนา ครูเมี้ยว ท้วมพงษ์

BRAIN BASED LEARNING


BBL

อิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่อการพัฒนาสมอง

มีงานวิจัยยืนยันว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมและประสบการณ์ที่มีคุณภาพตลอดจนการกระตุ้น ที่ดีนั้นจะมีผลระยะยาวต่อพัฒนาการในช่วงวัยถัดไปของเด็ก นอกจากนี้ผลของงานวิจัยยังได้พิสูจน์ว่า สภาพแวดล้อม มีผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมองในวัยเด็ก เด็กแต่ละคนมี ช่วงวิกฤต ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะอย่างได้อย่างง่ายดาย โดยแต่ละส่วนของสมองจะมีความเกี่ยวข้องกับหน้าที่แต่ละอย่าง เช่น พัฒนาการทางประสาทสัมผัส การเรียนรู้ภาษา การพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ สิ่งที่เด็กได้รับ จากการกระตุ้น ในสภาพแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่ ในเวลาที่จำเพาะ บางคนเรียกช่วงวิกฤตนี้ว่า หน้าต่างแห่งโอกาส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หน้าต่างจะเปิดรับสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดายในเวลาที่จำเพาะ การได้รับการกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมในจังหวะที่ถูกต้อง จึงมีความจำเป็นเพื่อให้พัฒนาการจำเพาะอย่างในช่วงเวลาจำเพาะนั้นมีโอกาสพัฒนาไปได้สูงสุด ขณะเดียวกันความเครียด ความชอกช้ำทางจิต การขาดการกระตุ้น และการไม่ได้รับการโต้ตอบ หรือความไม่สม่ำเสมอของผู้เลี้ยงดู ก็มีอิทธิพลและเป็นผลกระทบในทางลบต่อ การเจริญเติบโตของสมองเช่นกัน ดังนั้นในช่วงวัยปฐมวัยที่เด็กๆ ได้รับการพัฒนาทักษะด้าน การเคลื่อนไหว การขยายช่วงความสนใจ ภาษา ความมีเหตุมีผล ความสามารถในการจำ และจินตนาการ ทั้งหมดเหล่านี้จึงสามารถโยงใยไปยังพัฒนาการของสมองได้โดยตรง จึงเห็นได้ว่า อัตราการเจริญเติบโตของสมองของเด็กมีความสัมพันธ์กับศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมให้สอดรับกับพัฒนาการของเด็ก เพื่อความมั่นใจว่าเด็กมีโอกาสพัฒนาได้เต็มศักยภาพ และสูงสุดของศักยภาพของเด็กแต่ละคนจึงมีความสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม วิธีการและปริมาณการกระตุ้นที่เราจัดให้กับเด็กนั้น มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่พึงตระหนักเช่นกัน เนื่องจากการกระตุ้นมากเกินไป หรือการเน้นอุปกรณ์การสอน หรือของเล่นเพื่อพัฒนาทักษะมากเกินควร จะทำให้เด็กพัฒนาด้านวิชาการมากเกินความจำเป็น เด็กๆ ควรจะได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการกระตุ้นในวัยเด็กเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีสำหรับการพัฒนาและการเจริญเติบโตในวัยต่อๆ ไป ขณะเดียวกันการขาดการกระตุ้น หรือการกระตุ้นด้านลบ สามารถทำให้การพัฒนาและการเจริญเติบโตเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยากมาก ดังเช่นที่ Harward Gardner เขียนไว้ในหนังสือเรื่องของ Multiple Intelligences ว่า มนุษย์แต่ละคนมีความถนัดและความสนใจไม่เหมือนกัน หากผู้สอนเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของสมองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนนี้แล้ว ผู้สอนควรจัดหลักสูตรการเรียนการสอนหรือแผนการสอนให้ได้สอดคล้องกับสมองของผู้เรียนที่มีศักยภาพที่แตกต่าง พัฒนาการที่แตกต่าง และการเรียนรู้ที่แตกต่าง ดังนั้น การที่คุณครูจะจัดการสอนให้ได้บรรลุผล คุณครูจะต้องทำแผนให้นักเรียน ได้รับสิ่งที่เป็นแกนกลางของหลักสูตร ด้วยวิธีการที่แตกต่างและหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ และการับรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล

ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการของสมองและการเรียนรู้

สภาพแวดล้อม (enriched environment) ของเด็กมีผลต่อการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้น(synapses) หรือตัดแต่งให้ลดลงของเซลล์สมอง(pruning) ถึงร้อยละ 25 หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าสภาพแวดล้อมนั้นส่งเสริมการเรียนรู้หรือไม่(K.,Ron,1993)

แสงสว่าง (Lighting) แสงสว่างที่พอเหมาะในการมีกิจกรรมการเรียนรู้ คือ แสงสว่างจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสีรุ้ง (Full Spectrum Light) โดยต้องมีหน้าต่างให้แสงสว่างส่องผ่านอย่างน้อย ร้อยละ 20 ของผนังและต้องจัดให้เด็กๆมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง มีการเปิดหน้าต่างให้แสงสว่างส่องเข้าถึงในขณะเด็กอยู่ในอาคาร (Hawkins & Lilley, 1992) การอยู่ในแสงสว่างที่ไม่เพียงพอหรือไม่ใช่แสงจากธรรมชาติ เช่น จากหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนส์สีขาว จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดภาวะเครียดและยับยั้งการเจริญเติบโต ในสถานพยาบาลของเยอรมัน  ห้ามใช้หลอดไฟฟ้าที่มีเฉพาะแสงสีขาว ที่ไม่มีส่วนประกอบของแสงสีแดง น้ำเงินและม่วง (Liberman,1991)

องค์ประกอบของเนื้อเยื่อสมอง ร้อยละ 85 คือ น้ำ หากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะเกิดภาวะขาดน้ำ (dehydration) มีผลให้ระดับพลังงานในสมองลดลง และมีผลต่อการ ส่งข้อมูล (neuro transmitter) จากเซลล์สมองไปสู่กันและกัน นอกจานี้ ภาวะขาดน้ำก่อให้เกิดภาวะเครียด มีผลร่วมกันทำให้การรับรู้เรียนรู้เกิดขึ้นได้น้อย (Madewell., 1998, E. Conturo, 2002) เด็กๆ ควรได้ดื่มน้ำสะอาด ปริมาณน้ำดื่มที่ต้องการอย่างน้อยต่อวัน คือ ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว (กก.) x น้ำ 30 ซีซี เช่น น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ต้องได้ดื่มน้ำสะอาดต่อวัน อย่างน้อย 900 ซีซี และยิ่งดื่มมากยิ่งดีต่อสมองและร่างกาย ควรดื่มน้ำสะอาดประมาณ 1200-2000 ซีซี หรือ 6-8 แก้ว โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยต้องได้ดื่มน้ำทุก 45นาทีเพื่อส่งเสริมการทำงานของสมอง เพราะเด็กปฐมวัยมีการใช้พลังงานในการทำงานของสมองมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากน้ำสะอาดที่มาของน้ำสำหรับเด็กปฐมวัยยังได้จากนม น้ำผลไม้

น้ำเป็นองค์ประกอบของเลือด ฮอร์โมน และน้ำเป็นตัวช่วยในการทำงานของระบบ การส่งสารหรือข้อมูลของเซลล์ประสาท (synapses) (Batmanghelidj, 2001)

อาหาร (Nutrition)

อาหารมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง (neurons) ในช่วงขวบปีแรกนมแม่เป็นอาหารสำคัญในการพัฒนาสมอง ทำให้ผนังของ axon มีความหนาสามารถนำส่งข้อมูลไปเชื่อมต่อกับเซลล์สมองตัวอื่นได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว (Fancourt, 2000, p. 61) ในขวบปีต่อไป โปรตีนจากแหล่งอื่น เช่น ปลา เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วต่างๆ เข้ามามีบทบาทร่วมกับนมโอเมกา 3 และ 6 (Omega 3 and 6) ในโปรตีนจากปลาต่างๆ เป็นสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง เด็กอายุ 4-6 ปี ควรบริโภค วันละ 2 - 3 มื้อ คือ มือหลัก เช้า กลางวัน เย็น และควรบริโภคนมวันละ 2 มื้อๆ ละ 1 กล่องหรือ 1 แก้ว

แป้ง ได้จากข้าว ขนมปัง เผือก มันต่างๆ ช่วยให้พลังงาน เด็กอายุ 4-6 ปี ควรบริโภค วันละ 5-6 มื้อ คือ มือหลัก เช้า กลางวัน เย็น และระหว่างมื้อ เป็นของว่าง อีก 2-3 มื้อ แต่ละมื้อหลักประกอบด้วย ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี ของว่าง เป็นขนมปัง 1-2 แผ่น หรือคุกกี้ 3-4 ชิ้น ขนมไทย 1 ชิ้น ส่วนเด็ก อายุ 2-3 ปี ลดปริมาณลงแต่ไม่ลดจำนวนมื้อ

ไขมัน และน้ำตาล จำเป็นแต่ควรบริโภคพอควร ไขมันควรเป็นไขมันจากปลา จากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน ถั่ว เมล็ดแห้งจากผลไม้ เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่

ผัก และผลไม้ ให้วิตามินและเกลือแร่ ใยอาหารผักควรบริโภคครบทั้ง 3 หลัก ส่วนผลไม้ ควรบริโภคอย่างน้อย 2 มื้อหลัก วิตามินและเกลือแร่ ช่วยให้สมองและระบบประสาททำหน้าที่ได้อย่างดีตามปกติ คือ วิตามิน บี 1 บี 2 บี 3 บี 5 บี 6 วิตามินซี วิตามินดี กรดโฟลิค แคลเซี่ยม โครเมียม เหล็ก แมกเนเซี่ยม ซีเรเนียม สังกะสีซึ่งสำคัญในการเติบโตของสมองและการทำหน้าที่ของสมองและระบบประสาท

ความรักใคร่ผูกพัน (Attachment) ความมั่นคงในสัมพันธภาพระหว่างทารกกับผู้เลี้ยงดูคนแรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่ เป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการสมองของทารก ความรักใคร่ผูกพันขยายจากจากผู้เลี้ยงดูคนแรกหรือแม่สู่พ่อและสมาชิกในครอบครัว ศูนย์เด็ก สถานเลี้ยงดูเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องออกดูแลให้เกิดความมั่นคงในความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูหรือผู้ดูแล และกับเพื่อนเพื่อให้ประสบการณ์ของความรักใคร่ผูกพันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะส่งเสริมพัฒนาการของสมองและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (New Zealand Ministry of Education, 1998)

ภาวะเครียด (Stress) และความกลัวในระดับสูงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย (Porter, 2001, p. 4) ความมั่นคงในความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูหรือผู้ดูแล และกับเพื่อนจะช่วยลดความกลัวและความเครียดได้ ร่วมกับการดูแลให้เด็กได้กินอยู่ นอนหลับ รู้สึกปลอดภัย และเป็นตัวของตัวเองจะช่วยลดความเครียดได้ทั้งในเด็กและผู้ปกครอง

 

 ที่มา:http://www.sahaunion.com/hrm5/Webboard/images_upload/20068221738461.doc

คำสำคัญ (Tags): #bbl
หมายเลขบันทึก: 200721เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2008 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท