046 : ฟ้าผ่า (2) ฟ้าผ่ามีระยะที่สามารถทำอันตรายได้ไกลแค่ไหน?


 

บันทึกนี้เป็นตอนที่ 2 ของบทความต่อเนื่องขนาดยาว
ซึ่งจะทยอยนำเสนอเป็นระยะจนสมบูรณ์

ประเด็นที่แล้ว : (1) ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร?


2.  ฟ้าผ่ามีระยะที่สามารถทำอันตรายได้ไกลแค่ไหน?

ตอบ :

ลองมาทบทวนแผนภาพพื้นฐานว่าด้วยฟ้าผ่ากันก่อน

รายละเอียดเกี่ยวกับภาพนี้ สามารถอ่านได้ในบันทึก ฟ้าผ่า (1) ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร?

แต่ในที่นี้จะเน้นเฉพาะ

ฟ้าผ่าที่ผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบลบ (negative lightning หรือ negative flash)

และ

ฟ้าผ่าที่ผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบบวก (positive lightning หรือ positive flash)

เนื่องจากทั้งสองแบบนี้เป็นฟ้าผ่าที่ทำอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้นดิน (หรือผืนน้ำ)

 


ฟ้าผ่าแบบลบ (negative lightning)
จะผ่าลงบริเวณ “ใต้เงา” ของเมฆฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก เพราะพื้นที่ดังกล่าวถูกเหนี่ยวนำให้มีสภาพเป็นประจุบวก



ฟ้าผ่าแบบลบจะผ่าลงใต้ฐ่านเมฆ


สำหรับฟ้าผ่าแบบบวก (Positive Lightning หรือ Positive Flash)
สามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆได้ถึง 40 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง 1 วินาที!!!

[ข้อมูลจากเว็บของ NOAA's National Weather Service ดูรายละเอียดได้ ที่เว็บนี้]

 

นั่นคือ แม้ท้องฟ้าเหนือศีรษะของเราจะดูปลอดโปร่ง
แต่เราก็อาจจะถูกฟ้าผ่า (แบบบวก) ได้หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างไกลออกไกลถึง 30 กิโลเมตร! 


ฟ้าผ่าแบบบวกนี่เองที่เป็นที่มาของวลี

“a bolf from the blue” หรือ “a bolt out of the blue”

ซึ่งบางครั้งก็พูดย่อๆ ว่า “out of the blue”

อันเป็นวลีที่บ่งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน

เปรียบเสมือน “ฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ” โดยไม่มีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือศีรษะ 

คำว่า blue ในวลีเหล่านี้หมายถึง blue sky คือ ท้องฟ้าสดใสไร้เมฆ นั่นเอง

   
ฟ้าผ่าแบบบวก ซึ่งผ่าออกไปไกลห่างจากฐานเมฆได้หลายกิโลเมตร
ภาพนี้ถ่ายโดย ริชาร์ด เอ คีน (Richard A. Keen)  


มีข้อมูลบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1984
ได้เกิดฟ้าผ่านักกอล์ฟในเมืองทูซอน มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นฟ้าผ่าแบบบวกนี่เอง 


ฟ้าผ่าแบบบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง
กล่าวคือ หลังจากฝนที่กระหน่ำเริ่มซาลงแล้ว 

นอกจากนี้  ฟ้าผ่าแบบบวกยังอาจทำให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย
หากในป่าบริเวณที่โดนฟ้าผ่าเกิดไฟลุกไหม้ลาม และไม่มีฝนตกลงมาดับไฟ


แม้ว่าฟ้าผ่าแบบบวกจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก (น้อยกว่า 5% ของฟ้าผ่าทั้งหมด)

แต่ฟ้าผ่าแบบบวกก็ทรงพลังมากกว่าฟ้าผ่าแบบลบถึง 10 เท่า

กล่าวคือ

กระแสไฟฟ้าอาจสูงถึง 300,000 แอมแปร์ &

ความต่างศักย์ 1 พันล้านโวลต์เลยทีเดียว
(ลองคิดถึงไฟบ้าน 220 โวลต์ ซึ่งถ้าโดนดูด...ก็แย่แล้ว)

 


โปรดติดตามตอนต่อไป

ฟ้าผ่า (3) กลไกการเกิดฟ้าผ่าเป็นอย่างไร?

(กำลังจัดทำ...ขอแว้บไปพักก่อนคร้าบ...อิอิ)

คำสำคัญ (Tags): #lightning#ฟ้าผ่า
หมายเลขบันทึก: 199895เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2008 06:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • เพิ่งทราบว่ามีตั้งสองแบบ
  • สงสัยครั้งก่อนที่ผมเห็นเป็นแบบบวกแน่ๆๆ
  • เสียดายถ่ายไม่ทัน
  • ดีนะไม่สาบานอะไรใครไว้ อิอิๆๆ
  • รออ่านตอนต่อไปครับพี่ชิว
  • ขอบคุณครับ
  • เป็นอันว่าถึงอยู่กลางแจ้ง จะมีฝน หรือไม่มีฝนฟ้าคะนองให้เห็น ก็หวาดเสียว สายฟ้าวิ่งมาหาเราได้ใช่ไหมคะ

น่ากลัว...ขออย่าได้เห็นเลยนะคะในชีวิตนี้

สวัสดีครับ

        อ.แอ๊ด : ฟ้าผ่าแบบบวกนี่ทรงพลังมากครับ ที่โดนๆ กันกลางสนามกอล์ฟ แบบว่าไม่เห็นมีเมฆอยู่เหนือศีรษะ แล้วชะล่าใจเล่นต่อนี่แหละ โดนกันมาหลายรายแล้ว

              ในต่างประเทศถึงกับมีกฎเกณฑ์ และมีอุปกรณ์ตรวจจับฟ้าผ่าด้วย (จะเขียนถึงเรื่องนี้ในอีกไม่นานครับ)

       พี่ดาว : ใช่แล้วครับ ถ้ามีเมฆฝนฟ้าคะนองห่างออกไปไม่เกิน 30 กิโลเมตร ก็มีสิทธิ์แจ็คพ็อตแตกได้ครับ

               ไว้รอพี่ดาวกลับจาก Trip นี้มาเล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฟัง ขอบ่คุณสำหรับโปรแกรมแต่งภาพนะครับ จะตามไปดู ^__^

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • น่ากลัว ๆ
  • แต่ได้ยินว่าถ้ามีเสาสถานีวิทยุ หรือโทรทัศน์ หรือเสาเครื่องรับส่งสัญญาญโทรศัพทย์ อยู่ใกล้ ๆ จะมีสายล่อฟ้า ที่จะคลอบคลุมพื้นที่รัศมี 3 กม.ให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่า จริงหรือไม่ครับ

สวัสดีครับ

        คำตอบคือ ไม่จริงครับ

        เคยมีเหตุในสนามกอล์ฟที่ฟ้าผ่าต้นไม้ที่เตี้ยกว่าต้นข้างๆ แต่แน่นอนว่า หากคิดถึงโอกาส (ความน่าจะเป็น) ต้นไม้ที่อยู่สูงที่สุด หรืออะไรก็ตามที่อยู่สูงที่สุด จะมีโอกาสถูกฟ้าผ่ามากที่สุดครับ

        เอ...ไม่รู้ว่าใครให้ข้อมูลนี้มาเอ่ย?

เจริญพร โยมอาจารย์บัญชา

ละแวกวัดที่อาตมาจำอยู่มีฟ้าผ่าบ่อย ไม่ทราบเพราะสาเหตุใด บริเวณอื่นๆที่ห่างจากวัดอาตมาไปไม่ค่อยมีบ่อย และมีช่วงหนึ่งหลายปีมาแล้ว อาตมายังจำวัดอยู่ยะลา เพื่อนบอกว่า ฟ้าผ่าต้นมะพร้าวหน้าวัดตายไปหลายต้น

บทความเรื่องฟ้าผ่าของโยมอาจารย์ อาตมาอ่านแล้วในสารคดี เป็นเรื่องน่ากลัวและอันตรายมาก

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

         ใช่แล้วครับหลวงพี่ ฟ้าผ่ามักจะลงมาที่ต้นไม้สูงๆ เช่น ต้นมะพร้าว ต้นตาล หรือเสาไฟฟ้า

                ดูบันทึก : ฟ้าผ่ามีขั้นตอนอย่างไร

         ในสารคดีมีข้อมูลสมบูรณ์ แต่ในบล็อกนี้ สามารถตอบคำถาม / เพิ่มข้อมูล และมีภาพเคลื่อนไหวได้ในบางกรณีครับ

         แถวๆ วัดของหลวงพี่มีต้นไม้สูง หรือเสาสูงๆ หรือเปล่าครับ (ที่ว่าฟ้าผ่าบ่อย) 

เจริญพร โยมอาจารย์บัญชา

เสาโทรศัพท์เคลื่อนที่มี 2 แห่งใกล้วัดประมาณ 100 เมตรถูกฟ้าผ่าบ่อย แต่ต้นยางนาขนาด 4 คนโอบรอบอยู่ในวัดห่างจากกุฏิอาตมาราว 50 เมตรไม่เคยถูกฟ้าผ่าเลยโยมอาจารย์

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

       เสาโทรศัพท์ถูกฟ้าผ่านี่เข้าใจได้ไม่ยากครับ (เพราะอยู่สูงกว่าสิ่งอื่นๆ โดยรอบ)

       ส่วนต้นยางนาขนาดสี่คนโอบนี่ สูงสักแค่ไหน แล้วรอบๆ มีอะไรที่สูงกว่าไหมครับ อย่างเช่น เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ใหญ่ต้นอื่น?

สวัสดีค่ะพี่ชิว

ตามมาอ่านฟ้าผ่า2 ยิ่งอ่านยิ่งน่ากลัวตอนนี้ชักหวาดเสียวเวลาไปตีกอล์ฟแล้วฝนตกค่ะ แต่ถ้าไม่มีฟ้าคะนองยังพอไหวใช่ไม๊คะ...แล้วเราจะรู้ได้ไงคะว่ามีเมฆฝนฟ้าคะนองในระยะห่างจากเรา 30 กิโลเมตร..หรือว่าเราต้องมีอุปกรณ์ตรวจจับฟ้าผ่าที่พี่ชิวบอกนะคะ..

สวัสดีครับ อุ๊

         ใช่แล้วครับ ในสนามกอลฟ์ที่ไฮเทคหน่อย จะมีอุปกรณ์ตรวจจับฟ้าผ่า (Lightning Detector) ไม่งั้นต้องหาซื้อมาใช้เองครับ

         ลองไปอ่านเรื่อง

             Lightning Detector ใน Wikipedia

             Lightning Detector (commercial)

         เอาไว้พี่จะเขียนถึงเรื่องนี้อีกทีครับ

  • อืมน่ากลัวทุกแบบค่ะ
  • ฟ้าคะนองต้องรีบหลบเข้าบ้านค่ะ

ใช่แล้วครับ หลบในบ้านปลอดภัยที่สุด แต่ก็มีข้อควรระวังเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยครับ เช่น ดึงสายอากาศหลังโทรทัศน์ออก และอื่นๆ (ไว้จะเขียนถึงอีกทีครับ)

ฟ้าผ่าแบบบวกน่ากลัวกว่าทุกแบบจังเลยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท