เครื่องดื่มที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่รวมทั้งน้ำผลไม้มีกรดผสมอยู่ กรดในเครื่องดื่มทำให้ฟันสึกกร่อนได้ เครื่องดื่มบำรุงกำลังทำให้ฟันสึกมากที่สุด รองลงไปเป็นน้ำอัดลม และผลไม้ตามลำดับ...
พวกเราคงจะทราบกันดีว่า แบคทีเรียในช่องปากย่อยสลายน้ำตาล เกิดกรดซึ่งทำให้เนื้อฟันสึกกร่อน และอาจเกิดโรคฟันผุ หรือเสียวฟันได้ หลังกินของหวานจึงควรบ้วนปาก และแปรงฟัน
ทว่า...อาจจะไม่ทราบว่า เครื่องดื่มหลากรสที่มีจำหน่ายในท้องตลาดก็ทำให้ฟันสึกได้จากกรดในเครื่องดื่ม
ดร.พอล คาซามาสซิโม ศาสตราจารย์ทันตแพทย์เด็กแห่งมหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาผลของกรดในเครื่องดื่มต่อฟัน
ท่านทดลองแช่ฟันที่ถอนออกมาจากคนไข้แล้ว นำมาแช่ในเครื่องดื่มยอดนิยมที่มีทั้งเครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม และน้ำผลไม้
เครื่องดื่มที่นำมาทดลองได้แก่ เกเตอเรด (Gatorade) เรดบูล (Red Bull ในอเมริกา หรือกระทิงแดงในไทย) โค้ก โค้กไดเอท และน้ำแอปเปิ้ล
การทดลองแช่ฟันในเครื่องดื่มดังกล่าวเป็นเวลา 25 ชั่วโมง และเปลี่ยนเครื่องดื่มทุกๆ 5 ชั่วโมง เมื่อนำมาตรวจวัดด้วยกล้องจุลทรรศน์พบว่า ฟันในเครื่องดื่มทุกชนิดสึกกร่อนไปมาก
- เกเตอเรดทำให้ฟันสึกมากที่สุด (131 ไมครอนหรือ 0.131 มม.)
- รองลงมาเป็นเรดบูล (100 ไมครอนหรือ 0.1 มม.)
- โค้ก (92 ไมครอนหรือ 0.092 มม.)
- โค้กไอเอท (61 ไมครอนหรือ 0.061 มม.)
- น้ำแอปเปิ้ล (57 ไมครอนหรือ 0.057 มม.)
สรุปคือ เครื่องดื่มที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่รวมทั้งน้ำผลไม้มีกรดผสมอยู่ กรดในเครื่องดื่มทำให้ฟันสึกกร่อนได้
- เครื่องดื่มบำรุงกำลังทำให้ฟันสึกมากที่สุด
- รองลงไปเป็นน้ำอัดลม และผลไม้ตามลำดับ
คำแนะนำสำหรับการป้องกันฟันสึก ซึ่งอาจทำให้ฟันผุ หรือเกิดอาการเสียวฟันคือ..
- หลังดื่มเครื่องดื่ม เช่น กระทิงแดง, เอ็ม 100, เกเตอเรด น้ำผลไม้ ฯลฯ หรือหลังกินผลไม้ > ควรบ้วนปากทันที เพื่อลดความเข้มข้นของกรดในช่องปาก และบ้วนปากอีกเป็นระยะๆ เว้นช่วงไปอย่างน้อย 10 นาทีค่อยแปรงฟัน
- ลด-ละ-เลิกการดื่มน้ำอัดลม เช่น เปปซี โค้ก ฯลฯ... ถ้าลด-ละ-เลิกไม่ได้ ควรดื่มนานๆ ครั้ง เช่น ไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ฯลฯ ดื่มรวดเดียว แล้วบ้วนปากทันทีหลายๆ ครั้ง
- ถ้าบ้วนปากทันทีไม่ได้ > การเคี้ยวหมากฝรั่งช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้ความเป็นกรดในช่องปากลดลง
- แปรงฟันให้ถูกวิธี... เรื่องนี้เรียนปรึกษาทันตแพทย์ หรือผู้ช่วยทันตแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำได้
- แปรงฟันเบาๆ... การแปรงฟันแรงๆ ทำให้ฟันสึก เหงือกสึก เสี่ยงต่ออาการเสียวฟัน และฟันผุ
- เลือกแปรงสีฟันขนอ่อนที่สุด (soft = อ่อน; extrasoft = อ่อนมาก)... แปรงสีฟันแข็ง (hard) หรือแปรงสีฟันแข็งปานกลาง (medium) เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้ฟันสึก และอาการเสียวฟันในระยะยาว
- ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ วันละ 2-3 ครั้ง
- ใช้ไหมขัดฟัน (dental floss) วันละ 1 ครั้ง
- ตรวจฟันกับทันตแพทย์ทุกๆ 6-12 เดือน เพื่อรักษาโรคฟัน และเหงือกตั้งแต่แรกเริ่ม
- กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว กินผักผลไม้แทนขนมหวาน ออกกำลังและออกแรงให้มากหน่อย ระวังอย่าให้อ้วน เพราะถ้าอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากในระยะยาว
การฝึกดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มมีส่วนช่วยป้องกันโรคอ้วน(จากน้ำตาล) ป้องกันโรคฟันผุและเสียวฟัน(จากกรดและน้ำตาล)ได้ครับ...
แหล่งที่มา:
- Thank > Popular drinks eat away at tooth enamel > [ Click ] > March 20, 2006. // Source: The New York Times News Service.
- ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก “บ้านสุขภาพ” มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
-
ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
- ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
-
ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
- นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๙ > แก้ไข 9 มิถุนายน 2550.