ผี พราหมณ์ พุทธ อัตลักษณ์ท้องถิ่นฉายโชนชัดในงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี


...ก็นี่แหละพุทธไทย ก็นี่แหละวัฒนธรรมไทย ก็นี่แหละวิถีไทย มันเป็นวิถีที่มั่วแหลกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ก็มั่วจนได้ดี มั่วจนเป็นจุดเด่น มั่วจนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ และมั่วจนขายได้อยู่จนบัดนี้อย่างไรเล่า...

 

 

พูดถึงเรื่องบุญประเพณีที่จัดขึ้นเกี่ยวแก่วันเข้าพรรษาในประเทศไทย คงไม่มีงานไหนยิ่งใหญ่ไปกว่างานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งที่ไม่ว่าที่ไหนในประเทศไทยเขาก็มีแห่เทียนกันทั้งนั้น แต่เหตุที่ทำให้งานประเพณีแห่เทียนจังหวัดอุบลมีชื่อเสียง ติดตลาด จึงอยู่ที่การสร้างมูลค่างานว่าเป็นงานอันดับหนึ่งของจังหวัด คุณค่าของงานจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยิ่งใหญ่อลังการของต้นเทียนซึ่งที่ไหนมีทุนหนาก็คงทำได้เพียงอย่างเดียว

                จำได้ว่านานมาแล้ว มีเหตุเผอิญให้เรา (ผู้เขียน) ได้เข้าไปสัมผัสขบวนเทียนฝีมือพี่น้องชาวอุบลฯ อยู่คราวหนึ่ง มีโอกาสเข้าไปพินิจพิจารณาทั้งความวิจิตรบรรจงของลวดลายที่สลักเสลาลงบนต้นเทียน และพิเคราะห์เรื่องราวประดามีที่ประกอบเข้ามาในชุดต้นเทียนนั้น ยังทำให้ติดใจอยู่ไม่หายทั้งในด้านงานฝีมือที่ยอดเยี่ยม ความอลังการงานศิลป์ และความลึกลับซับซ้อนของเรื่องราวที่นำเสนอผ่านต้นเทียน

                ในส่วนของลวดลาย และความยิ่งใหญ่ของงานแกะสลักจะขอยกเอาไว้ไม่นำมาพิเคราะห์ในที่นี้ เพราะท่านที่มีโอกาสได้ชมของจริงด้วยตา และเห็นภาพผ่านสื่อต่างๆ ก็คงพอจะรจนาค่าความชื่นชมด้วยตัวเองได้ ณ ที่นี้จะขอกล่าวต่อเฉพาะส่วนที่เป็นคติความเชื่อ อันเป็นนามธรรมที่ซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อเทียนนั้นอีกชั้นหนึ่ง

                เราเองมีโอกาสได้ชมเทียนพรรษาของปีนี้เพียงผ่านรูปถ่ายที่อาจารย์ท่านใจดีไปเก็บมาฝาก แต่เพียงเห็นภาพเท่านั้นก็พอมองเห็นเงื่อนงำบางอย่างที่ซ่อนเร้น

                นี่ขบวนนี้อลังการมาก ไม่แน่ใจว่าน่าจะได้ที่หนึ่งนะคิดว่าความเห็นของอาจารย์ขณะไปบรรยายประกอบรูปภาพที่ฉายโชว์อยู่บนเครื่องฉายข้ามศีรษะ

                ก็จริงดังท่านว่า เท่าที่ประมวลดูภาพที่เห็นผ่านตามาทั้งหมดนอกจากขบวนที่สร้างเป็นรูปครุฑแล้ว ขบวนนี้ดูจะสร้างได้ยิ่งใหญ่อลังการที่สุด ต้นเทียนมีความโดดเด่นที่รูปสลักพระพิฆเนศวรสี่กร ท่าทางองอาจผ่าเผยเป็นตัวนำหน้าขบวน ตามมาด้วยเหมราช คชสีห์ นรสิงห์ นาคราช ตามแห่แหนด้วยเทพไท้เทวดา ยักษ์ มาร พรหม แล้วจึงเป็นต้นเทียนซึ่งจำเป็นต้องมี ก่อนจะปิดขบวนด้วยท้าวสักกะหรือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณตามหลังมา เห็นแล้วให้ความรู้สึกพิลึกพิลั่นดีพิกล

                ลองคิดทบทวนกลับไปดูว่างานนี้มันเป็นงานอะไร ก็หนึ่งในบุญประเพณีอันปรารภพระพุทธศาสนามิใช่หรือ แล้วเหตุไฉนในขบวนแห่จึงปรากฏมีเทพเจ้าและเหล่าตัวละครในศาสนาพราหมณ์เพ่นพ่านไปหมดอย่างนี้เล่า แถมยังนำมาเป็นตัวเด่นนำขบวนมาเสียด้วย และไม่เฉพาะขบวนที่ยกตัวอย่างมานี้เท่านั้นหรอก จากภาพเท่าที่ผ่านสายตาไป ทุกขบวนล้วนแต่เป็นการแทรกแซมผสมผสานความเชื่อทั้งของพุทธจริงๆ อย่างเรื่องพุทธประวัติหรือนิทานชาดก สัตว์ป่าหิมพานต์และเทพเจ้าตามแบบพราหมณ์ และความเชื่อท้องถิ่นอย่างพญานาคและนกหัสดีลิงค์

 

 

 

                นี่คือพุทธแบบไทยที่จะหาที่ไหนไม่ได้ในโลก นี่คือตัวแทนหนึ่งที่ฉายภาพลักษณ์ความเชื่อที่เป็นอยู่ในสังคมพุทธเราในเวลานี้ได้อย่างเด่นชัด หากจะมีคนโมเมมาโวยวายว่านี่มันไม่ใช่พุทธแล้ว หรือมันก็ไม่ใช่พราหมณ์ และมันก็มันไม่ใช่ผี นี่มันมั่วแหลกชัดๆ ก็ขอให้เข้าใจและอธิบายให้เขาเข้าใจไปเสียเถิดว่า ก็นี่แหละพุทธไทย ก็นี่แหละวัฒนธรรมไทย ก็นี่แหละวิถีไทย มันเป็นวิถีที่มั่วแหลกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ก็มั่วจนได้ดี มั่วจนเป็นจุดเด่น มั่วจนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ และมั่วจนขายได้อยู่จนบัดนี้อย่างไรเล่า ดังที่ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง (ภูมิปัญญาอีสาน : ๖๑-๖๒) ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า

                เป็นความเชื่อที่ผสมผสานกันระหว่างคติดั้งเดิมเรื่องผี เรื่องขวัญ เรื่องพราหมณ์ และเรื่องพุทธสาสนา โดยมีพระรัตนตรัยแห่งพุทธสาสนาเป็นที่พึ่งอันสูงสุด แต่คติทางพราหมณ์และคติเรื่องผีก็มิได้เลือนรางหรือลดความสำคัญลงไป ชาวอีสานได้ผสมผสานความเชื่อทุกอย่างไว้ในพิธีกรรมตามสังคมประเพณีของเขา แล้วสืบสานประเพณีเหล่านั้นมาผลิตซ้ำในวิถีชีวิตปัจจุบันของเขาอย่างมั่นคง

                นอกจากกระบวนการการผลิตซ้ำที่ ดร.เอกวิทย์ ได้ยกมากล่าวข้างต้นแล้ว ต้องไม่ลืมว่าในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวอุบลฯ นี้ พวกเขายังได้สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ ด้วยการนำการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่า โดยยกเอาประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสองซึ่งเป็นของที่มีประจำแต่เดิมมา ขึ้นมาเป็นประเพณีอันดับหนึ่งประจำจังหวัด พร้อมสอดใส่เนื้อหาแห่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเข้าไปจนทำให้งานแห่เทียนพรรษาฮอตฮิตติดลมบน

                ถึงแม้ว่าจะมีจังหวัดใดหาญแข่งบารมี พยายามอุปโลกน์งานแห่เทียนพรรษาขึ้นมาเป็นงานใหญ่ และพยายามให้ใหญ่กว่าด้วยเม็ดเงินและแรงโฆษณามหาศาลสร้างให้งานมีความอลังการมากกว่าก็ตาม คงเป็นไปได้ยากทีเดียวที่จะให้เป็นของ ติดตลาด อย่างที่จังหวัดอุบลได้ทำมา ก็เพราะว่าการกระทำเยี่ยงนี้อาจจะไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม หากจะเรียกให้ถูกต้องตรงๆ ก็ควรว่า การผลิตซ้ำซ้อน หรือ การลอกเลียนแบบ น่าจะเหมาะสมกว่า

                แล้วลองคิดเทียบเคียงดูเถิดว่า หากเมื่อเรากล่าวถึงบุญบั้งไฟทุกคนต้องนึกถึงยโสธรแล้ว มีหรือถ้าร้อยเอ็ด ริจะทำบั้งไฟแข่งบ้าง จึงสร้างบั้งไฟสิบล้านขึ้นมาให้ใหญ่ว่าบั้งไฟล้านของยโสธรอีกสิบเท่า รับประกันหรือว่ามหาสารคามจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของบั้งไฟแทนยโสธรไปได้ หรือหากได้ดังเปรี้ยงปร้างไปปีหนึ่ง ก็มั่นใจหรือว่าจะสามารถทำได้ยืนยงตลอดไป ฉันใดก็ฉันนั้นงานแห่เทียนพรรษากับจังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นของคู่กันเสียแล้วก็ยากจะแคล้วกันฉันนั้นแล

 

 

                 

อ้างอิง

เอกวิทย์ ณ ถลาง.  ภูมิปัญญาอีสาน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๔.

 

ภาพบางส่วนจาก

<http://travel.sanook.com/news/news_09926.php> ๗ สิงหาคม ๒๕๕๑.

<http://players39.multiply.com/photos/album/39/39#12> ๗ สิงหาคม ๒๕๕๑.

หมายเลขบันทึก: 199393เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2008 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท