ขุนพลเบาหวาน


บุคคลเช่นนี้แหละครับคือ “ขุนพลเบาหวาน” ของหมากกระดานนี้ หลายปีที่ผ่านมาของโครงการเบาหวานบูรณาการ พุทธชินราช เราค้นพบ ขุนพลเบาหวานจากหนึ่งเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย ท่านเหล่านั้นมาจากต่างถิ่นต่างตำบล แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกท่านเป็นขุนพล พร้อมรบกับโรคเบาหวาน ด้วยหัวใจเต็มร้อย

                เมื่อเย็นวาน ผมไปยืนดูคุณตา 2 คน ดวลหมากรุกกันอย่างเมามันบนศาลาวัดข้างบ้าน บรรยากาศคละเคล้าไปด้วยเสียงกองเชียร์ เสียงหัวเราะ คำพูดเหน็บแนมเล็กๆน้อยๆ  เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ  เซียนหมากรุกจะรู้ดีครับว่าในกระดานหมากใครคือขุนพลประจำใจ   บางคนรักม้า บางคนรักเรือ การได้เปรียบหรือพลาดพลั้งของขุนพลอาจหมายถึงชัยชนะหรือปราชัยทั้งกระดาน

 

                ถ้าการดูแลผู้ป่วยเบาหวานเปรียบเสมือนเกมหมากรุก ผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถปรับพฤติกรรมตนเองได้ดี อยู่กับโรคเบาหวานได้เหมือนกับมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ปรกติ พร้อมทั้งเผยแพร่แนวทาง เคล็ดลับในการดูแลตนเองให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วยใจปรารถนาดีอยากให้พ้นทุกข์จากโรคนี้ได้เช่นเดียวกับตนเอง บุคคลเช่นนี้แหละครับคือ ขุนพลเบาหวาน ของหมากกระดานนี้  หลายปีที่ผ่านมาของโครงการเบาหวานบูรณาการ พุทธชินราช เราค้นพบ ขุนพลเบาหวานจากหนึ่งเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย ท่านเหล่านั้นมาจากต่างถิ่นต่างตำบล แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกท่านเป็นขุนพล พร้อมรบกับโรคเบาหวาน ด้วยหัวใจเต็มร้อย

          พี่ปรีชา ศรีชัย เป็นคนต้นแบบหรือขุนพลเบาหวานรุ่นแรก พี่ปรีชารู้ตัวว่าเป็นเบาหวานเมื่อ 6 ปีก่อนจากการคัดกรองโดยเจ้าหน้าที่ ศูนย์สุขภาพชุมชน ตำบลบ้านกร่าง ระดับน้ำตาลที่ตรวจพบครั้งแรกมากกว่า 300 พี่ปรีชาเล่าความรู้สึกให้ฟังว่า วันที่หมอนัดฟังผลเลือดเหมือนเป็นวันพิพากษาตัดสินประหารชีวิตเลยทีเดียว วันนี้ของพี่ปรีชาไม่เหมือนเมื่อ 6 ปีก่อน พี่ปรีชารบกับโรคเบาหวานโดยมีทีมเบาหวาน พุทธชินราชเป็นพี่เลี้ยงได้อย่างองอาจกล้าหาญ ใช้กลยุทธ์ ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปรับพฤติกรรมชีวิตตัวเองเหมือนกับเป็นชีวิตที่เกิดใหม่ ทั้งเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกาย ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าพี่ปรีชาชนะครับ  สามารถกำราบโรคเบาหวานให้สงบนิ่งอยู่ภายใต้ชีวิตประจำวันอันเป็นปรกติ ไม่กำเริบเสิบสานก่อปัญหาโรคแทรกซ้อนใดๆ  ขุนพลเบาหวานเช่นพี่ปรีชา ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตนเอง แต่ยกทัพออกไปช่วยผู้ป่วยเบาหวานคนอื่นๆของตำบลบ้านกร่าง รบกับโรคอย่างทุ่มเททุ่มใจ ไม่มีท้อถอยจนเป็นที่รู้กันทั้งตำบล

พี่ปรีชา ศรีชัย ขุนพลเบาหวาน รุ่นบุกเบิก

                การทำศึกกับเบาหวานของพี่ปรีชาทำในทุกสนามรบครับ เจอใครในตลาดก็แนะนำเรื่องอาหารการกิน เน้นปลาเน้นผัก เข้าวัดก็บอกญาติโยมว่าอาหารแบบไหนถึงจะดี  พระฉันแล้วไม่เร่งให้เป็นโรคเบาหวาน ตอนเย็นๆ ก็ชักชวนชาวบ้านมาออกกำลังกาย เต้นแอโรบิคร่วมกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อนนับได้เป็นร้อยคน เต้นกันทุกวันไม่มีวันหยุดครับ

                ในฐานะรองนายก อบต.บ้านกร่าง พี่ปรีชาหาทางจัดสรรงบประมาณของตำบล ซื้อเครื่องตรวจน้ำตาล เครื่องวัดความดันโลหิต ให้แก่อาสาสมัครทุกหมู่ ทุกคุ้มของตำบล เพื่อใช้ในการติดตามดูว่า ผู้ป่วยเบาหวานในตำบลบ้านกร่าง สามารถดูแลตนเอง รักษาระดับน้ำตาลได้ดีมากน้อยเพียงใด และยังใช้คัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปี  ทุกวันนี้พี่ปรีชายังรบกับเบาหวานอย่างต่อเนื่อง ไม่ออกอาการเหนื่อยล้าหรือท้อถอยใดๆ  คนบ้านกร่างอาสาออกมาร่วมรบกับพี่ปรีชามากขึ้นเรื่อยๆ  หมากเบาหวานกระดานนี้ที่บ้านกร่าง กำลังต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง  ในสายตาของผม ผมคาดว่าขุนพลของเราจะเป็นฝ่ายมีชัยในระยะเวลาอันใกล้  ยิ่งมีกองหนุนมากขึ้นเท่าไร เวลาแห่งชัยชนะก็ยิ่งกระเถิบเข้ามาใกล้มากขึ้นเท่านั้นนะครับ

          พี่ไพโรจน์ จำนงค์วัย เป็นอีกหนึ่งขุนพลเบาหวาน ตำบลพลายชุมพล พี่ไพโรจน์ รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานมา 7-8 ปี สู้กับโรคนี้มานานเกือบจะเพลี่ยงพล้ำก็หลายครั้ง แต่ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง ปัจจุบันพี่ไพโรจน์เป็นขุนพลเบาหวานระดับม้าหรือเรือของตำบลพลายชุมพลทีเดียวครับ  พี่ไพโรจน์เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเราละเลยการดูแลตัวเอง น้ำตาลคุมได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะเรามองไม่เห็นผลเสียที่เกิดขึ้นเมื่อเราดูแลตัวเองได้ไม่ดี แต่ก็เกิดจุดพลิกผันกับชีวิต คือเมื่อ 3 ปีก่อนพี่ไพโรจน์สมัครเป็นสมาชิกชมรมจิตอาสา ตำบลพลายชุมพล หน้าที่ของสมาชิกชมรมฯ ข้อหนึ่งคือ รวมกลุ่มกันไปเยี่ยมดูแล  ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก และคนพิการในตำบลโดยเฉพาะผู้ป่วยอัมพาต พี่ไพโรจน์มีโอกาสได้คุยกับผู้ป่วยอัมพาตเหล่านั้น จึงพบความจริงว่า สาเหตุของอัมพาตส่วนใหญ่ในตำบลพลายชุมพล  เป็นผลสืบเนื่องจากโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลพฤติกรรมชีวิตของตนเอง และการติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง  ผลลัพธ์ที่เห็นกับตาว่าผู้ป่วยเหล่านี้ทุกข์ทรมานเพียงใด ทำให้พี่ไพโรจน์เกิดแนวคิดพลิกบทบาทตนเอง หันกลับมาดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ และเป็นแกนนำชักชวน พรรคพวก เพื่อนฝูงคนในชุมชนที่เป็นเบาหวานแต่ยังชะล่าใจปล่อยปละละเลยไม่คิดปรับพฤติกรรมการกินการอยู่  พากันลงเยี่ยมเยียนผู้ป่วยอัมพาตในตำบล ด้านหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกันในตำบล อีกด้านหนึ่งเพื่อเป็นอุทาหรณ์ เตือนใจว่าจะปรับตัวกันอย่างไรดีจึงจะไม่เป็นอัมพาตเช่นเขาเหล่านั้น

พี่ไพโรจน์ จำนงค์วัย กำลังโชว์การบริหารเท้าเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

                กลยุทธ์ของพี่ไพโรจน์ทำให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานตำบล พลายชุมพล 50-60 คนหันกลับมามองพฤติกรรมของตนเอง เริ่มปรับเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การอยู่ แล้วก็พบว่า พฤติกรรมใหม่ ชีวิตใหม่ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้อย่างปรกติ โรคเบาหวานไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการมีชีวิตที่สดใสมีความสุขอีกต่อไป

                หมากรุกทั้งกระดานตั้งแต่ ขุนจนถึงเบี้ยต่างมีความสำคัญตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง แต่ขุนพลในกระดานเช่น ม้าหรือเรือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพลิกผลแพ้ชนะของหมากกระดานนั้น  เช่นเดียวกับการดูแลรักษาโรคเบาหวาน บุคคลต้นแบบเช่นพี่ปรีชา พี่ไพโรจน์ เปรียบเหมือนขุนพลผู้จะพลิกผันเกมว่าเราจะเอาชนะโรคเบาหวานได้หรือไม่  หมากเบาหวานกระดานนี้ ถ้าเต็มไปด้วยคนต้นแบบเช่นเดียวกับพี่ทั้งสอง ความสำเร็จคงไม่ไกลเกินเอื้อมครับ  ปัจจุบันโครงการเบาหวานบูรณาการ พุทธชินราช มีขุนพลเบาหวานกระจายอยู่ทุกตำบล ประมาณ สองร้อยกว่าคน บุคคลเหล่านี้แหละครับ เป็นกำลังใจอย่างใหญ่หลวงของคนทำงานกับโรคเบาหวานอย่างพวกเราทำให้เริ่มมองเห็น ประกายแสงแห่งความสำเร็จถึงแม้จะไม่สว่างเจิดจ้านักแต่ก็อบอุ่นนุ่มนวลมีพลัง

                ขุนพลเบาหวานทุกท่านครับ ผมไม่ทราบว่าจะแสดงออกอย่างไรถึงจะเท่าเทียมกับความรู้สึกขอบคุณที่มีอยู่เปี่ยมล้น นอกจากขอคารวะจากหัวใจ ของทีมงานเบาหวานบูรณาการ  ผ่านบทความสั้นๆ บทนี้

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ขุนพลเบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 198838เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2008 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ต้องบอกว่าเป็นบทความการดูแลโรคที่เปรียบเทียบคนต้นแบบเบาหวานได้กับการเป็นเซียนยอดหมากกรุกเป็นขุนพลนำรบ เห็นภาพชัดมากๆค่ะ และโต้งก็ชื่นชมขุนพลเบาหวานของ ลป ทั้งพี่ปรีชาและพี่ไพโรจน์ ที่จริงยังมีอีกหลายๆท่านเลยทีเดียวในหลากหลายตำบลที่ไปทำกันอยู่... ชื่นชม... ชื่นชมค่ะ

อ่านแล้วสนุกเข้าจัง ขุนพลบุคคลต้นแบบเบาหวาน พี่ปรีชาฝากขอบคุณอาจารย์มากที่บันทึกความทรงจำที่ดีๆมาตลอด สู้ๆๆๆๆครับ

นำเสนอเรื่องได้ดีจริงๆค่ะ เขียนได้น่าติดตามอ่านต่อ ว่าขุนพลต่างๆ จะมีกลยุทธเช่นไร เป็นกำลังใจให้คนทำงานด้วยอีกคนจ้า..... สู้ๆ นะ

อาจารย์ นิพัธ เป็น ผู้วางหมาก วางขุนพล แต่ละตัว หรือเปล่า

อ่านสนุกดีค่ะ ทั้งที่ไม่ค่อยรู้ เรื่องหมากรุก อาศัยรู้เรื่องเบาหวาน ชื่นชมขุนพลของกระดานพิษณุโลกมาก

P ขุนพลเบาหวานไม่ใช่ของเราหรอกนะโต้ง แต่คือผู้สร้างประโยชน์ต่อคนในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มป่วย กลุ่มเสี่ยงดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ก็จะมีความสุขกับการร่วมดูแลรักษา ตั้งแต่ selfcare จนถึง tertiary care เช่นนี้แหละจึงจะเกิดบูรณาการอย่างแท้จริง

P

พวกเราต่างหากที่ต้องขอบคุณ พี่ปรีชาและพี่ๆอีกสองร้อยกว่าคน ขุนพลเบาหวาน อ เมือง จ พิษณุโลก นะครับพี่เนียร

ขอบคุณคุณ jor ที่ติดตามตลอดนะครับ

P

 ถ้าได้ไปเชียงรายเมื่อไร คงได้มีโอกาส พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ รวิวรรณ นะครับ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆที่ทำให้เกิดข้อคิดบางอย่างในการทำงานในชุมชน คือ บุคคลต้นแบบ คิดได้ยังไงค่ะ อย่างนี้ต้องสร้างขุนพลหลายๆสาขานะคะ

  • มาให้กำลังใจอาจารย์ค่ะ  ถึงจะมาช้าไปหน่อยไม่ว่ากันนะคะ เกือบจะวางมือจากการเขียนบล๊อกแล้วล่ะ  ห่างหายไปนาน ชักเขียนไม่ออก..ไม่มีอะไรจะมาเล่าแล้วค่ะ
  • เอาไว้มีเรื่องราวประทับใจแล้วจะกลับมา

เรื่องเล่ามีเยอะแยะหนูรัตน์ เหมือนได้มานั่งคุยกันบ่อยๆ เราว่ากลับมาได้แล้วหล่ะ

เมื่อวานนี้ซักประวัติอาการคนไข้สาวเบาหวานรายหนึ่ง ว่าเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว FBS 267 mg% คุณหมอยังไม่ปรับยา แต่ให้กลับไปควบคุมอาหารจริงๆจัง 2 สัปดาห์

มาคราวนี้ FBS 160 mg% คนไข้เล่าว่า ตั้งใจควบคุมอาหารตามที่แนะนำ ดีใจที่ผล FBS ลดลง และเชื่อมั่นตัวเองมากขึ้นว่า สามารถปรับพฤติกรรม ดูแลตนเองได้ เชื่อว่าอีกไม่นาน คนไข้เบาหวานรายนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นขุนพลเบาหวานได้อีกคนนะคะ

อ่านแล้ว น่าชื่นใจคะ มีความสุขอยากทำงาน 

เรื่องของใจ ตั้งใจ ทำด้วยใจ หรืออะไรที่เป็นใจมาก่อน   จนเป็นที่มาของเรื่องราวที่ซาบซึ้งกินใจจริงๆคะ   ..อ้อ

 

เหนื่อยมั๊ย ดีจังเลย ไม่ได้เปิดมาอ่านหลายเดือนมีเรื่องใหม่ ๆมาอีกแล้ว ขอบคุณอาจารย์ที่เขียนเล่าให้อ่านแล้วนึกถึงคนไข้ที่คีรีมาศก็เริ่มมีขุนพลแต่ไม่ได้เก็บมาเล่าให้ผู้ใดฟัง เห็นอ้อ เพื่อนเราขยันเล่าก็ได้แต่คิดว่ามีเวลาเมื่อไหร่จะหัดถ่ายทอดบ้าง ทำแต่งานๆๆๆๆๆไม่ได้เล่าความภาคภูมิใจ น้อยเริ่มงาน Counseling IFG/ DM รายใหม่ ได้ประมาณ 3 เดือน เห็นคนไข้ปรับพฤติกรรมได้ก็รู้สึกดี ดีที่หัวหน้างานให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ในการปรับพฤติกรรมผู้ป่วย เมื่อก่อนนี้กว่าจะได้รับความรู้DM+การป้องกันภาวะแทรกซ้อนในคนไข้ที่เริ่มรักษาให้ละเอียดและสามารถดูแลตัวเองได้ต้องรอให้เข้าคลินิก คนไข้กลับมาหาอีกครั้งหลังปรับพฤติกรรมแล้วน้ำหนักลด ลดบุหรี่ได้ เลิกเหล้าได้ น้ำตาลลดลง เราผู้ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ดีใจจังเลย ขอบคุณค่ะ

  • จองตั๋วหน้าวิกอยู่ตั้งนาน
  • กว่าวิกจะเปิดแสดงคอยน๊านนาน..น้องเอ๋ย
  • ........
  • บรรดาขุนพลเบาหวานที่มาร่วมแสดงในวิกนี้
  • เป็นยอดขุนพลผู้เกรียงไกรจริงๆ
  • มาชื่น...มาชม...มาชื่นใจ...มาชื่นชม...
  • ฝีมือนักแสดงแห่งวิกหมอปุ๊....
  • และมาบอกว่าคิดถึงนะจ๊ะ นะจ๊ะ

ผมถือว่า คุณอุไรคือเพื่อนร่วมทางคนหนึ่ง ขออนุญาตเรียกว่า น้อยละกันนะครับ ทำงานอะไรมีความสุขก็ขอให้เล่าเผื่อแผ่ความสุขความภาคภูมิใจแบ่งปันให้เพื่อนร่วมทางด้วยนะครับ

วันนี้เพิ่งคุยกับพี่สุธีถึงเจ๊อยู่พอดี คิดถึงนะครับ สงสัยใจจะส่งถึงกันก็ได้เจอเจ๊จริงๆถึงแม้จะเป็นในบล็อกก็ตาม มีโอกาสเมื่อไรผมหวังจะได้คุยกับเจ๊เรื่องกิจกรรมของกระบวนกรเพื่อทลายกำแพงแห่งตัวตน น่าสนใจจริงๆครับ

  • ขอเพียงส่งเสียงมา
  • พี่ก็จะไปในเร็วพลัน
  • นะจ๊ะ นะจ๊ะ น้องรัก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท