การออกแบบการจัดการเรียนรู้


การจัดการเรียนรู้

การออกแบบการจัดการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ ดังนั้นผู้สอนควรพิจารณาเลือกใช้เทคนิคกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เลือกใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน และใช้วิธีการวัดผลประเมินผลที่หลากหลาย ทั้งนี้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน และสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ 1. กำหนดจุดประสงค์และสาระสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ 2. วิเคราะห์จุดประสงค์ สื่อและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศักยภาพของผู้เรียนและผู้สอน 3. ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ 4. ออกแบบปฏิสัมพันธ์ในแต่ละกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเลือกใช้กระบวนการกลุ่มที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น ๆ 5. เตรียมใบช่วยสอน สื่อ/อุปกรณ์ และแหล่งการเรียนรู้อื่น ๆ 6. ออกแบบการประเมินผลและเครื่องมือ 7. จัดการเรียนรู้และบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ 8. ปรับปรุงและพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ องค์ประกอบการเรียนรู้ เป็นโครงสร้างของกระบวนการเรียนรู้ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามศักยภาพ ซึ่งจากการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบบต่าง ๆ พบว่ามีโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน 4 องค์ประกอบ คือ 1. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 2. การสร้างความรู้ร่วมกัน 3. การนำเสนอความรู้ 4. การประยุกต์ใช้หรือลงมือปฏิบัติ 1. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นองค์ประกอบที่ผู้สอนพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนดึงประสบการณ์เดิมของตนมาเชื่อมโยง หรืออธิบายประสบการณ์หรือเหตุการณ์ใหม่ แล้วนำไปสู่การขบคิดเพื่อเกิดข้อสรุปหรือความรู้ใหม่ และแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองกับผู้อื่นที่อาจมีประสบการณ์เหมือนหรือต่างจากตนเอง เป็นการรวบรวมมวลประสบการณ์ที่หลากหลายจากแต่ละคนเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ร่วมกัน องค์ประกอบนี้ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้สอน ดังนี้ ผู้เรียน รู้สึกว่าตนมีความสำคัญเพราะได้มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก มีผู้ฟังเรื่องราวของตนเองและได้รับรู้เรื่องราวของคนอื่น นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้วยังทำให้สัมพันธภาพในกลุ่มผู้เรียนเป็นไปด้วยดี ผู้สอน ไม่เสียเวลาในการอธิบายหรือยกตัวอย่าง เพียงแต่ใช้เวลาเล็กน้อยในการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และยังช่วยให้ผู้สอนได้ทราบถึงความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิมของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป ในกรณีที่ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ในเรื่องที่สอนหรือมีน้อย ผู้สอนอาจต้องจัดประสบการณ์ให้ ซึ่งทำได้ทั้งทางตรง เช่น การนำตัวอย่างของจริงมาให้ผู้เรียนได้สัมผัสเพื่อสังเกตความแตกต่าง และทางอ้อม เช่น การเล่าประสบการณ์ชีวิตจากเรื่องที่ไม่สามารถจัดประสบการณ์ตรงให้ผู้เรียนได้ กิจกรรมในองค์ประกอบนี้เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ การตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่มาจากประสบการณ์หลากหลายของผู้เรียน และการจัดประสบการณ์ที่จำเป็นให้ผู้เรียนเพื่อความเข้าใจหรือกระตุ้นให้เกิดการคิด โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้านดังนี้ ด้านความรู้ เป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่จะสอน ด้านเจตคติ เป็นการจัดประสบการณ์ด้านอารมณ์ความรู้สึกให้ผู้เรียน เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสอดคล้องกับจุดประสงค์ และนำไปสู่การสะท้อนความคิดเห็นและอภิปรายเกี่ยวกับความคิดความเชื่อต่อไป ด้านทักษะ เป็นการให้ผู้เรียนได้ทดลองทำทักษะนั้น ๆ ตามประสบการณ์เดิมหรือสาธิตการทำทักษะเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจชัดเจน 2. การสร้างความรู้ร่วมกัน เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์มวลประสบการณ์ข้อมูล ความคิดเห็น ฯลฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้ชัดเจน หรือเกิดข้อสรุป/ความรู้ใหม่หรือตรวจสอบ/ปรับ/เปลี่ยนความคิดความเชื่อของตนเอง กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ เป็นกิจกรรมกลุ่มที่เน้นการตั้งประเด็นให้ผู้เรียนได้คิดสะท้อนความคิดหรือบอกความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้และได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง จนเกิดความเข้าใจชัดเจนได้ข้อสรุปหรือความรู้ใหม่หรือเกิด/ปรับ/เปลี่ยนความคิดความเชื่อตามจุดประสงค์ที่กำหนด โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน ดังนี้ ด้านความรู้ ตั้งประเด็นให้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสรุปความรู้ใหม่ที่ได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การสรุปสาระสำคัญ การวิเคราะห์ กรณีศึกษา การวิเคราะห์เปรียบเทียบ การวิเคราะห์แยกประเภทหรือจัดกลุ่มการวิเคราะห์ประเด็นความรู้เพื่อหาข้อสรุปและนำไปสู่ความคิดรวบยอด ฯลฯ ด้านเจตคติ ตั้งประเด็นอภิปรายที่ท้าทาย กระตุ้นให้เกิดการคิดหลากหลาย เน้นในเรื่องคุณค่าอารมณ์ความรู้สึก ความคิดความเชื่อ มีความสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้เรียนและนำไปสู่จุดประสงค์ที่ต้องการ ข้อสรุปจากการอภิปรายและความคิดรวบยอดที่ได้จะสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนด ด้านทักษะ ตั้งประเด็นให้อภิปรายโต้แย้งกันในเรื่องขั้นตอนการลงมือทำทักษะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ในแนวทางปฏิบัติทักษะนั้น และเกิดความมั่นใจก่อนจะได้ลงมือฝึกปฏิบัติจนชำนาญ 3. การนำเสนอความรู้ เป็นองค์ประกอบที่เน้นให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลความรู้ แนวคิด ทฤษฎี หลักการ ขั้นตอน หรือข้อสรุปต่าง ๆ โดยครูเป็นผู้จัดให้เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการสร้างความรู้ใหม่หรือช่วยให้การเรียนรู้บรรลุจุดประสงค์ กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ ได้แก่ - การให้แนวคิด ทฤษฎี หลักการ ข้อมูลความรู้ ขั้นตอนทักษะ ซึ่งทำได้โดยการบรรยาย ดูวีดีทัศน์ ฟังแถบเสียง อ่านเอกสาร/ใบความรู้/ตำรา ฯลฯ - การรวบรวมประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นผลให้เกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระเพิ่มขึ้น - ความคิดรวบยอดที่ได้จากการรวบรวมข้อสรุปของการสะท้อนความคิดและอภิปรายประเด็นที่ได้มอบหมายให้ กิจกรรมเหล่านี้ควรทำเป็นขั้นตอนและประสานกับองค์ประกอบการเรียนรู้อื่น ๆ โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน ดังนี้ ด้านความรู้ ผู้เรียนเกิดความรู้ในเนื้อหาสาระ ข้อมูลความรู้อย่างชัดเจน ด้านเจตคติ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกและความคิดความเชื่อที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดให้ ด้านทักษะ ผู้เรียนรับรู้แนวทางปฏิบัติตามขั้นตอนของทักษะนั้น ๆ อย่างชัดเจน 4. การประยุกต์ใช้หรือลงมือปฏิบัติ เป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนได้นำความคิดรวบรวมหรือข้อสรุป หรือความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นไปประยุกต์หรือทดลองใช้ หรือเป็นการแสดงผลสำเร็จของการเรียนรู้ในองค์ประกอบนั้น ๆ ซึ่งผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ในการประเมินผลการเรียนรู้ เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รู้จักการนำไปใช้ในชีวิตจริง ไม่ใช่แค่เรียนรู้เท่านั้น จุดเน้นของกิจกรรมในองค์ประกอบนี้สำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน มีดังนี้ ด้านความรู้ เป็นการผลิตซ้ำความคิดรวบยอดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สร้างคำขวัญ ทำแผนภาพ จัดนิทรรศการ เขียนเรียงความ ทำรายงานสรุปสาระสำคัญ ทำตารางวิเคราะห์/เปรียบเทียบ ฯลฯ ด้านเจตคติ เป็นการแสดงออกที่สอดคล้องกับเจตคติที่เป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น เขียนจดหมายให้กำลังใจผู้ติดเชื้อเอดส์ สร้างคำขวัญรณรงค์รักษาความสะอาดในโรงเรียน ฯลฯ ด้านทักษะ เป็นการลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนทักษะที่ได้เรียนรู้ การนำองค์ประกอบทั้ง 4 มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จะใช้องค์ประกอบใดก่อนหลังหรือใช้องค์ประกอบใดกี่ครั้งในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ สามารถออกแบบตามความเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้และจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนด แต่จำเป็นต้องให้มีครบทั้ง 4 องค์ประกอบ ในแต่ละองค์ประกอบสามารถออกแบบกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ดังที่จะกล่าวต่อไป การออกแบบกิจกรรม มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนทำกิจกรรมได้ตรงตามความต้องการของผู้สอน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักการในการออกแบบกิจกรรม มีดังนี้ 1. จัดกิจกรรมให้ครบ 4 องค์ประกอบ การเรียนรู้แต่ละกิจกรรมควรมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน 2. กำหนดกิจกรรมที่ชัดเจนว่าจะให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มอย่างไร เพื่อทำอะไร ใช้เวลามากน้อยแค่ไหน โดยจัดเวลาให้เหมาะสมตามความสำคัญของแต่ละองค์ประกอบการเรียนรู้ เมื่อทำงานเสร็จแล้วให้ทำอะไรต่อ เช่น ส่งตัวแทนนำเสนอผลงาน นำผลงานไปติดบอร์ดให้สมาชิกทั้งชั้นได้อ่าน ฯลฯ 3. กำหนดบทบาทของกลุ่มและสมาชิกแต่ละคนให้ชัดเจน โดยทั่วไปควรให้แต่ละกลุ่มมีบทบาทที่ต่างกัน เมื่อนำมารวมกันในชั้นจะเกิดการขยายการเรียนรู้ ไม่ซ้ำซ้อนน่าเบื้อและใช้เวลาน้อยลง โดยเฉพาะการทำกิจกรรมที่จะต้องมีการจัดสรรบทบาทสมาชิก ควรกำหนดบทบาทสมาชิกให้ชัดเจน เช่น เป็นผู้เล่นบาทบาทสมมติ เป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลงานในชั้น ฯลฯ 4. กำหนดโครงสร้างของงานที่ชัดเจน บอกรายละเอียดของกิจกรรม บทบาทสมาชิกในกลุ่มกรอบการทำงานที่เป็นรูปธรรม กำหนดเวลาทำงานในกลุ่มและเวลาในการนำเสนอ ตลอดจนสิ่งอื่น ๆ ที่จะช่วยให้กลุ่มทำงานได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เช่น ตารางนำเสนอผลงานกลุ่มตารางวิเคราะห์ผลการอภิปรายกลุ่มแผนภูมิก้างปลา ฯลฯ โครงสร้างของงานนี้สามารถออกแบบจัดทำเป็นใบกิจกรรมแจ้งแก่ผู้เรียนหรือเขียนลงแผ่นโปรงใสฉายขึ้นจอ เป็นต้น การออกแบบปฏิสัมพันธ์ จากผลการวิจัยกระบวนการเรียนรู้แบบเดิมที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางพบว่า มีผลต่อผู้เรียนดังนี้ 1. ผู้เรียนขาดประสิทธิภาพในการทำงานกลุ่ม ขาดทักษะในการวางแผนการอภิปราย การคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล 2. การเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ครูใช้วิธีสอนแบบเดียวกันกับผู้เรียนทั้งชั้น ซึ่งมีความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้เรียนบางคนไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จทางการเรียนได้ เพราะคนเก่งจะเรียนรู้ได้ดีกว่า คนที่ไม่เก่งอาจถูกละเลยไป 3. ผู้เรียนส่วนใหญ่จะบรรลุจุดมุ่งหมายเฉพาะตน ก่อให้เกิดการแข่งขันเป็นรายบุคคล ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม ขาดความร่วมมือ ขาดความรักและสามัคคีในหมู่คณะ ทำให้เป็นคนที่ไม่รู้จักการเสียสละและเห็นแก่ตัวในที่สุด การออกแบบปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงเป็นการจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากกลุ่มให้มากที่สุด แทนการฟังบรรยายอย่างเดียว เนื่องจากข้อค้นพบจากงานวิจัยต่าง ๆ ในเรื่องการเรียนรู้โดยกระบวนการกลุ่มพบว่า 1. ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีความสามารถและมีการพัฒนาทักษะต่าง ๆ มากขึ้นเพราะกลุ่มเป็นที่รวมของประสบการณ์ของคนหลายคน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันนอกจากนี้กลุ่มยังเป็นแรงจูงใจซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ทำงานประสบผลสำเร็จมากขึ้น 2. ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจริยธรรม กล้าแสดงความคิดเห็น ฝึกตัดสินใจและแก้ปัญหา รู้จักวางแผน มีวินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักเป็นผู้นำ/ผู้ตาม ปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตย ตลอดจนเรียนรู้ค่านิยมที่ดีระหว่างผู้เรียน ความเห็นอกเห็นใจ การช่วยเหลือและการยอมรับซึ่งกันและกันโดยไม่แบ่งแยก 3. ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เพราะการมีปฏิสัมพันธ์และการได้ลงมือคิดเองทำเอง ทำให้การเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา มีความซาบซึ้ง จดจำได้นาน ออกจากนี้ยังเป็นการฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม โดยภาพรวมแล้วการเรียนรู้โดยกระบวนการกลุ่มจะช่วยปลูกฝังความใฝ่รู้และความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองแก่ผู้เรียน การเลือกประเภทของกลุ่มให้เหมาะสมกับแต่ละกิจกรมการเรียนรู้ จึงช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เมื่อรวมกับการออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์มากที่สุด จึงทำให้ผู้เรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน หลักการออกแบบปฏิสัมพันธ์ มีข้อพิจารณาดังนี้ 1. ความยากง่ายในการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ กลุ่มยิ่งเล็ก การมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์จะยิ่งง่ายขึ้น ดังนั้นกลุ่ม 2 คน จะมีปฏิสัมพันธ์ได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ 2. ความลึกซึ้งของการแสดงความคิดเห็น กลุ่มที่มีสมาชิกมากกว่าจะสามารถทำงานได้ด้วยความคิดที่ลึกซึ้งและหลากหลายมากกว่า ดังนั้น 5-6 คน จึงทำงานได้ลึกซึ้งสมบูรณ์กว่ากลุ่มที่มีสมาชิกน้อยกว่า จากการวิจัย พบว่ากลุ่มที่มีสมาชิกเกินกว่า 6 คน จะทำให้การมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ลดลงเนื่องจากมักจะแตกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีกทีหนึ่งแทนที่จะปฏิสัมพันธ์กันทั้งกลุ่ม 3. การกำหนดบทบาทของผู้เรียนในการทำงานกิจกรรมชนิดต่าง ๆ กิจกรรมบางประเภทไม่จำเป็นต้องกำหนดบทบาทสมาชิกที่ชัดเจน ขณะที่กิจกรรมบางประเภทต้องกำหนดบทบาทของสมาชิกกลุ่ม จึงควรเลือกชนิดของกลุ่มที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น ๆ ได้แก่ 3.1 กลุ่มที่ไม่มีการกำหนดบทบาทสมาชิก ได้แก่ กลุ่ม 2 คน กลุ่ม 3-4 คน กลุ่มใหญ่คือทั้งชั้น 3.2 กลุ่มที่มีการกำหนดบทบาทสมาชิก ได้แก่ กลุ่ม 3 คน กลุ่ม 5-6 คน และกลุ่มนอกเหนือจากนี้ ซึ่งสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสมของกิจกรรมแต่ละประเภท ตัวอย่าง เช่น 3.3 กลุ่มใหญ่ทั้งชั้น จัดเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน มักใช้ในกิจกรรมที่ต้องการให้มีส่วนร่วมพร้อมกันทั้งนั้น เช่น การบรรยายให้หลักการ/แนวคิด/ทฤษฎี การรายงานผล การอภิปรายกลุ่ม การดูสื่อ ฟังกรณีศึกษา การรวบรวมประสบการณ์ ฯลฯ กิจกรรมเสนอแนะ เป็นกิจกรรมที่เสนอแนะไว้เป็นทางเลือก เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเรียนที่แตกต่างกัน และยังเป็นกิจกรรมที่เสนอไว้สำหรับทำต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากชั่งโมงการเรียนรู้ เช่น อาจแจกงานให้นักเรียนทำนอกเวลาเรียนแล้วส่งเป็นผลงาน ใช้จัดทำเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นต้น นอกจากนี้อาจเป็นกิจกรรมที่เสนอแนะเปิดกว้างให้ผู้เรียนเลือกทำตามความสนใจและความถนัดได้ด้วย ตัวอย่างกิจกรรมเสนอแนะ - การสรุปผลงานที่เกิดในชั่วโมงการเรียนรู้นำมาติดบอร์ด - หนังสืออ่านเพิ่มเติมนอกเวลา - ทัศนศึกษาสถานที่ในประวัติศาสตร์ - ตัดข่าวที่น่าสนใจนำมาสรุปให้เพื่อนฟังในชั่วโมงโฮมรูม ฯลฯ เอกสารอ้างอิง กระทรวงศึกษาธิการ. 2546. ชุดฝึกอบรมการปรับกระบวนทัศน์และพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา.กรุงเทพฯ : องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์. ที่มา : “ การออกแบบการเรียนรู้. ( ออนไลน์ ) . เข้าถึงได้จาก : http://www.lbtech.ac.th/downloads/T50/D1.doc

หมายเลขบันทึก: 198092เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2008 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท