เรื่องเล่าเร้าพลัง


ย้ำ ๆ เน้น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป

 

ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 โรงเรียนวัดบ้านดาบ  โดย

นโยบายของผู้บริหารสถานศึกษา  ได้เข้าร่วมโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมร่วมกับโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นการเรียนโดยใช้สื่อทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ  และจากการประเมินผลการเรียนระดับชาติ (Nation test )  วิชาภาษาไทย ในปีการศึกษา 2547 ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่ำลงเมื่อเทียบกับการประเมินผลการเรียนระดับชาติ (Nation test) วิชาภาษาไทย           ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2546   ซึ่งเป็นการสอนโดยไม่ใช้สื่อทางไกล

                    ดิฉันได้เก็บปัญหาที่พบมาคิดว่าเป็นเพราะอะไร แล้ววันหนึ่งในชั่วโมงสอนที่ดิฉันรับผิดชอบ ครูในโทรทัศน์กำลังสอนเรื่องชนิดของประโยค โดยการอธิบาย ดิฉันสังเกตเด็กในชั้นที่ดิฉันคุมอยู่ไม่มีใครที่กำลังจดบันทึกเลย หลายคนพูดคุยกับเพื่อน ๆ หลายคนนั่งตามสบาย ตามองจอโทรทัศน์แบบไร้จุดมุ่งหมาย ดิฉันจึงถามว่าทำไมนักเรียนไม่จดบันทึกลงในสมุด  นักเรียนตอบว่า  ก็ครูเขายังไม่ได้สอนนี่คะ       ดิฉันจึงพูดว่า  ก็ครูกำลังสอนอยู่มิใช่หรือ นักเรียนตอบดิฉันว่า ถ้าครูสอนก็ต้องขึ้นสไลด์ซิคะ.....ดิฉันจึงเข้าใจ............ว่าครูสอนของพวกเขาก็คือตัวหนังสือที่ขึ้นบนจอโทรทัศน์ เพื่อที่จะให้พวกเขาได้ลอกตาม  ดิฉันจึงบอกนักเรียนว่า ครูเขาสอนตั้งนานแล้ว พวกเธอต้องสรุปคำพูดของครูที่สำคัญแล้วบันทึกลงในสมุด ไม่ใช่รอสไลด์แต่เพียงอย่างเดียว แล้วดิฉันก็สังเกตว่านักเรียนจะทำตามหรือไม่  ผลปรากฏว่าในหนึ่งชั่วโมงนั้นนอกจากเนื้อหาในสไลด์ของครูทางโทรทัศน์แล้ว  มีร่องรอยการบันทึกใจความสำคัญจากนักเรียนเพียงไม่กี่คนที่เพิ่มขึ้นและเป็นบันทึกที่ไม่ได้ใจความตามที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด

                   จากวันนั้น ดิฉันกลับไปคิดแบบสอบถามและแบบประเมินการฟังและการอ่านจับใจความสำคัญซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการใช้ในการเรียนการสอน นำไปประเมินเด็กที่ดิฉันสอน และจากการสรุปแบบสอบถามและการประเมินทักษะการฟังและการอ่านดังกล่าว พบว่านักเรียนขาดทักษะในการอ่านและการฟังเพื่อจับใจความสำคัญ ทำให้นักเรียนไม่สามารถจดและจำสาระสำคัญจากเนื้อหาที่เรียนได้ หรือนักเรียนบางคนมีทักษะดังกล่าวแต่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนได้เช่น  ฟังหรืออ่านไม่ทัน อ่านหรือฟังได้ช้า เก็บใจความสำคัญได้ไม่ครบ เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่ง  

 

                    ดิฉันซึ่งเป็นครูผู้สอนประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยช่วงชั้นที่ 3 จึงได้ศึกษาหลักการจัดการเรียนการสอนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุดังกล่าว  สรุปได้ดังนี้

1.          นักเรียนขาดความรู้เรื่องหลักการจับใจความสำคัญ

2.          ผู้เรียนขาดนิสัยรักการอ่าน จึงมีสมาธิในการอ่าน

                              ค่อนข้างสั้น

ดิฉันจึงได้จัดทำวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาทักษะการอ่าน

จับใจความสำคัญ โดยจัดทำสื่อและนวัตกรรม คือชุดแบบฝึกการพัฒนาการอ่านจับใจความสำคัญของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยคือ

              1.เพื่อค้นหาวิธีแก้ไขพฤติกรรมการการอ่านจับใจความสำคัญของนักเรียนช่วงชั้นที่ดิฉันสอนอยู่คือช่วงชั้นที่ 3

    2.เพื่อฝึกทักษะการจับใจความสำคัญจากการอ่านสื่อที่กำหนดให้หรือเรื่องที่สนใจ

    3.เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการอ่านจับใจความสำคัญ สามารถนำมาเล่าหรือเขียนสื่อความให้กับผู้รับสารได้อย่างเข้าใจและถูกต้อง

            วิธีดำเนินการ  ดิฉันมีบันทึกประจำวัน          ซึ่งได้บันทึกเมื่อ

เกือบยี่สิบปีที่แล้วเป็นเรื่องราวของตัวเองที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นครูอยู่ในโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญ จึงนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นเรื่องสั้น ๆ เนื้อหาจบในหนึ่งตอน รวมทั้งสิ้น 9 เรื่องด้วยกัน โดยจัดทำเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย ช่วงชั้นที่ 3 เรื่องสั้นชุด คิดถึงเหลือเกิน  ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน โดยจัดทำเป็นชุดแบบฝึก  ประกอบด้วยตัวสื่อคือเรื่องสั้นจำนวน 9 เรื่อง ใบความรู้ ใบงาน แบบฝึก แบบประเมิน  นำมาบรรจุในแผนจัดการเรียนรู้     โดยมีกระบวนการคือนำเนื้อหาในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวมาให้นักเรียนฝึกอ่านจับใจความ  เริ่มต้นจากการจับใจความทีละย่อหน้า    เสร็จแล้วให้นักเรียนทำใบงานสรุปว่าย่อหน้านั้น ๆ มีใจความสำคัญว่าอย่างไร โดยใช้วิธีตอบคำถามว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ใช้วิธีการย้ำ ๆ เน้น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเนื้อหาในการฝึกให้มากขึ้น   เมื่อจบเรื่องสั้นก็จัดหาสื่อจากแหล่งอื่น เช่นจากห้องสมุด จากอินเตอร์เนต มาให้นักเรียนได้ฝึกอ่าน ฝึกทำแบบฝึก  โดยดิฉันจะเผื่อเวลาไว้ก่อนหมดชั่วโมงประมาณ 10 นาที เพื่อฝึกนักเรียนในเรื่องนี้

ผลของการวิจัย                

1.    นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในปีการศึกษา 2548 สูงขึ้น จากการเทียบผลในปีการศึกษา 2547 แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ ดิฉันจึงคิดพัฒนาการวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป   

2.     ต่อมาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550  ดิฉันได้เปลี่ยนวิธีการสอนจากการใช้สื่อทางไกลผ่านดาวเทียม มาเป็นวิธีสอนด้วยตนเอง  เพราะมีวัตถุประสงค์ต้องการที่จะฝึกนักเรียนในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น ผลการสอบ NT ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นนักเรียนกลุ่มที่ดิฉันใช้ชุดแบบฝึกดังกล่าวมาตั้งแต่นักเรียนกลุ่มนี้อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  สูงขึ้นกว่าผลการสอบในปีการศึกษา 2549   ร้อยละ  3.68   ซึ่งเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง

                    ดิฉันมีความคิดส่วนตัวว่าการจะแก้ปัญหาการเรียนรู้ให้กับนักเรียน บางครั้งกลวิธีง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องสลับซับซ้อนอะไรถ้าเราทำอย่างจริงจัง ก็ยังสามารถใช้ได้ผลดี   นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ดิฉันต้องการนำเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของดิฉันเรื่องนี้ มาเร้าพลังคุณครูทุกท่านว่า...........บางครั้งแนวความคิดหรือทฤษฎีที่สวยหรูก็ไม่มีความหมายอะไร ถ้าขาดความตั้งใจจริงที่จะทำ........

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 197983เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2008 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับอาจารย์แจ๋ว

  • ไม่ทราบว่าตอนนี้อาจารย์เข้าใจคำว่าบล็อก กับ บันทึกหรือยัง เห็นอาจารย์เปิดบล็อกใหม่เป็นชื่อบันทึกเรื่อยๆ
  • คำสำคัญหาอ่านเพิ่มเติมได้ในบันทึกของ น้องมะปรางเปรี้ยว นะครับ
  • มีอะไรให้ช่วยเหลือก็ยินดีนะครับ และเป็นกำลังใจให้คุณครู รร.วัดบ้านดาบ ทุกคนด้วยครับ

ขอขอบคุณ คุณสะ-มะ-นึก มากค่ะ...ยังมือใหม่ที่ต้องการการพัฒนาอีกมาก แอบอ่านหาความรู้จาก gotoknow นี่แหละค่ะ ได้น้องมะปรางบ้าง ได้อาจารย์ขจิตบ้าง ตอนนี้คิดว่าน่าจะได้พึ่งคุณสะ-มะ-นึก อีกคน ยังไงกรุณาบอกความแตกต่างระหว่าง blog กับบันทึกให้ครูบ้านนอกทราบบ้างนะคะ....ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

สวัสดีครับ อ.วรางค์ภรณ์ (ครูแจ๋ว) เนื่องจากอวน

  • เช็คอีเมล์เจอข้อความของอาจารย์แล้วครับแต่ต้องต่อสู้กับไวรัสลงเครื่องอยู่ทั้งวันเลยครับ
  • ความแตกต่างระหว่าง blog กับบันทึก หรือครับขออธิบายแบบคร่าวๆนะครับ
  • Blog เปรียบเสมือนสมุดบันทึกซึ่งเราตั้งชื่อไว้ที่หน้าปกว่าเราจะบันทึกเนื้อหาอะไรลงไปเป็นเรื่องๆ
  • บันทึก ก็เปรียบเสมือนเรื่องราวต่างๆ ที่เราตั้งชื่อเป็นเรื่องเป็นตอนหรือหน้าบันทึกลงสมุดนั่นแหละครับ
  • เราไม่จำเป็นต้องเปิด Blog ใหม่ เพียงแต่เราตั้งชื่อ Blog ให้ครอบคลุมเนื่อหาของงาน(ชื่อบันทึก)เท่านั้นก่อน
  • ศึกษาไปเรื่อยๆนะครับ มีพื้นฐานแล้วคงไม่ยาก เป็นกำลังใจและยินดีให้คำแนะนำด้วยความยินดีครับ

 

สวัสดีค่ะพี่วราภรณ์

ไม่ต้องแปลกใจ ครูแอนเองคะ อยู่กลุ่มโรงเรียนเดียวกันไม่เจอกันเลย เอาเป็นว่ามาเจอกันใน blog ก็แล้วกันนะคะ โชคดีจังอ่านงานคนอื่นไปเรื่อย ๆ พอดีมาเจอพี่วราภรณ์เข้า ก็เลยเข้าไปอ่านงานพี่ทุกเรื่อง ยินดีกับครูบ้านดาบดาบด้วยคะที่เก่งเรื่อง IT กันเกือบทุกคนแล้ว เป็นกำลังใจให้นะคะ อย่างไงก็ดูแลสุขภาพด้วยคะ

ครูแอน ใดใหญ่

สวัสดีค่ะน้องแอน ดีใจจังพบคนคุ้นเคย พี่ต้องยอมรับยังเป็นมือใหม่อยู่มาก แต่ต้องยอมรับว่าสมาชิก gotoknow สัมพันธภาพอบอุ่นมาก แต่พี่ยังต้องคลำทางอีกมาก ตามประสา สว. (ผู้สูงอายุน่ะค่ะ) ถ้าดูแล้วพี่ทำอะไรไม่ค่อยเข้าท่า ช่วยแนะนำพี่ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ...ครูแจ๋ว บ้านดาบ ณ ลพบุรี

สวัดีค่ะคุณสะ-มะ-นึก

ขอบคุณในความกรุณาค่ะ แล้วจะลองคลำทางอีกทีนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์ด้วยครับที่ได้อ่านบทความของผมที่ได้เขียนลงให้ผู้อ่านได้อ่านกันและให้กำลังใจในการเขียนของผมและมีอะไรที่จะแนะนำผมในดอกาสต่อไปผมก้ยินดีรับฟังนะครับและผมยังจัดรายการวิทยุออนไลน์ด้วยติดตามได้นะครับที่ http://www.24dio.com/9394/ ครับ

สำหรับวันนี้ผมต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

จาก แก้ว สาริกา

089 9039098

สวัสดีค่ะคุณแก้ว สาริกา

ยินดีและขอบคุณเช่นกันค่ะ

  • มาทักทายอาจารย์
  • มาให้กำลังใจ
  • ไม่มีอะไรที่ครูไทยทำไม่ได้ครับ
  • ฮ่าๆๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

ขอบคุณค่ะ ได้กำลังใจจากอาจารย์มากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ ...

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณท่านผอ.ค่ะ และร่วมปรารถนาให้แม่ทุกคนในโลกนี้มีแต่ความสุขเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท