การจัดการความรู้ในชั้นเรียน : เคารพในความรู้


 

ในห้องสี่เหลี่ยมที่แคบ ๆ นั้น หากชนทั้งหลาย คือ อาจารย์และนักศึกษาต่าง “เคารพ” ในความรู้ซึ่งกันและกัน ห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ห้องนั้นจะเป็น “ห้องเรียนรู้” ที่น่าอัศจรรย์กว่าห้องใด

การจัดการความรู้ในชั้นเรียน ถ้าหาก อาจารย์มีความเคารพต่อความรู้ของนักศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์แล้ว ห้องเรียนก็จะกลายเป็นห้องรู้ ร่วมเรียน ร่วมรู้ ร่วมกัน

“นักศึกษามิใช่โง่...” เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงของอาจารย์ที่จะนำจัดการความรู้เข้าสู่ชั้นเรียนต้องตระหนัก

IQ ความรู้ ความสามารถ ความเก่งของอาจารย์ที่ถูกประเมินค่าด้วยปริญญานั้น จักต้องมีสิ่งหนึ่งตามมาด้วยก็คือ EGO คืออัตตาหรือตัวตน

การหยิ่ง ผยอง ลำพองในความรู้ของตนเองนั้นทำให้เรา (อาจารย์และนักศึกษา) ขาดการเคารพซึ่งกันและกัน จึงทำให้ห้องเรียนนั้นเป็นการพูด สอน บ่น พร่ำ เพ้อ แต่ฝ่ายเดียว

“นักศึกษามีความรู้...” อาจารย์ที่เป็นนักจัดการความรู้จักต้องศรัทธาในความรู้ของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาปริญญาตรี โท เอก ประถม หรือมัธยม แต่ละผู้แต่ละคนต่างมี “ความรู้” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ฝังอยู่ในตัวแต่ละคน

อย่างน้อยก็เรื่องบ้านเขาล่ะ เรื่องครอบครัวเขา

ครอบครัวเขาประกอบอาชีพอะไร เขาอยู่ เขาจมกับอาชีพนั้นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ชีวิตเขาสัมผัสอยู่อย่างนั้น

ชีวิตเราสัมผัสความรู้อันคงไว้ซึ่งใบปริญญา แต่ชีวิตเขาสัมผัสปัญญาจากประสบการณ์

อาจารย์จักต้องศรัทธาความรู้ฝังลึกที่มีอยู่ในตัวของนักศึกษา
เมื่อมีความศรัทธาแล้ว การจัดการความรู้ในห้องเรียนนั้นจึงจักกลายเป็นการจัดการ “ปัญญา” ที่ทรงคุณค่าต่อสังคม

อาจารย์ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ตรงของเด็ก ๆ
บ้านเด็กทำนา เราก็มีความรู้เรื่องทำนา
รู้เลาะเจาะลึกไปถึงเม็ดดินที่เกาะอยู่ถึงรากต้นข้าวได้หากใช้การจัดความรู้ในชั้นเรียน

ชั้นเรียนคือเวที...
อาจารย์เป็นอาชีพที่ได้เปรียบยิ่ง หากลด EGO ของตนเองได้
เพราะอาจารย์สามารถจัดเวทีได้ทุกวัน วันหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง ครั้งหนึ่งหลายชั่วโมง แต่ละชั่วโมงจัดการความรู้ได้กับนักศึกษาที่มีพื้นฐานครอบครัวในหลากหลายอาชีพ

นี่คือพลังแห่งความรู้ พลังที่อยู่คู่ห้องเรียน
การวิจัยในชุมชนไม่จำเป็นเลย ถ้าหากเรารู้จักจัดการความรู้ในชั้นเรียน
เพราะชั้นเรียนก็คือชุมชน นักศึกษาก็คือคนในชุมชน
เรามีเวลาคุยกับนักศึกษามากกว่าคุยกับคนในชุมชน
นักศึกษาให้ความร่วมมือ จริงจัง จริงใจ ให้เวลาเรามากกว่าคนในชุมชน
ประโยชน์อย่างเอนกอนันต์จักเกิดขึ้นได้หากเรา “ยอมศรัทธา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาผู้ใหญ่ ภาคพิเศษ เขาเหล่านี้มีประสบการณ์สูง
เขามีประสบการณ์ แต่เขาไม่มีใบปริญญาเขาจึงมาเรียน
เมื่อเขาต้องการปริญญา ระบบการศึกษาบอกว่า คนมีปริญญาที่สูงกว่าถึงจะสอน ถึงจะให้ใบปริญญาที่ต่ำกว่าหรือเทียบเท่านั้น วันนี้เขาเลยต้องมาเรียน

เมื่อเขามาหาเราแล้ว เราจักต้องสร้างประโยชน์ให้กับเขาและเราอย่างสูงสุด
ความรู้ที่เราได้มาซึ่งใบปริญญาจักมีประโยชน์มากหลายหากรู้จักเชื่อมกับประสบการณ์กับนักศึกษา
นักศึกษาอีกมากมายก็จักได้รับ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
ประสบการณ์เหล่านั้นจักทำให้ใบปริญญาของเขาและเรามีพลัง สืบสานส่งต่อความรู้สืบต่อไป

การจัดการความรู้ในชั้นเรียนเป็นการเปลี่ยนทัศนคติด้านความรู้ของนักศึกษา
นักศึกษามีความรู้ มีความรู้ และมีความรู้
เราในฐานะครูจักต้องจัดการความรู้นั้นให้มีพลัง

พลังที่จะเกิดขึ้นมาจากการจัดการความรู้ได้นั้นจักต้องเกิดจากความเคารพในความรู้ซึ่งกันและกัน
พลังที่จะเกิดประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ย่อมเกิดขึ้นได้ในห้องเรียน

หมายเลขบันทึก: 197947เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2008 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท