สภามหาวิทยาลัยแห่งการถกเถียงในบรรยากาศของความไว้วางใจ


participation อยู่ในระดับนโยบาย คือสภาฯ ไม่ใช่อยู่ในระดับบริหาร ซึ่งต้องไว้วางใจให้ฝ่ายบริหารเขาดำเนินการ โดยสภาทำหน้าที่ประเมินผลตามที่ระบุใน พรบ.

 

          ๑๖.๓๕ น. สภามหาวิทยาลัยมหิดลสิ้นสุดการประชุม เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ค. ๕๑   รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ รศ. นพ. ปรีชา สุนทรานันท์ ถามผมว่า “อาจารย์เหนื่อยไหมครับ”    ที่ท่านถามอย่างนี้ก็เพราะในการประชุมมีการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในวาระเรื่อง ร่างข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล เป็นเวลาชั่วโมงเศษ    เป็นการโต้แย้งระหว่างกรรมการสภาสายคณาจารย์ กับฝ่ายบริหาร    โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคอยให้ความเห็นในหลักการที่เน้นการจัดการแบบมีประสิทธิภาพ    และให้สติ ในแง่มุมต่างๆ


          กรรมการสภาสายคณาจารย์ต้องการให้มีระบบที่เน้น ตัวแทน หรือ participation / representation    ฝ่ายบริหารต้องการเน้นความมีประสิทธิภาพในการจัดการ และ strong executive   ยิ่งถกเถียงกัน ก็ยิ่งได้ความกระจ่างในหลักการและวิธีการบริหารงานบุคคล และการตรวจสอบประเมินผลงานของฝ่ายบริหาร    เป็นบทเรียนแห่งการออกนอกระบบราชการโดยแท้ 


          เดิมคณะทำงานยกร่างข้อบังคับนี้ยกร่างมาในระบบตัวแทน ตามที่ผมบันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/council/194259    แต่ในการประชุมสภาเดือนที่แล้ว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเตือนว่า ข้อบังคับแนวนี้จะทำให้งานไม่เดิน    ทำงานไม่ออก    จึงมีการนำกลับไปปรับปรุงใหม่    คณะทำงานก็ยังเสนอมาแนวเดิม  แต่ฝ่ายผู้บริหารยืนยันขอเปลี่ยนเป็นแนว strong executive   เมื่อกลับลำแบบสวนทางเช่นนี้ การถกเถียงโต้แย้งจึงรุนแรงมาก


          แต่ตัวเชื่อมจิตใจของกรรมการสภาไว้ด้วยกันคือความเชื่อถือในความสามารถ ความจริงใจ และรับฟังความคิดเห็นของท่านอธิการบดี ศ. (คลินิก) นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร    ความแตกต่างในความคิดจึงไม่นำไปสู่ความแตกแยก   เชื่อไหมว่าหลังจากถกเถียงกันประมาณเกือบชั่วโมงครึ่ง    เรามีฉันทามติให้ใช้ข้อบังคับตามแนวที่ฝ่ายบริหารเสนอ    โดยมีเงื่อนไขว่าขอให้นำผลการใช้ข้อบังคับดังกล่าวมารายงานสภาหลังใช้ไปครบ ๖ เดือน    เป็นการลงมติแบบไม่โหวต  แต่ไม่มีคนขัดข้อง  และทุกคนแสดงความไว้วางใจท่านอธิการบดีและทีมบริหาร    ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดีมาก 


          และกรรมการสภาฯ ก็ได้ความรู้เชิงหลักการว่า participation อยู่ในระดับนโยบาย คือสภาฯ    ไม่ใช่อยู่ในระดับบริหาร ซึ่งต้องไว้วางใจให้ฝ่ายบริหารเขาดำเนินการ    โดยสภาทำหน้าที่ประเมินผลตามที่ระบุใน พรบ.

   
          ผมมองว่า บรรยากาศและสาระในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้ จะเป็นการวางพื้นฐานขององค์กรที่มีการจัดการสมัยใหม่    ที่เงิน ๑๐๐ บาท ที่เคยก่อคุณค่า X สมัยอยู่ใต้ระบบราชการ (bureaucracy) จะก่อคุณค่า 2X ในระบบใหม่    แต่จะต้องใช้เวลาทำ change management ไประยะหนึ่ง    และบรรยากาศในสภาฯ คราวนี้คือส่วนหนึ่งของกระบวนการ change management    คือเปลี่ยนจาก bureaucratic management มาเป็น business-like management    ซึ่งประชาคมมหิดลทั้งประชาคมจะต้องทำความเข้าใจ


          สิ่งสำคัญที่จะต้องเปลี่ยน คือวิธีคิด (mentality)    เปลี่ยนจากคิดแบบราชการ เอากฎเกณฑ์กติกาเป็นตัวตั้ง และสมาชิกในองค์กรตั้งตัวเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง หรือฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้บริหาร    มาเป็นคิดแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์    โดยที่ทุกคน ทุกภาคส่วนขององค์กรร่วมกันลงมือทำเพื่อผลสัมฤทธิ์นั้น   ในมหิดลมีฝ่ายเดียว คือฝ่ายมหิดล


          การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือเปลี่ยนวัฒนธรรม จากวัฒนธรรม low trust  เป็นวัฒนธรรม high trust + strong evaluation   ซึ่งก็คือวัฒนธรรมองค์กรแบบ business-like นั่นเอง 


          ผมบันทึกหลักการสำคัญในการทำงาน จากการให้ความเห็นในสภาไว้หลายประเด็น ดังนี้

 ในการขับเคลื่อน change ด้วยความไม่มั่นใจ   ไม่รู้ว่าการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร    คนมัก assume worst case scenario เสมอ    ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงดำเนินการเปลี่ยนแปลง    เราต้องไม่ตกหลุมนี้ (วิชิต)
  การมีส่วนร่วมให้ร่วมในระดับนโยบาย    อย่าเข้าไปร่วมตอนปฏิบัติ (ประเวศ)
  การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารต้องประเมินระยะยาว อย่าประเมินระยะสั้น   มิฉะนั้นผู้บริหารจะทำงานเพียงเพื่อเห็นผลเฉพาะหน้าเท่านั้น    ไม่ทำงานเพื่อความเจริญระยะยาว (ผมคิดถึงราชการขึ้นมาทันที)    ยิ่งมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่งานมีธรรมชาติเห็นผลระยะยาว ยิ่งต้องประเมินผลงานผู้บริหารระยะยาว (วิชิต)
 การเปลี่ยนแปลงยุบรวมองค์กร หรือปฏิรูประบบ ต้องไม่เริ่มที่โครงสร้าง (O – Organization) ต้องเริ่มเป็นขั้นตอน คือ P – P – P – O   ได้แก่ P – Purpose แล้วจึงต่อด้วย P – Principle   และ P – Participation  แล้วจึง O – Organization   ซึ่งผมตีความว่าต้องสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน ด้วย C – Communication และด้วย S – Socialization แล้วจึงออกข้อบังคับกำหนดโครงสร้างองค์กรภายหลัง
 การประเมินผู้บริหารอย่างจริงจัง  เป็นกลไกกำกับการให้อำนาจการจัดการแบบ strong executive (ธวัชชัย)

 

          ผมสรุปกับตนเองว่า    สภามหาวิทยาลัยในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ เป็นห้องทำงานและห้องเรียนไปในเวลาเดียวกัน    เรากำลังเรียนวิชาเปลี่ยนกระบวนทัศน์ร่วมกัน

 

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ก.ค. ๕๑

                           
          

หมายเลขบันทึก: 197629เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท