the_first_domino(2) --ความจริงข้อที่หนึ่ง


…ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่จัดการตัวเองได้ เราไม่ต้องไปคุ้ยไปเขี่ยไปจุ้นจ้านกับมันมาก(เผลอๆมันอาจพาลอึดอัดรำคาญไม่ทำงานเอาซะอีก)

(ร่างบทความสำหรับเผยแพร่ในเว็บไซท์ของนรทุนรัฐบาล)

--------- ----------------------

บทความต่อไปนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักเรียนทุนรัฐบาล แต่เป็นความคิดเห็นของนักเรียนทุนคนหนึ่งต่อการยกสถานะทางวิชาการของประเทศเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ ผมนำเสนอบทความนี้ต่อนักเรียนทุนเป็นกลุ่มแรกเพราะผมเห็นว่าสังคมนักเรียนทุนนี้เป็นสังคมวิชาการที่เข้มแข็งที่สุดสังคมหนึ่งของประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจ ความรู้ ประสบการณ์ และพันธมิตรที่หลากหลาย ท้ายสุดแล้วผมเชื่อว่าพวกเราต่างมีอุดมการณ์ลึกๆร่วมกันที่จะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เพื่อประเทศของพวกเรา

--------- ---  -- - - - ---  ----  --- -- --- ------ - --

ความจริงข้อที่หนึ่ง…
ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลางถึงค่อนข้างเล็กครับ “ขนาด “ ในที่นี่หมายถึง ทรัพยากร มวลรวมที่สามารถใช้ขับเคลื่อนประเทศ ได้แก่ พื้นที่ ขนาดเศรษฐกิจ  จำนวน และคุณภาพของประชากร ผมยกความจริงข้อนี้ขึ้นมาเตือนความจำกันก่อน เพราะว่า บ่อยครั้งเหลือเกินเวลาเราพูดถึงเรื่อง “ปฎิรูป และพัฒนา” เรามักจะเอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ “ขนาด” ต่างเรามากๆ
หลายต่อหลายครั้งที่เราพูดถึง “งบวิจัยและพัฒนา(R&D)” “จำนวนนักวิจัยต่อประชากร” “จำนวนผู้สำเร็จการศึกษา”ระดับนั้นระดับนี้ เราเอาตาราง เอาแผนภาพออกมากางดูกัน แล้วบ่นว่า โอ้โห เห็นมั๊ย เรามีไอ้นี้น้อยกว่าไต้หวัน ไอ้โน่นน้อยกว่าเกาหลี ไอ้นั่นไม่เท่าสิงคโปร์ (ไม่ต้องพูดถึงญี่ปุ่น อเมริกา อะไรพรรค์นี้นะครับ) ดูเหมือนว่าเราจะไม่มีอะไรพร้อมสักอย่าง การเปรียบเทียบและวิเคราะห์ลักษณะนี้มีประโยชน์อยู่บ้าง คือเตือนให้เรารู้ว่าเราขาดอะไรหลายๆนะ แต่น่าเสียดายว่าคนจำนวนมากหยุดอยู่แค่ตรงนั้น …คนจำนวนมากเหลือเกินที่ผมรู้จักหยุดอยู่ตรงความคิดที่ว่า ..
“ก็เรามันยังไม่พร้อม..จะทำอะไรได้สักเท่าไหร่”
คนจำนวนมากเหลือเกินโดยเฉพาะนักเรียนทุนผู้มีโอกาสเห็นโลกสองใบพร้อมๆกัน..โลกหนึ่งดูจะมีทุกอย่างพร้อมหมด งบเยอะ คนมีคุณภาพ ตลาดเปิด ระบบการศึกษาแข็งแรง ทุกอย่างเป็นระบบ ….อีกโลกหนึ่งโลกที่ตัวเองจากมา…ตอนก่อนมาก็ไม่เห็นมันมีปัญหาอะไรเท่าไหร่ แต่ยิ่งนานวันยิ่งเมื่อมองกลับไปเห็นว่ามันผุพรุนไปหมด  …คนส่วนมากเห็นทางออกอยู่สองทาง
หนึ่ง หนี…ออกไปทำอย่างอื่น ออกไปอยู่ที่อื่น ที่ดูจะพร้อมกว่า
สอง ทนๆไป ก้มหน้าก้มตาทำงานไป…ทำตัวเป็นคนดีที่โลกลืม มันคงจะดีขึ้นเองสักวัน
น่าแปลกนะครับที่ไม่เห็นมีใครตั้งใจวางแผนจัดการกับสำหรับปัญหาที่เห็นๆอยู่แล้วว่าต้องเจอตรงหน้า
ความจริงข้อที่หนึ่ง ที่ผมอยากจะย้ำคือ เราเป็นประเทศ “ขนาดเล็ก” ที่ทรัพยากรค่อนข้างจำกัด
เราเพิ่มขนาดได้…เพิ่มทรัพยากรได้..แต่ต้องใช้เวลา…..นาน
อีกอย่างคือทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องมหัพภาค การจะเพิ่มงบR&Dขึ้นมาเยอะๆ การจะเพิ่มจำนวนนักวิจัยมากๆ การจะยกระดับการศึกษาทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องการอำนาจ เป็นเรื่องที่ขึ้นกับ พวก “ยอดพีระมิด”(ซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ซักเท่าไหร่) มากเกินไป
…คนส่วนมากไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการจัดการทรัพยากร ..คนส่วนมากพูดถึงมันบ้างแบบผิวเผิน
…คนส่วนมากไม่ตั้งโจทย์ว่า
       …เอาหล่ะสมมติว่าทรัพยากรเรามีเเค่นี้ อาจจะเพิ่มได้แต่คงเป็นชาติหน้า เราจะทำยังไงกับมันดี
       …เอาหล่ะเรามีขีดจำกัดเยอะแยะ ภายใต้ขีดจำกัดนี้เราจะยืนขึ้นอย่างไร
       …เอาหล่ะเราจะออกไปตามค้นตามหาทุกซอกทุกมุมว่าไอ้ทรัพยากรอันมีค่าเนี่ยมันอยู่ที่ไหน เราจะขุดจะเจาะ เอามากลั่น เอามาแปรรูป เอามาใช้ 
คำถามสำคัญมีอยู่ว่า การบริหารทรัพยากร ก็เป็นเรื่องพวก “ยอดพีระมิด” มิใช่หรือ?

โดยทั่วไปเราคิดกันว่าการจัดการทรัพยากรคนเป็นหน้าที่ของผู้บริหารองค์กร และหน่วยงานรัฐที่มีตัวย่อคล้ายๆกันและจำยากๆ ซึ่งพวกเรามักจะบ่นกันว่าช้าบ้าง ซ้ำซ้อนบ้าง ไม่เห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง
พวกเราไม่ค่อยคิดกันว่า การจัดการทรัพยากรคน เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ซับซ้อนน้อยกว่าที่คิด

…ทรัพยากรมนุษย์ เป็นอะไรที่แปลกกว่าทรัพยากรทั่วไป อย่างแรก คือยิ่งใช่ยิ่งเพิ่ม ยิ่งใช้ยิ่งมีพลัง
ที่สำคัญไปกว่านั้น …ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่จัดการตัวเองได้ เราไม่ต้องไปคุ้ยไปเขี่ยไปจุ้นจ้านกับมันมาก(เผลอๆมันอาจพาลอึดอัดรำคาญไม่ทำงานเอาซะอีก) เราไม่ต้องไปบังคับให้มันโชว์กำลังสำแดงศักยภาพ เพื่อจะให้มันทำประโยชน์
…แต่ทรัพยากรมนุษย์ต้องการเงื่อนไขที่เหมาะสมบางอย่าง สภาพแวดล้อมบางอย่างอันเอื้ออำนวยต่อการที่มันจะจัดการตัวของมันเอง
เงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ทรัพยากรคนที่อยู่กระจัดกระจายเข้ามารวมตัวกันเอง จัดกลุ่มเอง แบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ต่างคนต่างทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ก็ปรับตัวเพื่อทำงานประสานกัน ต่างคนต่างเห็นภาพตัวเองเป็นจักรเฟืองเล็กๆแต่ทรงประสิทธิภาพ เห็นเฟืองตัวอื่นๆรอบข้างแข่งกันหมุนไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียง
…ที่สำคัญ ต่างคนต่างรู้ว่าตัวเองไม่ได้หมุนไปข้างหน้าเป็นบ้าเป็นหลังแค่เพื่อความมันส์ส่วนตัวแต่เพื่อขับเคลื่อนกลจักรของกลุ่ม หน่วยงาน องค์กร และประเทศ
เงื่อนไขพวกนั้นมีอะไรบ้าง? อะไรจำเป็นที่สุด? เป็นไปได้มากที่สุด?

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 19753เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2006 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท