AAR การประชุม ลปรร. R2R : ๑๕. สรุปการประชุม


 

          ข้อสรุปนี้เป็นของ ผศ. ดร. จรวยพร ศรีศศลักษณ์ เจ้าของงาน ซึ่งจะใช้ในการหารือร่วมกับภาคีต่อในวันที่ ๒๘ ก.ค. ๕๑    เพื่อขับเคลื่อน R2R ประเทศไทยต่อไป

 

สรุปการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ในหัวข้อ “จากงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research R2R): เสริมพลัง สร้างสรรค์ และพัฒนา” ใน
วันที่ ๒- ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร

          จากการจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “จากงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research R2R): เสริมพลัง สร้างสรรค์ และพัฒนา” ในวันที่ ๒- ๓  กรกฎาคม  ๒๕๕๑ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น ๑,๒๖๒ คน จากผู้ลงทะเบียนจำนวน ๑,๓๔๘ คน
ทั้งนี้ สามารถสรุปการดำเนินงานได้ดังนี้
      ๑. การประกวดรางวัล R2R 
          ตามที่ได้จัดให้มีการประกวดรางวัล R2R ดีเด่น ในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น ๓๖๐ เรื่อง แบ่งออกเป็นระดับปฐมภูมิ ๗๑ เรื่อง ทุติยภูมิ ๑๓๘ เรื่อง และตติยภูมิ ๑๕๑ เรื่อง โดยเกณฑ์การประกวดพิจารณาจาก การนำไปใช้หรือการสร้างความรู้ในการแก้ปัญหางานประจำ หรือการนำไปปรับระบบบริการ cost-effectiveness และเกิดการสร้างศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนการมีส่วนร่วมของคนทั้งในและนอกองค์กรที่เกี่ยวข้อง
 ผลการประกวด มีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น ๓๔ เรื่อง แบ่งเป็น
- ระดับปฐมภูมิ มีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน ๑๐ เรื่อง แบ่งเป็น ผลงาน R2R ยอดเยี่ยม ๑ เรื่อง และผลงาน R2R ดีเด่น ๙ เรื่อง
- ระดับทุติยภูมิ  มีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน ๑๑ เรื่อง แบ่งเป็น ผลงาน R2R ยอดเยี่ยม ๑ เรื่อง และผลงาน R2R ดีเด่น ๑๐ เรื่อง
- ระดับตติยภูมิ มีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน ๑๓ เรื่อง แบ่งเป็น ผลงาน R2R ยอดเยี่ยม ๑ เรื่อง และผลงาน R2R ดีเด่น ๑๒ เรื่อง

       ๒. ผลการประเมินจากแบบสอบถาม
          ผลการวิเคราะห์แบบประเมินการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R โดยวิเคราะห์จากข้อมูลผู้เข้าร่วมประชุมที่ตอบแบบประเมินจำนวน ๖๖๐ คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพยาบาล ๔๑๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๓.๐ และทราบข่าวสารการจัดการประชุมจากเว็บไซต์จำนวน ๒๑๒ คน เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นส่วนใหญ่ จำนวน ๒๓๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๖ 
          จุดประสงค์ที่ผู้เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่ คือ ต้องการเรียนรู้ เพื่อนำสู่การทำ R2R ต่อไป ซึ่งหากวิเคราะห์โดยรวมถึงระดับพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการประชุมในแต่ละหัวข้อ ส่วนใหญ่มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับดีถึงดีมากในทุกหัวข้อการประชุม
          ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการสถานที่ เก้าอี้นั่ง ให้เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และบริหารจัดการไม่ให้เสียงของแต่ละห้องรบกวนกัน สำหรับหัวข้อการประชุมส่วนใหญ่ที่อยากให้ สวรส.จัดประชุมในครั้งต่อไปคือ วิธีการทำ Research ขั้นตอนการทำจนถึงการนำเสนองานวิจัย

       ๓. ข้อเสนอแนะและปรับปรุง
          - การเปิดรับสมัครผู้ที่เข้าร่วมการประชุม และรับสมัครผลงานที่จะเข้าประกวดรับรางวัล R2R ดีเด่น ควรรับสมัครผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูล และรายงานผลได้อย่างเป็นระบบ และรวดเร็ว ซึ่งจะง่ายต่อการจัดการ การสืบค้นข้อมูล และการลงทะเบียน ตลอดจนหัวข้อของผลงาน R2R ในบทคัดย่อจะได้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน
          - การประกวดรางวัล R2R ควรแยกประเภทรางวัลตามบริบทของโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยควรแยกออกจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป
          - ในการจัดประชุมควรแบ่งประเภทงาน R2R ออกเป็น ๒ ระดับ ได้แก่ งาน R2R ระดับพื้นฐาน และ งาน R2R ระดับขั้นสูง
          - รูปแบบการจัดประชุมในห้องประชุมย่อย เป็นรูปแบบที่ดีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็นและได้รับความรู้อย่างทั่วถึง แต่เนื่องจากผู้เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการจัดห้องประชุมแบบการนั่งฟังบรรยาย ฉะนั้น ผู้ดำเนินการจัดการประชุมต้องมีกระบวนการอธิบายลักษณะ และรูปแบบการประชุมให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทราบ
          - การเตรียมการเรื่องเอกสารประกอบการประชุม เป็นไปด้วยความเร่งรีบ เนื่องจากระยะเวลาในการเตรียมการน้อย ซึ่งทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้มาก ประกอบกับกระเป๋าเอกสารเสร็จไม่ทันกำหนดเวลา ผู้เข้าร่วมการประชุมจึงไม่ค่อยพอใจนัก

      ๔. งบประมาณที่ใช้ 
          รวมทั้งสิ้น ๔,๗๔๓,๖๗๗ บาท คิดเป็น ๓,๗๕๘.๘๕ บาท ต่อคน หากหักค่าลงทะเบียนที่ได้จากผู้เสียค่าลงทะเบียนทั้งสิ้น ๑,๒๐๙,๓๐๐ บาท จะเสียค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมรวมทั้งสิ้น ๓,๕๓๔,๓๗๗ บาท คิดเป็น ๒,๘๐๐ บาท ต่อคน

                         
      

หมายเลขบันทึก: 197274เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตนำบทสรุปไปเก็บไว้อ่านด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท