การสอนที่เน้นครู ผู้เรียน และกลุ่มเป็นสำคัญ


การสอนแบบอิงประสบการณ์

การสอนแบบอิงประสบการณ์ (Experience  Based  Approach - EBA)  เป็นวิธีการสอนที่กำหนดประสบการณ์ที่คาดหวังสำหรับผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้เผชิญ  ผจญ และเผด็จประสบการณ์ด้วยการเสาะแสวงหาความรู้ที่เป็นเนื้อหาสาระสำหรับประกอบภารกิจ/งาน และทักษะความชำนาญจากแหล่งวิทยาการที่ได้มีการชี้แนะแหล่งหรือจัดเตรียมไว้ให้บรรลุ

ผลกระทบของวิธีการสอนแบบอิงประสบการณ์  ดังนี้

       1)  ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานโดยมุ่งให้ ทำได้   มากกว่า ให้รู้   แต่ไม่มีเป้าหมายเด่นชัดว่าจะนำความรู้ไปทำอะไร

       2)  เป็นการเลียนแบบระบบธรรมชาติของชีวิตจริงที่เมื่อมีปัญหาที่ต้องประสบ  ผู้เรียนก็จะขวนขวายหาความรู้จากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการแก้ปัญหา  ทำให้ได้กระบวนการในการทำงานที่สามารถนำติดตัวไปใช้ได้

       3)  สร้างคุณลักษณะที่สำคัญในการเป็นสมาชิกสังคมโลก  คือ  ทำเป็น  แก้ปัญหาเป็น  มีความเชื่อมั่นในตนเอง  รู้จักเสาะแสวงหาความรู้  รู้จักตัดสินใจ และการทำงานเป็นกลุ่ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้คิดและทำอย่าง มืออาชีพ

       4)  บทบาทผู้สอนและผู้เรียนจะเปลี่ยนไป

             (1)  ผู้เรียนจะต้องมีความรับผิดชอบในการแสวงหาความรู้มาใช้ในการเผชิญประสบการณ์จากผู้รู้และแหล่งรู้ต่างๆ

             (2)  ผู้สอนจะทำหน้าที่เกื้อกูล  เอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียน  เป็นผู้ประสานงาน ให้กำลังใจ  ให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลตามที่ผู้เรียนขอร้องและทำหน้าที่ประเมินการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่กำหนดให้ผู้เรียนเผชิญ

       5)  ระบบการสอนแบบอิงประสบการณ์จะเป็นระบบการเรียนการสอนที่เป็นสากล และเป็นระบบแห่งอนาคต

 

    ชัยยงค์  พรหมวงศ์  ได้กำหนดขั้นตอนการสอนแบบอิงประสบการณ์  ทั้งหมด  7  ขั้นตอน  ดังนี้

                ขั้นที่ 1  ประเมินก่อนเผชิญประสบการณ์ โดยให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเผชิญประสบการณ์

                ขั้นที่ 2  ปฐมนิเทศประสบการณ์  ครูต้องชี้แจงสิ่งต่อไปนี้ให้นักเรียนทราบ คือ แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้   ประสบการณ์ที่นักเรียนจะต้องเผชิญ  การจัดบริบท/สถานการณ์  ขั้นตอนการเผชิญประสบการณ์ (ภารกิจ/งาน)  สื่อ/เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการเผชิญประสบการณ์  และเครื่องมือการประเมินผล

                ขั้นที่ 3  เผชิญประสบการณ์  คือ ผู้เรียนเข้าสู่ภาวะการณ์ หรือประสบการณ์หลักที่กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยประสบการณ์  ในประสบการณ์หลักประกอบด้วยประสบการณ์รอง  กิจกรรมที่ผู้เรียนต้องเผชิญประสบการณ์ครอบคลุมการวางแผน  การเตรียมการ และการประเมิน  กระบวนการที่กำหนดไว้ตามขั้นตอน คือ  เผชิญประสบการณ์   ผจญประสบการณ์  ผสมผสานประสบการณ์  และเผด็จประสบการณ์  เพื่อจะได้งานที่เขาต้องการเสร็จสิ้นสมบูรณ์

                ขั้นที่ 4  รายงานความก้าวหน้า  ขึ้นอยู่กับว่าประสบการณ์นั้นมีปริมาณมากน้อยเท่าใด   โดยให้ผู้เรียนนำมาพูดให้ครูผู้สอนและเพื่อนนักเรียนฟังว่าศึกษาไปถึงขั้นไหนแล้ว  เพื่อให้เพื่อนแสดงความคิดเห็น และครูผู้สอนชี้แนะ  เพื่อให้นักเรียนนำความคิดนั้นไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

                ขั้นที่ 5  รายงานผลการเผชิญประสบการณ์  หลังจากนักเรียนเผชิญประสบการณ์ และรายงานความก้าวหน้าแล้ว  ให้นักเรียนนำงานที่สำเร็จรูปมาให้เพื่อน และครู ได้ชี้ให้เห็นจุดเด่นจุดด้อยของงาน

                ขั้นที่ 6  สรุปผลการเผชิญประสบการณ์  เป็นขั้นที่สำคัญที่สุดอย่างยิ่ง   ทำหลังจากที่นักเรียนได้เสนอผลงานเรียบร้อยแล้ว  เป็นขั้นที่ต้องพูดให้ฟังอีกครั้งประสบการณ์หลักมีอะไร  ประสบการณ์รองมีอะไร  ภารกิจของงานที่จะต้องทำมีอะไร

                ขั้นที่ 7  ทดสอบหลังเผชิญประสบการณ์  โดยให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเผชิญประสบการณ์

หมายเลขบันทึก: 197268เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท