กระบวนการสืบเสาะหาความรู้


เทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์

กระบวนการสืบเสาะหาความรู้

(Inquiry  Instruction)

 

การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้  5 ขั้นตอน เพื่อพัฒนากระบวนการคิดระดับสูง  การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัด  การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศต้องพึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  อีกทั้งการดำเนินชีวิตของมนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการคิด สิ่งที่ติดตัวนักเรียนไปคือวิธีการคิด กระบวนการคิด กระบวนการแสวงหาความรู้ ความสามารถในการกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้จะกลายเป็นลักษณะนิสัยของผู้เรียนที่จบการศึกษาแล้วจะเป็น บุคคลที่คิดเป็น รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

                สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักสูตรและการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและส่งเสริม ด้านกระบวนการคิดมาตลอด โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Approach) ที่บูรณาการเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาสาระการเรียนวิทยาศาสตร์กับการพัฒนากระบวนการคิด การสำรวจตรวจสอบเพื่อการค้นพบและการแก้ปัญหาซึ่งเป็นการปลูกฝังคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ ให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ที่สำคัญที่สุดก็คือ การพัฒนาปลูกฝังให้ เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น

กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ  5 ขั้นตอน  ดังนี้

1.   ขั้นสร้างความสนใจ  (Engagement) 

ขั้นสร้างความสนใจ   เป็นการจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่กระตุ้น ยั่วยุ ให้ผู้เรียนเกิดความสงสัย ใคร่รู้อยากรู้อยากเห็น แล้วเกิดปัญหาหรือประเด็นที่จะศึกษา  ซึ่งผู้เรียนจะต้องสำรวจตรวจสอบต่อไปด้วยตัวของผู้เรียนเอง

2. ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration)

ขั้นสำรวจและค้นหา  เป็นการจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ร่วมกันเป็นกลุ่มในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยการวางแผนกำหนดการสำรวจตรวจสอบ และลงมือปฏิบัติ  ในการสำรวจตรวจสอบปัญหาหรือประเด็นที่ผู้เรียนสนใจใคร่รู้ ครูมีหน้าที่ส่งเสริม กระตุ้น ให้คำปรึกษาชี้แนะ ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนดำเนินการสำรวจตรวจสอบเป็นไปด้วยดี

3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation)

ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป  เป็นการจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกันทั้งชั้นเรียน โดยนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้จากการสำรวจ ตรวจสอบ พร้อมทั้งวิเคราะห์ อธิบาย และเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือโต้แย้งในองค์ความรู้ใหม่ที่ได้สร้างสรรค์ มีการอ้างอิงหลักฐาน ทฤษฎี หลักการ กฎเกณฑ์ หรือองค์ความรู้เดิม แล้งลงข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผล

4. ขั้นขยายความรู้ (Elaboration)

ขั้นขยายความรู้  เป็นการจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนได้เพิ่มเติมหรือเติมเต็มองค์ความรู้ใหม่ให้กว้างขวางสมบูรณ์ กระจ่างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการอธิบายยกตัวอย่าง อภิปรายซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงความรู้เดิมสู่องค์ความรู้องค์ความรู้ใหม่อย่างเป็นระบบละเอียดสมบูรณ์ นำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ หรือในชีวิตประจำวัน หรือผู้เรียนอาจจะเกิดปัญหาสงสัยใคร่รู้ นำไปสู่การศึกษาค้นคว้า

                5. ขั้นประเมินผล (Evaluation)

ขั้นประเมินผล  เป็นการจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนได้ประเมินกระบวนการสำรวจตรวจสอบและผลการสำรวจตรวจสอบ หรือองค์ความรู้ใหม่ของตนเองและของเพื่อนร่วมชั้นเรียนโดยการวิเคราะห์วิจารณ์  อภิปรายซักถามแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันในเชิงเปรียบเทียบประเมินจุดดีหรือจุดด้อย ปรับปรุง หรือทบทวนใหม่ และให้ครูได้ประเมินกระบวนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของผู้เรียน เน้นการประเมินตามสภาพจริงในระหว่างการจัดการเรียนรู้ เพื่อปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

                เมื่อผู้เรียนเกิดปัญหาสงสัยใคร่รู้ นำไปสู่การศึกษาค้นคว้า ทดลอง หรือสำรวจตรวจสอบต่อไปจะทำให้เกิดกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ เรียกว่า วัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry cycle)  

 

                ผลการวิจัยพบว่า  การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน สามารถพัฒนาผู้เรียนให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าซักถาม กล้าโต้แย้ง กล้าแสดงออก รู้จักคิดวิเคราะห์ มีความคิดหลากหลาย มีจิตวิทยาศาสตร์ บรรยากาศการเรียนการสอนดี เป็นบรรยากาศการเรียนรู้อย่างอิสระและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เอื้อให้ผู้เรียน กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และพัฒนากระบวนการคิด พบว่าผู้เรียนมีความพึงพอใจในกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เรียนได้ทำการทดลอง และมีการอภิปรายซักถาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถโต้แย้งกันได้ นอกจากนี้ผู้เรียนยังมีเจตคติที่ดีต่อโครงการวิจัยนี้ว่า ดีใจและภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการ ต้องการให้มีโครงการนี้ต่อไป ควรให้ทุกโรงเรียนและทุกวิชาจัดการเรียนการสอนแบบนี้ และควรเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เด็กไทยจะได้กล้าคิดกล้าแสดงออก มีความรู้หลากหลาย ซึ่งจะทำให้การศึกษาไทยได้พัฒนายิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 196696เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2008 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

หากสอนเด็กแบบนี้ได้อนาคตไทยต้องวดีแน่

ขอบคุณมากครับ คุณคนโรงงานสำหรับข้อความแสดงความคิดเห็น คือ ไม่ว่าครูจะใช้เทคนิคการสอนแบบใดผมคิดว่า ถ้านักเรียนมีความสุขในการเรียนแล้วเกิดการเรียนรู้ จนกระทั่งมีนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็น่าจะทำให้คุณภาพการศึกษานั้นดีแน่

กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ครูสามารถนำไปพัฒนาการสอนของครูดีมาก ยิ่งเป็นสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จะดีมาก ส่วนกลุ่มสาระอื่นๆก็สามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ได้เช่นกัน ขอบคุณ ครูไพฑูรย์มากค่ะ

เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนท่ีดีมาก ๆ

น้องชายมีอะไรดีๆ แบ่งปันพี่ๆเสมอ ...สุดยอด หาไรไม่เจอต้องถาม อ.ไพฑูรย์ ความเก่งเพิ่มพูนทุกวัน

นายสุภาพ แก้วได้ปาน

ขอบคุณครูไพฑูรย์ ทิพยสุข มาก ผมกำลังแสวงหาเทคนิคกระบวนการสอนวิทยาศาสตร์ จึงได้พบการสอนแบบการสืบเสาะแสวงหาความรู้ ก็คิดได้พบสิ่งที่ต้องการแล้ว จึงขออนุญาตนำไปใช้ต่อ ผมจะนำไปเสนอดครงการวิจัยใช้กระบวนการเทคนิควิธีสอนนี้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ขออนุญาตนะครับ สุภาพ แก้วได้ปาน โรงเรียนบ้านควนเสม็ด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท