เครือข่ายจัดการความรู้เกษตรยั่งยืน


เครือข่ายจัดการความรู้เกษตรยั่งยืน


          วันนี้ (2 ส.ค.48) ที่ สคส. มีการประชุม “จับภาพ KM”  โดยทีมประชาสัมพันธ์นำเรื่องราวของการจัดการความรู้ (หรือที่ตีความว่ามีการจัดการความรู้) มานำเสนอ 2 เรื่อง   สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการจับภาพใหญ่ว่า KM ของประเทศไทยเป็นอย่างไร   2 เรื่องที่นำมาเสนอคือ
1.      เกษตรอินทรีย์คู่สมุนไพร   การจัดการความรู้เพื่อชีวิตและสุขภาพตำรับหมอพื้นบ้านเมืองระยอง   ซึ่งเป็นเรื่องราวของ “หมอกุ”   คุณดำรงศักดิ์  ชุมแสงจันทร์     ผู้ที่ผมถือว่าอยู่ในระดับ “ปราชญ์ชาวบ้าน”
2.      นครสวรรค์ฟอรั่ม : การเรียนรู้คู่ปฏิบัติของชาวนานครสวรรค์


         ทั้ง 2 เรื่องจัดเป็นเรื่องราวที่เยี่ยมยอด   ใครได้รับรู้เรียนรู้ก็จะรู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ   เพราะเป็น
เรื่องราวของคนดี   ความดี   และความเอื้ออาทรต่อกัน


          แต่ในวงนี้เราเน้นจับภาพ KM   เราจึงมุ่งค้นหากิจกรรม KM ที่แท้   ที่จะเป็นตัวอย่างได้   จึงมุ่งไปที่นครสวรรค์ฟอรั่ม   ซึ่งส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนชาวนา
          โรงเรียนชาวนานครสวรรค์   ได้รูปแบบมาจากโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรีที่ดำเนินการโดยมูลนิธิข้าวขวัญ   และยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวนาพิจิตร


          โรงเรียนชาวนานครสวรรค์   มีลักษณะพิเศษคือ
1)      เป็นเครือข่ายที่กว้างขวางกว่า รร.ชาวนาสุพรรณบุรี  และพิจิตร   มีกิจกรรมอยู่เกือบทั่วจังหวัดนครสวรรค์   เวลานี้มี 27 กลุ่ม
2)      ได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายแห่ง  ได้แก่  งบประมาณของผู้ว่าซีอีโอ   การสนับสนุนทางวิชาการจาก กศน.,  มรภ. นครสวรรค์   และการสนับสนุนกระบวนการจากนครสวรรค์ฟอรั่ม (นพ. สมพงษ์  ยูงทอง   ศัลยแพทย์ รพ.นครสวรรค์ประชารักษ์)
3)      มีระบบพี่สอนน้อง   ศิษย์เก่าสอนศิษย์ใหม่   ชัดเจนกว่าที่จังหวัดอื่น
4)      มีนักเรียนอายุน้อยกว่าที่สุพรรณบุรี   และแกนนำเด่น ๆ เป็นผู้ชาย
5)      การเดินเรื่องด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง   การเปลี่ยนวิธีคิด   จากเน้นรายได้เป็นเน้นความพอเพียง   ไม่เด่นชัดเท่า รร.ชาวนาสุพรรณบุรี
6)      เด่นด้านการจดบันทึก


        ผลที่ได้จากการทำนาระบบไม่ใช้สารเคมีที่สุพรรณบุรี   พิจิตร   และนครสวรรค์ให้ผลตรงกัน
อย่างชัดแจ้ง 3 ประการ
·       รายจ่ายลดลง   ค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่ที่นครสวรรค์ลดลงจาก 2,700 บาท เป็น 1,200 บาท
·       มีเวลาว่างมากขึ้น
·       ผลผลิตไม่ต่างจากการทำนาแบบเกษตรเคมี   จึงได้กำไรมากกว่า


        เครือข่ายจัดการความรู้เกษตรยั่งยืนนี้สามารถขยายตัวออกไปได้ไม่ยาก   หากมี “คุณอำนวย” ในท้องที่   และมีการเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมการเกษตรมาเป็นส่งเสริมเกษตรยั่งยืน   โดยให้ชาวนาตั้งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง


          ผมไม่เข้าใจว่า   ในเมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์   แต่ทำไมกลไกของรัฐจึงไม่เอาจริงเอาจังในทางปฏิบัติ   หรือมีแค่นโยบายแต่ไม่มียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติ


                                                                                                วิจารณ์  พานิช 
                                                                                                   2 ส.ค.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1963เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2005 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท