“เด็ก ไม่ใช่ผ้าขาว” เป็นประโยคที่ผุดขึ้นมาในความคิดเกือบทุกครั้งที่โสตประสาทได้สัมผัสประโยคน้ำเน่า อาทิเช่น “เด็กคือผ้าขาว” หรือ “เด็กคือผู้บริสุทธิ์” อะไรทำนองนี้ จากปากของผู้ที่อาจจะหวังดี เพราะในสภาพจริง ในหนึ่งวินาที ที่มีเด็กคลอดออกมาพร้อม ๆ กับเสียง “อุแว้ !” ในแต่ละมุมโลกหรือแค่ในเมืองไทย ที่มีบริบทแตกต่างกัน เด็กคนหนึ่งคลอดบนเตียงที่แทบจะปูด้วยทอง เด็กคนที่สองคลอดที่สถานีอนามัยใกล้สลัมน้ำเน่าขัง เด็กคนที่สาม คลอดโดยหมอตำแยพื้นบ้านบนฟากไม้ไผ่ผุ ๆ ของกระต๊อบในไร่หมุนเวียน กลางป่าเขา เด็กคนที่สี่ คลอดที่โรงพยาบาลรัฐในสถานะที่มีพ่อและตา เป็นคนเดียวกัน เด็กคนที่ห้าคลอดในของพยาบาลของเรือนจำหญิงที่แม่โดนจองจำคดียาเสพติดอยู่......นี่แค่ห้าคน เด็กคือผ้าขาวตรงไหน ? แต่ละคนเกิดมาพร้อมกับสีสัน อย่างน้อยก็ชาติกำเนิด หรือแม้แต่การนับถือศาสนาที่ถูกตีตราจองไว้แต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมเองต่างหากที่กลับยัดเยียดผลักไสความมีสีสันเหล่านี้ ไปสู่ความกระดำกระด่างทางสังคม โดยการนิยามจัดหมวดหมู่แยกแกะดำ-แกะขาว มากกว่าจะมุ่งแต่งแต้มลวดลายให้เหมาะสมกับพื้นหลังที่มีสีสันแตกต่างกัน การนิยามจัดกลุ่มเด็กตามปัญหามักจะถูกล่าวอ้างว่าเพื่อง่ายต่อการจัดการ เลยยิ่งไม่แน่ในว่าการจัดการปัญหาเด็ก เอาเด็กหรือคนจัดการเป็นตัวตั้ง เพราะท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้น “ทฤษฏีตีตรา” ที่ทำให้คนทำงานเองติดกับดักทางความคิดที่จะต้องเข้ามาจัดการเฉพาะปัญหา ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องแยกส่วนจัดการตามความถนัด ความสนใจ และแหล่งทุน
แม้จะมีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่อิงรากฐานจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่คนทำงานทั้งรัฐและเอกชนพากันกอดไว้เป็นสูตรสำเร็จ ซึ่งแทนที่จะคุ้มครองก็กลับกลายเป็นควบคุมให้อยู่ในกรอบหรือสถานที่ที่กำหนดให้ภายใต้คำที่ดูสวยหรู “คุ้มครองสวัสดิภาพ” แต่แทบจะไม่ถามเด็กว่าต้องการให้คุ้มครองหรือไม่ภายใต้การจัดการแบบ “ตามใจฉัน”ของระบบที่ถูกกล่าวอ้างว่าดีเลิศทั้งหลาย….การมาประชุมรวม ๆ กันมักจะถูกอุปโลกน์ให้เป็น “การแก้ปัญหาอย่าบูรณาการ” หรือไม่ ?
“แรงจูงใจคือการได้อยู่กับเด็ก เห็นเด็กที่เขาลำบากกว่าเราทำให้รู้ว่าชีวิตเรายังมีคนที่ด้อยกว่า” หรือ “เด็กกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วย เป็นเด็กด้อยโอกาส ที่ต้องได้รับการพัฒนา” เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนวิธีคิดของคนทำงานที่มองเด็กคือ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่ “ด้อยโอกาส” กว่า ตนเองอยู่ในบทบาทและฐานะทางสังคมที่เหนือกว่า ทุก ๆ ด้าน ดังนั้น “ฉันมีหน้าที่ช่วยเหลือเด็ก ! ” ซึ่งวิธีคิดแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงมายาคติที่ฝังอยู่ในหัวของผู้ปฎิบัติติงานซึ่งยังไม่เข้าถึง “คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เป็นการ “ผลิตซ้ำความด้อยโอกาส”อย่างไม่รู้ตัว หรือไม่?
จึงเป็นที่มาของการเรียกหาความเป็น “มืออาชีพ” จากคนทำงานด้านเด็กที่ต้องมีมาตรฐานสากลมากำกับ ทั้งในเรื่องของ “ทีมสหวิชาชีพ” จริง ๆ ที่มิใช่ “ปาหี่เชิงกระบวนการ” หากแต่ต้องมีทั้งความแม่นยำ ชัดเจนและยืดหยุ่นในตัวบทกฎหมาย มีกระบวนการหล่อหลอมและปรับทัศนคติที่ใกล้เคียงกันในทีมงาน ไม่ยึดติดกรอบหรือประเด็นเดียว มีทักษะเชิงเดี่ยวที่ชำนาญและบูรณาการรวมเป็นทีม กัดไม่ปล่อย และต้องลดทอนความสำคัญของ “หน้า”ลง ยกระดับความสำคัญของเป้าหมายให้มากขึ้น
หากปัญหาเด็กซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนก็ต้องใช้หลัก “การจัดการเชิงซ้อน” ที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายของปรากฏการณ์ที่ไม่เหมือนกัน อย่าดันทุรัง จัดการภายใต้กรอบระบบเดียวที่อิงอยู่กับกฎหมายที่ใช้ไม่ได้จริงในทุกบริบทหรือมักจะถูกเรียกสวยหรูว่า “การจัดการเชิงบูรณาการ” ท้ายที่สุดแล้วก็ยังพบภาพของต่างคนต่างทำ ต่างกอดทุน กอดจำนวนตัวเลขและข้อมูลเพื่อคอยต่อรองกับแหล่งทุน ราวสุนัขในรางหญ้า เหมือนดั่งตัองการกุมชะตากรรมของใคร หลาย ๆ คน ที่ถูกทำให้ด้อยโอกาสไว้ ซึ่งกลับกลายเป็นดาบสองคมที่คอยลิดรอนโอกาสอันพึงมีพึงได้อย่างน้อยที่สุด ก็ได้รู้ว่า เขามี “ศักยภาพ คุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไม่ด้อยกว่าคนอื่นในการที่จะสร้างคุณค่าในตนเองให้เกิดขึ้นมากกว่าที่จะต้องพึ่งพา และพึ่งพิงปัจจัยทั้งหลายจากคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลักดันเขาเหล่านั้นไปสู่ความเป็น “ชายขอบ”ภายใต้คำนิยามหรือวาทกรรมที่ว่าด้วย “เด็กด้อยโอกาส”
ทุกส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน ผู้เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันนะคะ