หาเครื่องมือทำงานกับรัฐ


โดยปกติ อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของรัฐ ตอบว่า น่าจะเป็นระบบ “สั่งการและควบคุม” และ ระบบ “ความดีความชอบ” ซึ่งเป็นระบบ top-down

ในความพยายามหารูปแบบการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ    อาจารย์ภีมได้ทดลองใช้โมเดลปลาทู

 

ส่วนตัวเราเอง   การจัดเสวนาแผนแม่บทการเงินระดับฐานรากที่ธรรมศาสตร์  ได้แง่คิด  และทำให้คิดต่อหลายประการ  รวมถึงมีประเด็นเชื่อมโยงมาสู่วิธีการทำงานกับภาครัฐ 

 

ประการแรก   การขับเคลื่อนแผนแม่บทการเงินฐานรากนั้น  ต้องการการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน  แต่การนำเสนอของ 3 หน่วยงานในวันนั้น  บอกให้รู้ว่าหน่วยงานยังคงทำงานไปตามวิถีตัวเอง   จุดเชื่อมอยู่ตรงไหน  ยังไม่ชัดเจน    

 

ประการที่สอง  เมื่อคิดต่อว่า  แผนนั้นมาจากการประชุมระดมสมองร่วมกันของหลายฝ่ายหลายครั้ง ก็อดทำให้คิดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า  ที่มาของแผนก็คล้ายๆกับการสร้างแผนชุมชน  แต่....

 

กระบวนการสร้างแผนชุมชนนั้น  ชาวบ้านมาคุยร่วมกันในหลายๆเวที     แท้จริงเป็นกระบวนการเรียนรู้   กุศโลบายในการสร้างการเรียนรู้ผ่านการทำแผนชุมชนนั้นมีพลังมาก   เพราะเปลี่ยนวิธีคิดของคนร่วมทำแผนได้ในเบื้องต้น

 

คำถามคือ   กระบวนการสร้างแผนใดๆในระดับชาติด้วยวิธีการประชุมระดมสมองนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้หรือไม่    คำตอบคือ  ใช่   แต่หากถามว่า  การเรียนรู้นี้นำไปสู่พลังอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในตัวคนทำแผนเหมือนกระบวนการเรียนรู้ในแผนชุมชนหรือไม่   คำตอบคือ ไม่ใช่

 

การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในการประชุมต่างๆระหว่างหน่วยงานนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องอะไรที่ชัดเจน  ... เป็นเพราะอะไร   (ยกเว้นเห็นผลออกมาเป็น แผน ซึ่งอาจจะ นิ่ง ในที่สุด) 

 

การเรียนรู้เป็นผลพลอยได้จากการทำแผน...แต่ไม่มีพลัง   อาจเปลี่ยน ข้อมูลแต่ไม่ได้เปลี่ยน วิธีคิด ของคนเข้าร่วมทำแผนเพราะเป็นการเรียนรู้เรื่องที่ต้องทำเพื่อคนอื่น  เขาไม่ได้เรียนรู้เพื่อชีวิตด้วยชีวิตอย่างการเรียนรู้ของชาวบ้านในการทำแผนชุมชน    และไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การอยู่รอด ของตัวผู้ร่วมทำแผนหรือแม้แต่ขององค์กร      การเรียนรู้จะมีพลังเฉพาะคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะเพื่อส่วนรวมเป็นทุนเดิม   

 

เวทีเรียนรู้อาจเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการทำงานกับชาวบ้านแต่ไม่ใช่พลังสำหรับการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ    

 

พวกเราได้เครื่องมือทำงานกับชาวบ้านแล้ว  แต่ยังหาเครื่องมือทำงานกับรัฐไม่เจอ !!!

 

ถามว่า  โดยปกติ   อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของรัฐ

ตอบว่า  น่าจะเป็นระบบ สั่งการและควบคุม  และ ระบบ ความดีความชอบ   ซึ่งเป็นระบบ top-down

 

หลายคนที่อยากเปลี่ยน  จึงต้องวิ่งขึ้นไปข้างบนสุดก่อน  คือ แสวงหาอำนาจรัฐ   นักวิชาการต้องการสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐรับลูกไปปฏิบัติ    ปราชญ์ชาวบ้านที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงก็วิ่งขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่ในระดับบนนั้น    แผนที่ทำมาแบบมีส่วนร่วม  ถ้าไม่ถูกบรรจุเป็นนโยบายก็เหมือนจะนิ่ง   

 

คำถามกลับมาอยู่ที่จุดคล้ายๆเดิมว่า    นักวิชาการที่ไม่ได้วิ่งขึ้นไปอิงอำนาจรัฐจะทำอย่างไรจึงจะให้รัฐรับลูก...นำข้อเสนอไปแปลงเป็นนโยบาย 

 

คำตอบกลับมาอยู่ที่จุดเดิมว่า  พวกเราได้เครื่องมือทำงานกับชาวบ้านแล้ว  แต่ยังหาเครื่องมือทำงานกับรัฐไม่เจอ !!!

 

เพื่อนสายเอ็นจีโอบอกว่า  ... อย่าไปยุ่งกับรัฐ....บอกกี่ครั้งแล้ว...

เพื่อนสายวิชาการอิงรัฐบอกว่า ... ให้เข้าไปอยู่ในบอร์ดนโยบายของหน่วยงานต่างๆ...

เพื่อนสายวิชาการบริสุทธิ์บอกว่า .....ก็เสนอนโยบายไป ... รัฐจะทำหรือไม่ก็เรื่องของเขา ..หมดหน้าที่ของเราแล้ว...

 

ที่จริงถึงนโยบายดี ก็ยังติดภาคปฏิบัติอีก...  อย่าไปยุ่ง(คาดหวัง)กับรัฐ.. อาจเป็นคำตอบสุดท้ายจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 195619เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2008 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะอ.ปัท วันก่อนที่มีการประชุมร่วมกับสภาเศรษฐกิจฯ เรื่อง การสร้าง

ความเข้มแข็งของสถาบันการเเงนภาคประชาชน มีองค์กรการเงินเข้าร่วมกันอย่างหลากหลาย อาจารย์ไปด้วยหรือเปล่าค๊ะ แนวโน้มการเกิดสถาบันการเงินภาคประชนระดับชาติแบบกรามีนแบ็งค์ ในบังคลาเทศ คงอีกไกลนะคะ

สวัสดีค่ะคุณพัช

ได้เข้าไปฟังค่ะ เสียดายที่ไม่มีโอกาสถามวิทยากรจากบังคลาเทศ ทำให้เรื่องที่รับฟังเป็นเรื่องกว้างๆ ยังไม่มีประเด็นเฉพาะเจาะจง ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ ที่ตัวเองสนใจอยู่ตอนนี้คือ "การทำให้เป็นสถาบัน" (จะระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นก็ไม่เป็นไร)

สถาบันโดยพฤตินัย คือมีกติกากลุ่ม กติกาชุมชน มีระบบบริหารจัดการที่ดี สมาชิกมีส่วนร่วมและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารการเงินในระดับหนึ่ง ผู้นำเก่าเปลี่ยนไปผู้นำใหม่ก็ดูแลต่อได้ ...หวังว่า การ "มีกฎหมายรองรับ" คงจะช่วยให้สถาบันโดยพฤตินัยเข้มแข็งขึ้น

สถาบันที่มีกฎหมายรองรับ เป็นสถาบันโดยนิตินัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท