BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วัดเปลี่ยนไป ๙


วัดเปลี่ยนไป

๘. วันอุโบสถ (ต่อ)

การแสดงธรรมเทศนาก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะพระธรรมถึกบางรูปหรือบางวัดแสดงธรรมไม่ถูกใจบรรดานักบุญ ทำให้นักบุญบางคนเบื่อที่จะฟังก็เลยนั่นสนทนาธรรมกันไปพรางโดยไม่ตั้งใจฟังพระเทศน์ (ชวนกันคุยแข่งกับพระเทศน์) บางครั้งท่านนักเทศก์ก็เสียงดังบ้างทำให้นักบุญบางคนก็ลาออกจากสมาชิกวัดนั้นไปสมัครเป็นสมาชิกวัดอื่น กลายเป็นนักบุญเร่ร่อน ซึ่งเรื่องนี้ก็หาได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน

ส่วนวัดที่มีกิจกรรมวันพระต่อไปเป็นภาคกลางคืนก็มีปัญหาเรื่อง "ยุง" จะนอนไหนก็นอนได้ดังเช่นสมัยก่อนก็ทำได้ยาก ฉะนั้น ศาลาการเปรียญจะปรับเปลี่ยนเป็นหอนอนได้ก็จะต้องมีทุนในการดำเนินการ ด้วยการติดมุ้งลวด ห้องน้ำห้องส้วมก็ควรจะสะอาดและแยกเป็นสัดส่วน นักบุญบางคนทนอากาศร้อนเกินไปไม่ค่อยได้ก็ต้องติดพัดลมหรือติดแอร์ กลายเป็นว่าบรรดานักบุญที่มาร่วมรักษาศีลอุโบสถบางวัดก็มีกลุ่มทุนและมีอิทธิพลบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งบางวัดก็ก่อให้เกิดปัญหาเชิงสังคมตามมา ผู้เขียนขอยุติปัญหาเหล่านี้ไว้ เท่าที่นำเสนอมาเพื่อให้เห็นว่าได้มีสิ่งเหล่านี้ซ่อนอยู่ด้วยเท่านั้น

โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า กิจกรรมวันอุโบสถสำหรับชาวบ้านนี้เป็นสิ่งที่ดี และมีคุณค่าควรแก่การธำรงรักษาไว้ เพียงแต่จะต้องปรับแต่งให้เหมาะสมกับยุคสมัยในหลายๆ ประการ เท่านั้น

 

จะกล่าวถึงอุโบสถของสงฆ์บาง ตามพระวินัยกำหนดไว้ว่า พระภิกษุจะต้องทำอุโบสถทุกกึ่งเดิือน (ขึ้น-แรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำ ) ระเบียบก็คือ ถ้าอยู่รูปเดียวก็ให้ทำอธิษบษนอุโบสถโดยเข้าไปในโบสถ์แล้วอธิษฐานว่า "วันนี้อุโบสถของเรา" (อชฺช เม อุโปสโถ) ก็สำเร็จแล้ว... ถ้าอยู่ด้วยกัน ๒-๓ รูปก็ให้ทำคณะอุโบสถ โดยบอกความบริสุทธิ์ของกันและกันก็สำเร็จแล้ว... และถ้าอยู่ด้วยกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปก็ให้ทำ "สังฆอุโบสถ"

จะขอกล่าวเรื่องสังฆอุโบสถให้พิศดารสักหน่อย ตามพระวินัยกำหนดให้พระภิกษุรูปหนึ่งผู้มีความสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นศีล ๒๒๗ ข้อ และพระภิกษุรูปอื่นๆ ทั้งหมดร่วมกันนั่งฟังอย่างสงบภายในหัตถบาส ("บ่วงมือ" นั่นคือ นั่งไม่ห่างนักประมาณ ๑ศอก ๑ คืบ) ใช้เวลาสวดประมาณ ๓๐-๕๐ นาที โดยมีพระผู้ที่สวดได้หรือผู้มีความชำนาญในหนังสือคอยเปิดหนังสือตรวจทานอีกรูป ถ้าสวดผิดสวดข้ามก็จะได้บอกให้สวดใหม่ในข้อหรือวรรคนั้นๆ

แต่ตลอดเวลายี่สิบปีที่ผู้เขียนบวชมารับรู้ได้ว่า พระเถระผู้ใหญ่โดยมาก มักจะละเลยไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะว่าพระเถระรูปนั้นๆ สวดไม่ได้ จะให้พระผู้น้อยสวดแล้วท่านนั่งฟังก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรือท่านอาจคิดว่าฟังไปก็ไม่รู้เรื่องเพราะเป็นภาษาบาลี เอาเวลานั้นไปทำอื่นที่มีประโยชน์น่าจะดีกว่า หรือเวลาสวดต้องถวายปัจจัยแก่ผู้สวดบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมเนียมก็เลยแกล้งทำเฉยเสียก็มี หรือพระผู้ใหญ่บางรูปแม้มีความสามารถสวดได้ แต่ท่านก็อายุมาก สุขภาพไม่ค่อยดี ภาระก็ยุ่งมากตามพรรษายุกาลที่สูงขึนก็เลยไม่ต้องการจะสวดเพราะขี้เกียจทบทวน การทำสังฆอุโบสถจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากกิจกรรมในวัดส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะวัดนอกเมือง) จะมีก็แต่วัดใหญ่ๆ ในเมืองที่มีเจ้าคณะปกครองบางวัดเท่านั่นที่ยังคงรักษาไว้ได้

ในฐานที่ผู้เขียนสวดปาฏิโมกข์ได้ก็จะเล่าประสบการณ์เรื่องนี้สักเล็กน้อย เมื่อปีที่ผู้เขียนแรกบวชท่านเจ้าอาวาส (วัดกระดังงา) ก็บอกว่าวันอุโบสถนี้เราจะไปฟังปาฏิโมกข์ที่วัด..... ให้จัดเตรียมรูปเทียนดอกไม้ไว้ พวกเราพระใหม่ก็จัดเตรียมไว้ มีศรัทธาเต็มเปี่ยมว่าจะไปฟังปาฏิโมกข์เพราะไม่เคยฟัง แต่พอไปถึงวัดที่มุ่งหมายท่านพระเดชพระคุณก็บอกว่าวันนี้ไม่ค่อยสบายค่อยทำอุโบสถต่อไป พอถึงอีกคราวท่านก็อ้างไม่ค่อยสบายอีกครั้ง นั่นคือ ผู้เขียนบวชปีแรกก็ยังไม่รู้ว่าเขาฟังปาฏิโมกข์กันอย่างไร แต่ก็เกิดความดำริในใจว่า ถ้าบวชอยู่ต่อไปจะต้องสวดปาฎิโมกข์ให้ได้

เรื่องการสวดปาฏิโมกข์แล้วได้ปัจจัยนี้ ผู้เขียนไม่เคยรู้ตอนแรกบวช เพิ่งมาเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงโดยตัวเองหลังจากบวชมาหลายพรรษาแล้ว ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็อาศัยปัจจัยส่วนหนึ่งจากการสวดปาฏิโมกข์ และหลังสุดที่ผู้เขียนไปเรียนอยู่เชียงใหม่สามารถอยู่ได้ก็เพราะอาศัยปัจจัยจากการสวดปาฏิโมกข์ นั่นคือ ทางวัดจะถวายครั้งละ ๓-๕๐๐ บาท และภายในพรรษาก็ไปสวดวัดใกล้เคียงด้วย พระเดชพระคุณท่านจะถวายครั้งละ ๕๐๐ บาท

กิเลสของพระสวดปาฏิโมกข์ก็มี ฟังว่าบางรูปตะเวนสวดหลายวัดในวันอุโบสถหนึ่งก็ได้หลายพันบาท หรือวัดใหญ่มากๆ ในกรุงเทพฯ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วิสาขบูชา มาฆบูชา บรรดานักบุญจะถวายปัจจัยส่วนหนึ่งบูชาพระปาฏิโมกข์ ซึ่งรวมกันก็ได้หลักหมื่น แต่วันสำคัญเหล่านี้ พระเถระผู้มีอำนาจในวัดจะจองแล้ว ไม่ปล่อยให้พระนักเรียนได้สวดเป็นทุนการศึกษาเลย

อนึ่ง ยังมีกิจกรรมเพิ่มเติมในวันอุโบสถของสงฆ์อีกอย่าง นั่นคือ เมื่อทำสังฆอุโบสถเสร็จแล้วก็จะมีการเคาะระฆังเพื่อเรียกสามเณรภายในวัดมาต่อศีล (สมาทานศีล ๑๐ อีกครั้ง) หลังจากนั้นก็อาจมีการให้โอวาทจากเจ้าอาวาสหรือพระอาจารย์บางรูปที่ได้รับมอบหมายตามสมควร

ประเด็นการทำสังฆอุโบสถนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยว่า ทั้งผู้สวดและผู้ฟังไม่รู้เรื่อง (ยกเว้นผู้ที่เป็นพระมหาเปรียญก็อาจฟังรู้เรื่องบ้าง จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ภูมิรู้ของท่าน) สำหรับผู้ที่ไม่สนใจในการบำเพ็ญภาวนาก็แสนจะเบื่อที่ต้องนั่งเฉยๆ แต่บางรูปก็ชอบที่จะฟังโดยคิดว่าได้บุญมากและควรแก่การปลื้มใจที่เราเกิดมาทันยุคที่พระพุทธศาสนายังคงมีการสวดปาฏิโมกข์อยู่ (เื่รื่องอายุกาลของพระพุทธศาสนา มีคำทำนายไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่าการสวดการฟังพระปาฏิโมกข์จะหมดไปในอนาคต)

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195496เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการครับ

     ขออนุญาต ลปรร  ในเรื่องของการเทศน์ ครับ

     ประเด็นนี้ ผมไม่ได้คิดเองครับ  แต่มีหลายๆคนเขามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยว่า  พระสมัยนี้ต้องเทศน์ให้ทันสมัยหน่อย  ต้องเอาหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับชีวิตปัจจุบันได้  ซึ่งพระหลายรูปก็เทศน์ได้ดี  แม้แต่พระที่อายุมาก  แต่ก็มีความทันสมัยอยู่ในตัวอยู่หลายรูป  ที่น่าเบื่อ คือ พระบางรูปเทศน์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียนกันมาแล้วในห้องเรียนเมื่อสมัยยังเด็ก

    ผมว่าพระก็น่าที่จะต้องปรับตัวให้ทันสมัยบ้างเหมือนกันนะครับ

P

small man

 

  • ท่านรองผอ. มีแนวคิดและมุมมองเสมอ...

ปัญหาพระเทศน์ไม่ทันสมัย กับนโยบายการศึกษาแห่งชาติที่ช้ามานานแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะมีลงเอยอย่างไร...

หลายๆ อย่าง ก็คงเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มาเกื้อหนุนหรือบั่นทอน...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท