การอ่านหนังสือ


"อ่านแล้วเข้าใจ เข้าใจแล้วจด จดแล้วจำ จำแล้วทำให้ได้”

 

การเขียนหรือการจดโน้ต

เป็นวิธีที่จะทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อนเขียนเราต้องเข้าใจอยู่แล้วว่าจะเขียนอะไรลงไป อย่าลอกตามหนังสือไปทั้งดุ้น และอย่าจดแบบให้มันเสร็จ ๆ ไป หรือจดแบบให้มีตามเพื่อน (เป็นกระแสนิยม) เพราะมันจะไม่ได้ผลอะไรเลย ควรจะสรุปประมวลออกมาเป็นเนื้อความ ตามที่เราเข้าใจ ซึ่งต้องเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย อาจตรวจสอบโดยการผลัดกันตอบคำถามกับเพื่อน หรือถามครูอาจารย์ ดังนั้นอย่าขี้เกียจเขียนเลย เขียนเอง อ่านเอง ผลที่ได้ก็อยู่ที่ตัวเองทั้งนั้นแหละ


 คราวนี้ก็มาถึงการท่องจำ ส่วนใหญ่เมื่อเรารู้เรื่อง เราก็จะจำบางส่วนของเนื้อหาได้แล้ว นอกจากบางวิชา เช่น ชีวะ สังคม ที่เป็นวิชาท่องจำซะส่วนใหญ่ อาจต้องมีการมาท่องจำเพิ่มเติม การอ่านออกเสียงดังๆ ก็ช่วยให้จำดีขึ้น แต่ไม่ควรจะรบกวนผู้อื่น ( มิฉะนั้นอาจจะได้รับสิ่งไม่พึงปรารถนา ) การจำศัพท์ภาษาอังกฤษ อาจใช้วิธีเขียนใส่กระดาษแล้วแปะตามข้างฝา เช่น ฝาห้องน้ำ ประตูห้องสุขา ( ที่บ้านของตัวเองนะ) ตามที่ที่เราต้องเห็นทุกวัน อ้อประตูของตู้เย็นก็ดีนะ เพราะเปิดออกจะบ่อย ก็หันมาเหลียวแลศัพท์ที่ตัวเองแปะไว้บ้าง เห็นบ่อย ๆ เดี๋ยวก็เข้าสมอง มีอีกอย่างใครที่เรียน ENTCONCEPT เทคนิคเพลงช่วยจำศัพท์ได้ผลจริงๆ ถ้าไม่ได้เรียนเอง ก็ไปไรท์ของเพื่อน แล้วอย่าลืมถ่ายเนื้อร้องมาด้วยล่ะ (วิธีหลัง อาจจะเอาเปรียบคนที่เขาไปเรียนมาหน่อย คงต้องเคลียร์กับเพื่อนเอาเองนะ)


สุดท้ายการลงมือทำข้อสอบ ก็นำทุกอย่างที่เราเข้าใจและจำได้ มาคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบที่ถูกที่สุด คิดดีๆ นะ ระวังโดนโจทย์หลอก ที่เหลือก็ตัวใครตัวมัน >.<


 เวลาที่ดีสำหรับการอ่าน
 
เคยมีคนบอกว่าเวลาที่ดีที่สุด คือ ตอนเช้า เพราะร่างกายเราได้พักผ่อน รวมทั้งสมองก็ได้พัก มีการจัดระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้พร้อมกับการใส่ข้อมูลใหม่ ๆ เข้าไป อันนี้เป็นเรื่องจริง แต่สำหรับคนที่ตื่นเช้าไม่ไหว เวลาดึก ๆ ที่เงียบ ๆ ก็เหมาะ คือว่ามันเงียบไงสมองเราก็สามารถคิดสิ่งต่างๆ ได้ดี แต่อาจจะไม่เท่าตอนเช้า เพราะสมองเราต้องเหนื่อยจากการเรียนมาแล้วทั้งวัน บางคนยังมีการเรียนพิเศษตอนเย็นอีก สำหรับตัวเราเอง อ่านตอนกลางคืนสักนิด ได้เท่าไหนก็แค่นั้น 5 ทุ่มต้องเข้านอน แล้วก็ตั้งนาฬิกาปลุกตอนตี 3 ตี 4 ตี 5 แนะนำให้ตั้งนาฬิกาปลุกก่อนเวลาที่ต้องตื่นไปสักครึ่งชั่วโมง เพื่อที่เราจะได้มีเวลาเกลือกกลิ้งอยู่บนที่นอนก่อนสักพัก ถึงค่อยลุกไปล้างหน้าล้างตา มานั่งอ่าน ขอย้ำว่าควรทำให้ตัวเองตื่นเต็มที่ก่อนจะอ่าน เพราะไม่งั้นเดี๋ยวก็หลับคาหนังสืออีกจนได้


 เวลาที่ไม่เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือเรียนเลย คือ ช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวเสร็จอิ่ม ๆ เคยได้ยินสุภาษิตไทยที่ว่า พอหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน ไหม ช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่คนเรามีความง่วงนอน อ่านไปก็หลับ ยิ่งหนังสือเรียนด้วย และไม่ควรนอนอ่านหนังสือ โดยเฉพาะบนเตียง ขอบอกว่าหลับแน่ๆ ไม่ใช่อ่านนิยายนี่ มันจะน่าติดตาม จนอยากอ่านให้จบ เรามีเพื่อนคนหนึ่ง เขาบอกว่าหนังสือเรียนคือยานอนหลับขนานเอก เห็นจะจริง อ่านไม่กี่หน้าก็หลับแล้ว


 การอ่านควรจะเป็นในสถานที่ที่สงบ เงียบ และสมองเราพร้อมที่จะรับเรื่องใหม่ ๆ นั่นแหละการอ่านถึงจะได้ผลสูงสุด


 วิธีแก้ง่วง
 
ความง่วงนอนนั้นมีหลายขั้น ตามที่เราแบ่งเอง ได้แก่
 1.
ความง่วงนอนขั้นต้น
 อาการ - เป็นความง่วงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น จะทำให้สติของเราล่องลอยไปเที่ยวสักพัก ไม่กี่นาทีหรอก แล้วก็จะกลับมาที่เดิม อาจมีอาการอ้าปากหาวบ้างเล็กน้อย แต่จะไม่บ่อยนัก
 
วิธีแก้ - ควรจะลุกขึ้นไปล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น หรือออกแรง เช่น การบิดขี้เกียจให้ร่างกายมีความตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า พูดง่าย ๆ คือ ทำอะไรก็ได้ ที่ทำให้ร่างกายเราสดชื่นขึ้น
 2.
ความง่วงขั้นกลาง
 
อาการ - เป็นความง่วงที่สะสมมาจากความง่วงขั้นต้น สติเริ่มหายไปเที่ยวนานขึ้น อาการหาวก็มีถี่ขึ้น อาจมีอาการสัปหงกเล็กน้อย
 
วิธีแก้ - ควรจะหลับตาลงพักผ่อนสักครู่ อาจะ 10-15 นาที แล้วตื่นขึ้นมาไปล้างหน้าล้างตา เพื่อให้สดชื่น หรือไปทำอะไรสักอย่าง ไปเดินเล่น หรือฟังเพลง ดื่มนม กาแฟนี่ไม่แนะนำเท่าไรนัก เพราะ อาจเกิดอาการหลับในได้ ก็ง่วงมาก แต่ตายังค้าง เสียสุขภาพกายเปล่า ๆ น่า
 3.
ความง่วงขั้นรุนแรง
 
อาการ - เป็นความง่วงที่ไม่อาจทัดทานได้ไหว สติแทบจะไม่มีแล้ว หัวอาจสัปหงกลงไปจูบกับโต๊ะได้ทุกเมื่อ หรืออาจเกิดอาการฟุบหลับคาหนังสือ
 
วิธีแก้ - ไปนอนซะ ถึงอ่านไปก็ไม่เข้าหัวอยู่ดี เลิกทรมานตัวเองได้แล้ว ถ้ายังอ่านไม่จบก็ปลงซะ มาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ว่าจะทำไง สมองก็ไม่พร้อมจะรับอะไรอีกแล้วทั้งนั้นแหละน่า


 คาถาก่อนเข้าห้องสอบ
 
จริง ๆ ก็เป็นแค่ความเชื่อที่ทำแล้วสบายใจเท่านั้นเอง เล่นกับดวงไง หากอ่านหนังสือมาเต็มที่แล้ว อย่ากลัวข้อสอบเลย นี่เป็นแค่สิ่งที่ช่วยเสริมกำลังใจสำหรับบางคนที่อ่านมาแล้ว แต่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าหัว ก็ต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมกับบุญที่เคยมีมาแต่ชาติปางก่อนนะ


 ขั้นแรก ออกจากบ้าน ไหว้พ่อ ไหว้แม่ให้งามๆ ขอพรมาสักหน่อยก็ดี

 

ขั้นสอง เดินเข้าโรงเรียน ซึ่งในแต่ละแห่งจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในโรงเรียน ก็ทำความเคารพ อาจจะมีการบนบานเล็กน้อย


 ขั้นสาม เข้าห้องสอบ ให้ก้าวเท้าซ้ายเข้าไปก่อน เข้าตำราที่ว่า ขวาร้าย ซ้ายดีไง


 ขั้นที่สี่ ทำข้อสอบ ก่อนลงมือเขียน ท่องนะโม หรือบทอะไรสักอย่าง อย่าให้ยาวนัก เดี๋ยวจะเสียเวลามากไป ขั้นนี้เล่นกับศาสนาแล้ว ( ความจริงก็เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการตื่นเต้น เป็นการรวบรวมสมาธิน่ะ )


 ขั้นสุดท้าย ก็ตัวใครตัวมันนะครับ ถ้าทำข้อสอบไม่ได้ ก็ปลงซะเถอะ ว่าทำบุญมาแค่นี้ อย่าหวังโพยจากเพื่อนเลย เพราะเพื่อนก็อาจจะหวังโพยจากเราอยู่ก็ได้ อิอิ…>.<

ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ทุกคนที่อยู่ในวัยเรียน จริงอยู่ที่สติปัญญาของคนเราอาจไม่เท่ากัน อย่าเพิ่งท้อในการอ่านหนังสือ อย่าท้อเมื่อเห็นคนอื่นอ่านแค่รอบเดียวก็จำ รอบแรกไม่จำ ก็อ่านรอบสองสิ หากยังไม่จำ ก็อ่านไปเรื่อย ๆ คนเรามีความพยายามได้ อ่านมาหลายรอบ ผ่านตาหลายรอบ อาจจะจำแม่นกว่าก็ได้ ทั้งนี้เทคนิคต่าง ๆ หากไปประยุกต์ใช้แล้ว ได้ผลหรือไม่อย่างไร ก็มาบอกกล่าวกันบ้างนะ >.<

 

หมายเลขบันทึก: 195314เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

                  อ่านมาก  รู้มาก  ลับสมองด้วยค่ะ ^-^

                                     

  • ขอลอกไว้ให้เด็กๆ เป็นแนวทางทาง 
  • สุ  จิ  ปุ  ลิ     ใช่เปล่า
  • ขอบคุณ

ขอบคุณครับ

  • แวะมา
  • สุ  จิ  ปุ  ลิ  
  • ด้วยคนครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาทักทายนะค่ะ

เป็นคนรักการอ่านเหมือนกันค่ะ

เมื่อก่อนเป็นคนรักการอ่านค่ะ

เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยแน่ใจ ?  .. เฮอๆ

ตอนนี้ เข้าขั้น ง่วงปานกลางค่ะ

- - ไม่ว่าจะ อ่าน เขียน ฟัง พูด ล้วย เชื่อมสัมพันธ์กัน แบบมีนัยยะ - -

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมครับ สุ จิ ปุ ลิ หัวใจนักปราชญ์นี่สำคัญในทุกๆอาชีพเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท