เกมสงคราม เกมต่อสู้ ทำให้เด็กชอบความรุนแรงหรือเปล่า?


บทความนี้ได้รับเรต: R (บทความนำเสนอความรุนแรง)

พนันร้อยนึงเอาบาทเดียวเลยครับ ทุกครั้งที่มีข่าวการใช้ความรุนแรงของเด็กหรือวัยรุ่น จะต้องมีการเชื่อมโยงไปถึงสื่อที่นำเสนอความรุนแรง โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ ทนายความ ท่านหนึ่ง สร้างชื่อเสียงจากการเชื่อมโยงผู้ก่อเหตุโศกนาฐกรรมในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเข้ากับเกมที่ใช้ความรุนแรง (school shoot out) ประมาณว่ามีเหตุยิงในโรงเรียนเมื่อไหร่ จะต้องมีการสัมภาษณ์คุณแจ๊คทันที และทุกครั้งก็มีข้อสรุปเดียว คือผู้ก่อเหตุฝึกทักษะการใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธจากเกมคอมพิวเตอร์ เกมได้กลายเป็นเหตุผลหลักสำหรับเหตุการณ์เหล่านี้ และถูกสร้างภาพให้น่ากลัว เสพติด ปลูกฝังความรุนแรงให้กับคนเล่นเกม

งานวิชาการนับไม่ถ้วนอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นเกมที่รุนแรงกับแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงในชีวิตจริง เกมหนึ่งที่ดูจะเป็นตัวร้ายของข้อถกเถียงนี้คือเกมในตระกูล Grand Theft Auto (GTA) ซึ่งจัดเป็นเกมประเภท Sandbox คือไม่บังคับเนื้อเรื่อง ผู้เล่นสามารถเลือกภารกิจได้เอง ผู้เล่นต้องพัฒนาตัวละครเอกในเกมให้กลายเป็นสุดยอดอาชญากร โดยเริ่มไต่เต้าจากการภารกิจซึ่งเพิ่มระดับความท้าทายขึ้นไปตามเนื้อเรื่อง เช่นการขโมยรถหรือปล้นแบงค์ ไฮไลท์อีกประการของ GTA คือการโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมแบบเหมือนจริง ยิ่งเกมพัฒนาออกภาคใหม่มา ก็ยิ่งเหมือนจริงขึ้นทุกที ทั้งเสียงประกอบ สิ่งแวดล้อม ภาคหลังๆ ของ GTA นั้นจะมีธีมเป็นเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นใน ไมอามี แคลิฟอร์เนีย ภาคล่าสุดนั้นใช้นิวยอร์ค เป็นฉากดำเนินเรื่อง

9gag-videogame

ความเหมือนจริงของฉากนั้นนับเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจนะครับ แต่ความเหมือนจริงที่สร้างความลำบากใจให้กับสื่อมวลชน ผู้ปกครอง ครู จนถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาล คือธีมของเกมที่เน้นการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการจี้ชิงรถ การปล้น ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงการใช้บริการโสเภณี

ผมเองไม่ใช่แฟนของเกมรุนแรง เกมแนวต่อสู้หรือสงครามที่เคยเล่นก็เป็นประเภทสงครามวางแผน ซึ่งก็ไม่ได้ถือดาบถือปืนไปฟันแทงแบบจะๆ และผมคงไม่ประทับใจถ้าเห็นลูกผมเล่นเกมประเภทนี้ แต่ก็มีนักวิชาการบางกลุ่มที่ออกมาเสนอข้อโต้แย้งว่าเกมตีรันฟันแทงนี้มีส่วนช่วยลดความรุนแรงในชีวิตจริง เช่นเครียดจากโรงเรียน เครียดจากงาน เกมหนึ่งที่มุ่งตอบโจทย์นี้โดยตรงคือเกม Bully ซึ่งตัวเอกเป็นวัยรุ่นที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านการต่อยตี โดยต้องเอาตัวรอดจากอาจารย์สุดเฮียบ และเพื่อนนักเรียนที่จ้องจะรังแกให้ได้

ถ้าเอาเรื่องเกมกับความรุนแรงนี้ไปเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ ก็ต้องบอกว่าข้อถกเถียงเกี่ยวกับความรุนแรงของสื่อนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ตั้งแต่ดนตรีร็อค หนังสือการ์ตูน หรือแม้แต่สื่อลามก ล้วนตกเป็นผู้ต้องหาของการใช้ความรุนแรง แต่จะเป็นการด่วนสรุปเกินไปไหมถ้าเกิดเราพบว่าผู้ก่อเหตุมีซีดีเพลงร็อคประเภทเฮฟวี่เมททัล หรือมีสื่อลามกอยู่ในครอบครอง โดยไม่ดูปัจจัยอื่นเลย ว่าถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร หรือมีปัญหาอะไรอย่างอื่นเข้ามารุมเร้า การโทษเกมในมุมมองนี้ก็ไม่น่าจะเป็นหนทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก

ถ้าเอาเรื่องเกมที่ให้โทษนี้ไปเทียบกับบุหรี่ให้โทษ ก็จะกลายเป็นเรื่องทางธุรกิจไปเลยครับ หลายๆ คนคงทราบว่าบุหรี่นั้นอันตราย แต่ในวงการวิชาการยังถกเถียงกันไม่เลิก ยังมีหลักฐานมาแย้งว่าบุหรี่อันตรายจริงเหรอ? จริงๆ แล้วคงต้องดูว่านักวิจัยได้ทุนจากใคร ในการออกมาพิสูจน์ว่าบุหรี่นั้นให้โทษหรือไม่

ในโลกความฝัน ผมคงเถียงว่าทางที่จะจัดการกับปัญหาสังคม การเอารัดเอาเปรียบ การทำร้ายรังแกกันในโรงเรียนหรือในสังคมนั้นต้องเริ่มที่นโยบายและความเป็นธรรมที่ผู้ใหญ่จะมีให้ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก รวมถึงความเอาใจใส่จากผู้ปกครองและสมาชิกในชุมชน แต่ในโลกความจริง เกม Bully อาจเป็นทางเลือกหนึ่งของหลายๆ คน เกม GTA อาจช่วยปลดปล่อยความเครียดได้เช่นกัน ถ้าจะถามถึงความรู้สึกลึกๆ และจากประสบการณ์ของผมเอง ผมไม่เชื่อว่าความรุนแรงในชีวิตจริงจะแก้ไขปัญหาอะไรได้ และผมก็ไม่คิดว่าความรุนแรงในเกมเป็นสิ่งที่ทำให้ผมติดเกม รวมทั้งไม่คิดจะสนับสนุนให้เด็กเล่นเกมที่ใช้ความรุนแรงประเภท GTA หรือ Bully ส่วนตัวผมเล่นเกมเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก และบางทีก็อยากเอาชนะเกม ผ่านฉากไปสู้หัวหน้า ทำคะแนนให้ได้สูงๆ หรืออะไรประมาณนั้น ไม่เคยคิดว่าจะเล่นเกมเพราะโกรธใครมา แล้วไปตีหัวหรือขับรถชนคนในเกม แต่ก็นั่นแหละครับ ผมเชื่อว่าด้วยการศึกษาและความเข้าใจของผู้ปกครอง เด็กสามารถแยกความรุนแรงในชีวิตกับการไล่ยิงคนในเกมคอมพิวเตอร์ได้แน่

คิดเห็นกันอย่างไรบ้างครับ?

ปล. ผมเคยเห็นเด็กอายุไม่เกินห้าขวบ เล่นเกม GTA อยู่ในร้านเกม ประมาณว่าเล่นเก่งเลยละครับ เรื่องนี้ผมออกจะลำบากใจเอามากๆ แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่เกมนั้นรุนแรง แต่ด้วยเหตุผลที่ทำไมถึงให้เด็กไม่เกินห้าขวบเข้าร้านเกม ทำไมถึงไม่มีใครคอยชี้นำ ทำไมผู้ใหญ่ถึงเห็นแก่เงิน และทำไมไม่มีนโยบายจำกัดอายุเด็กเข้าร้านอินเตอร์เน็ต ร้านเกม

ภาพประกอบจาก kotaku.com

ข้อมูลเพิ่มเติม Howstuffworks > Do violent video games lead to real violence?

หมายเลขบันทึก: 193926เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2008 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2014 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับคุณแว้บ

    สบายดีนะครับ น่าสนใจครับเรื่องนี้ครับ ที่จุดสะกิดให้คิดต่อครับ ทำให้ผมนึกถึงช้อน ส้อม และมีด ที่โรงอาหาร ที่ไหลไปตามสายพาน หลังจากคนกินอาหารเสร็จครับ จะมีแผ่นแม่เหล็กดูช้อนส้อมมีด ขึ้นไปแยกเพื่อทำความสะอาด บางครั้งเราเล่นกัน โดยการต่อช้อนกับส้อมและมีด เพราะว่า ตัวเค้าทำตัวเป็นแม่เหล็กด้วยครับ  ว่าไปแล้วใจคนเราก็คงทำนองเดียวกัน หมกคลุกอยู่กับอะไร ก็ย่อมไปในทางเรื่องนั้นได้เช่นกันครัีบ Mind Diffusion Process ครับ เป็นการถ่ายเทระหว่างใจกับสิ่งที่คลุกครัีบ ยิ่งยิงแล้วไม่มีเลือดด้วย อิๆๆๆ ในด้านหนึ่งบอกว่าทำให้เด็กหวาดเสียว แต่อาจจะเพิ่มให้เด็กตายด้านไปก็ได้ด้วยครับ เพราะยิงแล้วไม่เห็ฯเกิดไรขึ้น อิๆๆๆ  อย่างน้อยสองด้านเสมอครับ

ขอบคุณมากๆ นะครับ สนุกในการวิจัยครับ

สวัสดีครับคุณเม้ง

ผมสบายดีครับ คุณเม้งสบายดีนะครับ ประเด็นที่คุณเม้งยกมานี่สำคัญมากเลยครับ คนเราเอาใจไปจดจ่อกับอะไรนานๆ มันก็จะชิน กับเรื่องนั้น พระเอกนิยายกำลังภายใน เมื่อฆ่าคนครั้งแรกก็จะต้องมีอาเจียน มีฝันร้าย แต่พอนานๆ ไปก็ชิน ส่วนการที่เล่นเกม ยิงกันแล้วไม่มีเลือดนี่ก็น่าคิดนะครับ ผมชอบเกม Star Wars Lego เอามากๆ เกมนี้ใช้ดาบกับปืนเลเซอร์ต่อสู้กับศัตรู แต่เวลาตัวละครตายนี่ เห็นเป็นชิ้นส่วนเลโก้แตกกระจาย แบบนี้รุนแรงไหม? เด็กเล่นแ้ล้วอยากจะฟันคนจริงๆ ให้แตกกระจายแบบนั้นหรือเปล่า อันนี้ก็น่าคิด

เห็นด้วยครับว่ามันมีอย่างน้อยก็สองด้านให้มองเสมอ

ขอบคุณมากครับ

ในมุมมอง  เกม  ก็เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ทำให้จิตใจเด็กๆ  รุนแรงขึ้น   ปัจจุบันเด็กติดเกมกันมาก  เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงจริงๆค่ะ  ทุกๆฝ่ายควรร่วมมือดูแล  แก้ไขอย่างรีบเร่ง

                        

สวัสดีครับคุณอรอนงค์

ผมว่าปัญหาเด็กติดเกมนี่ เป็นปัญหาสังคมที่ขยายตัวไปทั่วเอเชียนะครับ

จำได้ว่าสมัยเรียนมัธยม เพื่อนบางคน ที่บ้างเขาอนุญาติให้เล่นเกมวันละชั่วโมง แต่มีการสะสมชั่วโมงได้ บางบ้านก็ให้เล่นได้แค่ตอนปิดเทอม

เดี๋ยวนี้ร้านเกม ร้านเน็ตเปิดกัน 24 ชม เด็กก็ยิ้มกันเลย

ผมว่าเราน่าจะมีนโยบายจำกัดอายุ (คิดว่ามีแล้วนะครับ แต่ไม่เข้มงวดกัน) และก็การจัดเรตเกมทุกประเภท เหมือนที่เราเริ่มจัดเรตรายการทีวี

ขอบคุณครับ

ขอโทษค่ะ ครูเอได้ยินมาว่าเดี๋ยวนี้ร้านเกมเริ่มถูกจัดระเบียบในเวลาในการให้บริการ และกำจัดอายุของเด็กที่เข้าใช้บริการแล้วค่ะ เพียงแต่เจ้าของร้านจะร่วมมือหรือเปล่าวค่ะ

เท่าที่ผมทราบ สมัยรัฐบาลก่อน มีการวางแผนว่าจะจัดระเบียบร้านเกม คือให้เด็กเข้าหลังสองโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม ให้เล่นได้แค่สามชั่วโมง และเกมออนไลน์ก็ต้องมีการลงทะเบียนบัตรประชาชน ซึ่งตรงนี้น่าจะพอช่วยได้นะครับ

แต่มองอีกด้าน ถ้าร้านเกมมีหลายร้าน เด็กก็เข้าร้านละสามชั่วโมง แถมเกมออนไลน์ บางร้านก็อาจจะมีการให้เด็กเล่น แม้จะอายุไม่ถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ครับ ถ้าเขามีเลขบัตรของใครก็ไม่รู้เอามาลงทะเบียน

ผมว่าสุดท้ายแล้ว ตัวแปรสำคัญของการแก้ปัญหาสังคมคือครอบครัวและชุมชนครับ ครูเอว่าไหมครับ?

ขอบคุณครับ

สวัสดีครัีบคุณแว้บ

    ขอบคุณมากครัีบ ผมว่าการแก้ปัญหาโดยใช้แค่เพียงกรอบนโยบาย กำหนดการเข้าใช้นั้น มันไ่ม่ใช่ทางที่ถูกต้องเสมอไปครัีบ ในเมื่อเรายังเข้าไม่ถึงหัวใจ จิตใจของเด็กของผู้เล่น ว่าทำไมเค้าอยากเล่นแค่ไหนเพียงพอ แค่ไหนควร แค่ไหนมากไป สิ่งสำคัญก็ต้องปูทั้งบนลงล่างและล่างขึ้นบนครับ ร้านค้าบริการเกม ก็ต้องคิดว่าแบบนีให้อะไรกับสังคมไทย ใ้ห้อะไรกับเยาวชน ยุวชน นอกจากจะเน้นเพียงแค่กำไร ร่ำรวยนะครัีบ หากคิดเอาใจเขาใจเรา เรื่องพวกนี้ กรรมสนองกรรม เมื่อเจอกับลูกหลานตัวเองจึงจะรู้ครับ

    หากสังคมนี้ัยังฉาบฉวยกันเพียงแค่จะร่ำจะรวยทางวัตถุ มันคงยากครัีบ ที่จะพัฒนาใจ มันสวนทางเหลือเกินครับ คนภาคสังคมจะคุยยังไงกับคนภาคทุนหากไม่มองประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งยากมากๆ ครับที่จะคุยกันได้ครับ เพราะมองภาพเดียวแต่คนละจินตนาการครับ

    สภาพที่เด็กจะดีได้ แวดล้อมต้องดีพอที่จะทำใ้ห้ภูมิคุ้มกันดีๆ ในตัวของเด็กเจริญได้ ไม่งั้นจะฝ่อก่อน มันจะมีประโยชน์อะไรที่สอนให้เด็กเข้าแถวตอนเรียนในโรงเรียน แต่ออกมาในสังคมจริง คนแย่งชิงกัน ไม่มีผู้ใหญ่ สังคมทำตัวดีๆ ให้เห็นเป็นแบบอย่าง เด็กจะงงว่า คุณพ่อครับทำไมคนเค้าไม่เข้าแถวกัน แย่งกัน ตรรกของเด็กจะต่างกัน ยิ่งเกิดเรื่องราวในโรงเรียนแล้วยิ่งไปกันใหญ่ครัีบ

บางทีผมมองว่า กรอบทำให้คนถูกกด เมื่อถึงเวลาจะระเบิด หากกรอบไม่ยืดหยุ่นพอครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับคุณเม้ง

"เรื่องพวกนี้ กรรมสนองกรรม เมื่อเจอกับลูกหลานตัวเองจึงจะรู้ครับ"

เห็นด้วยมากๆ เลยครับ

"สภาพที่เด็กจะดีได้ แวดล้อมต้องดีพอที่จะทำใ้ห้ภูมิคุ้มกันดีๆ ในตัวของเด็กเจริญได้"

เห็นด้วยอีกทีนะครับ การสอนที่ดีที่สุดคือการทำตัวให้เป็นตัวอย่าง

ขอบคุณมากครับ

เห็นด้วยค่ะ

ครอบครัวเป็นด่านแรก สามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดี

และส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีได้ค่ะ

สำหรับผู้ปกครองแล้ว ต้องสร้างเจตคิในการเล่นให้กับเด็ก รู้จักเล่น ให้เป็นเวลา

ตีจุดประสงค์ของการเล่น เพื่ออะไร ได้อะไรจากการเล่น

ครูเอมีลูกชายวัย 7 ปี ตอนนี้เข้าเน็ทเองค่ะ ด้วยสนใจอยากเล่นเกม ชื่อโปเกม่อน เข้าก็เข้าไปเองเปิดเข้าเองได้ ทั้งๆที่ อ่านหนังสือยังไม่เป็นค่ะ ก็ให้เขาเล่น ชื่นชมที่เขาเข้าเองได้ แต่ก็จะกำหนดเวลาให้เล่นค่ะ สักพักเขาก็เบื่อล่ะ หาอย่างอื่นทำต่อค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับครูเอ

ครอบครัวเป็นด่านแรก สามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดี

พอดีผมเพิ่งได้ดูโฆษณารณรงค์ให้ผู้ปกครองยอมรับในความแตกต่างของสีผิว เชื้อชาติ ความเชื่อ

ลองอ่านดูความคิดเห็นของวิดีโอนี้ก็ยิ่งน่าสนใจครับ บางคนบอกว่า ทำไมในโฆษณาไม่มีเด็กน่าตาน่าเกลียดเลย บ้างก็ว่า Tolerance นั้นต่างกับการยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างแบบไม่ตั้งคำถาม ผมว่าหลายๆ ประเด็นทั้งในระดับครอบครัวและระดับสังคม ถ้ายกมาพูดแล้วคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ก็ควรพูดครับ พูดกันด้วยท่าทีที่เหมาะสมและเป็นมิตร การตั้งคำถามสงสัยนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การใช้ความรุนแรงแม้ในการพูดจานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเลยครับ มีแต่จะก่อความแตกแยก

ผมอาจจะออกนอกเรื่องไปหน่อยนะครับ พอดีโฆษณานี้ เขาเน้นประเด็นที่ว่าผู้ปกครองมีส่วนสร้างนิสัยที่ดีและไม่ดี แม้เพียงการทำตัวให้เป็นตัวอย่างในชีวิตประจำวัน

นร.ออทิสติกที่ผมสอนอยู่ บางคนไม่สามารถแยกได้ระหว่างความเป็นจริงหรือเกม

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออกทางด้านอารมณ์หรือการยอมรับความพ่ายแพ้ผิดหวัง

ประเด็นที่เจ้าของร้านปล่อยให้เด็กเข้าไปเล่นเกมส์ในร้าน ผมมองว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกต่อส่วนรวมของแต่ละบุคคล

ความมีระเบียบวินัยของคนไทยและการบังคับใช้กฏหมายอย่างมีประสิทธิภาพครับ

การให้เวลากับลูกของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญเช่นกันครับ

แต่ในสังคมปัจจุบันพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกเพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานหาเงิน

"เกม" คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานยามว่าง "เท่านั้น" มันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ก่อสงคราม ทะเลาะหวอะแว้งกัน สิ่งที่ผมได้รู้จากเกมคือความสนุก และบางเกมถึงจะมีเนื้อหารุนแรงแต่มันก็มีความสนุกในตัวของมัน บางเกมมีคำสอนในตอนเริ่มเล่น ตอนระหว่างเล่น หรือแม้กระทั่งตอนจบ เกมเป็นเพียงวัตถุ หลายๆ วัตถุในโลกย่อมมีความหมายของตัวมันเอง "มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำตัวเอง" เราควรจะคิดได้แล้วว่าอะไรคือ "เกม" อะไรคือ "ชีวิตจริง" ผมขอยอมรับว่าผมเป็นเด็กติดเกมคนหนึ่ง เป็นเพียงแค่เด็ก ไม่รู้อะไรเลย แต่ผมก็ไม่เคยทำอะไรให้ใครเดือดร้อนทั้งในเกมและก็ชีวิตจริง ผมเอาแต่ปิดปากเงียบ หยิ่งยโส ไม่พูดคุยคบค้าสมาคม ไม่ได้เป็นอัจฉริยะ ไม่ได้รํ่ารวยเงินทอง ไม่ได้มีอำนาจ เพราะผมเป็นแค่ "มนุษย์"

มีคนในเกมคนหนึ่งบอกกับผมว่า "เล่นเกมให้สนุก และสนุกกับการได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ก็พอแล้ว"


ขอยํ้าคำนึงนะ "มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำตัวเอง"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท