โลกาภิวัตน์


ความหมาย

ความหมายของโลกาภิวัตน์

แม้ว่า นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ยังไม่สามารถให้ความหมายของโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization ได้อย่างชัดเจน แต่ก็สามารถสรุปการให้ความหมายโลกาภิวัตน์ได้เป็น 5 แนวทาง (Scholte, 2005: 15 – 17 และ 54 - 60) ดังนี้

(1)         การอธิบายว่าโลกาภิวัตน์หมายถึง การที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น (Internationalization) ซึ่งจะเป็นการพูดถึงโลกาภิวัตน์ในแง่ของความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ (Cross-border relations) เป็นการพูดถึงความเจริญเติบโตของการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและการพึ่งพากันระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น Paul Hirst และ Grahame Thompson ที่ให้ความหมายไว้ว่า โลกาภิวัตน์หมายถึง กระแสไหลเวียนของการค้าและการลงทุนขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างประเทศต่างๆ นอกจากนั้นยังพบความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่และกำลังดำเนินอย่างต่อเนื่องของคน ข้อมูลข่าวสารและแนวคิดต่างๆ อีกด้วย

(2)         การอธิบายโลกาภิวัตน์ในแง่ของการทำให้เป็นเสรีมากขึ้น(Liberalization) (ตามอุดมการณ์เสรีนิยม) เป็นการให้ความหมายโลกาภิวัตน์ในแง่กระบวนการกำจัดข้อจำกัดต่างๆ ที่รัฐสร้างขึ้นในการเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ระหว่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของการกำจัดข้อจำกัดเหล่านี้ก็เพื่อที่จะสร้างเศรษฐกิจโลกที่ไร้พรมแดนและเสรี (Open and Borderless World Economy) ในแง่นี้จะเป็นการอธิบายถึงกระบวนการผนวกรวมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งจะพบว่ามีการลดหรือทำลายสิ่งต่างๆ อาทิ กำแพงกั้นขวางการค้าหรือกฎระเบียบต่างๆ กฎระเบียบการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ หรือการควบคุมทุน เป็นต้น นอกจากนั้นระเบียบเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของมนุษย์ก็ลดความเข้มงวดลงหรือโดนทำลายไปด้วย

(3)         การอธิบายโลกาภิวัตน์ในแง่ของการทำให้เป็นสากล (Universalization) เมื่อ Oliver Reiser และ Blodwen Dawies เริ่มใช้คำว่า Globalize ในทศวรรษที่1940 นั้น พวกเขาหมายถึง Universalize หรือ การทำให้เป็นสากล เพราะพวกเขาเชื่อว่า ในอนาคตนั้น การผนวกรวมกันทางวัฒนธรรมของโลกใบนี้ในแบบมนุษยนิยมโลกจะเกิดขึ้น ดังนั้นในแง่นี้โลกาภิวัตน์จึงเป็นเรื่องของทั่วโลก เป็นกระบวนการของการแพร่ขยายสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายและประสบการณ์ไปสู่ประชาชนในทุกมุมโลก เช่น การแพร่ขยายของรถยนต์ ร้านอาหารจีน การปลดแอกอาณานิคมหรือการทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ เป็นต้น

(4)         การอธิบายโลกาภิวัตน์ในแง่ของการทำให้เป็นตะวันตก (Westernization) หรือการทำให้ทันสมัย (Modernization) เป็นการอธิบายในแง่โลกาภิวัตน์ที่พยายามทำให้เกิดรูปแบบต่างๆ ที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น (หรือเป็นอเมริกัน) นั่นคือ เป็นการอธิบายพลวัตที่โครงสร้างทางสังคมของความเป็นสมัยใหม่ (เช่น ทุนนิยม เหตุผลนิยม อุตสาหกรรมนิยม การบริหารงานแบบระบบราชการ ปัจเจกชนนิยม) ได้แพร่ขยายไปทั่วโลก และได้ทำลายทั้งวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมและการตัดสินใจระดับชุมชนโดยกระบวนการโลกาภิวัตน์ดังกล่าว ดังนั้น โลกาภิวัตน์ในแง่นี้จึงมักถูกอธิบายในแง่ของการสร้างอาณาจักรของ สิ่งที่เป็นตัวแทนของความ (ทัน) สมัยใหม่ ต่างๆ เช่น McDonald’s Hollywood CNN  เป็นต้น

(5)         การอธิบายโลกาภิวัตน์ในแง่ของการแบ่งเขตพื้นที่ใหม่ (Respatialization) ในแง่นี้โลกาภิวัตน์จะเป็นการจัดรูปแบบภูมิศาสตร์ทางสังคมใหม่ (Social Geography) โดยที่มีการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลในส่วนต่างๆ ของโลกมากยิ่งขึ้น เช่น แนวคิดของ David Held และ Anthony McGrew ที่นิยามโลกาภิวัตน์ว่าเป็นกระบวนการหรือชุดของกระบวนการที่ซึ่งฝังตัวอยู่ในการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางด้านพื้นที่ของความสัมพันธ์ทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ นั่นคือ เป็นความพยามยามในการประยุกต์โลกาภิวัตน์ให้เข้ากับแนวโน้มในเรื่องของการทำให้เขตแดนหรือพรมแดนหมดไป (Deterritorialization) ดังนั้นในแง่นี้พื้นที่ทางสังคมจึงไม่สามารถถูกวาดภายใต้เขตแดนหรือพรมแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งได้อีกต่อไป นอกจากนั้นยังมีการกระทำบางอย่างที่เหนือพรมแดนหรือเขตแดนอีกด้วย (Supraterritoriality)

 

เอกสารอ้างอิง

Scholte, Jan Aart. Globalization: a critical introduction 2nd ed. New York, USA:

PALGRAVE MACMLLAN, 2005

หมายเลขบันทึก: 193900เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2008 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท