แนวคิดพื้นฐานของการเมือง


การเมืองเบื้องต้น

แนวคิดพื้นฐานของ การเมือง 

            แม้ว่าการให้ความหมาย การเมือง จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็สามารถระบุแนวคิดพื้นฐานของ การเมือง ได้ดังนี้

1. ระเบียบ (Order) (Magstadt, 2003, 3-4)

            ระเบียบมีหลายระดับ แต่ในทางการเมืองแล้วระเบียบ หมายถึง โครงสร้าง (structure) กฎระเบียบ (rule) ประเพณีปฏิบัติต่างๆ (ritual) กระบวนการ (procedure) และการปฏิบัติต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นระบบการเมือง (political system) ซึ่งระบบการเมืองเองก็ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของระเบียบทางสังคม (หรือในสังคมนั่นเอง)

                คำถามต่อมาคือ อะไรคือ สังคม

            ในปัจจุบันคำว่า สังคม มีความหมายใกล้เคียงกันกับคำว่าชุมชน (community) ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มของปัจเจกที่มี      อัตลักษณ์ร่วมกัน ซึ่งอัตลักษณ์ที่กลุ่มคนเหล่านี้มีร่วมกันนั้น อย่างน้อยที่สุด คือ การอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกัน เนื่องจากคนที่อยู่ใกล้กันมักจะรู้จักกันและมักจะมีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆร่วมกัน พูดภาษาเดียวกัน และมีค่านิยมและความสนใจคล้ายๆกัน

            รัฐบาล (government) คือ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อวางระเบียบให้กับสังคมและเป็นที่ที่มีการสร้างกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นมา อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็มีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแบ่งกว้างๆได้ตามลักษณะของการใช้อำนาจอธิปไตย นั่นคือ รูปแบบ Republics ที่ซึ่งอำนาจอธิปไตยอยู่กัประชาชน และรัฐบาลรูปแบบอื่นๆ เช่น ในระบบกษัตริย์หรือระบบเผด็จการซึ่งอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ผู้ปกครองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การแบ่งรูปแบบของรัฐบาลนั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักรัฐศาสตร์ เช่น บางคนอาจจะแบ่งเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยกับรัฐบาลในระบอบเผด็จการ เป็นต้น

            ในโลกสมัยใหม่ รัฐ (state) เป็นสถานที่แห่งเดียวที่เป็นที่อยู่ของ อำนาจอธิปไตย (sovereignty) รัฐที่มีอำนาจอธิปไตย คือ ชุมชนที่มีเขตแดนที่ชัดเจนและมีการบริหารงานโดยรัฐบาลเพียงรัฐบาลเดียว อนึ่งในภาษาของการเมืองแล้ว เราอาจจะเรียก รัฐ ว่า ประเทศ ได้(country)

            ชาติ (nation) ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มคนเฉพาะที่มีภูมิหลังร่วมกัน รวมไปถึงมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ร่วมกัน, ลักษณะทางชาติพันธุ์หรือเผ่าพันธุ์ร่วมกัน, ประวัติศาสตร์ร่วมกัน, ศาสนา, ภาษา, วัฒนธรรมและความเชื่อทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งชาติในกรณีนี้มักมีความหลากหลายกันตามประวัติศาสตร์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน(homogeneity)

            ส่วนรัฐชาติ (Nation – State) เพิ่งเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ นอกจากนั้น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นได้มีรัฐชาติใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการประกาศตนเป็นเอกราช ซึ่งเขตแดนทางการเมืองที่ถูกขีดขึ้นมาภายหลังเหล่านี้ บางครั้งก็ทำให้เกิดความอึดอัดใจให้กับรัฐชาติที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพราะเส้นแบ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่สอดคล้องกับศาสนา, ชาติพันธุ์ของชาติต่างๆที่อยู่ในเขตแดนใหม่นั้น ซึ่งความไม่สอดคล้องดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในสังคม หรือแม้กระทั่งการเกิดสงครามกลางเมืองในหลายๆรัฐ เช่น พม่า หรืออดีตยูโกสลาเวีย เป็นต้น

            นอกจากนั้น หลังจากการปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคม (decolonization) หรือการประกาศเอกราช ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดรัฐที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ขึ้นมา (multinational states) ซึ่งกลุ่มต่างๆที่อยู่ในรัฐเหล่านี้ไม่สามารถที่จะผสมกลมกลืนซึ่งกันและกันภายใต้กฎระเบียบทางสังคมแบบใหม่ได้ ทำให้การสร้างชาติ (nation-building) ภายในรัฐเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ เช่น รวันดา, อินเดีย และศรีลังกา

            นอกจากนั้นยังมี ชาติที่ไร้รัฐ (stateless nations) เช่น กลุ่มชาวปาเลสไตน์ในอดีตหรือชาวเคิร์ด(Kurds) ที่มีลักษณะอัตลักษณ์ร่วมกัน แต่ไม่มีแผ่นดินเป็นของตนเองซึ่งลักษณะของกลุ่มชนเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่เปราะบางต่อการเกิดสงครามเป็นอย่างยิ่ง

2. อำนาจและคำที่เกี่ยวข้อง (Power and Its Correlates)

โดยทั่วไปแล้ว อำนาจหมายถึง ความสามารถในการบรรลุสิ่งที่ต้องการ อำนาจในที่นี้ คือ อำนาจที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง (the ‘power to’ do something) ซึ่งอำนาจในแง่นี้เป็นการให้ความหมายที่กว้างมากตั้งแต่ ความสามารถในการรักษาชีวิตของตัวเองให้อยู่รอดไปจนถึงความสามารถของรัฐบาลในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Heywood, 2000, 35) อย่างไรก็ตาม  ในแง่ของการวิเคราะห์ทางการเมืองแล้ว อำนาจมักจะถูกพูดถึงในแง่ของความสัมพันธ์ นั่นคือ เป็นการพูดถึงอำนาจในแง่ของความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้อื่นซึ่งคนที่ถูกใช้อำนาจนั้นจะไม่มีทางตัดสินใจเลือกทำโดยสมัครใจในสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจบอกเป็นอันขาด ในแง่นี้อำนาจจึงเป็นอำนาจเหนือผู้อื่น (the power over others)  ซึ่งอำนาจจะเกิดขึ้นเมื่อ นาย ก สามารถทำให้นาย ข ทำในสิ่งที่นาย ก ต้องการโดยที่หากนาย ข เลือกได้นาย ข จะไม่ทำสิ่งนั้นๆ เองเด็ดขาด (Heywood, 2000, 35)

ความสามารถของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลในการกำหนดและบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ และความสามารถในการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของปัจเจกหรือของกลุ่มโดยการให้รางวัลหรือการลงโทษนั้น เป็นอำนาจอีกชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่อำนาจที่รัฐบาลใช้ในแง่นี้มักจะเป็น อำนาจหน้าที่ (authority)

ความแตกต่างของอำนาจกับอำนาจหน้าที่ คือ อำนาจนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับความสามารถที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นในขณะที่อำนาจหน้าที่มักจะเกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะทำบางสิ่งบางอย่างได้ (Heywood, 2000, 35) นอกจากนั้น อำนาจหน้าที่ยังเป็นอำนาจที่ได้มาจากบรรทัดฐาน (norms) บางอย่างที่ได้รับการยอมรับในสังคม ซึ่งบรรทัดฐานเหล่านี้มีรากฐานมาจากธรรมเนียมปฏิบัติทางกฎหมาย ทางศีลธรรม ทางจิตวิญญาณต่างๆ อาจจะกล่าวได้ว่าบรรทัดฐานเหล่านี้มีรากฐานมาจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามในสังคมนั่นเอง ดังนั้น อำนาจหน้าที่ในแง่นี้จึงสามารถกินความถึง ความชอบธรรม (legitimacy) ได้อีกด้วย

ความชอบธรรมในที่นี้หมายถึง การใช้อำนาจผ่านทางสถาบันที่ได้รับการยอมรับและเป็นการใช้อำนาจตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดเอาไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้รับการยอมรับจากคนในสังคมโดยไม่มีการบังคับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม  (Magstadt, 2003, 6)

สาระสำคัญของอำนาจหน้าที่ที่ชอบธรรม (Legitimate authority) คือ การให้คุณค่าของประชาชนต่ออำนาจนั้นๆ ถ้าประชาชนพอใจที่จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ ความชอบธรรมของผู้ที่ปกครองในการปกครองก็จะไม่ถูกตั้งคำถาม (Magstadt, 2003, 6)

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นอำนาจแบบใดก็ล้วนมีความสำคัญกับรัฐบาลอย่างยิ่งเพราะหากไม่มีอำนาจแล้วรัฐบาลคงจะไม่สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้ เช่น การรักษาสันติภาพ, การทำให้เกิดความมั่นคงภายในรัฐ, การส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ หรือการทำให้นโยบายต่างๆ บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้

กระนั้น การที่จะใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มิได้มาจากการใช้กำลังเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการใช้และการได้รับอำนาจผ่านแหล่งอื่นๆ อีกด้วย เช่น ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท้วมท้น การให้รางวัลหรือการมีบุญคุณต่อกัน ความร่ำรวย หรือแม้กระทั่งการจัดตั้งตำรวจลับ ก็เป็นการใช้อำนาจหรือเป็นแหล่งที่มาของอำนาจแบบหนึ่ง (Magstadt, 2003, 5)

โดยปกติแล้วนั้น อำนาจมักจะไม่สามารถถูกจัดสรรได้อย่างเท่าเทียมกันในสังคมหรือรัฐต่างๆ แต่กระนั้น การที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ในผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมักจะนำมาซึ่งคำถาม และความคลางแคลงใจจากคนอื่นๆ เสมอ ด้วยเหตุนี้ คำถามที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับเรื่องอำนาจนั้น คือ ใครที่เป็นผู้ปกครองและอำนาจที่มีอยู่นั้นถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือใช้อย่างมีความยุติธรรมต่อกลุ่มต่างๆ ได้มากน้อยเพียงไร (Magstadt, 2003, 5)

3. ความยุติธรรม (Justice) (Magstadt, 2003, 7)

            การปกครองของคนจำนวนหนึ่งต่อคนอื่นนั้นมักจะได้รับการยอมรับเมื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือผลประโยชน์สาธารณะได้รับการปฏิบัติอย่างแท้จริง ดังนั้น การใช้อำนาจจึงต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นสำคัญ เช่น การถามว่า การใช้อำนาจนั้นๆ มีความยุติธรรมหรือไม่ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากกฎระเบียบต่างๆ นั้นตกอยู่กับผู้ถูกปกครองหรือผู้ปกครอง

            การพยายามทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนตนเป็นเรื่องที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง (Political Observer) พยายามทำมากว่า 2,000 ปี ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้เป็นการแสดงถึงความสำคัญของความยุติธรรม

            อย่างไรก็ตาม รัฐส่วนมากมักจะไม่ชอบการถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรม เพราะรัฐมักจะกลัวว่าหากมีการตั้งคำถามเรื่องความยุติธรรมและผลประโยชน์ของส่วนรวมขึ้นมาแล้ว ความชอบธรรมของระเบียบทางการเมืองที่ดำรงอยู่หรือตัวของรัฐเองอาจจะสั่นคลอนได้ หมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์วิธีการปกครองของรัฐและรัฐบาลก็มักจะนำมาซึ่งการตั้งข้อสงสัยในเรื่องสิทธิทางศีลธรรมหรือสิทธิทางกฎหมายที่รัฐอ้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการปกครอง

ในปัจจุบันความยุติธรรมมักหมายถึงการที่สิทธิของปัจเจกชนได้รับการเคารพจากรัฐซึ่งสิทธิที่สำคัญที่สุด คือ สิทธิที่รัฐอนุญาตให้ปัจเจกสามารถตั้งคำถามต่อการกระทำต่างๆ ของรัฐได้ว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ ดังนั้น ในแง่นี้เสรีภาพทางการเมือง (Political Liberty) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเสมือนหลักประกันให้กับปัจเจกในการแสดงความคิดเห็นหรือการตั้งคำถามกับรัฐได้

เอกสารอ้างอิง

 

 

Magstadt, Thomas M. Understanding politics: ideas, institutions, and issues. 6th ed. Belmont: Wadsworth/Thompson Learning, 2003.

หมายเลขบันทึก: 193899เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2008 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท